พระสังกัจจายน์ซุ้มกอ หลวงปู่แป๊ะ สติปญฺโญ วัดดอนทราย
ในนิตยสารพระเครื่องพระเกจิ ฉบับที่ ๓๕๙ เดือนมิถุนายน ๒๕๖๖ ผู้เฒ่าได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับกิจกรรมสาธารณประโยชน์เล็ก ๆ ตามที่รับปากกับผู้ใหญ่แดง โตจิ๋ว ว่าจะดำเนินการจัดหาคอมพิวเตอร์ให้กับโรงเรียนบ้านห้วยศาลา ต.ยางหัก อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี กิจกรรมสาธารณ ประโยชน์ครั้งนี้ คุณมนตรี แก้วพิจิตรมอบเหรียญไข่ข้างเม็ด หลวงปู่คำ สุวณฺณโชโต วัดหนองแก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ให้เป็นที่ระลึกกับท่านผู้มีจิตศรัทธาสมทบทุนจัดหาคอมพิวเตอร์ดังรายละเอียดที่ได้นำเสนอในนิตยสารพระเครื่องพระเกจิฉบับที่แล้ว ขณะที่เขียนบทความนี้ ประเมินคร่าว ๆ ว่าสามารถรวบรวมปัจจัยได้ประมาณ ๑๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งหมื่นบาท) และกำหนดปิดยอดรับบริจาคในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๖ ขาดเหลือเท่าไร ผู้เฒ่าและครอบครัวจะสมทบเงินให้เพียงพอกับการจัดหาคอมพิวเตอร์ ๒ เครื่อง และส่งมอบให้กับโรงเรียนบ้านห้วยศาลาภายในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๖ หากไม่มีอุปสรรคหรือข้อจำกัดใด ๆ ผู้เฒ่าอาจสร้างวัตถุมงคลสักชุดเพื่อจัดหาคอมพิวเตอร์ให้เพียงพอกับความจำเป็นในการจัดการสอนของโรงเรียนบ้านห้วยศาลาต่อไป
ช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้ ผู้เฒ่าให้เวลาส่วนหนึ่งกับการศึกษาค้นคว้าเรื่องการเปรียบบุคคลกับบัวสามเหล่าของพระบรมศาสดา ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความแปลกแยกในคำสอน/ความเชื่อที่สืบต่อกันมานาน หลายคนตั้งข้อสงสัยว่าพระพุทธเจ้าเปรียบมนุษย์หรือบุคคลเป็นบัวสามเหล่าหรือสี่เหล่ากันแน่ แต่ดูเสมือนหนึ่งว่าคนส่วนใหญ่โน้มเอียงไปในทางที่จะเชื่อว่าพระพุทธเจ้าทรงเปรียบบุคคลดั่งบัวสี่เหล่า เมื่อผู้เฒ่าได้สืบค้นพระไตรปิฎก ๓ พระสูตร ประกอบด้วย พรหมยาจนกถาสูตร, โพธิราชกุมารสูตร, และ มหาปทานสูตร ก็ไม่พบข้อความใดที่บ่งชี้ว่าพระพุทธเจ้าทรงเปรียบมนุษย์ดั่งบัวสี่เหล่า มีแต่บัวสามเหล่าเท่านั้น แล้วบัวสี่เหล่ามาจากไหน การกลายเปลี่ยนไปเป็นบัวสี่เหล่านั้นมาจาก อรรถกถาฑีฆนิกาย ชื่อเฉพาะว่า สุมังคลวิลาสินี รจนาโดยพระพุทธโฆษมหาเถระ ภิกษุชาวชมพูทวีป (อินเดียตอนเหนือ) มีชีวิตอยู่ในราวพุทธศักราช ๙๔๕ ๑๐๐๐ สุมังคลวิลาสินีเป็นคัมภีร์ชั้นที่สองในพระพุทธศาสนา (คัมภีร์ในพระพุทธศาสนาประกอบด้วย พระไตรปิฎก, อรรถกถา, ฎีกา) พระพุทธโฆษมหาเถระ อธิบายขยายความโดยย่อใน สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาฑีฆนิกาย มหาวรรค มหาปทานสูตรว่าด้วยธรรมเทศนามหาปทานสูตร ให้พิสดารว่า ..แต่ยังมีดอกบัวเป็นต้นที่มีโรคแม้เหล่าอื่นยังไม่ขึ้นพ้นจากน้ำ ดอกบัวเหล่าใด จักไม่บาน จักเป็นภักษาแห่งปลาและเต่าอย่างเดียว ดอกบัวเหล่า นั้น ท่านไม่ควรนำขึ้นสู่บาลีแต่ได้แสดงไว้ชัดแล้ว ข้อที่ ๒ ..บุคคลที่ไม่ตรัสรู้ธรรมได้ในชาตินั้น แม้เรียนมาก ทรงไว้มาก สอนเขามาก ชื่อว่า ปทปรมะ.. และความที่ ๓ ..บุคคลจำพวกปทปรมะ ดุจบัวอันเป็นภักษาแห่งปลาเต่า.. ข้อความทั้งสามนี้ เป็นความแปลกแยกในการอธิบายขยายความโดยการนำเวไนยสัตว์คือสัตว์ที่สอนให้บรรลุธรรมในชาตินี้ได้ มารวมกับอเวไนยสัตว์คือสัตว์ที่ไม่สามารถสอนให้บรรลุธรรมในชาตินี้มารวมกัน ส่ง ผลให้พุทธบริษัทฝ่ายเถรวาทส่วนใหญ่เชื่อและคล้อยไปตามคำอธิบายขยายความของพระพุทธโฆษมหาเถระ นัยโดยสรุปของผู้เฒ่าคือ การเปรียบมนุษย์กับบัวสามเหล่าเป็นพุทธวจนะ ส่วนการเปรียบมนุษย์กับบัวสี่เหล่าเป็นการอธิบายขยายความโดยย่อให้พิสดารของพระอรรถกถาจารย์ในชั้นหลัง
ผลจากการศึกษาค้นคว้าในครั้งนี้ นอกจากจะได้ความกระจ่างเกี่ยวกับการเปรียบบุคคลกับบัวในพระ พุทธศาสนาแล้ว ยังได้ความรู้อันเป็นผลพลอยได้ที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน นึกถึงวันที่เดินทางไปกราบนมัสการหลวงพี่ปุ้ม ธรรมโชโต (พระครูวิชาญธรรมโชติ) เจ้าอาวาสวัดชุมพลนิกายาราม ต.บางเลน อ.บางปะอิน จ.พระ นครศรีอยุธยา น่าจะเป็นวันพฤหัสบดีแรกของเดือนมีนาคม ๒๕๖๖ หลวงพี่ปุ้ม ธรรมโชโต เมตตามาก พาผู้เฒ่าเที่ยวชมโบราณวัตถุต่าง ๆ ในวัดชุมพลนิกายารามด้วยตนเอง โบราณวัตถุที่งดงามและสำคัญยิ่งยวดคือ พระประธานในพระอุโบสถ พระอุโบสถหลังนี้สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททองและมีการบูรณะปฏิสังขรณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความแปลกอันแตกต่างจากพระประธานของวัดอื่น ๆ คือ เป็นพระพุทธรูปจำลองของพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ ประกอบด้วย พระวิปัสสี, พระสิขี, พระเวสสภู, พระกกุสันธะ, พระโกนาคม, พระกัสสปะ, และพระโคตมโคตร (พระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน). เพลานั้น ผู้เฒ่าสนใจเพียงแค่ศิลปะอันงดงามยิ่งของพระอุโบสถหลังนี้กับจิตรกรรมฝาผนังที่บูรณะซ่อมแซมได้ระดับหนึ่ง เลยไม่ได้ซักไซร้หาข้อมูลเรื่องความเป็นมาของพระประธานทั้ง ๗ พระองค์ พอได้สแกนอ่านมหาปทานสูตร ในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เลยถึงบางอ้อ..