หลวงปู่ห้วย เขมจารี ภิกษุวาจาสิทธิ์แห่งห้วยทับทัน
หลวงปู่ห้วย เขมจารี วัดประชารังสรรค์: ภิกษุวาจาสิทธิ์แห่งห้วยทับทัน (๑/๒)
โดย...เหลนศิษย์ผีย่าน...
เชื่อว่ากว่านิตยสารพระเครื่องพระเกจิฉบับที่ ๓๑๒ เดือนสิงหาคม ๒๕๖๑ ฉบับนี้ ถึงมือสมาชิกและผู้ อ่านทุกท่าน งานทำบุญวันคล้ายวันเกิด อายุบวร ๙๑ ปี พระราชญาณโสภณ (จรัส เขมจารี) วิ หรือหลวงปู่ห้วย เขมจารี วัดประชารังสรรค์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษฝ่ายธรรมยุต เร็วที่สุดน่าจะดำเนินงานอยู่แต่ที่เป็นไปได้มากที่สุดคืองานทำบุญฯ น่าจะเสร็จสิ้นไปแล้ว งานทำบุญ ฯ ปีนี้ ถือเป็นงานสำคัญอีกวาระหนึ่งที่คณะศิษย์ ฯ ร่วมกันจัดในปีนี้ นอกจากการทำบุญที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีแล้ว ในวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๖๑ ทางวัดประชารังสรรค์ยังได้จัดพิธีอธิษฐานจิตแผ่เมตตาเหรียญเสมารูปเหมือนหลวงปู่ห้วย เขมจารี รุ่น "อายุบวร ๙๑ ปี" ซึ่งเป็นเหรียญที่หลวงปู่ห้วย เขมจารี มอบหมายให้พระศรีวินยาภรณ์ (สายรุ้ง อินทาวุโธ ป.ธ.๗ ดร.) ลูกศิษย์คนสำคัญของท่านดำเนินการจัดสร้างขึ้นเพื่อหาปัจจัยสมทบทุนสร้างศาลาธรรมสังเวชที่วัดหมากยาง ต.เป๊าะ อ.บึงบูรณ์ จ.ศรีสะเกษ วัดหมากยางแห่งนี้เป็นวัดหนึ่งที่อยู่ในการปกครองดูแลและความอุปถัมภ์ของหลวงปู่ห้วย เขมจารี ตั้งแต่ครั้งที่ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอฝ่ายธรรมยุต (ปกครองดูแล ๘ อำเภอ ประกอบ ด้วย ห้วยทับทัน, อุทุมพรพิสัย, ปรางค์กู่, ราศีไศล, เมืองจันทร์, บึงบูรพ์, โพธิ์ศรีสุวรรณ, ศิลาลาด) ในพิธีฯ นี้ มีพระเถราจารย์เมืองอีสานตอนใต้เข้าร่วมพิธีฯ หลายรูป อาทิ หลวงปู่ห้วย เขมจารี, พระครูอาภัสร์ธรรมคุณ (บุญรอด อาภสฺสโร) วัดโคกกรม สุรินทร์, หลวงปู่เหล็ก อินทสโร วัดบ้านก่อ อ.เมือง ศรีสะเกษม, หลวงปู่เส็ง วิสุทธสีโล วัดปราสาทเยอร์ใต้ อ.บึงไพร ศรีสะเกษ, พระอาจารย์แดง วรสฺกโก วัดป่าโนนเค็ง อ.อุทุมพรพิสัย ศรีสะเกษ เท่าที่ทราบเหรียญรุ่นนี้ เป็นเหรียญที่ได้รับความสนใจจากศิษย์สายนี้เป็นอันมาก
วาระอันเป็นมงคลนี้ พระศรีวินยาภรณ์ (สายรุ้ง อินทาวุโธ ป.ธ.๗ ดร.) ยังรับภาระในการสร้างเหรียญเม็ดแตงอายุบวร ๙๑ ปี ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนหลวงปู่ห้วย เขมจารี แบบครึ่งองค์ (เหรียญแจกทาน) ขึ้นมาจำนวนหนึ่งเพื่อถวายหลวงปู่ห้วย เขมจารี แจกเป็นทานบารมีในงานทำบุญคล้ายวันเกิดของท่าน ทั้งยังเมตตามอบเหรียญทองแดงจำนวนหนึ่งให้กองบรรณาธิการนิตยสารพระเครื่องพระเกจินำมาสมนาคุณหรือแจกเป็นที่ระลึกกับสมาชิก/ผู้ซื้อหนังสือพระเครื่องพระเกจิ ฉบับที่ ๓๑๒ โดยแนบไปกับหนังสือทุกเล่ม เหรียญเม็ดแตงหรือเหรียญแจกทานนี้ มี ๓ เนื้อด้วยกัน คือ ทองคำ, เงิน (ทองคำ / เงินเป็นเหรียญกรรมการที่มีจำนวนการสร้างน้อยมาก), เนื้อทองแดง หลวงปู่ห้วย เขมจารี ทำพิธีอธิษฐานจิต ฯ เดี่ยวที่วัดประชารังสรรค์ ในเช้าวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๑
พระราชญาณโสภณ (จรัส เขมจารี) วิ หรือหลวงปู่ห้วย เขมจารี ภิกษุวาจาสิทธิ์แห่งห้วยทับทัน มีนามเดิมว่า จรัส ศรีสุข ถือกำเนิดในวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ (รฺศ.๑๔๖, จ.ศ.๑๒๘๙) ตรงกับวันจันทร์ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๙ ปีเถาะ ที่บ้านเมืองจันทร์ ต.เมืองจันทร์ จ.ศรีสะเกษ โยมพ่อโยมแม่ของท่านมีชื่อว่านายมา-นางผุย ศรีสุข เป็นบุตรคนโตในจำนวนพี่น้องทั้งหมด ๗ คน ในวัยเด็ก เด็กชายจรัส ศรีสุข เข้าเรียนระดับชั้นประถม ศึกษาที่โรงเรียนวัดบ้านจันทร์จนจบชั้น ป.๓ จากนั้นออกมาช่วยโยมพ่อโยมแม่ทำงานและเลี้ยงดูแลน้องๆ เพราะโรงเรียนมีการสอนเพียงแค่นั้น กระทั่งอายุได้ ๑๗ ปี (พ.ศ. ๒๔๘๗) บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดหลวงสุมังคลาราม ระหว่างนั้น ท่านได้ศึกษาพระธรรมวินัยและสอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี เมื่ออายุครบบวชในปี ๒๔๙๑ จึงได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดหลวงสุมังคลาราม ต.เมืองใต้ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ โดยมีพระครูสิริสารคุณ (ศรี ฐิตธมฺโม) วัดหลวงสุมังคลาราม (ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระญาณวิเศษ ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษฝ่ายธรรมยุต) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระมหาธวัช วิมโล วัดหลวงสุมังคลาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์, พระมหาหน่วย ขนฺติโก วัดหลวงสุมังคลาราม (ชาตะ ๒๔๕๗, อุปสมบท ๒๔๗๘, มรณภาพ ๒๕๒๖) ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระศาสนดิลก เจ้าอาวาสวัดหลวงสุมังคลารามและเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษฝ่ายธรรมยุต) นามฉายาว่าเขมจารีแปลว่าผู้มีความเกษมเป็นปกติ
เมื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว หลวงปู่ห้วย เขมจารี อยู่จำพรรษาที่วัดหลวงสุมังคลรามเลยมาจนถึงปี ๒๔๙๕ จึงได้เดินทางมาจำพรรษาที่วัดประชารังสรรค์ บ้านห้วยทับทัน ตำบลห้วยทับทัน ระหว่างที่หลวงปู่ห้วย เขมจารี จำพรรษาอยู่ที่วัดหลวงสุมังคลารามเป็นเวลา ๔ ปี ท่านปรนนิบัติรับใช้ สนองงาน ศึกษาหาความรู้ทั้งทด้านปริยัติและปฏิบัติจากพระอุปัชฌาย์ของท่านด้วยความมุมานะ กระทั่งปี ๒๔๙๕ พระราชคุณาภรณ์ (ดาว ญาณธโร: ๒๔๕๖,๒๔๗๖, ๒๕๑๐) เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษฝ่ายธรรมยุตในขณะนั้น พิจารณาคัดเลือก/มอบ หมายให้พระจรัส เขมจารี เดินทางมาจำพรรษาและพัฒนาสำนักสงฆ์ประชารังสรรค์ ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านห้วยทับทัน หมู่ ๑ ต.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ
เหตุที่พระราชคุณาภรณ์ (ดาว ญาณธโร) มอบหมายให้พระจรัส เขมจารี เดินทางมาจำพรรษาที่วัดป่าประชารังสรรค์ เพราะพระชินวงศาจารย์ (อิ่ม อฺงกุโร ป.ธ.๕) เจ้าคณะจังหวัดฝ่ายธรรมยุตนิกายรูปแรกของเมืองศรีสะเกษ (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี ๒๔๙๐ - ๒๔๙๔) ได้ริเริ่มวางโครงการเร่งรัดพัฒนาวัดในเมืองศรีสะเกษหลายแห่ง อาทิ วัดประชานิมิต วัดป่าประชารังสรรค์ (ห้วยทับทัน) วัดป่าประชารังสฤษฏ์ (กัณฑรารมณ์) วัดป่าศรีสำราญ วัดโนนทราย ซึ่งอยู่ในระยะแรกเริ่มของการพัฒนาให้มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นโดยเร็ว งานเร่งรัดการพัฒนาวัดต่าง ๆ ดังกล่าว พระราชคุณาภรณ์ (ดาว ญาณธโร) เป็นพระผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการสนองงานของพระชินวงศาจารย์ (อิ่ม อฺงกุโร) ต่อเมื่อพระราชคุณาภรณ์ (ดาว ญาณธโร) ได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษฝ่ายธรรมยุตรูปต่อมา จึงสานต่อโดยการคัดเลือกพระภิกษุที่มีความรู้ความสามารถมีจริยวัตรเป็นที่ไว้วางใจได้ให้เดินทางไปปฏิบัติหน้าที่พระอธิการปกครองดูแล พัฒนา บริหารจัดการวัดต่างๆ เหล่านี้ พระอธิการผู้ได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในวาระเดียวกับหลวงปู่ห้วย เขมจารี คือ พระบุญเลื่อน ปภากโร สหธรรมิกรูปหนึ่งของหลวงปู่ห้วย เขมจารี ได้รับมอบหมายให้ไปปกครองดูแลวัดป่าศรีสำราญ ต.เมืองใต้ อ.เมืองศรีสะเกษ
วัดประชารังสรรค์ในห้วงระยะเวลาก่อนที่พระจรัส เขมจารี รับมอบหมายให้เดินทางมาเป็นเจ้าอธิการปกครองดูแลวัดแห่งนี้ เดิมมีสถานะเป็นเพียงสำนักสงฆ์ที่มีการประกาศตั้งเป็นวัดเมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๔๘๓ มีเนื้อที่โดยรวมประมาณ ๓๓ ไร่เศษ สภาพพื้นที่ยังคงเป็นป่ารกชัฎ ไม่ค่อยมีพระมาอยู่จำพรรษา แม้ว่าจักมีเจ้าอาวาสมาแล้ว ๒ รูป แต่ก็ขาดการทำนุบำรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เมื่อพระจรัส เขมจารี เดินทางมาถึงวัดป่าประชารังสรรค์ในวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๔๙๕ ชาวบ้านส่วนหนึ่งเกิดวิจิกิจฉาว่าเหตุใดเจ้าคณะจังหวัดฯ ส่งพระอายุยังน้อยมาจำพรรษาในที่ทุรกันดารเช่นนี้ พระอายุมากๆ ยังอยู่ไม่ได้เลย แล้วพระเด็กๆ จะอยู่ได้สักกี่น้ำ ข้อวิจิกิจฉานี้ จึงเป็นแรงจูงใจให้หลวงปู่ห้วย เขมจารี ให้วัยหนุ่มเกิดความมุมานะและความเพียรพยายามในการทำงานให้สำเร็จลุล่วงตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย
ในพรรษาแรกที่หลวงปู่ห้วย เขมจารี ย้ายมาจำพรรษาที่วัดประชารังสรรค์ มีพระภิกษุ ๔ รูป สามเณร ๒ รูปอยู่ร่วมพรรษาด้วย สภาพความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก ไม่มีกุฏิสงฆ์ที่มั่นคงแข็งแรง ท่านต้องจำพรรษาในกุฎิชั่วคราว ลักษณะเป็นกระท่อมหลังคามุงหญ้าฝาไม้ไผ่ขัดแตะแถบตอง เป็นสภาพความเป็นอยู่ตามธรรมชาติของป่าใกล้ชุมชนที่มีความสงบร่มรื่นเหมาะสำหรับการเจริญพระกรรมฐานเป็นอย่างยิ่ง ในปีถัดมาคือ ปี ๒๔๙๖ ชาวบ้านห้วยทับทันร่วมแรงร่วมใจกันสร้างกุฎิเรือนไม้หลังแรกเพื่อถวายหลวงปู่ห้วย เขมจารี ใช้ประโยชน์เป็นที่พักอาศัยอย่างถาวร ท่านตระหนักถึงคุณค่า/แรงศรัทธาของสาธุชาวห้วยทับทันที่มีต่อพระพุทธศาสนา จึงใช้ประโยชน์จากถาวรวัตถุที่ชาวบ้านร่วมกันสร้างถวายอย่างคุ้มค่า กระทั่งปี ๒๕๓๘ นับระยะเวลาได้ ๔๒ ปี กุฏิหลังนี้ มีสภาพทรุดโทรมเป็นอันมาก ปลวกกัดแทะเนื้อไม้ผุไปทั้งหลัง ยากต่อการซ่อมแซมให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ดังเดิม ปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นอันตรายต่อผู้อยู่อาศัยได้ จำเป็นต้องรื้อและสร้างขึ้นใหม่ คณะศิษย์ฯ จึงรวมใจกันสร้างกุฏิทรงไทยเรือนไม้ทั้งหลัง พื้นล่างปูหินอ่อน เพื่อทดแทนหลังเก่าที่รื้อไป การก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี ๒๕๔๐
พระจรัส เขมจารี ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดประชารังสรรค์อย่างเป็นทางการในปี ๒๔๙๘ ตามหนังสือตราตั้งที่ ๒/๒๔๙๘ ลงวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๙๘ อันเป็นการสิ้นสุดของบทพิสูจน์ที่ว่าภิกษุอายุยังน้อยที่เจ้าคณะจังหวัดฯ พิจารณาคัดเลือกและส่งมาพัฒนาวัดป่าแห่งนี้ มีความสามารถเพียงใด แม้งานพัฒนาช่วงแรก เริ่มและบริหารจัดการศาสนกิจในเขตพื้นที่รับผิดชอบของวัดป่าประชารังสรรค์จักมีความยากลำบากเพียงใด พระจรัส เขมจารี ก็มิได้ทอดทิ้งการศึกษาทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ ทั้งสามารถสอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอกในปีที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าประชารังสรรค์อย่างเป็นทางการ และ ๑๕ ปีต่อมา ท่านสามารถสอบไล่ได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค โดยศึกษาเล่าเรียนจากสำนักศึกษาวัดประชารังสรรค์ บ้านห้วยทับทัน อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ อันเป็นสำนักศาสนศึกษาที่ท่านตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ภิกษุสามเณรในชุมชนห่างไกลมีโอกาสศึกษาเรียนรู้พระปริยัติธรรมเฉกเช่นภิกษุสามเณรในเขตเมืองใหญ่ๆ ได้เป็นพระมหาเปรียญด้วยความวิริยะอุตสาหะทั้งเป็นแบบอย่างที่ดียิ่งสำหรับภิกษุสามเณรในพื้นที่ห่างไกลความเจริญทางการศึกษา
ด้านการบริหารจัดการศาสนกิจคณะสงฆ์ศรีสะเกษฝ่ายธรรมยุต หลวงปู่ห้วย เขมจารี ปฏิบัติศาสนกิจอบรมสั่งสอนพุทธศาสนิกชน ภิกษุสามเณรในปกครองของท่านด้วยความเมตตายิ่ง ท่านจึงมีสัทธิวิหาริก (ภิกษุผู้มาอุปสมบทด้วย) / อันเตวาสิก (ผู้อยู่ภายใน: ภิกษุผู้อยู่พระอาจารย์) เป็นจำนวนมาก หากความจำไม่เลอะเลือน พระศรีวินยาภรณ์เคยเล่าให้ฟังว่า "เจ้าอาวาสส่วนใหญ่ในจังหวัดศรีสะเกษล้วนเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่ห้วย เขมจารี" ประกอบกับท่านเป็นพระภิกษุที่วางตนอย่างเรียบง่าย สมถะ รักสันโดษตามแบบอย่างของพระสายวัดป่า จึงเป็นที่ไว้วางใจของคณะสงฆ์ เป็นที่เคารพศรัทธาของญาติโยมและพุทธศาสนิกชนทั่วไปที่ได้พบเห็น จากปฏิปทาและจริยวัตรอันงดงามยิ่ง หลวงปู่ห้วย เขมจารี ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติศาสนกิจสูงขึ้นตามลำดับ เริ่มจากได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ในปี ๒๕๓๐, ปี ๒๕๓๙ เป็นเจ้าคณะอำเภอฝ่ายธรรมยุต (พระครูสัญญาบัตรที่ พระครูวิจารณ์สมถกิจ), ปี ๒๕๔๖ เป็นเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ (ธรรมยุต) ทั้งได้รับพระทานสมณศักดิ๋เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระญาณวิเศษ, ปี ๒๕๔๗ เป็นเจ้าอาวาสวัดหลวงสุมังคลาราม, ปี ๒๕๕๓ เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ (ธรรมยุต), และในวันที่ ๕ ธันวาคม ปี ๒๕๕๔ ได้รับพระราชทานสัมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระราชญาณโสภณ วิมลศาสนกิจ ยติคณิสสร บวรสังฆารามคามวาสี
ในส่วนของการพัฒนาด้านงานก่อสร้างศาสนสถานและถารวัตถุในพระบวรพุทธศาสนา เริ่มต้นขึ้นในปี ๒๔๙๙ โดยการนำพาชาวห้วยทับทันสร้างเรือนบ้านขึ้นมาหลังหนึ่งเพื่อใช้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระประธานประจำวัด, เป็นที่ทำวัตรสวดมนต์เช้าเย็นของภิกษุสามเณร, เป็นที่บำเพ็ญบุญกุศลต่าง ๆ ของชาวบ้านย่านนั้น การก่อสร้างถาวรวัตถุในระยะแรกมีจำนวนไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นการพัฒนาที่เพียงพอกับความจำเป็นในการปฏิบัติศาสนากิจและเตรียมการยกฐานะเป็นวัดภายในชนบทห่างไกล เรื่อยมาถึงวันที่ ๑๖ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ ทางวัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาขึ้นเป็นวัดโดยสมบูรณ์ในนามวัดประชารังสรรค์ แต่ชาวบ้านยังคงเรียกติดปากว่าวัดป่าประชารังสรรค์ ด้วยเหตุที่วัดอยู่ในเขตพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ปัจจุบันนี้ วัดมีพื้นที่ทั้ง หมดประมาณ ๘๖ ไร่ ผลงานก่อสร้างถาวรวัตถุภายในวัดประชารังสรรค์ที่สำคัญๆ คือ ปี ๒๕๒๐ สร้างอุโบสถศิลปะทรงไทย ขนาดกว้าง ๗.๒๐ เมตร ยาว ๒๐ เมตร มูลค่า ๔,๕๐๐,๐๐๐ บาท (สี่ล้านห้าแสนบาท) จำนวน ๑ หลัง,ในปี ๒๕๓๖ ก่อสร้างวิหารขนาด ๒๐ x ๕๔ เมตรในบริเวณทิศใต้ของอุโบสถ เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำบุญบำเพ็ญกุศลรองรับศรัทธาของสาธุชน มูลค่าการก่อสร้างประมาณ ๒๐ กว่าล้าน
พิจารณาจากจุดมุ่งเน้นในการดำเนินงานด้านการพัฒนาของหลวงปู่ห้วย เขมจารี สังเกตได้ว่าท่านให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนและชุมชนท้องถิ่นมากกว่าการก่อสร้างถาวรวัตถุในพระบวรพุทธศาสนา ดังที่หยิบยกมาเล่าสู่กันฟังในนิตยสารพระเครื่องพระเกจิฉบับที่ ๓๑๑ ปีที่ ๒๕ หน้า ๑๓ สาระสำคัญโดยย่อ คือ ท่านให้ความสำคัญกับการศึกษาของพระภิกษุสามเณรเป็นอย่างยิ่งเพราะการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวตลอดไป จึงริเริ่มตั้งมูลนิธิเพื่อการพัฒนาและส่งเสริมพระพุทธศาสนาในนามมูลนิธิวัดประชารังสรรค์จรัสเขมจารีนุสรณ์ เมื่อปี ๒๕๓๔ ในวาระงานทำบุญคล้ายวันเกิดของท่านทุกปี นำดอกผลที่ได้ออกมาเป็นทุนการศึกษาของพระภิกษุสามเณรที่สอบนักธรรมและเปรียญธรรมได้ ทั้งแบ่งส่วนหนึ่งเป็นทุนสนับสนุนนักเรียนเยาวชนที่ศึกษาธรรมะและสอบธรรมศึกษาได้ แต่ละปีใช้เงินเพื่อการศึกษาทางพระพุทธ ศาสนาโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่าปีละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท, เป็นประธานมูลนิธิการศึกษาอำเภอห้วยทับทัน, เป็นองค์อุปถัมภ์ในการเปิดและขยายห้องเรียนสาขาพุทธศาสตร์ สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย ห้องเรียนศรีสะเกษ ที่วัดหลวงสุมังคลาราม โดยเปิดสอนทั้งหลักสูตรปริญญาตรีและปริญญาโท, ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม, สงเคราะห์/ช่วยเหลือสาธารณกุศลอื่น ฯลฯ ปีหนึ่ง ๆ หลวงปู่ห้วย เขมจารี ใช้เงินเพื่อกิจกรรมเหล่านี้ประมาณปีละ ๑๐ - ๑๓ ล้านบาท
ท้ายบทความนี้ เหลนศิษย์ผีย่านมีความภูมิใจที่ได้รับความไว้วางใจจากครูบาอาจารย์ให้เป็นผู้นำเสนอเรื่องราวส่วนหนึ่งของพระสุปฏิปันโนผู้เป็นเสมือนพ่อหรือปู่ของชาวห้วยทับทัน พระแท้ที่สามารถกราบไหว้ได้โดยปราศจากข้อสงสัยในปฏิปทาและวัตรปฏิบัติของท่าน ทั้งขอฝากทิ้งท้ายว่าอิทธิปาฏิหารย์ใด ๆ ที่เกิดจากไสยเวทย์มิอาจเทียบได้กับบุญฤทธิ์ที่แผ่กระจายออกมาจากเมตตาจิตอันหาที่สุดมิได้ของพระอริยบุคคลเหล่านั้น เหรียญเม็ดแตงอายุบวร ๙๑ ปี หลวงปู่ห้วย เขมจารี (เหรียญแจกทาน) ที่ท่านสมาชิก/ผู้อ่านนิตยสารพระเครื่องพระเกจิได้รับแจกพร้อมกับหนังสือเล่มนี้ ย่อมเป็นมงคลอย่างแท้จริง
(ติดตามเนื้อหาต่อไปในตอนที่ ๒)
อุทยานพระเครื่อง โดย... ชายนำ ภาววิมล ... (utthayanphra.com)
๓ - ๑๑ -๒๕๖๗