พระพุทธกลฺยาณมิตฺตตา หลวงปู่เสาร์ห้า ปญฺญาวชิโร
พระพุทธกัลยาณมิตฺตตา (พระปางคู่มิตรใหญ่) หลวงปู่เสาร์ห้า ปญฺญาวชิโร
โดย... บัณฑิตเฒ่า: ชายนำ ภาววิมล ...
พบกันอีกครั้งในนิตยสารพระเครื่องพระเกจิฉบับ e book การปรับเปลี่ยนที่เกิดขึ้นนี้ เป็นไปตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกยุคใหม่ที่ยากจะหลีกเลี่ยง แม้จะตระหนักรู้ดีว่าการปรับเปลี่ยนก่อนที่ปัจจัยภายนอกจะมาบังคับให้เราจำต้องปรับเปลี่ยนเป็นเรื่องสำคัญและมีผลเสียน้อยกว่าการถูกบังคับให้เปลี่ยน แต่ความคุ้นชินกับวิถีชีวิตและพฤตินิสัยแบบดั้งเดิมของเหล่าผู้สูงวัยทั้งหลาย ก็เป็นข้อจำกัดในการตามติดเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่ผู้ติดตามบทความของบัณฑิตเฒ่าส่วนหนึ่งถูกทิ้งไปเพราะไม่ยอมใช้อินเตอร์เน็ต เทคโนโลยีการสื่อสารเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่คิดเป็นอันมาก Chatbot ที่รู้จักกันในนามของ Chat GPT (ปัญญาประดิษฐ์ที่สร้างขึ้นเพื่อดูแลการสนทนาของผู้ใช้ทั้งในรูปแบบตัวอักษรและสียง) และพัฒนาต่อยอดไปเป็นงานบริการใหม่ ๆ จำนวนมาก เมื่อเหตุการณ์แปรเปลี่ยนไปเฉกเช่นนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะสื่อสารกับแฟนคลับที่ติดตามข้อเขียนของบัณฑิตเฒ่ามานานนับสิบปี เว้นแต่ผู้เฒ่าบางท่านที่ยังคงส่ง ส.ค.ส. มาให้เป็นประจำทุกปี
ช่วงก่อนสงกรานต์ โทรศัพท์เข้ามาคุยกับคุณเสริมสิน เจริญสุข เพื่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการส่งต้นฉบับให้ทางกองบรรณาธิการว่ามีกำหนดการอย่างไร จะได้เรียบเรียบและส่งบทความให้ตรงกับตารางการทำงานที่ทางกองบรรณาธิการกำหนด การคุยกันในครั้งนี้ บัณฑิตเฒ่าปรารภกับคุณเสริมสิน เจริญสุข ในประเด็นการเขียนบทความซึ่งมีโจทย์ว่าควรมีของที่เขียนไว้บริการสมาชิกหรือท่านผู้อ่านที่สนใจด้วย เป็นข้อจำกัดในการเลือกสรรพระเครื่องหลายรายการมานำเสนอด้วยเหตุที่มิได้มีของแบ่งให้เช่าบูชากัน เลยได้ข้อสรุปว่าอย่าไปพะวงกับเรื่องนี้มากนัก ถือว่าเป็นการนำเสนอข้อมูลให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้าต่อไปดีกว่า จึงเป็นข้อสรุปว่าการนำเสนอลำดับต่อจากนี้ไป อาจเป็นได้ทั้งบทความที่มีพระไว้แบ่งปันและไม่มีพระแบ่งปัน หรือข้อมูลเกี่ยวกับเบื้องหลังการออกแบบแนวคิดและจัดสร้างพระใหม่หรือวัตถุมงคลที่รังสรรค์ขึ้นโดยไม่มีวัตถุประสงค์ในการจัดจำหน่ายหรือหาปัจจัยใด ๆ
พระพุทธกัลยาณมิตฺตตา เป็นพระเนื้อผงพิมพ์หนึ่งที่บัณฑิตเฒ่าจัดสร้างขึ้นในวาระเสาร์ห้า ปี ๒๕๖๗ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จักถวายหลวงปู่เสาร์ห้า ปญฺญาวชิโร สำนักสงฆ์อุดมศรีสุข อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ (ปัจจุบันจำพรรษาที่วัดชุมพลนิกายาราม อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นส่วนใหญ่) แจกเป็นทานบารมี/เพื่อการอื่นใดตามที่ท่านเห็นสมควร โดยนำพระพุทธกัลยาณมิตฺตตา (พระคู่มิตรใหญ่) ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางใหม่ที่บัณฑิตเฒ่านำพุทธลักษณะของพระพุทธรูปปางนาคปรกกับพระพุทธรูปปางปาลิไลย์มาหลอมรวมเข้าด้วยกัน แล้วหล่อเป็นพระพุทธรูปบูชาขนาด ๗ นิ้ว (กรณีพระพุทธรูปที่มิใช่ปางนั่งสมาธิ มักใช้ขนาดพระพักตร์เป็นเกณฑ์ในการเทียบเคียงกับความกว้างของหน้าตักพระพุทธรูปปางนั่งสมาธิ) จำนวน ๖ องค์ (สัมฤทธิ์ ๔, ทองเหลือง ๒) ในราวปี ๒๕๕๖ มาเป็นต้นแบบในการจัดสร้างพระผงรุ่น"เสาร์ ๕ มหาสงกรานต์ ปีมะโรง ๒๕๖๗"
ว่ากันตามจริง บัณฑิตเฒ่ามิได้เป็นคนแรกที่นำพระพุทธรูปปางนาคปรกกับพระพุทธรูปปางปาลิไลย์มาบูรณาการ/พัฒนาต่อยอดเป็นพระพุทธรูปปางใหม่ แรก ๆ ก็คิดไปเองว่าตนเป็นคนแรกที่วางกรอบแนวคิดในการสร้างสรรค์พระพุทธรูปปางนี้ ต่อมาได้เห็นเหรียญพระพุทธรูปลักษณะเฉกเช่นนี้ในนิตยสารพระเครื่องฉบับหนึ่ง เลยต้องเปลี่ยนความเชื่อว่าตนมิใช่คนแรกที่รังสรรค์พระพุทธรูปปางนี้ แต่มนุษย์เรา อาจมีความคิดสร้างสรรค์ที่สอดคล้องต้องกันได้ ฆราวาสผู้สร้างเหรียญพระพุทธรูปปางนี้มีแนวคิดและแรงบันดาลใจอย่างไรเป็นประเด็นที่มิบังควรไปสรุปหรือคาดเดาโดยไม่มีพยานหลักฐานรองรับ มาพูดคุยเรื่องปฐมเหตุอันเป็นที่มาของพระพุทธกัลยาณมิตฺตตาหรือพระปางคู่มิตรใหญ่ตามจินตนาการของบัณฑิตเฒ่าดีกว่า
จินตนาการอันเป็นสารตั้งต้นในการรังสรรค์พระพุทธรูปปางคู่มิตรใหญ่มาจากความเชื่อเรื่องดาวคู่มิตรในโหราศาสตร์ ดาวคู่มิตรตามความเชื่อนี้ ดาวหรือเลขที่มาอยู่ด้วยกันจะให้ผลด้านโชคลาภ ส่งเสริมเรื่องการเงิน การงาน ความรัก มีมิตร ผู้ใหญ่ให้การเกื้อกูล คนรอบข้างให้การสนับสนุน ประสบความสำเร็จในชีวิตเป็นอย่างดี ประกอบด้วยดาวหรือเลข ๔ คู่ที่ให้คุณแตกต่างกัน ดังนี้ ๑๕/๕๑ คู่ปัญญา, ๒๔/๔๒ คู่เมตตา, ๓๖/๖๓ คู่การเงินและความรัก, ๗๘/๘๗ คู่ใจนักเลง กล้าได้กล้าเสีย. ในบรรดาดาวนพเคราะห์ทั้ง ๘ ดวงดังกล่าว ดาวเสาร์ (๗) และพระราหู (๘) เป็นดาวบาปเคราะห์ที่เหล่าหมอดูและนักการตลาดสายมูเพียรพยายามรักษากระแสให้ดาวทั้งสองเป็นผู้ร้ายที่น่าสะพึงกลัว ความเป็นจริงจะเป็นอย่างไรก็เป็นประเด็นหนึ่ง แต่ความเชื่อฝังจิตฝังใจมานาน นี่สิ...น่ากลัวกว่า