ความเป็นมาของพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ มาจากมหาปทานสูตรนี่เอง และเห็นคุณค่าของการอ่านหนังสือว่ามีประโยชน์เช่นนี้
ในอาณาจักรพระเครื่องสยามประเทศ รูปจำลองพระมหากัจจายนะเป็นอสีติมหาสาวกที่นำมาจัดสร้างพระเครื่องและวัตถุมงคลสายโชคลาภมากที่สุด ทั้งได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในสามพระเครื่องที่มีอุปเท่ห์ทาง ด้านโชคลาภ พระเครื่องทั้งสามประกอบด้วย พระสีวลี พระอสีติมหาสาวกผู้เป็นเอตทัคคะในทางผู้มีลาภมาก, พระมหากัจจายนะ พระอสีติมหาสาวกผู้เป็นเอตทัคคะในการอธิบายความโดยย่อให้พิสดาร, พระอุปคุต พระอรหันต์ผู้ทรมาณพญามารจนสิ้นพยศและตั้งสัตต์อธิษฐานเป็นพระพุทธเจ้าในภายหน้า. และในการประกอบพิธีกรรมบางอย่างที่มีการอัญเชิญพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรหรือพระพิชัยสงครามมาตั้งเป็นพระประธานในพิธีนั้น ๆ มักอัญเชิญพระมหากัจจายนะมาประดิษฐานบนแท่นบูชานั้นด้วย ความเป็นมาเป็นเช่นใด ผู้เฒ่ายังไม่พบพยานเอกสารใดที่สามารถนำมาอ้างอิงได้ พบเพียงแค่ข้อมูลบางประการในหนังสือแนะนำพระคัมภีร์ทางพระ พุทธศาสนา ฉบับภูมิพโลภิกขุ ที่มูลนิธิภูมิพโลภิกขุจัดพิมพ์ถวายเนื่องในโอกาสมหามงคลฉลองพระชนมายุ ๘ รอบสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆาปรินายก (อัมพร อมฺพโร) ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๖ ว่า ...การว่าร้ายพระอริยเป็นบาปให้โทษแก่ผู้ว่าร้ายจริง ๆ ปัจจุบันนี้เมื่อมีการสร้างรูปพระสังกัจจายน์ จึงนิยมปั้นหรือหล่อแบบดังกล่าวมาแล้ว (อ้วน อุทรพลุ้ย เศียรหลิม) ถือกันว่าเป็นพระนำโชค และมีเคล็ดว่าหญิงที่ไม่มีบุตร ให้ไปขอบุตรกับพระสังกัจจายน์
พิเคราะห์ตามข้อมูลดังกล่าวข้างต้น ผู้เฒ่ามีความโน้มเอียงที่จะเชื่อว่าโชคลาภอันเป็นอานิสงค์ที่เกิดขึ้นจากการสักการะบูชาพระมหากัจจายนะ น่าจะมีความแตกต่างจากโชคลาภซึ่งมาจากการบูชาพระสีวลีกับพระอุปคุต เพราะไตรภาคีแห่งโชคลาภทั้งสามมีคุณลักษณะหรือความเป็นมาไม่เหมือนกัน อุปเท่ห์แห่งโชคลาภของพระสีวลีมาจากบุญบารมีที่สั่งสมมา ปฏิปทา แล้วเผื่อแผ่ไปยังบุคคลอื่น ส่วนพระมหากัจจายนะ แม้มีความเชื่ออีกกระแสหนึ่งว่าท่านได้รับการยกย่องให้เป็นพระอรหันต์ที่อุดมด้วยลาภสักการะเสมอด้วยพระสีวลี แต่ก็มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญคือ พระมหากัจจายนะเป็นอสีติมหาสาวกผู้มีสติปัญญาและปฏิภาณไหวพริบเป็นเลิศกว่าภิกษุอื่นใด สมรรถนะด้านการอธิบายความโดยย่อให้พิสดารพึงเป็นเหตุปัจจัยที่เกื้อหนุนให้ท่านเป็นพระอสีติมหาสาวกผู้เป็นเลิศทางลาภสักการะอีกทางหนึ่ง ตรงข้ามกับพระอุปคุตซึ่งเป็นพระอรหันตสาวกในยุคสมัยถัดมา พระอุปคุตเป็นพระอรหันตสาวกผู้มีฤทธิ์มาก อาศัยอยู่ในเกษียรสมุทร เชื่อสืบต่อกันมาว่า ผู้ใดได้ใส่บาตรท่านเป็นคนแรกติดต่อกัน ๓ วันจะอุดมด้วยโภคทรัพย์หาที่สุดมิได้ ความเชื่อทั้งหลายเหล่านี้ ล้วนเป็นแรงศรัทธาที่ส่งผลให้พุทธศาสนิกชนสายมูเสาะแสวงหาพระเครื่อง/วัตถุมงคลในรูปและนามของพระอรหันตสาวกทั้ง ๓ มาสักการะบูชาไม่ขาดสาย
ที่สาธยายมาจนหน้ากระดาษหมดไปกว่าครึ่ง ผู้เฒ่าไม่ได้มีเจตนาอะไรมากไปกว่าการเน้นย้ำให้เห็นว่าพระมหากัจจายนะเป็นพระอสีติมหาสาวกที่มีบทบาทสำคัญในอาณาจักรพุทธศิลป์ไทย อาจกล่าวได้ว่าเป็นพระเครื่ององค์ประธานในชุดไตรภาคีแห่งโชคลาภ แม้ว่าจะมีพุทธศิลป์ไม่หลากหลายเท่าพระพุทธรูปกับรูปจำลองพระเกจิอาจารย์ทั่วไป และศิลปะที่พบเห็นส่วนใหญ่ค่อนไปในลักษณะฝีมือชาวบ้าน แต่ที่งดงามตระการตาก็มีไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะพระสังกัจจายน์รัตนะ (พระบูชาสมัยรัตนโกสินทร์) สำหรับพระสังกัจจายน์ขนาดเล็ก เชื่อว่าท่านสมาชิก/ผู้อ่านที่ติดตามนิตยสารพระเครื่องพระเกจิมานานกว่า ๒๐ ปี น่าจะเคยเห็นพระสังกัจจายน์พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน, พระสังกัจจายน์หลวงพ่ออุ้น สุขกาโม วัดตาลกง ซึ่งพระสังกัจจายน์ปั๊มขนาดจิ๋วที่มีพุทธศิลป์งดงามมากและมีประสบการณ์ไม่น้อย ถึงจะมีสนนราคาเช่าหาไม่สูงมากนัก แต่ก็หาองค์ที่มีสภาพสวยแบบเดิมค่อนข้างยาก พระสังกัจจายน์ทั้งสองพิมพ์นี้แกะแม่พิมพ์และควบคุมการปั๊มโดยช่างตุ้ม มีดเทวดา (โสภณ ศรีรุ่งเรือง) ศิลปินช่างชั้นครูผู้บ่มเพาะช่างแกะฝีมือดีให้กับวงการพระเครื่องยุคสมัยนี้เป็นจำนวนมาก ย้อนกลับไปในห้วงเวลาที่ ช่างตุ้ม มีดเทวดา พัฒนาฝีมือขึ้นถึงขีดสุด ช่างตุ้ม มีดเทวดา ได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปินช่างที่เป็นเลิศในการแกะพิมพ์พระสังกัจจายน์
ต้องยอมรับตามจริงว่าก่อนลงมือเขียนบทความนี้ ผู้เฒ่าไม่รู้ว่าจะหยิบยกพระเครื่องอะไรมานำเสนอเพราะเขียนมานานหลายปี บางครั้งก็ตื่อ ๆ นึกอะไรไม่ออก เผอิญอยู่ในห้วงเวลาที่กำลังศึกษาค้นคว้าเรื่องการเปรียบบุคคลกับบัวสามเหล่าของพระพุทธเจ้าและการจำแนกบุคคล ๔ ประเภทตามความเร็วในการบรรลุธรรม เลยมีโอกาสได้อ่านอรรถกถาที่รจนาโดยพระมหากัจจายนะ การศึกษาค้นคว้าในรอบนี้ ได้พบองค์ความรู้ชั้นสูงที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นอันมาก ความศรัทธาที่มีต่อพระมหากัจจายนะในระดับหนึ่งได้เพิ่มขึ้นกว่าเดิมเป็นอันมาก ครั้นจะนำเสนอเรื่องพระสังกัจจายน์พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน หรือพระสังกัจจายน์หลวงพ่ออุ้น สุขกาโม วัดตาลกง คงไม่สามารถหาของมาบริการท่านสมาชิกหรือผู้อ่านที่สนใจได้ เลยตัดสินใจนำพระสังกัจจายน์หลวงปู่แป๊ะ สติปญฺโญ วัดดอนทราย มานำเสนอแทน
พระสังกัจจายน์ซุ้มกอ หลวงปู่แป๊ะ สติปญฺโญ ปี ๒๕๖๒ จัดเป็นพระเครื่องและวัตถุมงคลรุ่น ๔ (รุ่นสุดท้าย) ที่คณะศิษย์กลุ่มเพจท่าจีนดอทคอมและคณะศิษย์หลวงปู่ดี สุวณฺโณ วัดสุวรรณาราม จำนวน ๑๑ คนร่วมกันสร้างถวายพระครูวิมลปัญญานุกูล (แป๊ะ สติปญฺโญ) เพื่อมอบให้เป็นที่ระลึกกับผู้มีจิตศรัทธาที่มาทำบุญร่วมกับวัดดอนทรายตามที่หลวงปู่แป๊ะ สติปญฺโญ เห็นสมควร พระเครื่องที่สร้างในวาระนี้ มี ๔ รายการ ได้แก่ พระสังกัจจายน์ซุ้มกอเนื้อผงผสมไม้แก่นจันทน์, พระสังกัจจายน์ซุ้มกอเนื้อโลหะ, พระผงรูปเหมือนรุ่นแรก และล็อกเก็ต รุ่นสอง
ลักษณะ เป็นพระสังกัจจายน์ขนาดเล็กประทับนั่งในกรอบพิมพ์แบบพระซุ้มกอ ด้านหลังประทับด้วยยันต์นะมหาเศรษฐี
เนื้อหาและจำนวนการสร้าง เงิน ๙๙ องค์ นวโลหะ ๑๙๘ องค์ ทองทิพย์ ๙๐๐ องค์ เนื้อผงผสมไม้แก่นจันทน์แดง/ขาว จำนวน ๑๐,๐๐๐ องค์
พิธีกรรม หลวงปู่แป๊ะ สติปญโญ อธิษฐานจิตแผ่เมตตาในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๒ พระอาจารย์สมบุญ อภิปุณฺโณ เจริญพระพุทธมนต์
ค่านิยม เป็นของดีที่ราคาเบาสามารถสัมผัสจับต้องได้
พระสังกัจจายน์ซุ้มกอ หลวงปู่แป๊ะ สติปญฺโญ วัดดอนทราย อ.โพธาราม จ.ราชบุรี จัดเป็นพุทธศิลป์อันทรงคุณค่าที่พึงอนุรักษ์อีกพิมพ์หนึ่ง สมณศักดิ์และฉายาของหลวงปู่แป๊ะ สติปญฺโญ เป็นมงคลนามที่คล้องกับคุณลักษณะของพระอสีติมหาสาวกผู้เปี่ยมด้วยปัญญาและปฏิภาณใน การอธิบายธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้โดยย่อให้พิสดาร ทั้งเป็นพระเครื่องสายโชคลาภขนาดเล็กที่เหมาะสำหรับการห้อยคอเป็นอย่างยิ่ง เลี่ยมทองก็ไม่สิ้นเปลืองมากนัก เลี่ยมเงินก็สวย