แชร์

พระปิดตาหลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป วัดอรัญญวิเวก เชียงใหม่

อัพเดทล่าสุด: 25 ธ.ค. 2024
16 ผู้เข้าชม

 พระปิดตาหลวงพ่อเปลี่ยน ปญญาปทีโป วัดอรัญญวิเวก เชียงใหม่

 เรื่องและภาพโดย... ชายนำ ภาววิมล ...

            เมื่อกล่าวถึงพุทธศิลป์ของพระปิดตายุคหลังกึ่งพุทธกาล นักนิยมพระปิดตาเนื้อผงส่วนใหญ่มักให้ความสนใจกับพระปิดตาพิมพ์ต่าง ๆ ของหลวงปู่โต๊ะ อินฺทสุวณฺโณ วัดประดู่ฉิมพลี มิใช่เพียงแค่พลานุภาพที่เหล่านักนิยมในสายนี้และบรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายทั้งปวงศรัทธาเชื่อมั่นแบบเต็มร้อยว่าประสบการณ์ด้านเมตตามหานิยมและโชคลาภมีมากหลาย แต่เป็นพุทธศิลป์ตระกูลพระปิดตาเนื้อผงที่พระเกจิอาจารย์ร่วมสมัยและพระเกจิอาจารย์ยุคต่อมา นำไปปรับใช้เป็นต้นแบบในการสร้างพระปิดตาเนื้อผงของสำนักต่าง ๆ กันอย่างแพร่หลาย ที่แพร่หลายมากที่สุด คงไม่พ้นพระปิดตาพิมพ์ปลดหนี้และพระปิดตาพิมพ์จัมโบ้ พระปิดตาทั้งสองพิมพ์นี้ จัดเป็นพิมพ์ทรงมาตรฐานที่ตรงกับความต้องการของทั้งฝ่ายจัดสร้างและนักนิยมพระเครื่องยุคใหม่ หาตลับหรือกรอบสำเร็จรูปมาใส่พระปิดตาทั้งสองพิมพ์นี้ก็ไม่ยาก เทียบเคียงกับพระปิดตาพิมพ์ทรงแปลก ๆ แม้จะออกแบบสวยงามเพียงไร ก็ไม่สะดวกและประหยัดเงินในกระเป๋าเท่ากับพระปิดตาทั้งสองพิมพ์นี้ และฟันธงได้เลยว่าพระเกจิอาจารย์ระดับแนวหน้าของวงการพระเครื่องยุคหลังวโรกาสเฉลิมฉลอง ๒๐๐ ปีรัตนโกสินทร์ ส่วนใหญ่มีการสร้างพระปิดตาพิมพ์ปลดหนี้หรือพิมพ์จัมโบ้อย่างน้อยก็หนึ่งรุ่น เมื่อพระปิดตาทั้งสองพิมพ์นี้ มีการสร้างเลียนแบบล้อศิลปะเป็นจำนวนมาก ก็มีข้อดีที่นักนิยมพระปิดตาเนื้อผงยุคใหม่มีทางเลือกในการเล่นหาและเก็บสะสมพระปิดตามากขึ้น ดังนั้น ผู้เรียบเรียงขอใช้หน้ากระดาษนี้ในการนำเสนอเพื่อแนะนำพระปิดตาพิมพ์ปลดหนี้และพิมพ์จัมโบ้ของพระสุปฏิปันโนในสายพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ทางภาคเหนืออีกรูปหนึ่งคือ พระปิดตาเนื้อผงผสมเกศาหลังภาพเครื่องอัฐบริขาร หลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป วัดอรัญญวิเวก ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

            หลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป หรือที่กลุ่มผู้เคารพศรัทธาในพระคณาจารย์สายพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เรียกขานกันโดยทั่วไปว่า หลวงพ่อพระอาจารย์เปลี่ยน ปญฺญาปทีโป เป็นพระวิปัสสนาจารย์ผู้มีความรอบรู้ทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ ตลอดระยะเวลาที่ท่านครองสมณเพศ ท่านได้เขียนหนังสือธรรมะมากมายหลายสิบเล่ม ประกอบด้วย ๑) อริยทรัพย์ ๗ อย่าง ๒) สัปปุริสธรรม ๗ อย่าง ๓) ตายแล้วไปไหน ๔) มรณานุสติ ๕) เมตตาธรรมค้ำจุนโลก ๖) ขันติ ความอดทน ๗) จิตตภาวนา ๘) ทางปฏิบัติไปสู่ความสงบ ๙) ทางปฏิบัติไปสู่ความสว่าง ๑๐) กิเลส ๑๑) ความโกรธ ๑๒) มรรค ๘ ขันธ์ ๕ และไตรลักษณ์ ๑๓) มองดูตนเอง ๑๔) สติ - สัมปชัญญะ ๑๖) สติปัฎฐานสี่ ๑๗) ไม่รู้จักความพอดี มีความทุกข์ รู้จักความพอดีมีสุข ๑๘) ทำบุญอย่างไรจึงได้บุญมาก ๑๙) กรรมสนองกรรม ๒๐) อภัยทาน ๒๑) ถาม ตอบ ปัญหาธรรม ๒๒) การถวายสิ่งของแด่พระภิกษุที่ญาติโยมควรปฏิบัติ ๒๓) ประวัติโดยย่อวัดอรัญญวิเวก บ้านปง ๒๔) พระอาจารย์เปลี่ยน ปญญาปทีโป ประวัติส่วนตัว การจำพรรษา และการออกธุดงค์. งานเขียนเหล่านี้เป็นตัวชี้วัดที่แสดงให้เห็นว่าหลวงพ่อพระอาจารย์เปลี่ยน ปญฺญาปทีโป มีความรอบรู้ทางด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระมากเพียงใด เพราะการแสดงธรรมทางวาจานั้นมิใช่เรื่องง่าย แต่การรจนาธรรมให้เป็นตัวหนังสือนั้น ยากกว่าหลายเท่า หากไม่มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้แล้ว คงไม่สามารถแสดงพระธรรมเทศนา สอนสมถะและวิปัสสนากรรมฐาน เขียนหนังสือได้หลากหลายและมากมายเช่นนี้

           ประวัติโดยสังเขป หลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป มีนามเดิมว่า เปลี่ยน วงษาจันทร์ ถือกำเนิดเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ตรงกับวันพฤหัสบดี ปีระกา ณ บ้านโคกคอน ต.โคกสี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร บิดาชื่อนายกิ่ง มารดาชื่อนางอรดี วงษาจันทร์สกุลเดิมของมารดาคือ จุนราชภักดี บิดามารดาทำการค้าขาย มีฐานะดี คุณตาเป็นกำนันอยู่ที่ตำบลโคกสี ชื่อ ขุนจุนราชภักดี มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๖ คน เป็นผู้ชาย ๕ คน ผู้หญิง ๑ คน มีชื่อตามลำดับดังนี้ นายสมบิน วงษาจันทร์, นายคำปิ่น วงษาจันทร์, หลวงพ่อเปลี่ยน วงษาจันทร์, นายเหรียญ (วงษาจันทร์) นันตสูตร, นางหนูจีน (วงษาจันทร์) ธรรมจิตร, นายถวิล วงษาจันทร์. ด้วยเหตุที่คุณยายรักท่านมาก จึงรับเด็กชายเปลี่ยน วงษาจันทร์ มาเลี้ยงดูตั้งแต่ยังเล็ก ๆ

          ในวัยเด็ก หลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป เริ่มต้นการศึกษาด้วยการเรียนกับคุณตาและคุณยายที่บ้าน เพราะเพลานั้นเป็นห้วงระยะเวลาที่เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา (เขตสงครามหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ ๒: มหาสมุทรแปซิฟิก - เอเชียตะวันออก) ต่อมาได้เข้าเรียนที่โรงเรียนบ้านโคกคอน เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ เมื่ออายุ ๑๑ ปี ตอนนั้น ท่านสอบไล่ได้ที่หนึ่งของชั้นและมีความประสงค์จะเรียนต่อ แต่โยมแม่ต้องการให้ท่านมาช่วยงานค้าขายของทางบ้าน หลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป จึงต้องปฏิบัติตามความต้องการของโยมแม่

          การประกอบอาชีพค้าขายในวัยเด็ก หลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป ต้องเดินทางไปซื้อของถึงจังหวัดอุดรธานี การเดินทางต้องนั่งรถโดยสารบ้าง รถบรรทุก หรือรถขายถ่านบ้าง สลับกันไปตามสถานการณ์ สินค้าส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ทั่วไป ถึงฤดูทำนาก็จ้างคนมาทำนา การทำนาแต่ละปีสามารถเก็บข้าวได้เป็นจำนวนมาก จึงขยายกิจการไปค้าขายข้าวเปลือกกับโรงสีใหญ่ ๆ กิจการต่าง ๆ ของครอบครัวดำเนินการไปได้ด้วยดี ฐานะการเงินของครอบครัวก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเหตุที่หลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป เป็นผู้ที่มีความสามารถและความรับผิดชอบสูงมาตั้งแต่เด็ก โยมแม่ ญาติพี่น้องและผู้ใกล้ชิดต่างให้ความไว้วางใจท่านเป็นอย่างยิ่ง มากถึงขั้นนำเงินมาฝากท่านเสมือนหนึ่งเป็นธนาคารส่วนบุคคล หลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป ก็เก็บรักษาไว้ให้โดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ ทั้งไม่เคยทำให้ใครผิดหวัง จึงเป็นทั้งที่รัก ที่นับถือ ที่ไว้วางใจของญาติพี่น้องและคนในชุมชน

           นอกจากวิถีชีวิตที่วนเวียนอยู่กับการประกอบสัมมาอาชีวะซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่วัยเด็ก หลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป มีวาสนาผูกพันกับพระสุปฏิปันโนที่เป็นพระวิปัสสนาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในการเจริญสมถะ/วิปัสสนากรรมฐานตั้งแต่ครั้งที่ออกจากโรงเรียนมาช่วยโยมพ่อโยมแม่ทำการค้าขายใหม่ ๆ คราวใดที่ทางบ้านมีงานบุญ ท่านเป็นต้องมีหน้าที่ไปรับพระที่วัดเป็นประจำ ดังนั้น จึงมีโอกาสได้เห็นวิธีการเดินจงกรมของพระอาจารย์ลี วัดป่าบ้านตาล (ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น ไม่พบวัดป่าบ้านตาลในอำเภอสว่างแดนดิน มีแต่วัดใหม่บ้านตาล) พระอาจารย์ลี รูปนี้ เป็นผู้แนะนำให้หลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป ไปหาหลวงปู่พรหม จิรปุญโญ (เดิมเป็นคนชาวบ้านตาล ต.โคกสี ตำบลเดียวกับหลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป บวชเมื่ออายุมาก ติดตามพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ไปปฏิบัติธรรมที่ถ้ำเชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้บำเพ็ญเพียรไม่ท้อถอย) หลวงปู่พรหม จิรปุญโญ เดินจงกรมให้ดูแล้วสอนให้เดินจงกรม จึงถือได้ว่าหลวงปู่พรหมจิรปุญโญ เป็นพระอาจารย์รูปแรกของหลวงปู่เปลี่ยน ปญฺญาปทีโป หลังจากนั้น ท่านได้ศึกษากับพระที่บวชกับหลวงปู่พรหม จิรปุญโญ หลายรูป และมีความคิดที่จะบวชตลอดเวลา แต่โยมแม่ก็ไม่อนุญาต ทั้ง ๆ ที่พี่ชายสองคนก็บวชแล้ว ตัวโยมแม่เองก็ไปวัดถือศีลทุกวันพระ บางครั้งก็เดินทางไปกราบนมัสการพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต กระทั่งโยมพ่อของท่านซึ่งป่วยด้วยวัณโรคได้ถึงแก่กรรมในปี ๒๔๙๗ และอีก ๕ ปีต่อมา โยมลุงก็ถึงแก่กรรมอีกคนหนึ่ง หลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป จึงใช้ความพยายามขอบวชอีกครั้งเพื่อทดแทนพระคุณพ่อแม่เหมือน กับพี่ชายทั้งสองคน เพราะยังไม่เคยบวชเลย ขณะนั้น พี่ชายสึกออกมาประกอบอาชีพแล้ว โยมแม่และโยมตาทนการรบเร้าของหลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญปทีโป ไม่ไหว จึงอนุญาตให้บวชเพียงแค่ ๗ วัน

           เมื่อฌาปนกิจศพโยมลุงเสร็จเรียบร้อยแล้ว วันรุ่งขึ้น ท่านถือโอกาสเข้าวัดเพื่อเตรียมตัวบวช หัดขานนาคพร้อมกับคนอื่นซึ่งมาอยู่ถือศีลอีกสองคน ฝึกสวดมนต์เจ็ดตำนานได้เกือบหมดเล่ม ใช้เวลาเกือบ ๔๐ วันโดยมีพระอาจารย์สุภาพ ธมฺมปญฺโญ เป็นครูผู้ฝึกสอน จากนั้น เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดธาตุมีชัย บ้านโคกดอน ต.โคกสี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ พระอุปัชฌาย์ชื่อ พระครูอดุลย์สังฆกิจ พระกรรมวาจาจารย์ชื่อพระครูพิพิธธรรมสุนทร ได้ฉายาว่า ปญฺญาปทีโป

           เมื่ออุปสมบทแล้ว หลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป ย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดทุ่งสว่าง บ้านโคกดอน ต. โคกสี อ.สว่างแดนดิน ขณะนั้น ท่านมีความรู้สึกสบายกายสบายใจมากเพราะได้ปล่อยวางจากภาระต่าง ๆ ตั้งแต่การรับผิดชอบเงินทางจำนวนมาก ทั้งของตัวเองและของผู้อื่นที่นำมาฝากท่านไว้ ความกังวลใจในเรื่องการค้าขายให้กับครอบครัวและญาติพี่น้อง การดูแลรักษาไร่นา วัวควาย และทรัพย์สินอื่น ๆ ที่ท่านแบกอยู่ผู้เดียวมาตั้งแต่อายุ ๑๒ ปี ครั้นบวชได้ ๑๘ วัน โยมแม่มาขอให้ท่านสึกเพราะเลยเวลาที่อนุญาตแล้ว แต่ด้วยความฝักใฝ่ในการศึกษาธรรมของท่าน จึงได้ขอโยมแม่บวชต่อให้ครบพรรษา

         ด้วยความมุ่งมั่นที่จะศึกษาธรรมะให้ถึงจุดหมายปลายทางของพระบวรพุทธศาสนา หลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป พยายามบ่ายเบี่ยงโยมแม่เรื่องการสึกและหนีออกไปธุดงค์ตามจังหวัดต่าง ๆ เพื่อแสวงหาโมกขธรรม และมีโอกาสได้พบกับพระวิปัสสนาจารย์ที่เคยได้ยินชื่อเสียงเกียรติคุณมากมายทั้งจากภาคอีสาน ภาคใต้และภาคเหนือ แต่พระวิปัสสนาจารย์ที่หลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญปทีโป อยู่ปฏิบัติและรับใช้ใกล้ชิดเป็นเวลานานคือ หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ, หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี. หลวงปู่ตื้อ อจลฺธมฺโม, หลวงปู่แหวน สุจิณโณ. ส่วนรูปอื่น อาทิ พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ, หลวงปู่ขาว อนาลโย, หลวงปุ่คำดี ปภาโส, หลวงปู่ชอบ ฐานสโม, พระสุธรรมยานเถร (อินถา อินฺทจกฺโก), หลวงปู่สาม อกิญจโน, พระอาจารย์วัน อุตฺตโม, หลวงปู่แว่น ธมฺมปาโล, หลวงพ่อผาง จิตฺตคุตฺโต ล้วนเป็นพระอาจารย์ที่ท่านได้พบและมีเมตตาเทศน์อบรม ทำให้ท่านมีความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมมากยิ่งขึ้น

         หลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป มาเป็นเจ้าอาวาสวัดอรัญญวิเวก ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่ปี ๒๕๐๙ เป็นต้นมากระทั่งมรณภาพ ท่านมีลูกศิษย์มากมายที่ติดตามและฝึกปฏิบัติตามแนวทางของท่าน หลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป ได้รับการยอมรับในหมู่นักปฏิบัติว่าเป็นพระป่าพระกรรมฐานผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีความเพียรอันยิ่งใหญ่ในการปฏิบัติ เป็นพระสุปฏิปันโนและเป็นพระแท้ที่เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม เขียนหนังสือหลายเล่มเพื่อถ่ายทอดธรรมะแก่สาธุชนแบบไม่มีค่าใช้จ่าย ธรรมบรรยายของท่านล้วนเป็นสิ่งที่ถูกต้องตรงจริตของผู้ฟังและสามารถนำไปใช้ในการพัฒนา/การปฏิบัติตนเป็นอย่างดี การสอนของหลวงเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป มุ่งเน้นการปฏิบัติที่นำไปสู่นิพพานอันเป็นจุดหมายปลายทางของการปฏิบัติในพระพุทธศาสนา

         หลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป ละสังขารด้วยโรคชราที่กุฏิในวัดอรัญญวิเวก เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ เวลา ๑๕.๐๓ น. สิริอายุ ๘๕ ปี พรรษา ๕๙

         พระปิดตาหลังภาพเครื่องอัฐบริขาร เนื้อผงผสมเกศาฝังตระกรุดเงิน เป็นพระปิดตารุ่นแรกที่หลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญปทีโป อนุญาตให้คณะศิษยานุศิษย์และกองร้อย ตชด.ที่ ๓๓๔ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ดำเนินการจัดสร้างขึ้นเพื่อหาปัจจัยสร้างศูนย์ฝึกอบรมเยาวชน หมู่บ้านชายแดน เพื่อความมั่นคงและป้องกันยาเสพติด, ตั้งกองทุนมูลนิธิ ปญฺญาปทีโป เพื่อเด็กนักเรียนในถิ่นทุรกันดารและด้อยโอกาส พระเครื่องที่จัดสร้างในโอกาสนี้ มี ๕ แบบ ๑๐ รายการ ประกอบด้วย พระกริ่งพระอาจารย์เปลี่ยน (๒ รายการ: เนื้อเงิน, เนื้อนวโลหะ), พระปิดตามหาอุตม์ยันต์ยุ่งมหาลาโภ (๒ รายการ: เนื้อเงิน, เนื้อนวโลหะ), พระปิดตาเนื้อผงผสมเกศาฝังตะกรุดเงิน พิมพ์ปลดหนี้, พระปิดตาเนื้อผงผสมเกศาฝังตะกรุดเงิน พิมพ์จัมโบ้ , และพระปรกใบมะขามปญฺญาปทีโป (๔ รายการ: ชุดทองคำรวม ๕ เนื้อ, เงิน, นวโลหะ, ทองผสม)

            ลักษณะ เป็นพระปิดตาเนื้อผงที่สร้างขึ้นโดยการล้อศิลปะพระปิดตาพิมพ์ปลดหนี้และพิมพ์จัมโบ้ ๒ ของหลวงปู่โต๊ะ อินฺทสุวณฺโณ วัดประดู่ฉิมพลี ลักษณะด้านหน้าของพระปิดตาทั้งสองพิมพ์นี้ คล้ายกับพระปิดตาปลดหนี้และจัมโบ้ ๒ ของวัดประดู่ฉิมพลี ส่วนด้านหลัง ตรงกลางเป็นภาพเครื่องอัฐบริขารของพระธุดงค์ ด้านบนเป็นอักษรธรรมของภาคเหนือ ใต้ภาพเครื่องอัฐบริขาร จารึกนาม พระอาจารย์เปลี่ยน ปญฺญาปทีโป และมีหมายเลขกำกับองค์พระทุกองค์
            เนื้อหา เนื้อผงผสมเกศาฝังตะกรุดเงิน มีมวลสารเม็ดเล็ก ๆ สีดำ กระจายตามส่วนต่าง ๆ ขององค์พระ
            วรรณะสีผิว สีออกขาวขุ่นอมเหลือง
            จำนวนการสร้าง พิมพ์ละ ๑๖,๐๐๐ องค์
            พิธีกรรม หลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป จัดพิธีแผ่เมตตาภาวนาชัยมังคลาภิเษกในอุโบสถวัดอรัญญวิเวก เมื่อวันเสาร์ที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ เวลา ๑๕.๓๙ น. หลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป เป็นประธานจุดเทียนชัยและแผ่เมตตาภาวนาชัยมังคลาภิเษกตลอดพิธี พระคณาจารย์เจริญพระพุทธมนต์ชัยมงคลคาถาตามตำรับพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
            พลานุภาพ เมตตาและคุ้มครองป้องกัน

           หลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป เป็นพระอริยบุคคลในสายพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตมหาเถระ ที่น่าเคารพศรัทธาอีกรูปหนึ่ง แม้ผู้ใดไม่มีวาสนาได้กราบไหว้สักการะหลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป ในยามที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ หากมีโอกาสแวะไปเยี่ยมเยือนวัดอรัญญวิเวก ก็จะได้สัมผัสกับมรรควิถีของวัดป่าที่สุขสงบ มิได้ให้ความสำคัญกับอาคารและถาวรวัตถุ มีเท่าที่จำเป็น ที่จำเป็นต้องมี ก็ดูแลรักษาและทำความสะอาดตลอดเวลา ภาพเหล่านี้ เป็นประจักษ์พยานที่พอจะสันนิษฐานได้ว่า "หลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญปทีโป มีศีลาจาริยวัตรเช่นใด" หากต้องการเก็บสะสมพระเครื่องที่ทรงคุณค่าทางจิตวิญญาณสักองค์หนึ่ง พระเครื่องที่ผ่านการอธิษฐานจิตแผ่เมตตาจากพระอริยบุคคลเป็นมงคลที่ทรงคุณค่ายิ่ง


บทความที่เกี่ยวข้อง
ประวัติการสร้างและภาพเหรียญยอดพระปิดตายุคหลังกึ่งพุทธกาล
กรอบแนวคิดและประวัติความเป็นมาในการสร้างเหรียญยอดพระปิดตายุคหลังกึ่งพุทธกาล รวมทั้งภาพเหรียญทั้ง ๕ เนื้อที่จัดสร้างในคราวนี้
15 ม.ค. 2025
หน้าปกบทความหลวงปู่ผิว อภิชาโต
ประวัติการสร้างเหรียญอาร์มเล็ก หลวงปู่ผิว อภิชาโต วัดประดู่ทรงธรรม ต.ไผ่ลิง อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา หรือที่เรียกกันว่าเหรียญแจกทาน
1 ธ.ค. 2024
ปกบทความหลวงปู่ห้วย เขมจารี ตอน ๒
ชีวประวัติพระราชญาณโสภณ วิ. (จรัส เขมจารี) หรือ "หลวงปู่ห้วย" วัดประชารังสรรค์ อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเคยตีพิมพ์ในนิตยสารพระเครื่องพระเกจิ
1 ธ.ค. 2024
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy