หลวงปู่ห้วย เขมจารี ภิกษุวาจาสิทธิ์แห่งห้วยทับทัน
หลวงปู่ห้วย เขมจารี วัดประชารังสรรค์ : ภิกษุวาจาสิทธิ์แห่งห้วยทับทัน (ตอน ๒/๒)
โดย... เหลนศิษย์ผีย่าน ...
ห้วงเวลาที่พระภิกษุในพระพุทธศาสนาจำนวนหนึ่งกำลังเผชิญกับวิกฤตศรัทธาอันรุนแรง วิกฤตศรัทธาอันเนื่องจากวัตรปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามพระธรรมวินัย ทั้งกระทำการในกิจที่สงฆ์ไม่พึงปฏิบัติและสิ่งที่โลกติเตียน วิบากที่ตามมา มิเพียงส่งผลต่อบุคคลผู้ครองผ้าเหลืองโดยปราศจากศีลจาริยาวัตรอันงดงาม แต่ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อสถาบันพระพุทธศาสนา เป็นเหตุให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในแง่มุมต่างๆ มากมาย ทั้งด้านการสนับสนุนให้มีจัดการกับสมมุติสงฆ์ที่ประพฤติปฏิบัติในทางที่มิชอบด้วยพระธรรมวินัยและกฎหมายทางโลก กับกลุ่มที่เคลือบแคลงสงสัยในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ถูกผิดเป็นเช่นใด คงไม่ใช่ประเด็นที่ต้องมาวิพากษ์วิจารณ์กันในบทความนี้ เพราะการประพฤติปฏิบัติอันไม่ควรแก่สถานะของบรรพชิต และ/หรือผิดกฎหมายของทางโลก มิใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคสมัยนี้ แต่เป็นเหตุปกติที่เกิดขึ้นมาแต่ครั้นพุทธกาล เมื่อเหตุเกิดขึ้นแล้ว ล้วนมีจารีตปฏิบัติและการตราข้อบัญญัติทางพระธรรมวินัยขึ้นมาเพื่อป้องกัน ขจัดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในภายภาคหน้า ตลอดระยะเวลา ๒,๖๐๐ กว่าปีที่พระพุทธศาสนาบังเกิดขึ้นในโลกใบนี้ พระ พุทธศาสนาโดยความร่วมมือร่วมใจของพุทธบริษัททั้งหลายทั้งปวง มีการคัดกรองบุคคลผู้ห่มครองผ้ากาสาวพัสตร์ที่ประพฤติผิดพระธรรมวินัยอย่างร้ายแรงออกจากความเป็นภิกษุในพระบวรพุทธศาสนาก็ไม่น้อย บางครั้งฝ่ายอาณาจักรก็เข้ามามีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่เกินขีดความสามารถที่คณะสงฆ์พึงกระทำได้ แม้ว่าพระ พุทธศาสนาในสยามประเทศจะเผชิญปัญหาและวิกฤตศรัทธาครั้งใหญ่มาครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็สามารถผ่านพ้นเหตุร้ายต่างๆ ไปได้ด้วยพระเมตตาบารมีขององค์อัครศาสนูปถัมภก พระอริยสงฆ์ พระสุปฏิปันโน ภิกษุผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่ยังคงมีอยู่เป็นจำนวนมากในยุคสมัยนี้ และหนึ่งในพระอริยสงฆ์เหล่านั้นคือ พระราชญาณโสภณ วิ. (จรัส เขมจารี) ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ (ธรรมยุติ) หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปในนาม หลวงปู่ห้วย เขมจารี วัดประชารังสรรค์ ต.ห้วยทับทัน อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ
พระราชญาณโสภณ วิ. (จรัส เขมจารี) หรือ หลวงปู่ห้วย เขมจารี เจ้าอาวาสวัดประชารังสรรค์ และที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ เป็นพระวิปัสสนาจารย์ฝ่ายธรรมยุตนิกายผู้มีชื่อเสียงเกียรติคุณโดดเด่นยิ่งในแถบลุ่มน้ำห้วยทับทัน พระภิกษุเจ้าอาวาสส่วนมากในเขตเมืองขุขันธ์(ชื่อเดิมของจังหวัดศรีสะเกษ) ล้วนเป็นศิษย์ของหลวงปู่ห้วย เขมจารี พุทธศาสนิกชนชาวศรีสะเกษและจังหวัดใกล้เคียงต่างให้ความเคารพศรัทธาท่านเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะคนห้วยทับทัน นามหลวงพ่อห้วยหรือหลวงปู่ห้วยที่ชาวบ้านเรียกขานแทนชื่อจริงของท่านสืบต่อกันมาถึงทุกวันนี้ มาจากคำแรกของชื่ออำเภอห้วยทับทัน เป็นชื่อที่สื่อให้พุทธบริษัททั้งหลายรับรู้ว่าพระภิกษุผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบรูปนี้เปรียบเสมือน พ่อหรือปู่ของคนห้วยทับทัน หลวงปู่ผู้เป็นหนึ่งในตำนานการสร้างอำเภอห้วยทับทันให้เจริญรุ่งเรืองเรื่อยมาตราบเท่าทุกวันนี้ เริ่มต้นจากการเปิดให้ใช้ใต้ถุนศาลาวัดประชารังสรรค์เป็นที่ว่าการกิ่งอำเภอห้วยทับทันในวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๐ (อำเภอห้วยทับทัน แยกออกมาจากอำเภออุทุมพรพิสัย มีฐานะเป็นกิ่งอำเภอเมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๐ และยกฐานะเป็นอำเภอในวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๙)
ในมุมมองของความเป็นพ่อหรือปู่ที่นำพาความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ลูกหลานชาวเมืองห้วยทับทัน หลวงปู่ห้วย เขมจารี เป็นดั่งพ่อหรือปู่ที่คนทั้งหลายให้ความเคารพยำเกรงเป็นอย่างยิ่ง นอกจากความเคร่งครัดในพระธรรมวินัย/วัตรปฏิบัติอันงดงามยิ่ง ผลงานด้านการพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับถาวรวัตถุควบคู่ไปกับการสร้างบุคลากรทางด้านพุทธศาสตร์แล้ว หลวงปู่ห้วย เขมจารี เป็นพระแท้ที่สมถะรักสันโดษยิ่ง ไม่เคยแม้แต่นิดที่จะอวดอ้างคุณวิเศษใดๆ ทั้งที่มีอยู่จริงและไม่มีอยู่จริง แต่เป็นสิ่งที่บรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งหลายทั้งปวงสามารถสัมผัสได้ด้วยตนเองโดยเฉพาะเรื่องวาจาสิทธิ์ ประเด็นนี้พระศรีวินยาภรณ์ (สายรุ้ง อินทาวุโธ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอาวุธวิกสิตาราม เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร เล่าให้ฟังว่า "หลวงปู่ห้วย เขมจารี นั่งสงบนิ่งได้ทั้งวันโดยไม่ต้องทำอะไร เวลาเอ่ยปาก พูดหรือทักเรื่องใด มักเป็นไปตามนั้น" จึงเป็นเหตุให้คนห้วยทับทันและคนในอาณาบริเวณใกล้เคียงเชื่อว่าท่านมีวาจาสิทธิ์ ความเชื่อนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายยำเกรงท่านมากด้วยกลัวว่าจะมีอันเป็นไปตามคำที่ท่านทัก เรื่องนี้ ท่านเจ้าคุณสายรุ้ง อินทาวุโธ เน้นย้ำว่าหลวงปู่ห้วย เขมจารี จะพูดแต่เรื่องดีๆ เรื่องที่ทำให้คนฟังสบายใจ ไม่พูดหรือทักในเรื่องไม่ดีเพราะท่านหยั่งรู้ผลที่จะเกิดขึ้นกับความรู้สึกนึกคิดของผู้ฟัง
หลวงปู่ห้วย เขมจารี เป็นศิษย์ในสายพระญาณวิเศษ (ศรี ฐิตธมฺโม: ชาตะ ๒๔๓๑, อุปสมบท ๒๔๕๑, มรณภาพ ๒๕๒๙) วัดหลวงสุมังคลาราม เจ้าของฉายา "หลวงปู่ศรี ผีย่าน" คำว่าผีย่านในภาษาอีสานนั้น พระมหาสมศักดิ์ ธมฺมวฑฺฒโน ป.ธ.๗ วัดบวรมงคล ลูกศิษย์รูปหนึ่งของหลวงปู่ห้วย เขมจารี อธิบายว่า ผีย่านหมายถึงผีกลัว เล่าสืบต่อกันมาว่าสมัยที่หลวงปู่ศรี ฐิตธมฺโม ยังมีชีวิตอยู่ ท่านเป็นที่พึ่งของญาติโยมในเรื่องเกี่ยวกับผี ๆ ทั้งหลายตามความเชื่อของคนอีสานในสมัยนั้น ภาพที่คุ้นเคยกับภาพที่อยู่ในความทรงจำของนักนิยมพระเครื่องกับข้อเท็จจริงด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนามีความแตกต่างกันมาก หลวงปู่ศรี ฐิตธมฺโม เป็นศิษย์เอกของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส: ๒๔๑๐, ๒๔๓๐, ๒๔๙๙) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร เคยไปศึกษาบาลีไวยากรณ์และช่วยงานพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (อุบาลี สิริจนฺโท ๒๓๙๙, ๒๔๒๐, ๒๔๗๕,) ที่วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร ด้วยเหตุนี้ จึงได้รับมอบหมายจากสมเด็จฯ พระอุปัชฌาย์ให้เป็นเจ้าอาวาสวัดหลวงสุมังคลาราม (คราวที่เปลี่ยนวัดหลวงสุมังคลารามจากวัดมหานิกายเป็นวัดธรรมยุตนิกาย ในปี ๒๔๗๖) เมื่อได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดหลวงสุมังคลารามแล้ว หลวงปู่ศรี ฐิตธมโม ดำเนินงานวางรากฐานให้คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายในจังหวัดศรีสะเกษอย่างมั่นคง พัฒนาวัดหลวงสุมังคลรามให้เป็นศูนย์รวมแห่งการศึกษาพระปริยัติธรรม และขยายวัดธรรมยุตินิกายออกไปอีก ๑๗ วัด แนวทางด้านการพัฒนาของหลวงปู่ศรี ฐิตธมฺโม รูปนี้เป็นแบบอย่างที่หลวงปู่ห้วย เขมจารี ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติในการดำเนินงานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา พัฒนาบุคลากรเชิงคุณภาพที่ทรงคุณค่ายิ่งให้กับพระบวรพุทธศาสนาในยุคสมัยปัจจุบัน
จากการเสวนากับพระมหาสมศักดิ์ ธมฺมวฑฺฒโน พระนักศึกษาหลักสูตรพุทธศาสน์ศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต มหามกุฎราชวิทยาลัย ที่วัดบวรมงคล ในช่วงวันบ่ายที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๑ ทำให้ทราบว่าหลวงปู่ห้วย เขมจารี ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาทางด้านพระปริยัติธรรมเป็นอันมาก ลูกศิษย์ฝ่ายบรรพชิตที่ท่านส่งเสริมให้ศึกษาจนสอบไล่ได้เป็นมหาเปรียญมีจำนวนไม่น้อย ลูกศิษย์ที่เป็นกำลังสำคัญในการจัดการศึกษาคณะสงฆ์ในทุกวันนี้ คือ พระศรีวินยาภรณ์ (สายรุ้ง อินทาวุโธ ป.ธ.๗ ดร.) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอาวุธวิกสิตาราม เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร นอกจากสอบไล่ได้เปรียญธรรม ๗ ประโยคแล้ว ยังสำเร็จการศึกษาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต (บาลี สันสกฤต) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, M.Phil.(Buddhist Studies) และ Ph.D.(Buddhist Studies) University of Delhi, India ปัจจุบัน พระศรีวินยาภรณ์ดำรงตำแหน่งคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย และผู้อำนวยการสำนักเรียนวัดอาวุธวิกสิตารามซึ่งเป็นสำนักเรียนที่มีผลงานดีเด่นในปี ๒๕๖๑ มีพระและสามเณรที่สอบไล่ได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค ๒ รูป, เปรียญธรรม ๖ ประโยค ๑ รูป, เปรียญธรรม ๓ ประโยค และประกาศนียบัตร ๑, ๒ รวม ๑๙ รูป นอกจากนี้ หลวงปู่ห้วย เขมจารี ยังมีลูกศิษย์ฝ่ายบรรพชิตที่สอบไล่ได้เปรียญธรรม ๗ ประโยคอีกหลายรูป อาทิ พระมหาสำรวย จิตตฺสํวโร ป.ธ.๗ โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดบวรมงคล, พระมหาสมศักดิ์ ธมฺมวฑฺฒโน ป.ธ.๗ วัดบวรมงคล ในส่วนของศิษย์ฆราวาส ลูกศิษย์คนสำคัญที่เป็นนักวิชาการด้านพระพุทธศาสนาคือ ผศ.ดร.ปฐมพงศ์ โพธิ์ประสิทธินันท์ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
หลวงปู่ห้วย เขมจารี ตระหนักถึงความสำคัญทางการศึกษาของพระภิกษุสามเณรเป็นอย่างยิ่งเพราะการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวตลอดไป จึงริเริ่มตั้งมูลนิธิเพื่อการพัฒนาและส่งเสริมพระพุทธศาสนาในนามมูลนิธิวัดประชารังสรรค์จรัสเขมจารีนุสรณ์ เมื่อปี ๒๕๓๔ ในวาระงานทำบุญคล้ายวันเกิดของท่านทุกปี ได้นำดอกผลที่ได้ออกมาเป็นทุนการศึกษาของพระภิกษุสามเณรที่สอบนักธรรมและเปรียญธรรมได้ ทั้งแบ่งส่วนหนึ่งเป็นทุนสนับสนุนนักเรียนเยาวชนที่ศึกษาธรรมะและสอบธรรมศึกษา แต่ละปีใช้เงินเพื่อการศึกษาทางพระพุทธศาสนาโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่าปีละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท นอกจากการตั้งมูลนิธิฯ และมอบทุนการศึกษาแก่พระภิกษุสามเณร เด็กและเยาวชนแล้ว หลวงปู่ห้วย เขมจารี ยังรับเป็นประธานมูลนิธิการศึกษาอำเภอห้วยทับทัน เป็นองค์อุปถัมภ์ในการเปิด/ขยายห้องเรียนสาขาพุทธศาสตร์ สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย ห้องเรียนศรีสะเกษ ที่วัดหลวงสุมังคลาราม โดยเปิดสอนทั้งหลักสูตรปริญญาตรีและปริญญาโท
มิได้เพียงแค่ภารกิจด้านการศึกษา หลวงปู่ห้วย เขมจารี ยังได้ดำเนินงานด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานด้านการบริหารจัดการพระภิกษุสามเณรในการปกครอง การส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม การสงเคราะห์/ช่วยเหลือ สาธารณกุศลอื่นๆ หลวงปู่ห้วย เขมจารี ได้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมสนับสนุนและให้การอุปถัมภ์กิจกรรมทั้งหลายเหล่านี้ คิดมูลค่าเป็นจำนวนเงินประมาณปีละ ๑๐ - ๑๓ ล้านบาท ภารงานด้านต่างๆ ที่ท่านได้กระทำไปนั้น เป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งที่ได้ขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาของอำเภอห้วยทับทันให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งเป็นผลงานที่ทำให้คณะสงฆ์ให้ความเชื่อมั่นไว้วางใจและมอบหมายให้ท่านเป็นผู้รับผิดชอบงานปกครองของคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตนิกายในจังหวัดศรีสะเกษ ที่สำคัญยิ่งคือ เป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธบริษัทและสาธุชนอย่างกว้างขวาง
ด้วยความเป็นสมภารเจ้าวัด หลวงปู่ห้วย เขมจารี ไม่อาจหลีกเลี่ยงเรื่องการสร้างวัตถุมงคลเพื่อสนองศรัทธาของญาติโยมได้ มีการจัดสร้างพระเครื่อง/วัตถุมงคลทั้งรูปและนามของท่านหลายรุ่น แต่ละรุ่นล้วนมีจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ในการจัดสร้างที่ชัดเจน พระศรีวินยาภรณ์เคยพูดถึงเรื่องนี้ว่าหากมีจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ที่ดีแล้ว อธิบายให้ท่านเห็นภาพประโยชน์ที่พึงเกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนาหรือสาธารณกุศล ท่านมักไม่ขัดและอนุญาตให้ทำได้ เมื่อถึงวาระที่ต้องกระทำตามพิธีกรรมให้ถูกต้อง ไม่เป็นที่เคลือบแคลงสงสัย (เชื่อ มั่นในความเข้มขลังของพิธีกรรม) หลวงปู่ห้วย เขมจารี จะทำพิธีอธิษฐานจิตแผ่เมตตาให้แบบเกินร้อย ประเด็นนี้ พระมหาสมศักดิ์ ธมฺมวฑฺฒโน เล่าให้ฟังว่า "หลวงปู่ห้วย เขมจารี มิได้ศึกษาเรียนรู้วิชาอาคมอันเป็นศาสตร์นอกพระพุทธศาสนา แม้ท่านเป็นพระนักพัฒนา เป็นพระนักบริหารระดับสูงของเมืองลำดวน แต่ท่านก็เป็นพระภิกษุที่สมถะรักสันโดษ ปฏิบัติสมถะ/วิปัสสนากรรมฐานอย่างต่อเนื่องและเคร่งครัด" คณะศิษย์เชื่อว่าท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ฝ่ายบุญฤทธิ์ พลานุภาพและความศักดิ์สิทธิ์ที่บังเกิดขึ้นมาจากการปฏิบัติซึ่งก้าวข้ามไปอีกระดับหนึ่ง การอธิษฐานจิตแผ่เมตตาพระเครื่อง/วัตถุมงคลแต่ละครั้ง หลวงปู่ห้วย เขมจารี มักนั่งสมาธิจนสงบนิ่ง จิตเป็นเอกัตคตา หลอมรวมจิตเป็นพลังอันบริสุทธิ์ เกิดเป็นพลานุภาพที่ระเบิดขึ้นจากภายในที่เต็มเปี่ยมด้วยพรหมวิหารธรรม พระเครื่อง/วัตถุมงคลที่ผ่านการอธิษฐานจิตแผ่เมตตาจากหลวงปู่ห้วย เขมจารี จึงเป็นวัตถุอันเป็นมงคลทางพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง เป็นพลานุภาพที่เกิดจากการปฏิบัติพระกรรมฐานในพระพุทธศาสนาเป็นเวลายาวนาน มิใช่เกิดจากวัตถุอาถรรพ์หรือมนต์ดำที่ก่อให้เกิดผลเสียในวันข้างหน้า พระเครื่อง/วัตถุมงคลที่ผ่านการอธิษฐานจิตแผ่เมตตาทางท่านจึงมีพลานุภาพทางด้านเมตตาเป็นหลัก รองลงมาคือ แคล้วคลาดนิรันตราย และคุ้มครองป้องกัน
ชีวประวัติของหลวงปู่ห้วย เขมจารี มหาเถระนักพัฒนาเมืองลำดวน เหลนศิษย์ผีย่านจะนำเสนอในตอนหน้าอันเป็นตอนจบของบทความนี้ คาดว่าตอนจบที่นำเสนอในนิตยสารพระเครื่องพระเกจิฉบับเดือนสิงหาคม ๒๕๖๑ น่าจะวางแผงในเวลาใกล้เคียงกับงานทำบุญวันคล้ายวันเกิดของหลวงปู่ห้วย เขมจารี คือวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๖๑ ซึ่งเป็นวันที่หลวงปู่ห้วย เขมจารี มีอายุครบ ๙๑ บริบูรณ์ พรรษา ๗๐ ในวาระกาลอันเป็นมงคลยิ่งของคณะศิษย์ฯ หลวงปู่ห้วย เขมจารี อนุญาตให้พระศรีวินยาภรณ์จัดสร้างเหรียญรูปเหมือนรุ่นอายุบวร ๙๑ ปี เพื่อเป็นที่ระลึกในงานทำบุญวันคล้ายวันเกิดฯ และนำปัจจัยที่ได้สมทบทุนสร้างศาลาธรรมเวช วัดหมากยาง ต.เป๊าะ อ.บึงบูรพ์ จ.ศรีสะเกษ โดยมีกำหนดการที่จะทำพิธีอธิษฐานแผ่เมตตาในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม ณ วิหารวัดประชารังสรรค์ หลวงปู่ห้วย เขมจารี เป็นประธานจุดเทียนชัยและพระเกจิอาจารย์ผู้ทรงคุณในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายรูปร่วมพิธีฯ เหลนศิษย์ผีย่านเป็นศิษย์ศึกษาในหลักสูตรพุทธศาสน์ศึกษาที่พระศรีวินยาภรณ์เป็นคณบดี จึงได้ประสานงานกับนิตยสารพระเครื่องพระเกจิเพื่อขอนำภาพและชีวประวัติของพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบรูปนี้มาเผยแพร่ให้สมาชิกได้รับทราบ ทั้งขอเหรียญแจกทานรุ่นอายุบวร ๙๑ ปีจากพระศรีวินยาภรณ์ซึ่งทำขึ้นเพื่อถวายหลวงปู่ห้วย เขมจารี แจกเป็นทานบารมีในงานทำบุญคล้ายวันเกิด ฯ ปีนี้ มามอบให้เป็นที่ระลึกแก่สมาชิกนิตยสารพระเครื่องพระเกจิส่วนใหญ่ที่ไม่มีโอกาสเดินทางไปกราบนมัสการท่านด้วยตนเอง โดยแจกคู่กับนิตยสารพระเครื่องพระเกจิ ฉบับที่ ๓๑๒ เดือนสิงหาคม ๒๕๖๑ เตรียมรอรับได้เลย ไม่มีการจำหน่าย แจกคู่กับหนังสือเท่านั้นหรือไม่ก็ต้องเดินทางไปกราบนมัสการหลวงปู่ห้วย เขมจารี ด้วยตนเองที่วัดประชารังสรรค์ในวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๖๑ หากไม่อยากพลาดโอกาสอันดีเช่นนี้ รีบสั่งจองกับร้านหนังสือใกล้บ้าน.....
อุทยานพระเครื่อง โดย... ชายนำ ภาววิมล ... (utthayanphra.com)
๔ - ๑๑ - ๒๕๖๗