คติความเชื่อเกี่ยวกับพระพุทธรูปประจำวันเกิดเป็นส่วนหนึ่งของการผสมผสานความเชื่อทางพระพุทธศาสนากับความเชื่อทางโหราศาสตร์เข้าด้วยกัน โดยการนำคติความเชื่อที่ว่าดาวนพพระเคราะห์แต่ละดวงมีตำแหน่งของตนเอง ทั้งยังได้รับอิทธิพลจากดาวนพเคราะห์ดวงอื่น ๆ และเชื่อกันว่าการเคลื่อนย้ายเปลี่ยนตำแหน่งของดาวนพเคราะห์แต่ละดวงมีอิทธิพลต่อชีวิต โชคเคราะห์เป็นประการใดขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างดาวในดวงเกิดกับดาวจรซึ่งไปสถิตและส่งผลให้เกิดขึ้นในแต่ละห้วงเวลา การบูชาพระพุทธรูปประจำวันเกิดจึงเป็นการน้อมนำพุทธคุณมาปกป้องคุ้มครองตนให้พ้นจากภยันตรายนานัปการ เกื้อกูลหนุนเนื่องให้วิถีชีวิตดำเนินไปในทางที่ดีงาม
บรรดาพระพุทธรูปประจำวันเกิดทั้ง ๙ ปาง มี ๒ ปางที่มีสัตว์เข้ามาเป็นองค์ประกอบสำคัญของพระพุทธรูปและเรื่องราวอันเป็นที่มาของพระพุทธรูปทั้งสองปาง ที่อัศจรรย์ใจคือทั้งสองปางตรงกับดาวคู่มิตรในความเชื่อทางโหราศาสตร์ ได้แก่ พระพุทธรูปปางนาคปรก (ดาวเสาร์: ๗) กับพระพุทธรูปปาลิไลย์ (ดาวราหู: ๘) ความเป็นมาของพระพุทธรูปปางนาคปรกมีอยู่ว่า ในสัปดาห์ที่ ๖ พระบรมศาสดาทรงประทับนั่งสมาธิเสวยวิมุติสุข ณ ร่มไม้จิก ครานั้น พญามุจลินทนาคราชผู้เป็นราชาแห่งนาคพิภพขึ้นจากบาดาล ขนดกายเป็น ๗ ชั้นแล้วแผ่พังพานปกคลุมพระเศียรพระบรมศาสดาเพื่อป้องกันลมฝน ความหนาวเหน็บ ตลอดจนเหลือบ ไร ริ้น ยุง และสัตว์เลื้อยคลานมิให้มาต้องพระวรกาย กระทั่งวันที่ ๓ ฝนหยุดตก พญามุจลินทนาคราชคลายขนดกายออกแล้วแปลงร่างเป็นมานพหนุ่มถวายอภิวาทต่อองค์พระบรมศาสดา พระตถาคตจึงเปล่งธรรมวาจาดั่งนี้ ความสงัดคือความสุขของบุคคลผู้มีธรรมอันได้สดับแล้ว ได้รู้เห็นสังขารทั้งปวงตามความเป็นจริงอย่างไร ความสำรวมไม่เบียดเบียนในสัตว์ทั้งหลาย ความเป็นผู้ปราศจากกำหนัด สามารถก้าวล่วงพ้นซึ่งกามทั้งปวงเสียได้ เป็นสุขอันประเสริฐในโลก ความขาดจากอัสมิมานะ การถือตัวตนหากกระทำให้หมดสิ้นไปได้นั้น เป็นความสุขอย่างยิ่ง ธรรมตามนัยนี้ "สุโข วิเวโก" ปรากฏในพระนาคปรกเจ้าคุณนรฯ เนื้อโลหะ ปี ๒๕๑๓
ความในส่วนของพระพุทธรูปปางปาลิไลย์ ขณะที่พระบรมศาสดาทรงประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เมืองโกสัมพีความบาดหมางระหว่างพระวินัยธรผู้เชี่ยวชาญในพระธรรมวินัยกับพระธรรมกถึกผู้เชี่ยวชาญการแสดงธรรม กลายเป็นเรื่องบานปลายที่ส่งผลให้ภิกษุแตกแยกเป็นสองฝักเป็นสองฝ่าย พระพุทธองค์ทรงห้ามปรามตักเตือนอย่างไร ก็ไม่ยอมเชื่อฟัง พระพุทธองค์จึงเสด็จไปประทับ ณ ร่มไม้สาละในป่ารักขิตวัน โดยลำพังพระองค์เดียว เพลานั้น พญาช้างเผือกนามว่า ปาลิไลยกะ เกิดความเบื่อหน่ายในความวุ่นวายของเหล่าบริวารของตน จึงปลีกตัวออกมาอยู่ตามลำพังเช่นเดียวกัน ครั้นได้พบพระบรมศาสดาก็บังเกิดความเลื่อมใส ถวายตนเป็นอุปัฏฐากคอยหาภัตตาหารและน้ำมาถวาย ทั้งยังใช้กิ่งไม้คอยปัดกวาดอาณาบริเวณ และพิทักษ์รักษาความปลอดภัยมิให้สัตว์ร้ายมากล้ำกราย โดยมีพญาลิงตัวหนึ่งมาช่วยปรนนิบัติด้วย (พระไตรปิฎกมิได้กล่าวถึงพญาลิง แต่ปรากฏในอรรถกถา) เมื่อชาวเมืองโกสัมพีทราบว่าพระบรมศาสดามิได้ประทับ ณ โฆษิตาราม เพราะเบื่อหน่ายเหล่าภิกษุที่ไม่อยู่ในโอวาท จึงพากันงดถวายอาหารบิณฑบาต ภิกษุเหล่านั้นได้รับความอดอยาก จึงได้สำนึกตน แต่ไม่อาจติดตามพระบรมศาสดาได้ด้วยเหตุที่เป็นฤดูเข้าพรรษา จำต้องอยู่ด้วยความทุกข์ใจ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี, นางวิสาขามหาอุบาสิกา, และเหล่าเศรษฐีตระกูลใหญ่ในเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล ทราบข่าว จึงพร้อมใจกันส่งหนังสือถึงพระอานนท์เพื่อทูลเชิญพระบรมศาสดาเสด็จมาประทับ ณ วัดเชตะวันมหาวิหาร พวกตนจักได้ถวายภัตตาหารและฟังธรรม เมื่อออกพรรษาแล้ว พระอานนท์พร้อมด้วยภิกษุผู้ปรารถนาจักฟังธรรมจากพระบรมศาสดาจำนวน ๕๐๐ รูปเดินทางไปยังป่ารักขิตวัน พญาช้างปาลิไลยกะเห็นพระอานนท์เป็นครั้งแรก ไม่ยอมให้เข้าเฝ้า พระพุทธองค์ต้องแจ้งให้ทราบว่าผู้ที่มาขอเข้าเฝ้าเป็นพุทธอุปัฏฐาก พญาช้างปาลิไลยกะจึงยินยอมให้พระอานนท์เข้าเฝ้า พระบรมศาสดาทรงให้พระอานนท์นำภิกษุที่รออยู่ด้านนอกเข้ามาฟังพระธรรมเทศนา ยังผลให้ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปบรรลุอรหันต์ในครานั้น เมื่อพระอานนท์ทูลเชิญพระบรมศาสดาเสด็จไปยังวัดเชตะวันมหาวิหาร พญาช้างไม่อาจขัดขืนได้ ก็เสียใจแล้วล้มลงขาดใจตาย ด้วยบุญกุศลที่ได้กระทำ จึงไปบังเกิดในสวรรค์ มีนามว่า "ปาลิไลยกะเทพบุตร"
ความเป็นมาของพระพุทธรูปทั้งสองปางล้วนเป็นธรรมอันเกี่ยวเนื่องกับความสุขสงัด มีพญาสัตว์ผู้ทรงอำนาจมาปกปักรักษามิให้มีภยันตรายใด ๆ เข้ามากล้ำกราย ปรนนิบัติ เกื้อกูลให้ได้รับความสะดวกในวิถีแห่งความสุขสงบพิจารณาตามมรรควิถีของพระพุทธศาสนา นี่เป็นวิธีการจัดการกับความเชื่อที่มิได้แสดงความเป็นปฏิปักษ์หรือไปหักร้างความเชื่อทางโหรศาสตร์ แต่เป็นวิธีการที่นำความเชื่อทางพุทธศาสนาเข้าไปผสมผสานและทำให้อยู่ร่วมกันได้โดยไม่ขัดกับหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนาคือกรรมหรือการกระทำ ใครจะเชื่ออะไรก็สุดแล้วแต่ หากไม่งอมืองอเท้า หวังพึ่งพาโชคชะตาแบบลม ๆ แล้ง ๆ ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ก็พอไปด้วยกันได้ ที่สำคัญประการหนึ่งคือเป็นการแก้ผลร้ายของดาวเสาร์กับพระราหูได้อย่างเหมาะสม คู่เกเรใหญ่ (๗ กับ ๘) ต้องใช้ สุโข วิเวโก (ความสุขสงัด) มาเป็นตัวคุมแล้วเปลี่ยนให้เป็นหนทางไปสู่วิมุติสุขในที่สุด
ในวิถีแห่งการสร้างสรรค์พุทธศิลป์ พระพุทธรูปทั้งสองปางนี้ มีองค์ประกอบหลักที่สามารถนำมาบูรณาการและหลอมรวมเป็นพระพุทธรูปปางใหม่ได้อย่างวิจิตรพิสดาร ทั้งเป็นสัญญะที่สื่อความหมายและน้อมนำไปสู่หลักธรรมสำคัญในพระพุทธศาสนาได้อย่างเป็นรูปธรรม เป็นธรรมที่เกื้อกูลหนุนเนื่องให้ผู้เข้าถึงและนำไปสู่การปฏิบัติมีชีวิตที่ดีงามบนฐานปัญญาได้ อย่างน้อยที่สุด พระพุทธกัลยาณมิตฺตตาปางนี้ มีองค์ธรรมที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงเชิงเนื้อหา ๓ ประการ ดังนี้
๑) กัลยาณมิตฺตตา ความมีกัลยาณมิตรเท่ากับเป็นการครองชีวิตที่ประเสริฐทั้งหมดทีเดียว
๒) เมตตัญจะ สัมพะโลกัสมิง มานะสัมภาวะเย อะปะริมาณัง อุทธัง อะโธ จะ ติริยัญจะ อะสัมภาธัง อะเวรัง อะสะปัตตัง แผ่เมตตาอย่างไม่มีประมาณ กว้างขวาง ไม่มีเวร ไม่มีศัตรู ไปยังสัตว์โลกทั่วทั้งหมด ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง และชั้นกลาง ผู้แผ่เมตตาจะยืน เดิน นั่ง หรือนอน ควรตั้งสตินี้ไว้ตลอดเวลาที่ยังไม่ง่วง นักปราชญ์เรียกการอยู่ด้วยเมตตานี้ว่าพรหมวิหาร
๓) สุโขวิเวโก ตุฏฺฐสฺส สุตธมฺมสฺส ปสฺสโต ความสงัดของผู้สันโดษ มีธรรมปรากฏเห็นอยู่ นำสุขมาให้
ประกายความคิดในการจัดสร้างพระพุทธกัลยาณมิตฺตตา เป็นเรื่องที่ไม่ได้ตั้งใจหรืออยู่ในความคิดมาก่อน แรงบันดาลใจเกิดขึ้นที่โรงงานโสภณโลหะภัณฑ์ บ่ายวันหนึ่งในช่วงต้นเดือนธันวาคม ๒๕๖๖ เข้าไปตามงานพระสังฆารามโพธิสัตต์ (มหาเทพโพธิสัตต์กวนอู) วันนั้น มีโอกาสได้พบและร่วมวงสนทนากับพระอาจารย์อิฏฐ์ ภทฺทจาโร วัดจุฬามณี ในห้องทำงานของช่างตุ้ม (โสภณ ศรีรุ่งเรือง) โดยบังเอิญ พระอาจารย์อิฏฐ์ ภทฺทจาโร กล่าวว่า ในปี ๒๕๖๗ มีวันเสาร์ห้า.. ตอนแรกก็ไม่ได้คิดอะไรมาก กลับมาถึงบ้าน นึกสนุกขึ้นมา หยิบปฏิทินฤกษ์บน ~ ฤกษ์ล่าง พ.ศ. ๒๕๖๗ ของอาจารย์จำรัส ศิริ มาเปิดหาวันเสาร์ห้า เลยพบว่า เสาร์ห้าปี ๒๕๖๗ ตรงกับวันมหาสงกรานต์ ทั้งยังเป็นปีมะโรง และดาวเสาร์สถิตอยู่ในราศีกุมภ์ซึ่งเป็นบ้านของคู่มิตรอย่างพระราหู จังหวะเวลาที่องค์ประกอบทุกอย่างสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน หาไม่ได้ง่ายนัก ไม่รู้อีกกี่สิบปีจะมีองค์ประกอบในลักษณะเช่นนี้อีก เลยตัดสินใจว่าน่าจะสร้างพระเครื่องเพื่อฝากผลงานไว้ในแวดวงพุทธศิลป์อีกชุดหนึ่ง
การออกแบบเบื้องต้น (Conceptual Design) ได้ให้ความสำคัญกับการนำพระพุทธกัลยาณมิตฺตตามาเป็นองค์ประกอบหลักของพระเครื่องรุ่นนี้ และกำหนดกรอบแนวคิดดังนี้ "พระพุทธกัลยาณมิตฺตตา (คู่มิตรใหญ่) รุ่นเสาร์ห้า มหาสงกรานต์ ปีมะโรง ๒๕๖๗ อธิษฐานจิตแผ่เมตตาโดย หลวงปู่เสาร์ห้า ปญฺญาวชิโร จุดมุ่งหมายในการจัดสร้าง คือถวายหลวงปู่เสาร์ห้า ปญฺญวชิโร แจกเป็นทานบารมีหรือใช้ประโยชน์อื่นใดตามที่ท่านเห็นสมควร" พระเครื่องที่จัดสร้างในคราวนี้ มี ๒ เนื้อ ประกอบด้วยเนื้อเงิน ๙ เหรียญ พระเนื้อผง ๑๐,๖๒๘ องค์ (ถวายหลวงปู่เสาร์ห้า ปญฺญวชิโร ๑๐,๐๐๐ องค์ ขอกลับ ๖๒๘ องค์) มวลสารที่ใช้ในการจัดสร้างเป็นผงชุดเดียวกับพระผงมหาเทพโพธิสัตต์กวนอู รุ่นเปิดโลกสำเร็จสมปรารถนา รวมกับมวลสารอื่น ๆ ที่สรรหามาเพิ่มเติมในภายหลัง ได้แก่ ผงเพชรหน้าทั่ง, ผงคตปรอท, ผงบุดดำบุดแดง, ผงนาคราช, ผงพระธาตุสีวลี, ผงแร่เงินยวง, ผงแร่เหล็กไหลเจ็ดสี, ผงแร่ทรายทอง, ผงแร่ Chubarite, ผงแร่อกธรณี (แร่ดูดทรัพย์), ผงหยกและอัญมณีหลากสี.
หลังจากที่พระผงทั้งหมดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้นำไปถวายหลวงปู่เสาร์ห้า ปญฺญวชิโร ที่วัดชุมพลนิกายาราม ต.บางเลน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ในเช้าวันอังคารที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๗ เวลา ๘.๓๐ น. โดยประมาณ พระครูวิชาญธรรมโชติ (ปุ้ม ธมฺมโชติ) บอกว่านอกจากพิธีอธิษฐานจิตแผ่เมตตาที่จะจัดขึ้นในวันเสาร์ห้าแล้ว หลวงปู่เสาร์ห้า ปญฺญาวชิโร จะอธิษฐานจิตแผ่เมตตาไปเรื่อย ๆ อย่างน้อยก็ตลอดเดือนเมษายน และกำหนดออกแจกในงานกฐินของหลวงปู่เสาร์ห้า ปญญาวชิโร ที่เชียงใหม่, งานกฐินวัดชุมพลนิกายาราม ฯลฯ เรื่องราวต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นเกร็ดความรู้ส่วนหนึ่งที่บันทึกไว้ให้สืบค้นในวันข้างหน้า ท่านใดมีจิตศรัทธาต้องการได้ไปสักการะบูชา ลองไปกราบนมัสการหลวงปู่เสาร์ห้า ปญฺญวชิโร หรือสอบถามที่วัดชุมพลนิกายารามโดยตรง เอวังด้วยประการฉะนี้