แชร์

พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ตำนานยอดพระเครื่องเมืองหลังสวน (๑๓/๒๔)

อัพเดทล่าสุด: 20 ธ.ค. 2024
17 ผู้เข้าชม

พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน : ตำนานยอดพระเครื่องเมืองหลังสวน (๑๓/๒๔)

 โดย....... ชายนำ ภาววิมล .......

            ตอนที่แล้ว(๑๒/๒๔) ผู้เรียบเรียงนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ที่มีโอกาสสัมผัสและประสบพบเห็นด้วยตนเองจากการเข้าไปมีส่วนร่วมในการแบ่งเบาภาระบางส่วนของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม เรื่องราวที่หยิบยกมานำเสนอเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของพระเกจิอาจารย์แห่งลุ่มน้ำหลังสวน เสี้ยวมุมหนึ่งที่ทำให้เห็นวิถีที่แท้จริงของพระสุปฏิปันโนรูปนี้ดียิ่งขึ้น ครั้งหนึ่งที่ผู้เรียบเรียงไปกราบนมัสการและสนทนากับท่านที่บ้านคุณคงศักดิ์ เทพทวีพิทักษ์ ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องสัพเพเหระที่พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม กับลูกศิษย์ใกล้ชิดมักสนทนาพูดคุยกันเป็นประจำ ช่วงหนึ่ง มีผู้ร่วมวงสนทนาคนหนึ่งนำเรื่องราวของอดีตพระยันตระเข้าสู่วาระการสนทนา ต่างคนต่างวิพากษ์วิจารณ์ไปตามข้อมูลข่าวสารที่ตนได้รับมา บ้างก็ว่าอดีตพระยันตระบริสุทธิ์ บ้างก็ว่าพระพยอม กลฺยาโณ ทำถูกต้อง เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ยากที่จักหาข้อสรุปในวงสนทนาได้ ถึงคราวที่ผู้ร่วมวงสนทนาต้องการทราบความคิดเห็นจากพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ท่านตอบสั้น ๆ ว่า เรื่องนี้เป็นปัจจัตตัง ผู้กระทำย่อมรู้ตัวเองว่ากระทำผิดหรือไม่...เดี่ยวนี้ ข้าเกลียดพระ ทั้ง ๆ ที่ตัวข้าเองก็เป็นพระ พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ไม่ได้ชี้ชัดลงไปว่าใครถูกหรือไม่ถูก แต่ท่านกลับสื่อความหมายให้เข้าใจกันว่าพฤติกรรมและการกระทำของพระภิกษุสงฆ์ในยุคโลกาภิวัตน์ ส่วนหนึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง พระภิกษุสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของอลัชชีเพียงไม่กี่ตนอย่างที่เป็นข่าวกันในทุกวันนี้

          อีกช่วงหนึ่งของการสนทนา ผู้เรียบเรียงนำเรื่องอาถรรพ์ของตึกที่ผู้เรียบเรียงทำงานอยู่ในขณะนั้นให้พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ฟัง พร้อมทั้งขอคำชี้แนะจากท่านว่าควรทำอย่างไรจึงจะแก้อาถรรพ์นี้ได้ ท่านกลับตอบไปอีกแนวหนึ่งซึ่งผู้เรียบเรียงไม่คาดคิดมาก่อนว่าท่านจะตอบในลักษณะนี้ คำตอบของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม นั้นไม่ได้เหลือเค้าของพระเกจิอาจารย์ที่เชี่ยวชาญในพระเวทย์วิทยาคมเลย สาระสำคัญในคำตอบของท่าน สรุปใจความสำคัญได้ว่า "เมื่อประสบเหตุร้ายหรือภัยพิบัติต่าง ๆ อย่าเพิ่งด่วนสรุปและโทษว่าเป็นอาถรรพ์ของสถานที่ จริงอยู่ที่เจ้าของหลายราย ต้องพบกับเหตุอันไม่พึงปรารถนาต่าง ๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องล้มละลาย ติดคุก แต่เราควรจะพิจารณาไตร่ตรองว่าเหตุที่เกิดขึ้น เป็นผลจากการกระทำของบุคคลหรือเป็นเพราะอาถรรพ์ของสถานที่กันแน่"

          กรณีทั้งสองเรื่องที่กล่าวมานี้ เป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงแก่นแท้ของยอดพระเกจิอาจารย์ผู้สืบสายพุทธาคมจากสำนักวัดขันเงิน แห่งเมืองหลังสวน สำนักเขาอ้ออันเกรียงไกร และสุดยอดพระเกจิอาจารย์ภาคใต้อีกหลายรูป แต่จะมีสักกี่คนที่หยั่งลึกลงไปในรายละเอียดว่าพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม เป็นพระภิกษุที่พระราชญาณกวี (บุญช่วย เขมาภิรตฺ) อดีตเจ้าอาวาสวัดขันเงิน เมตตาโปรดปรานมากที่สุด สำหรับนักนิยมพระเครื่องแล้ว ส่วนใหญ่จักไม่ค่อยได้ยินชื่อเสียงเกียรติภูมิของพระราชญาณกวีมากนัก แต่ถ้าจักเชื่อมโยงให้เห็นถึงภูมิธรรมแล้ว พระราชญาณกวีเป็นหนึ่งในสามพี่น้องทางธรรม เริ่มจากพี่ใหญ่คือ ท่านพุทธทาสภิกขุ สวนโมกขพลาราม พระราชญาณกวี และท่านปัญญานันทภิกขุ วัดชลประทานรังสฤษฏ์ จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม เป็นพระเกจิอาจารย์ที่รอบรู้ในสรรพวิชาทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นหลักพุทธธรรม การเจริญสมถะและวิปัสสนากรรมฐาน พระเวทวิทยาคมสายต่าง ๆ

         ชาติภูมิ พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม เป็นคนหลังสวนโดยกำเนิด มีนามเดิมว่าคล้อย ทองเสมียน เป็นบุตรคนที่ ๔ ของโยมพ่อพุ่ม ทองเสมียน และโยมแม่แจ้ม ทองเสมียน ถิ่นกำเนิดคือ บ้านนาพระ ตำบลขันเงิน บ้านนาพระนี้เดิมเป็นทุ่งนา เนื่องจากมีพระพุทธรูปผุดขึ้นมาจากพื้นนา ชาวบ้านจึงเรียกกันว่าบ้านนาพระ เรื่อยมาตราบถึงทุกวันนี้ ทิศเหนือของบ้านนาพระอยู่ติดหลังวัดประสาทนิกร ด้านข้างอยู่ติดป่าช้าซึ่งเป็นสุสานจีนในช่วงปี ๒๕๔๐

          พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๕ คน ดังนี้ ๑) นายเพื่อม ทองเสมียน ๒) นายเพิ่ม ทองเสมียน ๓) นางคล่อง ทองเสมียน ๔) พระครูใบฎีกาคล้อย ฐานธมฺโม ๕) นางเคลื่อน เกตุวาระ สำหรับวันเกิดของท่าน มีข้อมูลที่ขัดแย้งกันคือ ในหนังสือชีวประวัติและภาพพระเครื่องหลวงพ่อคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน หน้า ๑๑ ระบุว่า ในใบสุทธิของท่าน ระบุว่าพ่อหลวงเกิดวันที่ ๔ มกราคม ๒๔๖๕ ตรงกับวันพุธ แรม ๑๐ ค่ำ เดือนยี่ ปีวอก แต่จากปากคำของพ่อหลวง ท่านยืนยันว่าท่านเกิดวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๔๖๓ และในหนังสือพ่อหลวงคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน อ.หลังสวน จ.ชุมพร วันเสาร์ที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๐ ครบรอบ ๑๐๐ วัน หน้า ๓ ระบุว่า ท่านกำเนิดเมื่อวันพุธที่ ๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๖๓ ตรงกับปีวอก แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๑ ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากปฏิทินร้อยปี พบว่า วันเดือนปีที่มีความสอดคล้องต้องกันมากที่สุด คือ วันพุธแรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๑ ปีวอก ตรงกับวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๓

         ครอบครัวของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและมีฐานะค่อนข้างดี ในวัยเด็ก ท่านเป็นเด็กแข็งแรง อยู่ในโอวาทของโยมพ่อโยมแม่เสมอมา จวบจนอายุถึงวัยเรียน โยมพ่อนำไปฝากเข้าศึกษาเล่าเรียนที่โรงเรียนวัดด่านประชากร อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร หลังจากสอบไล่ได้ชั้นประถมปีที่ ๑ โยมพ่อขอย้ายที่เรียนใหม่โดยให้มาเรียนที่โรงเรียนวัดประสาทนิกร ซึ่งเป็นโรงเรียนที่อยู่ใกล้บ้าน การเดินทางไปมาสะดวก พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม เรียนจบชั้นประถมปีที่ ๔ แล้ว มิได้ศึกษาเล่าเรียนต่อ อยู่บ้านช่วยโยมพ่อโยมแม่ทำสวนผลไม้ ด้วยเหตุที่ท่านเป็นคนขยันหมั่นเพียร หนักเอาเบาสู้ ไม่ท้อถอยในการทำงาน ทำงานเต็มความสามารถตั้งแต่เด็กจนถึงวัยหนุ่ม จึงเป็นที่รักใคร่ของโยมพ่อโยมแม่ พี่น้องและเครือญาติ

         บรรพชาและอุปสมบท ในช่วงเยาว์วัย พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม อยู่ใกล้ชิดพระบวรพุทธศาสนามาโดยตลอด เมื่อจบการศึกษาชั้นประถมปีที่ ๔ แล้ว อันเป็นช่วงเวลาที่ท่านอยู่บ้านช่วยโยมพ่อโยมแม่ทำสวนผลไม้ ท่านมีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนนอโม อักขระวิธีจากพระครูอาธรธรรมวัตร (ชุบ สุวณฺโณ) วัดประสาทนิกร เป็นเวลานานหลายปีและเมื่ออายุได้ ๑๙ ปี จึงบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดประสาทนิกร โดยมีหลวงพ่อขำ วฑฺฒนเถระ พระเกจิอาจารย์ยุคเก่าของเมืองหลังสวน เป็นพระอุปัชฌาย์ ตลอดระยะเวลาที่บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดประสาทนิกร พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ปรนนิบัติรับใช้พระอาจารย์ของท่านอย่างใกล้ชิด เป็นที่เมตตารักใคร่ของหลวงพ่อขำ วฑฺฒนเถระ นอกจากการอบรมสั่งสอนจากพระอาจารย์โดยตรงแล้ว หลวงพ่อขำ วฑฺฒนเถระ มอบหมายให้ท่านอยู่ในการดูแลของพระครูอาทรธรรมวัตร (ชบ สุจิณโณ) เจ้าสำนักปริยัติธรรมและปฏิบัติกรรมฐานวัดประสาทนิกร พระครูอาทรธรรมวัตร รูปนี้เป็นศิษย์เอกของหลวงพ่อขำ วฑฺฒนเถระ ที่เชี่ยวชาญในพระเวทวิทยาคมและมีพลังจิตแก่กล้า จึงเป็นเหตุที่เกื้อหนุนให้พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ได้ศึกษาเรียนรู้และสอบไล่ได้เป็นนักธรรมตรี เจริญภาวนาและฝึกปฏิบัติเพื่อพัฒนาจิต รวมตลอดทั้งการศึกษาเรียนรู้เรื่องยาสมุนไพร

        หลังจากบรรพชาเป็นสามเณรได้สองปี พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ลาสิกขาบทมาปรนนิบัติดูแลโยมพ่อโยมแม่ ต่อมา โยมแม่ของท่านล้มป่วย อาการมีแต่ทรงกับทรุดและถึงแก่กรรมในที่สุด โยมพ่อเศร้าโศกเสียใจมาก จากนั้นไม่นาน โยมพ่อก็ล้มป่วยและถึงแก่กรรมไปอีกคน เมื่อสิ้นโยมพ่อโยมแม่ทั้งสองท่าน พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม อาศัยอยู่กับญาติพี่น้อง กระทั่งวันหนึ่ง ท่านเจ้าคุณเทพฯ (จันทร์ โกสโล) อดีตเจ้าอาวาสวัดขันเงินและเจ้าคณะจังหวัดชุมพร (ต่อมาได้เลื่อนสมณะศักดิ์เป็นพระธรรมจารีย์มุนีวงศาจารย์) บางกระแสว่าเป็นญาติผู้ใหญ่ของท่าน มาตามท่านไปอยู่ที่วัดขันเงิน เพื่อช่วยงานสร้างพระอุโบสถวัดขันเงิน โดยท่านเจ้าคุณเทพฯ มอบหมายให้ท่านนำช้างไปชักลากไม้ที่ตำบลปังหวาน อำเภอพะโต๊ะ มาสร้างพระอุโบสถวัดขันเงิน ทั้งอยู่ปรนนิบัติรับใช้ท่านเจ้าคุณเทพฯ เป็นเวลานานกว่า ๑๐ ปี

        มูลเหตุในการตัดสินใจบวชของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม กระแสหนึ่ง เชื่อว่าเมื่อพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ช่วยเหลือในการสร้างพระอุโบสถพอสมควรแล้ว ท่านจึงขออนุญาตพระเดชพระคุณพระธรรมจารรยฺมุนีวงศาจารย์เพื่อขออุปสมบทในพระพุทธศาสนา เพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่โยมบิดาโยมมารดาผู้ล่วงลับไปแล้ว อีกกระแสหนึ่ง ระบุว่า พ่อหลวงได้ปรนนิบัติรับใช้ท่านเจ้าคุณเทพฯ เป็นเวลานานกว่า ๑๐ ปี ในระหว่างนั้น ท่านเจ้าคุณเทพฯ พยายามเกลี้ยกล่อมโน้มน้าวให้พ่อหลวงอุปสมบทตลอดเวลา แต่ก็ไม่สำเร็จ พ่อหลวงบ่ายเบี่ยงขอผัดผ่อนเรื่อยมา จนกระทั่งบานปลายชีวิตของเจ้าคุณเทพฯ ท่านได้ขอร้องแกมบังคับให้พ่อหลวงบวชสักที บวชแล้วจะไปไหนก็สุดแล้วแต่ พ่อหลวงถามกลับว่าจะบวชไปเพื่ออะไร ท่านเจ้าคุณเทพฯ ตอบว่า อย่างน้อย ๆ ก็ได้ช่วยดูแลท่านในยามแก่ พ่อหลวงจึงได้ตัดสินใจอุปสมบทที่อุโบสถวัดขันเงิน ความแตกต่างของมูลเหตุในการอุปสมบททั้งสองกระแส เป็นอย่างไร ก็ไม่จำเป็นต้องไปสืบค้นหาคำตอบที่ถูกต้อง เพราะไม่มีใครที่สามารถตอบคำถามนี้แทนท่านได้ ประเด็นสำคัญที่เป็นข้อสรุปสำคัญคือ พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม อุปสมบทที่พระอุโบสถวัดขันเงิน เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ ขณะนั้นอายุได้ ๓๙ ปี โดยมีพระธรรมจารีย์มุนีวงศาจารย์ (จันทร์ กุสโล) เจ้าอาวาสวัดขันเงินและเจ้าคณะจังหวัดชุมพร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระสมุห์ชุ่ม ติกฺขปญโญ เป็นพระ กรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า "ฐานธมฺโม"

         การศึกษาพุทธาคม เมื่ออุปสมบทแล้ว พ่อท่านคล้อย ฐานธมโม จำพรรษาและเข้าศึกษาพระปริยัติธรรมที่สำนักวัดขันเงิน ซึ่งมีพระสมุห์ชุ่ม ติกฺขปญฺโญ เป็นเจ้าสำนักเรียน เมื่อสอบไล่ได้นักธรรมเอกแล้ว พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม มิได้ศึกษาพระปริยัติธรรมต่อ ด้วยความที่เป็นผู้ใฝ่ใจในพุทธาคม พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม กราบลาพระอาจารย์ออกธุดงค์ไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากพระอาจารย์ต่าง ๆ เริ่มจากการปฏิบัติพระกรรมฐานที่สำนักวัดท้าวโคตร จังหวัดนครศรีธรรมราช ๑ พรรษา, พระอาจารย์เลื่อน เจ้าสำนักวัดถ้ำไสใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ๒ พรรษา จากนั้น กราบลาพระอาจารย์เลื่อน ไปบำเพ็ญภาวนาที่ถ้ำพระ อำเภอนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี บำเพ็ญภาวนาได้ระยะหนึ่งแล้ว เดินธุดงค์ไปตามลุ่มน้ำตาปีตอนล่าง ธุดงค์เรื่อยไปถึงจังหวัดกระบี่ พบและแลกเปลี่ยนวิชา แนวปฏิบัติกับพระอาจารย์สุมลเป็นเวลานานกว่า ๒ เดือน ศึกษาด้านการปฏิบัติกับพระอาจารย์เด้ง เจ้าสำนักวัดถ้ำหอม จังหวัดนครศรีธรรม ๑ พรรษา จากนั้น ธุดงค์ต่อไปยังจังหวัดพังงา ผ่านตะกั่วป่า ที่ใดมีสัมปายะดีเหมาะสำหรับการปฏิบัติพระกรรมฐาน ก็ปักกรดบำเพ็ญภาวนาไปตามควรแก่กาล ไปจนลงที่จังหวัดภูเก็ตด้วยการเข้าไปศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมกับพระอาจารย์นิล ที่สำนักวัดสุขาราม เป็นเวลานานกว่า ๓ เดือน หลังจากนั้น ได้เดินธุดงค์กลับวัดขันเงิน

         การศึกษาพุทธาคมของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม มิใช่เพิ่งมาเริ่มต้นหลังจากที่ท่านสอบไล่ได้นักธรรมเอกแล้ว ความเป็นจริงแล้ว พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม เริ่มศึกษาเรียนรู้พุทธาคมและอักขระเลขยันต์ตั้งแต่วัยเด็กโดยการ ฝากตัวเป็นศิษย์และศึกษาเรียนรู้นอโมและอักขระวิธีจากพระครูอาธรธรรมวัตร (ชบ สุจิณโณ) ที่สำนักวัดประสาทนิกร และสรรพวิชาต่าง ๆ จากหลวงพ่อขำ วฑฺฒนเถระ อดีตเจ้าอาวาสวัดประสาทนิกร พื้นฐานความรู้ทางพุทธาคมของท่านมาจากสำนักวัดประสาทนิกรโดยตรง การออกธุดงค์หลังจากที่ท่านสอบไล่ได้นักธรรมเอกเป็นการศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมและฝึกพลังจิตให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น นอกจากนั้น พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม เคยเล่าให้ฟังหลายครั้งว่าหลวงพ่อแดง ติสฺโส วัดแหลมสอ เป็นอาจารย์อีกรูปหนึ่งของท่าน ตอนนั้นมิได้ซักถามเพิ่มเติมว่าพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ฝากตัวเป็นศิษย์และเรียนรู้วิชาจากหลวงพ่อแดง ติสฺโส เมื่อใด

        ที่กล่าวกันว่าพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม เป็นศิษย์สายเขาอ้ออันเกรียงไกรนั้น จุดเริ่มต้น มาจากพิธีเสด็จกลับในปี ๒๕๑๑ ที่คุณเบญจางค์ เลขะกุล ผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาหลังสวน ในขณะนั้น เชิญอาจารย์ชุม ไชยคีรี และพระเกจิอาจารย์สายเขาอ้อ ประกอบด้วย พระอาจารย์นำ แก้วจันทร์, หลวงพ่อคง สิริมโต, พระอาจารย์ปาล ปาลธมฺโม และ หลวงพ่อ หมุน ยสโร มาร่วมในพิธีจัดสร้างพระผงรูปเหมือนหลวงพ่อแดง พุทโธ ด้วยบทบาทและสถานะของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ในตอนนั้น ท่านมิได้เป็นศิษย์สายเขาอ้อเลย แต่เป็นเจ้าภาพฝ่ายสงฆ์ที่เชิญอาจารย์ชุม ไชยคีรี และพระเกจิอาจารย์สายเขาอ้อมาร่วมในพิธีจัดสร้างพระผงรูปเหมือนหลวงพ่อแดง พุทโธ การฝากตัวเพื่อเรียนรู้สรรพวิชาต่าง ๆ เป็นการศึกษาเรียนรู้หลังจากพิธีเสด็จกลับแล้ว หลังพิธีเสด็จกลับ พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม มีสถานะเป็นสหธรรมิกกับอาจารย์ชุม ไชยคีรี ศึกษาเรียนรู้สรรพวิชาของพระอาจารย์คง (อาจารย์ของขุนแผน) ร่วมกับอาจารย์ชุม ไชยคีรี ประเด็นนี้ พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม มักกล่าวยกย่องว่าอาจารย์ชุม ไชยคีรี เก่งมาก เรียนรู้เร็วมาก สามารถทำได้ก่อนท่านเสมอ ๆ โดยเฉพาะวิชาเป่าทองเข้าตัว ส่วนพระเกจิอาจารย์สายเขาอ้อรูปอื่น ๆ พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม เดินทางไปกราบนมัสการและขอเรียนรู้สรรพวิชาต่าง ๆ จากพระเกจิอาจารย์ทั้งสี่รูปเพิ่มเติม วิชาสำคัญที่ศิษย์สายนี้กล่าวถึงคือ ศึกษาเรียนรู้เรื่องการติดต่อโลกวิญญาณ กับหลวงพ่อหมุน ยสโร วัดเขาแดงตะวันตก

        จากชีวประวัติพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ดังกล่าว เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่ครบเครื่อง ศึกษาเรียนรู้ทั้งพระปริยัติธรรม สมถะและวิปัสสนากรรมฐาน พุทธาคมจากสำนักต่างๆ จนอาจกล่าวได้ว่าท่านเป็นพระเกจิอาจารย์เมืองหลังสวนที่รอบรู้ในศาสตร์ด้านนี้อย่างแท้จริง เป็นศิษย์เอกของสำนักวัดประสาทนิกร และสืบสานตำนานสำนักวัดถ้ำเขาเงินแห่งเมืองหลังสวน ในตอนต่อไป คงถึงวาระสำคัญในการนำเสนอปูมหลังการสร้างพระปิดตามหาลาภองค์น้อยอันลือชื่อ..แล้วครับ

(บทความนี้ เป็นบทความเก่าที่ตีพิมพ์ในนิตยสารพระเครื่องลานโพธิ์ ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๑๑๘๔ ปักษ์แรก มีนาคม ๒๕๕๙ หน้า ๘ - ๑๐)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy