แชร์

พระเพชรกลับ หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส วัดบ้านกรับ กาญจนบุรี

อัพเดทล่าสุด: 29 ม.ค. 2025
169 ผู้เข้าชม

พระเพชรกลับ หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส วัดบ้านกรับ กาญจนบุรี

โดย... ชายนำ ภาววิมล ...

           เมื่อสองเดือนที่แล้ว มีคนส่งข้อความเข้ามาหาผู้เฒ่าในทำนองว่าขอแบ่งปันพระบัวเข็มหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส จากผู้เรียบเรียง ซักโน่นถามนี่กับผู้เฒ่าหลายประเด็น ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกของบุรุษผู้นี้ ถามแล้วก็เงียบหายไป คราวนี้มาแปลก...ฮ่ะ ยิงคำถามว่าเห็นภาพที่ผู้เฒ่าถ่ายรูปคู่กับหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส เก่งไหม เห็นคำถามแล้วอึ้งไปแป๊บหนึ่ง ปกติแล้วผู้เฒ่าไม่ค่อยนิยมชมชอบกับการถ่ายภาพร่วมกับบุคคลอื่นมากนัก โดยเฉพาะพระเกจิอาจารย์ทั้งหลาย เว้นแต่ถูกคะยั้นคะยอจากหมู่คณะที่เดินทางไปกราบนมัสการพระเกจิอาจารย์รูปนั้น ๆ ด้วยกัน หรือไม่ก็เป็นภาพซึ่งบุคคลอื่นแอบถ่ายในอิริยาบถต่าง ๆ ซึ่งไม่ใช่ภาพที่ขอถ่ายรูปด้วย เจอคำถามแบบนี้ เลยตอบไปโดยสรุปว่า ไม่มีใครบอกว่าครูบาอาจารย์ของตนไม่เก่ง เก่งหรือไม่เก่ง ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เป็นพระที่ดีสำคัญกว่า หากมีวิจิกิจฉาเคลือบแคลงสงสัยในพระอริยบุคคล ก็ปล่อยผ่านไปเถอะ ได้เรื่องเลยครับ บุรุษผู้นั้นไม่ถามต่อ เงียบหายไปเลย โชคดีของผู้เฒ่าที่ไม่ถูกด่ากลับ

          ว่ากันตามจริง พระที่เก่งจริง...หายาก แต่ที่หายากยิ่งกว่าความเก่งในยุคสมัยนี้คือ ความดีงามของเพศบรรพชิต แค่หยิบยกเรื่องอาชีวะปริสุทธิ์ มาเป็นเกณฑ์ชี้วัดความดีงามของสงฆ์ คงได้เห็นภิกษุจำนวนมากไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินนี้ อาชีวะปริสุทธิ์เป็นอย่างไรนั้น คงต้องสาธยายว่ากันยาว ไม่ใช่เรื่องที่สมาชิก/ผู้อ่านที่ติดตามบทความของผู้เฒ่าให้ความสนใจ หากท่านใดสนใจใฝ่รู้ ลองหาอ่านได้จากคัมภีร์วิสุทธิมรรค: พระพุทธโฆษาจารย์ อรรถกถาจารย์ชาวศรีลังกา หรือ หนังสือพุทธธรรม: สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เมื่ออ่านแล้ว ย่อมรู้ได้ด้วยตนเองว่าพระภิกษุที่ดีงามนั้น เป็นเช่นใด

         นับแต่ปี ๒๕๓๙ จนถึงปี ๒๕๔๖ ตลอดเวลา ๗ ปีที่ผู้เฒ่าได้รู้จักและคุ้นเคยกับหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส พระอธิการเจ้าวัดบ้านกรับรูปนี้ ผู้เฒ่าเชื่อสนิทใจว่าหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส เป็นพระอริยบุคคลที่ควรค่าแก่การเคารพกราบไหว้เป็นอย่างยิ่ง ภาพที่คนส่วนใหญ่เห็นหรือพยายามทำให้เห็นว่าท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในพุทธไสยเวท หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส ไม่เคยแสดงท่าทีหรืออวดอ้างตนว่าเก่งกล้าทางด้านไสยเวท ในทางตรงกันข้าม หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส เป็นพระภิกษุผู้ปฏิบัติหน้าที่ของพุทธสาวกด้วยความซื่อตรง แม้ในเรื่องการอธิษฐานจิตแผ่เมตตา (การปลุกเสกวัตถุมงคล) ท่านมิได้ใช้ไสยเวทเลย แล้วผู้เฒ่ารู้ได้อย่างไร ผู้เฒ่ามีฌานอภิญญาหรือ ถึงบังอาจพูดจาแบบนี้ เปล่าเลย... เหตุมีอยู่ว่า ในปี ๒๕๓๙ ผู้เฒ่ายังไม่มีโอกาสเดินทางไปกราบนมัสการหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส เลยสักครั้ง คุณมนตรี แก้วพิจิตร เกลอเก่านำพระปรกใบมะขามเนื้อเงินของหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส มามอบให้ ผู้เฒ่าจึงได้นำพระปรกใบมะขามชุดนี้ติดกระเป๋าไปในงานพุทธาภิเษก ที่วัดชิโนรสารามวรวิหาร ซึ่งผู้จัดฯ วานผู้เฒ่าให้นิมนต์พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน อ.หลังสวน ชุมพร มาร่วมอธิษฐานจิตแผ่เมตตาในงานนั้น เมื่อได้โอกาส ผู้เฒ่าถอดพระในคอและพระปรกใบมะขามหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส ฝากใส่ย่ามพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม เข้าไปในพิธีด้วย เสร็จพิธี ผู้เฒ่าถามพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ว่าพระปรกใบมะขามที่ฝากท่านเข้าพิธีฯ เป็นอย่างไรบ้าง พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม นิ่งชั่วอึดใจแล้วพูดว่า เขาทำมาดี จิตล้วน ๆ ไม่มีไสย

         การอธิษฐานจิตแผ่เมตตาพระเครื่องและวัตถุมงคลให้เข้มขลังได้ด้วยจิต เป็นสิ่งที่ยากยิ่งกว่าการใช้ไสยหรือพระเวทวิทยาคม เพราะเป็นสภาวะที่จิตสามารถสร้างสมพลังได้โดยไม่ต้องอาศัยพระเวทวิทยาคมเป็นสื่อเหนี่ยวนำ ที่สำคัญคือ การก้าวข้ามอิทธิวิถีและบำเพ็ญตนตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาด้วยความสื่อสัตย์ สุขสงบและสันโดษ ขายทรัพย์สินที่ดินอันเป็นมรดกที่บรรพบุรุษสั่งสมไว้ให้ มาใช้ประโยชน์ในการบูรณะและพัฒนาวัดบ้านกรับ หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส ไม่เคยนำทรัพย์สินของทางวัดมาใช้ประโยชน์ส่วนตัวหรือแม้แต่ผิดเจตนารมย์ของญาติโยม ครั้งหนึ่ง ผู้เฒ่าเคยกราบเรียนท่านว่าพระเครื่องและวัตถุมงคลต่าง ๆ ที่คณะศิษย์สร้างถวาย หลวงพ่อแจกให้กับญาติโยมที่มากราบนมัสการท่านเพื่อเป็นทานบารมี ไม่จำเป็นต้องแลกเปลี่ยนด้วยเงิน ตรา ท่านบอกว่าไม่สามารถทำได้เพราะทุกสิ่งที่ญาติโยมทำถวาย ล้วนมีจุดมุ่งหมายในการหาปัจจัยเพื่อพัฒนาวัดและดำเนินศาสนกิจที่ชัดเจน ท่านไม่มีสิทธิ์ที่จะนำไปใช้ประโยชน์อื่นใดที่ไม่ตรงกับศรัทธาของญาติโยม หลัง จากนั้นไม่นาน คณะศิษย์ฯ พร้อมใจกันสร้างพระเนื้อผงขนาดเล็กให้ท่านแจกเป็นทานบารมี ทั้งกำชับกับท่านว่าแจกไปเลย ไม่ต้องกลัวหมด วัดไม่มีทุน หมดเมื่อไหร่ เป็นธุระของคณะศิษย์ฯ ในการทำถวายเอง เมื่อหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส ตระหนักรู้ในเจตนาของคณะศิษย์ฯ ท่านก็แจกด้วยความปลอดโปร่งใจ แจกกันเป็นกำมือก็บ่อย ชาวบ้านในพื้นที่ได้พระผงพิมพ์ต่าง ๆ ไปเป็นจำนวนมาก และในปี ๒๕๔๓ ที่มีการจัดสร้างรูปเหมือนปั๊มมหาเทพกวนอู เหรียญมหาเทพกวนอู และพระสังกัจจายน์มหาเศรษฐี เพื่อหาปัจจัยสมทบทุนสร้างหอระฆัง คณะศิษย์ฯ ได้สร้างเหรียญระฆังเล็กถวายท่านเพื่อแจกเป็นบารมี ด้วยความเป็นเหรียญขนาดเล็กที่สะดวกต่อคนพื้นที่ที่จะนำไปห้อยคอโดยไม่จำเป็นต้องเลี่ยมให้เสียเงินเสียทอง คนที่ได้รับแจก ส่วนใหญ่จะนำไปให้ผู้หญิงและเด็กห้อยคอ เหรียญรุ่นนี้ แม้จะเป็นเหรียญที่ทำขึ้นเพื่อถวายหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส แจกเป็นทานบารมีแต่ก็เป็นเหรียญที่เหมือนท่านและสวยงามกว่าทุกรุ่นที่ผ่านมา และได้ชื่อว่าเป็นเหรียญที่มีประสบการณ์มากที่สุด โดยเฉพาะแคล้วคลาดปลอดภัยจากอุบัติภัยบนท้องถนน

         หากมีหน้ากระดาษมากพอและไม่เกรงว่าสมาชิกและผู้อ่านจะเบื่อเสียก่อน ยังมีเหตุการณ์ต่าง ๆ อีกหลายกรณีที่สามารถหยิบยกมาอธิบายได้ว่า หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส ดีอย่างไร โดยเฉพาะครั้งสุดท้ายที่ผู้เฒ่าไปกราบนมัสการที่วัดบ้านกรับเหมือนอย่างทุกครั้งที่ผ่านมา พอก้มลงกราบท่านเสร็จ ท่านบอกให้นั่งรออย่าเพิ่งไปไหน แล้วก็เดินหายเข้าไปในกุฎิ สักพักใหญ่ก็ออกมาพร้อมกับของในกำมือท่าน ตอนนั้นไม่รู้ว่าท่านไปหยิบสิ่งใด เมื่อท่านลงบนอาสนะเรียบร้อยแล้ว ส่งเหรียญมาให้ผู้เฒ่าเหรียญหนึ่ง พอเห็นเหรียญที่ท่านส่งมาให้ เลยรีบบอกท่านว่าผู้เฒ่าไม่มีเงินมากพอที่จะเช่าบูชาเหรียญทองคำเหรียญนี้ ท่านมองหน้าผู้เฒ่าด้วยรอยยิ้มที่เปี่ยมด้วยความเมตตายิ่ง แล้วพูดว่า "รู้ว่าอยากได้ ตั้งใจเก็บไว้ให้" รับมาแล้ว ก็ขอความเมตตาท่านให้จารอักขระบนเหรียญนี้ด้วย หลังจากนั้นประมาณสองหรือสามเดือน ขณะที่เป็นวิทยากรหลักประจำหลักสูตรการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดแบบบูรณาการที่วิทยาลัยมหาดไทย ได้รับโทรศัพท์จากพระที่วัดบ้านกรับว่าหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส ละสังขารแล้ว เหตุการณ์นี้ ผู้เฒ่าเชื่อว่าท่านรู้กำหนดการมรณภาพล่วงหน้า จึงได้มอบเหรียญที่ระลึกอายุ ๙๐ ปีเนื้อทองคำให้ผู้เฒ่า จะสรุปว่าให้เป็นมรดกคงไม่ผิดกระไรแต่ก็ไม่น่าใช่เหตุผลทั้งหมด เพราะหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส ตระหนักรู้ในคุณค่าของลูกศิษย์และญาติโยมที่มาช่วยงานหรือแบ่งเบาภาระท่านด้วยความบริสุทธิ์ใจ ใครมาว่ากล่าวในทางที่ไม่ดี ท่านจะแสดงท่าทีปกป้องและแก้ต่างให้เสมอ ไม่ปล่อยให้คนมาว่าร้ายคนบริสุทธิ์ที่ไม่ได้กระทำผิด ในทางตรงกันข้าม ลูกศิษย์คนใดที่ใกล้ชิดหากกระทำผิดโดยเจตนาจะฉ้อฉลและหาประโยชน์เข้าตัว แม้เป็นภิกษุ ท่านก็ไม่ปกป้องและลงโทษให้ออกจากวัดไปอยู่ที่อื่น เรื่องที่ว่านี้คุณมนตรี แก้วพิจิตร และผู้เฒ่ารู้ดี แต่คงไม่พูดอะไรมากกว่านี้เพราะเรื่องเกิดขึ้นนานแล้ว ส่วนที่บอกว่าท่านรู้วันมรณภาพล่วงหน้านั้น เคยมีคนส่งข่าวมาบอกว่าหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส ปรารภว่าจะมรณภาพในไม่ช้า ผู้เฒ่ารีบไปขอให้ท่านอยู่ต่อถึงอายุ ๑๐๐ ปีแล้วจะจัดงานแซยิดใหญ่ถวายท่าน หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส นั่งนิ่งไม่ตอบไม่พูดอะไร ผู้เฒ่าเลยบอกว่าถ้าไม่ได้ ๙๖ ปีก็ได้ คราวนี้ ท่านตอบด้วยอาการสงบนิ่งว่า คงไม่ถึงหรอก โดยสรุป หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส ละสังขารหลังจากที่ผู้เฒ่าขอไว้ ๔ ปี สิริอายุได้ ๙๕ ปี

         ย้อนกลับมาในเรื่องการสร้างพระเนื้อผงเพื่อแจกเป็นทานบารมี แม้จะเป็นพระเครื่องที่ทำขึ้นเพื่อแจกโดยไม่มีวัตถุประสงค์อื่นใด แต่ทุกอย่างก็เป็นไปด้วยความพิถีพิถัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการวางแนวคิดการจัดสร้าง การวางรูปยันต์และเนื้อหามวลสารที่ใช้ในการสร้าง เริ่มจากการวางแนวคิดการจัดสร้างที่ต้องการสร้างอะไรสักอย่างที่สามารถเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของวัดบ้านกรับ ด้วยเหตุที่ชื่อหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส กับนามวัดบ้านกรับ รวมกันแล้วเป็นคำพร้องเสียงยันต์ตัวหนึ่งในคัมภีร์นะ ๑๐๘ คือนะเพชรกลับ ซึ่งเป็นยันต์ที่เชื่อกันว่าเรื่องแคล้วคลาดดีนักแล ทั้งยังมีพระเครื่องพิมพ์หนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นพระเครื่องที่มีอุปเท่ห์ด้านการกลับร้ายเป็นดี หรือที่นักนิยมพระเครื่องรุ่นลายครามรู้จักมักคุ้นกันในนามพระสะดุ้งกลับ พระพิมพ์สะดุ้งกลับที่ได้รับความนิยมและเล่นหากันเป็นสากลคือ พระสะดุ้งกลับหลวงปู่บุญ ขนฺธโชติ วัดกลางบางแก้ว ความเป็นมาดังกล่าวมานี้เป็นจุดเริ่มต้นของการนำคำว่าเพชรกลับมาใช้ในการสร้างพระเครื่องของหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส พระเครื่องรุ่นแรกนำคำว่าเพชรกลับมาจัดวางไว้ที่ด้านหน้าขององค์พระคือ พระปิดตาเพชรกลับ (พระปิดตาพิมพ์จัมโบ้เนื้อผง สร้างพร้อมพระปิดตาพิมพ์กบ) หลักจากนั้น ได้สร้างพระเนื้อผงในรูปลักษณ์ของพระสะดุ้งกลับ ๓ พิมพ์ได้แก่ พระเพชรกลับรุ่นแรก พระปิดตาปางซ่อนหา (เหนือเศียรเป็นพระพุทธรูปปางสะดุ้งกลับ) และพระเพชรกลับพิมพ์พระเจ้าห้าพระองค์  และในปี ๒๕๔๑ เริ่มนำยันต์นะเพชรกลับมาใช้เป็นยันต์หลักในการสร้างพระเครื่องพิมพ์ต่าง ๆ อีกหลายรุ่น

         พระเพชรกลับหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส รุ่นแรก จัดเป็นพระเครื่องรุ่นแรกของหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส ที่จัดสร้างขึ้นโดยการล้อศิลปะพระพิมพ์นางสะดุ้งกลับของหลวงปู่บุญ ขนฺธโชติ วัดกลางบางแก้ว ด้านหน้าองค์พระใช้แม่พิมพ์ตัวเดียวกับพระพิมพ์สะดุ้งกลับของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน อ.หลังสวน จ.ชุมพร แม้นว่าใช้แม่พิมพ์ด้านหน้าร่วมกัน แต่ก็มีเอกลักษณ์ที่สามารถแยกแยะความแตกต่างของทั้งสองสำนักได้อย่างชัดแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นการวางรูปยันต์และเนื้อหามวลสารที่ใช้ในการสร้าง

         ลักษณะ ด้านหน้าเป็นพระพุทธรูปปางสะดุ้งกลับในกรอบพิมพ์แบบกลีบบัวฐานตัด พระเศียรแบบเกศบัวตูม มีเส้นรัศมีล้อมรอบ ประทับนั่งแบบสมาธิเพชรบนฐานผ้าทิพย์ ด้านหลังอูมเล็กน้อยและประทับด้วยยันต์นะทรงแผ่นดิน ใต้ยันต์จารึก วบก หมายถึงวัดบ้านกรับ
         ขนาด กว้าง ๑.๔​ เซนติเมตร สูง ๒.๑ เซนติเมตร หนา ๐.๔ เซนติเมตร
         วรรณะสีผิว ส่วนใหญ่จะออกสีขาวอมเหลือง เนื้อแกร่งและหนึกนุ่ม มีเม็ดมวลสารสีน้ำตาลและสีดำปรากฏให้เห็นทั่วองค์พระ พระที่เก็บรักษาเป็นอย่างดีและไม่เคยผ่านการใช้มาก่อนจะมีคราบฝุ่นจับทั่วองค์พระ ทำให้เห็นองค์พระไม่ค่อยชัด คราบนี้สามารถปัดออกได้ ส่วนพระที่ผ่านการใช้และสัมผัสคราบเหงื่อไคลมาบ้าง จะมีลักษณะคล้ายพระผงสมัยโบราณ
         เนื้อหามวลสาร มีส่วนผสมของมวลสารต่าง ๆ มากมาย เริ่มจากผงวิเศษต่าง ๆ ที่เหลือจากการสร้าง พระผงรุ่นต่าง ๆ ของหลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก วัดดอนยายหอม ประกอบด้วย พระปิดตากิมจ๊อ ปี ๒๕๒๖ พระพิมพ์สมเด็จหลังตรายาง/พระสังกัจจายน์/พระผงรูปเหมือน ปี ๒๕๓๒ พระสมเด็จชินบัญชร ปี ๒๕๓๕, ผงที่เหลือจากการสร้างพระเครื่องรุ่นต่าง ๆ ของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม อาทิ พระสมเด็จสีชมพู พระปิดตามหาลาภองค์น้อย พระพุทธฐานหิรัญบรรพต พระสมเด็จชินบัญชร พระสมเด็จ/พระปิดตา สธ พระพิมพ์สะดุ้งกลับ, ผงพระหลวงปู่คำ สุวณฺณโชโต วัดหนองแก, ผงพระรุ่น ๖ รอบ หลวงพ่อเกษม เขมโก สุสานไตรลักษณ์, ผงพระปิดตาเพชรกลับ หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส, มวลสารต่าง ๆ อีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น ยังมีกระดาษสาจารอักขระเลขยันต์ต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก แช่น้ำมนต์ ๑๐๐ ปีวัดบวรนิเวศ ตากแห้งแล้วนำมาบดผสมกับมวลสารต่าง ๆ กระดาษสาเป็นมวลสารสำคัญที่ทำให้พระเพชรกลับมีทั้งความแกร่งและหนึกนุ่ม ไม่แตกชำรุดง่ายเหมือนพระผงทั่วไป   
         จำนวนการสร้าง ๕๐๐๐ องค์โดยประมาณ
         พิธีกรรม อธิษฐานจิตเดี่ยวโดยหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส
         พลานุภาพ พิจารณาจากลักษณะองค์พระและการวางรูปยันต์ เนื้อหามวลสาร อุปเท่ห์/ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการนำพระเครื่องไปห้อยคอติดตัว เชื่อว่าพระเพชรกลับรุ่นนี้ น่าจะมีพลานุภาพไปในทิศทางเดียวกับพระปางสะดุ้งกลับทั่วไปคือกลับร้ายเป็นดี แต่ที่เป็นลักษณะประจำพระเครื่องทุกรุ่นของหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส คือ แคล้วคลาดนิรันตราย และเมตตา
         ค่านิยม ทุกวันนี้ยังคงเป็นพระเนื้อผงประเภทของดีราคาเบาที่มีอยู่ในมือคนพื้นที่พอสมควร บางบ้านมีกันคนละหลายองค์ ส่วนใหญ่ไม่ได้นำมาห้อยคอ เหตุผลไม่มีอะไรพิสดาร คนรอบวัดชอบห้อยเหรียญมากกว่าพระผง เพราะการนำพระไปเลี่ยมไม่สะดวกเหมือนคนในเมือง

         ผู้เฒ่าเป็นคนหนึ่งที่มีโอกาสได้รับใช้และแบ่งเบาภาระของหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส ในบางเรื่อง เคยติด ตามท่านไปในพิธีพุทธาภิเษกใหญ่หลายครั้ง เป็นผู้ที่นำชีวประวัติและพระเครื่องของท่านมาเผยแพร่ในนิตยสารพระเครื่องหลายฉบับ ย่อมต้องรู้ข้อมูลเชิงลึกของพระเครื่องรุ่นต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นอย่างเป็นทางการ (ไม่ใช่ของที่ศิษย์บางกลุ่มทำใช้กันเอง)

 

(บทความนี้ เป็นบทความเก่าที่นำเสนอในนิตยสารพระเครื่องพระเกจิ ฉบับที่ ๓๕๑ ปีที่ ๒๘ ประจำเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๕ หน้า ๔๘ - ๔๙) 

อุทยานพระเครื่อง โดย... ชายนำ ภาววิมล ... (utthayanphra.com) / ๒๙ มกราคม ๒๕๖๘


บทความที่เกี่ยวข้อง
เหรียญเกราะเพ็ชร์__1
บทความเก่าว่าด้วยเรื่องความประวัติความเป็นมาและข้อมูลเกี่ยวกับเหรียญเกราะเพ็ชร วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร ปี ๒๕๐๗ จากนิตยสารพระเครื่องพระเกจิ ฉบับที่ ๓๐๔
23 ก.พ. 2025
หน้าปกบทความ_
บทความเก่าว่าด้วยประวัติความเป็นมาและข้อมูลเกี่ยวกับพระปรกใบมะขามหลวงปู่วิวเียร ฐิตปุญญเถร จากนิตยสารศูนย์พระเครื่อง ฉบับที่ ๑๗๒
21 ก.พ. 2025
หน้าปกบทความเรื่อง_22_เหรียญพระพุทธอนันตคุณ
บทความเก่าจากนิตยสารศูนย์พระเครื่องเรื่องเหรียญพระพุทธอนันตคุณ ปี ๒๕๒๗ เนื้อหาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและข้อมูลของเหรียญฯ
10 ก.พ. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy