แชร์

พระผงรูปเหมือนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) วัดท้ายตลาด ๒๕๓๔

อัพเดทล่าสุด: 6 มี.ค. 2025
148 ผู้เข้าชม

 

พระผงรูปเหมือนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) วัดท้ายตลาด กรุงเทพมหานคร

โดย... ชายนำ ภาววิมล ...

            ในนิตยสารพระเครื่องพระเกจิฉบับที่ ๓๕๒ เดือนสิงหาคม ๒๕๖๕ ผู้เฒ่าได้หยิบยกเรื่องพระสมเด็จปรกโพธิ์หลังยันต์สิงห์ ซึ่งเป็นพระเครื่องรุ่นแรกที่จัดสร้างในนามของพระสมุห์สมบุญ อภิปุณฺโณ วัดดอนทราย อ.โพธาราม จ.ราชบุรี อย่างเป็นทางการ จุดมุ่งหมายหลักในการนำเสนอคือการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการจัดสร้างพระเครื่องรุ่นนี้ไว้เป็นลายลักษณ์อักษรและเป็นข้อมูลที่ชนชั้นหลังจะได้ศึกษาค้นคว้าต่อไป ส่วนการประชาสัมพันธ์ให้สมาชิก/ผู้อ่านนิตยสารพระเครื่องพระเกจิได้เช่าบูชาพระสมเด็จปรกโพธิ์หลังยันต์สิงห์ เนื้อผงดำผสมกิ่งไม้ตะเคียนตายพราย (ต้นตะเคียนศักดิ์สิทธิ์ซึ่งอยู่คู่กับวัดดอนทรายมานานนับร้อยปี) เป็นเพียงกิจกรรมเล็ก ๆ ที่เป็นสะพานบุญให้ผู้มีจิตศรัทธาร่วมทำบุญในโครงการบ้านหลังสุดท้ายที่วัดดอนทรายจัดทำขึ้นเพื่อสงเคราะห์ผู้เสียชีวิตที่ครอบครัวยากจน ไม่มีเงินเพียงพอจะจัดงานศพตามพิธีกรรมทางศาสนา ปัจจัยที่ได้มากหรือน้อยไม่ใช่เรื่องสำคัญ สิ้นเดือนตุลาคม ๒๕๖๕ ผู้เฒ่าจะรวบรวมปัจจัยที่ได้ถวายพระสมุห์สมบุญ อภิปุณฺโณ เจ้าอาวาสวัดดอนทราย ในลำดับถัดไป

            ประเด็นพระเครื่องหรือวัตถุมงคลที่จะนำเสนอในนิตยสารพระเครื่องพระเกจิ ฉบับนี้ (๓๕๓) ผู้เฒ่าพิจารณาไตร่ตรองหลายรอบกว่าจะตัดสินใจได้ว่าจะหยิบยกเรื่องใดมานำเสนอ เพราะทุกวันนี้ การเล่นหาและสะสมพระเครื่องยุคสมัยนี้ ต่างจากวันวานที่ผ่านพ้นเป็นอันมาก พระเครื่องที่เคยนิยมเล่นหากันในอดีต ส่วนน้อยกลายเป็นตำนานที่ราคาสูงมากไม่อาจจับต้องได้ ทั้งไม่มีของหมุนเวียนให้เล่นหากัน แต่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นของดีราคาถูกที่คนรุ่นใหม่ในวงการพระเครื่องละเลยหรือมองข้ามไป จะด้วยเหตุผลใดก็ยากจะหาคำตอบที่มีพลังเพียงพอจะดึงพระหลักพระยอดนิยมที่เคยนิยมเล่นหากันอย่างแพร่หลายให้กลับมาเฟื่องฟูเหมือนอดีต พระในแถวสองแถวสามหรือพระเบ็ดเตล็ดที่มีฉากหลังดี รอแค่แสงไฟส่องมาถึง แต่ไม่มีกำลังเงินเข้ามาปั่นตลาด ก็ไปไม่ได้เช่นกัน คนสายป่านสั้นที่เก็บกักตุนพระเครื่องในกลุ่มนี้ ยามขัดสนก็เทขายแบบล้างสต๊อก ขาดทุนเท่าไหร่ก็จำยอม แนวคิดการแนะนำพระเครื่องที่ควรค่าแก่การเก็บสะสมและออกตัวได้เมื่อจำเป็น อาจเป็นมุมมองที่ไม่สอดคล้องกับวิธีการเล่นหาสะสมพระเครื่องในโลกยุคใหม่ เพราะผู้เฒ่าเชื่อมั่นว่าภาพรวมพระเครื่องในวันข้างหน้า จะไม่มีภาพสนนราคาเช่าหาที่สามารถทำกำไรสูงมาก ๆ เหมือนตลาดหุ้นยามเฟื่องฟู (เว้นแต่มีกำลังเงินจากกลุ่มทุนเข้ามาปั่นตลาด) การนำเสนอพระเครื่องที่ควรค่าแก่การสะสมนับแต่นี้ไป คงต้องให้คุณค่ากับการเก็บสะสมเชิงอนุรักษ์และพุทธศิลป์มากขึ้น

            เมื่อเอ่ยถึงพระเครื่องในวัดโมลีโลกยารามหรือวัดท้ายตลาด นักนิยมพระเครื่องรุ่นอาวุโสจะนึกถึงพระกรุวัดท้ายตลาดและพระปรกใบมะขามของพระสนิทสมณคุณ (สนิท: ๒๓๙๕ - ๒๔๖๓) อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ ๘ ของวัดท้ายตลาดเป็นลำดับแรก พระปรกใบมะขามเจ้าคุณสนิทฯ ได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในห้าชุดเบญจภาคีพระปรกใบมะขาม พระเครื่องทั้งสองรายการดังกล่าว เป็นพระหลักยอดนิยมที่นักนิยมพระเครื่องรุ่นลายครามให้การยอมรับและเล่นหาสะสมกันเป็นสากลมานานกว่าครึ่งศตวรรษ แม้พระกรุวัดท้ายตลาดจักมีสนนราคาเช่าหาไม่สูงมากนัก เมื่อเทียบกับพระเนื้อผงของพระเกจิอาจารย์ในสายสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรํสี) วัดระฆังโฆษิตาราม แต่พุทธศิลป์ที่ปรากฏบนองค์พระกรุวัดท้ายตลาดแต่ละพิมพ์ ล้วนงดงามแลวิจิตรการตายิ่งนัก เรื่องประสบการณ์ก็มิได้ด้อยไปกว่าพระเครื่องของสำนักอื่นในเขตบางกอกใหญ่ ใครที่ได้พระกรุวัดท้ายตลาดมาสักการะบูชาหรือครอบครอง ก็ถือว่ามีโชควาสนาไม่น้อย เพราะทุกวันนี้ ของเทียมเลียนแบบมีเยอะจริง ๆ หากไม่สามารถหาพระวัดท้ายตลาดทั้งสองรายการได้ พระเครื่องที่มีส่วนผสมผงเก่าวัดท้ายตลาดในยุคหลัง ก็น่าจะทดแทนกันได้

            วัดโมลีโลกยารามหรือวัดท้ายตลาดเป็นวัดสำคัญแถบคลองบางกอกใหญ่ซึ่งมีแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เดิมเป็นวัดราษฎร์ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างเมื่อใดและใครเป็นผู้สร้าง ที่ได้ชื่อว่าวัดท้ายตลาดเพราะอยู่เลยตลาดเมืองธนบุรี ต่อเมื่อพระบาทสมเด็จสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี ทรงรวมอาณาบริเวณวัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) และวัดโมลีโลกายาราม (วัดท้ายตลาด) เข้าเป็นเขตพระราชฐาน วัดทั้งสองจึงไม่มีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษาตลอดรัชสมัยของพระเจ้ากรุงธนบรี หลังจากที่สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงย้ายราชธานีมาตั้งในฝั่งพระนคร ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาจำพรรษาที่วัดทั้งสองดังเดิม และทรงแต่งตั้งพระมหาศรี เปรียญเอก วัดราชสิทธาราม เป็นพระเทพโมลี เจ้าอาวาสวัดท้ายตลาด

             พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิสรสุนทร ทรงโปรดเกล้าฯให้บูรณะปฏิสังขรณ์และสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ แล้วทรงพระราชทานนามใหม่ว่า วัดพุทไธศวรรย์ ความ สำคัญของวัดท้ายตลาด มิได้เป็นเพียงวัดสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาของพระมหากษัตริย์และราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่หลายพระองค์ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิสังขรณ์วัดใหม่ทั้งพระอารามและพระราชทานนามใหม่ว่า วัดโมลีโลกสุธาราม ภายหลังเรียกกันใหม่ว่า วัดโมลีโลกยาราม, พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ สร้างกุฎีตึกเจ้าอาวาส หอสวดมนต์และหอกลาง, พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้รื้อพระตำหนักแดงอันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีในพระราชวังเดิมฝั่งธนบุรี ไปสร้างถวายเป็นกุฎิเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิสังขรณ์หอพระไตรปิฎกและทรงพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐินในปี ๒๔๑๘, และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดลำดับวัดโมลีโลกยารามให้เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชั้นราชวรวิหาร แต่เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงโปรดให้พระราชโอรสไปศึกษาวิชาการต่าง ๆ และอักษรสมัยเบื้องต้นในสำนักของพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน)

            สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) เป็นอดีตเจ้าอาวาสองค์ที่ ๒ / สมเด็จพระราชาคณะองค์แรกของวัดโมลีโลกยาราม ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสฯ ตั้งแต่ปี ๒๓๕๓ - ๒๓๗๔ รวม ๒๒ ปี ไม่ปรากฏข้อมูลด้านชาติภูมิและลำดับสมณศักดิ์แต่เดิม ทราบเพียงแต่ว่าท่านได้รับการสถาปนาเป็นพระพุทธโฆษาจารย์ในรัชสมัยพระพบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาท สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ที่ "สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์" ด้วยเหตุที่ท่านเป็นพระอาจารย์ผู้ถวายอักษรเป็นเบื้องต้นแด่พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย อาทิ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. ในมหาสมัยที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระชนมพรรษาครบรอบปีที่ต้องทรงผนวช พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาลงโลก ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทับ  (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) ทรงผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร (สุก) เป็นพระราชอุปัชฌาย์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) เป็นพระมหาเถระผู้ทรงความรู้ความสามารถรอบด้าน มีปฏิปทาเป็นที่เคารพศรัทธาของพระมหากษัตริย์และประชาราษฎร์โดยทั่วไป

            หลังจากที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) มรณภาพแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้หล่อรูปจำลองในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิ เนื้อสำริดขนาดเท่าองค์จริง ประดิษฐานบนแท่นในหอสมเด็จ ฐานรูปจำลอง มีคำจารึกดังนี้ "ศุภมัสดุ พระพุทธศักราชล่วงแล้วสองพันสามร้อยแปดสิบหกพระวษา ณ วันจันทร์ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๘ ปีเถาะ เบญจศก พระบาทสมเด็จบรมธรรมฤกมหาราชาธิราชรามาธิบดีบรมนารถบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการ ณ พระบัณฑูรสุรสีหนาท ดำรัสสั่งหลวงกัลป์มาวิจิตร เจ้ากรมช่างปั้นขวา และอาจารย์ฉิม กรมราชบัณฑิตย์ ให้จำลองหล่อพระพุทธรูปสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ญาณอดุลย์สุนทรนายก ติปิฎกธรา มหาคณฤษร บวรสังฆารามคามวาสีบพิตร อันสถิต ณ พุทไธยสวรรยาวาศ วรวิหาร ไว้เป็นที่สักการบูชาแก่สานุศิษย์ทั้งปวงสืบไป"

             แม้ข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องกับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) ที่พอสืบค้นได้จากอินเตอร์เน็ต จะมีปรากฏให้เห็นน้อยมาก หากพิจารณาจากข้อมูลเท่าที่มีอยู่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) เป็นพระมหาเถระรูปแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ที่ได้รับการสถาปนาเป็นพระสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายมหานิกายในราชทินนาม "สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์" นามพระพุทธโฆษาจารย์เป็นนัยที่แสดงถึงความเป็นปราชญ์ผู้ปรีชาในธรรมอันเอกอุ สถานะของภิกษุผู้เป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรเบื้องต้นแด่พระราชโอรสทุกพระองค์ของพระมหากษัตริย์ การเป็นพระราชกรรมวาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร [สุก ไก่เถื่อน] วัดราชสิทธาราม เป็นพระราชอุปัชฌาย์) พึงต้องมีสถานะและบทบาทสำคัญสูงยิ่งในยุคสมัยนั้น ในทัศนะส่วนตน ผู้เฒ่ามีความโน้มเอียงที่จะเชื่อว่า สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) ย้ายมาจากวัดราชสิทธารามในคราวที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ พระมหาศรี เปรียญเอก ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสเจ้าวัดท้ายตลาด หากความเชื่อนี้เป็นจริง คงไม่มีประเด็นให้เคลือบแคลงสงสัยว่า สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) มีความเชี่ยวชาญช่ำชองทั้งปริยัติและปฏิบัติมากเพียงใด

             ในส่วนของพระเครื่องหรือวัตถุมงคลที่จัดสร้างในรูปหรือนามของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) โดยตรง เท่าที่พบเห็นมีน้อยมาก แม้มีบางกระแส (เป็นส่วนน้อย) ที่เชื่อว่าสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) เป็นผู้สร้างพระกรุวัดท้ายตลาด แต่ก็มีความเป็นไปได้น้อยมาก ส่วนหนึ่งมาจากข้อมูลเดิมซึ่งตรียัมปวายบันทึกไว้ว่า พระวิเชียรธรรมคุณาธาร (สด ปธ. ๓) อดีตเจ้าอาวาสองค์ก่อนเจ้าคุณสนิทฯ เป็นผู้สร้าง (เอกสารบางฉบับบันทึกนามว่า พระวิเชียรมุนี) หากพิจารณาจากห้วงระยะเวลาที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดท้ายตลาด สมเด็จ ฯ ท่านอยู่ในช่วงต้นของรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ค่านิยมในการสร้างพระเนื้อผงยังไม่แพร่หลายเท่าสมัยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรํสี) หากเทียบเคียงกับพระสมเด็จปิลันทน์ อันเป็นพุทธศิลป์ยุคหลังพระสมเด็จวัดระฆัง คงทำใจให้เชื่อว่า สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) เป็นผู้สร้างมิได้ ส่วนอดีตเจ้าอาวาสรูปใดเป็นผู้สร้างและสร้างเมื่อใด ก็ให้เซียนใหญ่ทั้งหลายเขาว่ากันไป ผู้เฒ่าสันนิษฐานเพียงแค่ว่าไม่มีพยานหลักฐานใดที่พอเชื่อถือได้ว่าสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) ได้จัดสร้างพระเครื่องในสมัยที่ท่านมีชีวิตอยู่ จะมีก็แต่เพียงพระเครื่องที่สร้างในชั้นหลัง

            พระผงรูปเหมือนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) วัดท้ายตลาด เป็นพระเครื่องหนึ่งใน ๔ พิมพ์ที่จัดสร้างขึ้นเพื่อนำปัจจัยที่ได้จากการให้เช่าบูชาพระเครื่องรุ่นนี้ประกอบด้วย พระสมเด็จอำนวยโชคหลังรูปเหมือนหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ, พระปิดตาอำนวยลาภ, พระกริ่งรูปเหมือนหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ อำนวยพร, พระผงรูปเหมือนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน). สมทบทุนบรูณะปฏิสังขรณ์พระอุโบสถวัดโมลีโลกายรามซึ่งชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา สมทบทุนสร้างพระอุโบสถวัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา

            ลักษณะ เป็นพระผงรูปเหมือนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) ในกรอบสี่เหลี่ยมชิ้นฟัก ซี่งรังสรรค์ขึ้นจากพระรูปหล่อจำลองฯ ในหอสมเด็จ ลักษณะด้านหน้า เป็นรูปจำลองสมเด็จพระพุทธฆาษาจารย์ (ขุน) ประทับนั่งแบบฐานเขียงสามชั้น เหนือลายกนก ในกรอบกระจกรูปไข่ลายไทย ด้านนอกกรอบกระจก พื้นแกะลายเม็ดทราย เส้นขอบนอกยกสูง โค้งมนแบบหวายผ่าซีก มุมในทั้งสี่ของเส้นขอบ ประทับด้วยอักขระขอม นะ ทั้งสี่มุม ด้านหลังประทับด้วยยันต์ใบพัด (อุ มะ อะ) และจารึกนาม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) วัดโมลีโลกยาราม
           วรรณะสีผิว
สีขาวอมเหลือง มวลสารสีดำและน้ำตาลปรากฏให้เห็นชัดเจนทั่วทั้งองค์พระ
           ขนาด
กว้าง ๑.๙ - ๒.๐ เซนติเมตร ยาว ๒.๘ เซนติเมตร หนา ๐.๕๕ เซนติเมตร
           เนื้อหามวลสาร
ส่วนผสมที่ใช้ในการสร้างพระผงรุ่นนี้ ประกอบด้วย ผงพระกรุวัดท้ายตลาด, ผงพระสมเด็จบางขุนพรหม, ผงพระเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต วัดเทพศิรินทราวาส, เส้นเกศาหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ วัดบ้านไร่, ชานหมากพระราชฌานรังสี วัดป่าชัยรังสี, ผงพระหลวงปู่เริ่ม ปรโม วัดจุกกระเฌอ, ผงดินสังเวชนียสถานสี่ / ผงว่าน ๑๐๘, ผงพระหลวงปู่แจ้ง ฉินฺนมนฺโท วัดใหม่สุนทร, ผงรักทององค์หลวงพ่อวัดไร่ขิง
            จำนวนการสร้าง
ไม่ทราบจำนวนการสร้างที่แน่นอน พิจารณาข้อมูลที่ประมวลได้จากการนำเสนอของนิตยสารพระเครื่องในสมัยนั้น (หลายวาระ) สันนิษฐานว่าน่าจะไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ องค์
            พิธีกรรม
หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ อธิษฐานจิตฯ เดี่ยว ระหว่างวันที่ ๒๔ - ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๓๔
            พลานุภาพ
พระเครื่องที่เกี่ยวเนื่องกับรูปและนามของพระมหาเถระในสายวัดท้ายตลาด ส่วนใหญ่เป็นพระเครื่องที่มีพลานุภาพเด่นทางด้านเมตตามหานิยม บวกกับการอธิษฐานจิตแผ่เมตตาโดยหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ พระผงรูปเหมือนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) น่าจะมีพลานุภาพครอบคลุมทั้งด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาดนิรันตราย สุดแล้วแต่จะอธิษฐาน
            ค่านิยม
เป็นของดีราคาเบากระเป๋าที่ยังพอหาได้ไม่ยากนัก

           พระผงรูปเหมือนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) วัดท้ายตลาด จัดเป็นพุทธศิลป์อันทรงคุณค่าเชิงอนุรักษ์อีกพิมพ์หนึ่ง ทรงคุณค่าในฐานะที่เป็นรูปจำลองของพระมหาเถระผู้มีบทบาทและความสำคัญยิ่งในด้านการศึกษายุคสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และรังสรรค์ขึ้นจากรูปหล่อในหอสมเด็จที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อขึ้นในปี ๒๓๘๐ (พร้อมกับพระรูปหล่อจำลองสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร: สุก ไก่เถื่อน วัดราชสิทธาราม) แต่ไม่ใช่พระเครื่องที่เหมาะกับการทำกำไรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เก็บสะสมได้หากชอบพระเครื่องแนวนี้

(บทความเก่าจากนิตยสารพระเครื่องพระเกจิ ฉบับที่ ๓๕๓ ปีที่ ๒๙ ประจำเดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๖๕ หน้า ๔๘ - ๔๙)


บทความที่เกี่ยวข้อง
เหรียญเกราะเพ็ชร์__1
บทความเก่าว่าด้วยเรื่องความประวัติความเป็นมาและข้อมูลเกี่ยวกับเหรียญเกราะเพ็ชร วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร ปี ๒๕๐๗ จากนิตยสารพระเครื่องพระเกจิ ฉบับที่ ๓๐๔
23 ก.พ. 2025
หน้าปกบทความ_
บทความเก่าว่าด้วยประวัติความเป็นมาและข้อมูลเกี่ยวกับพระปรกใบมะขามหลวงปู่วิวเียร ฐิตปุญญเถร จากนิตยสารศูนย์พระเครื่อง ฉบับที่ ๑๗๒
21 ก.พ. 2025
หน้าปกบทความเรื่อง_22_เหรียญพระพุทธอนันตคุณ
บทความเก่าจากนิตยสารศูนย์พระเครื่องเรื่องเหรียญพระพุทธอนันตคุณ ปี ๒๕๒๗ เนื้อหาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและข้อมูลของเหรียญฯ
10 ก.พ. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy