พระผงรูปเหมือนครูบาชุ่ม โพธิโก วัดวังมุย ลำพูน
พระผงรูปเหมือนครูบาชุ่ม โพธิโก วัดวังมุ่ย
โดย....... ชายนำ ภาววิมล .......
ในบรรดาพระสุปฏิปันโนสายครูบาเจ้าศรีวิชัยที่มีชื่อเสียงโดดเด่นในห้วงเวลาที่เหรียญรูปเหมือนพระเกจิอาจารย์และพระเครื่องใหม่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ครูบาบุญชุ่ม โพธิโก วัดชัยมงคล (วังมุย) ต.ประตูป่า อ.เมือง จ.ลำพูน เป็นหนึ่งในพระเกจิอาจารย์ร่วมยุคร่วมสมัยกับหลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่, หลวงพ่อเกษม เขมโก สุสานไตรลักษณ์ จ.ลำปาง ที่มีวัตรปฏิบัติและศีลจาริยาวัตรงดงามยิ่ง ทั้งเป็นพระนักปฏิบัติที่มีความมุ่งมั่นในการเจริญพระกรรมฐานอย่างแรงกล้า ข้อความตอนหนึ่งในหนังสือ วังมุยแห่งหริภุญชัย ซึ่งจัดทำโดยสมาชิกอินทราพงษ์ นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการปฏิบัติพระกรรมฐานของครูบาชุ่ม โพธิโก ดังนี้ ครั้งหนึ่ง ท่านนั่งสมาธิอยู่ในพระวิหารที่วัดวังมุย ได้เกิดมีเปลวไฟฉายโชนออกจากร่างกายของท่าน แลดูสว่างไสว มีผู้ที่อยู่ในบริเวณนั้นเห็นเหตุการณ์หลายคน พ่อหนานปัน ก็เป็นหนึ่งในนั้น ได้เห็นไฟลุกโพลนขึ้นท่วมร่างของครูบาชุ่ม จากนั้นเปลวไฟได้เคลื่อนออกจากกาย ตรงไปที่ปล่องด้าน ข้างของพระวิหาร พอครูบาชุ่มคลายออกจากสมาธิ ลูกศิษย์ที่เป็นห่วงได้รีบเข้าไปถามว่าครูบาเจ้าเป็นอะไรไปหรือเปล่า ทำไมไฟลุกขึ้นมา ท่านได้เมตตาบอกว่าเป็นเพราะผลของการปฏิบัติ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรคงเป็นเรื่องอจินไตยและไม่บังควรที่จะไปพิสูจน์ว่าเป็นจริงตามนั้นหรือไม่ เพราะเป็นประเด็นความเชื่อและแรงศรัทธาของศิษย์สายนี้ที่เชื่อถือสืบต่อกันมานาน เฉกเช่นเดียวกับเรื่องการเจริญเตโชกสิณของหลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก ที่คณะศิษย์สายญาติกาดอนยายหอมเชื่อมั่นว่าหลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก เจริญเตโชกสิณจนเกิดแสงไฟสว่างไปทั้งกุฏิ
สถานะครูบาชุ่ม โพธิโก ในหมู่คณะของพระสุปฏิปันโนสายครูบาเจ้าศรีวิชัยและพระเกจิอาจารย์ทางภาคเหนือของสยามประเทศ มีความโดดเด่นไม่ด้อยไปกว่าพระเกจิอาจารย์รูปใดโดยเฉพาะในช่วงทศวรรษที่ ๒๕๑๐ ๒๕๑๙ ครูบาบุญชุ่ม โพธิโก เป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดรูปหนึ่งของครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย (ชาตะ ๒๔๒๑, อุปสมบท ๒๔๒๒, มรณภาพ ๒๔๘๑) ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างทางขึ้นพระธาตุดอยสุเทพตั้งแต่ปี ๒๔๗๘ เป็นต้นมา จากการทำงานร่วมกับครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย อย่างใกล้ชิด เป็นโอกาสดียิ่งที่ทำให้ท่านได้ศึกษาเรียนรู้ธรรม พระกรรมฐาน วัตรปฏิบัติของครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย จนแตกฉาน ในคราวที่ครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย ต้องอธิกรณ์และถูกเรียกตัวเข้าพระนคร ครูบาชุ่ม โพธิโก ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ต้อนรับญาติโยมที่เดินทางมากราบนมัสการครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย โดยระบุว่า หากพวกชาวบ้านมาหาให้ต้อนรับ ให้ศีลให้พรแทนด้วย บอกเขาด้วยว่า ไม่กี่วันเฮาจะกลับมา เมื่องานสร้างทางขึ้นพระธาตุดอยสุเทพใกล้เสร็จสิ้น ครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย รีบท่านเข้าไปพบเพื่อทบทวนธรรมบทต่างๆ ที่ศึกษาเล่าเรียนมา จากนั้นครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย จึงมอบพัดหางนกยูงและไม้เท้าประจำตัวของท่านให้ครูบาชุ่ม โพธิโก เพื่อไว้ใช้ในการเดินทางไปเทศนาโปรดญาติโยม ธรรมและวัตรปฏิบัติที่ครูบาชุ่ม โพธิโก ถือปฏิบัติมาโดยตลอด จวบจนกระทั่งท่านละสังขารไป คือ การเข้านิโรธสมบัติตามแบบแผนที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยวางไว้
ในทางธรรม ครูบาชุ่ม โพธิโก เป็นสหธรรมิกกับพระราชพรหมยาน (วีระ ถาวโร) วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันในนาม หลวงพ่อฤาษีลิงดำ (๒๔๕๙, ๒๔๗๙, ๒๕๑๑) พระอริยสงฆ์ทั้งสองรูปนี้ มีความสัมพันธ์และผูกพันเสมอหนึ่งเป็นพี่น้องทางธรรมที่มีการแลกเปลี่ยนความรู้กันเป็นประจำ นอกจากนั้น ยังเป็นสหธรรมิกและเคยร่วมพิธีกรรมกับพระอริยสงฆ์ พระสุปฏิปันโน พระเกจิอาจารย์ทางภาคเหนือเป็นจำนวนมาก อาทิ พระสุพรหมยานเถระ(ครูบาพรหมจักรสังวร: ๒๔๔๑, ๒๔๖๑, ๒๕๒๗) วัดพระพุทธบาทตากผ้า, พระสุธรรมยานเถระ (ครูบาอินทจักรรักษา: ๒๔๓๙,๒๔๕๙,๒๕๒๑) วัดน้ำบ่อหลวง, พระครูวรเวทย์วิสิฐ(ครูบาธรรมชัย ธมฺชโย: ๒๔๕๗,๒๔๗๕,๒๕๓๐) วัดทุ่งหลวง, หลวงปู่คำแสน คุณาลงฺกาโร(๒๔๓๖, ๒๔๕๘, ๒๕๒๒) วัดดอนมูล, พระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่สิม พุทธาจาโร: ๒๔๕๒,๒๔๗๒,๒๕๓๕), พระครูอุดมขันติธรรม (ครูบาขันแก้ว อุตตโม: ๒๔๔๒,๒๔๖๓,๒๕๒๖) และประจักษ์พยานที่แสดงให้เห็นถึงแรงศรัทธาของกลุ่มฆราวาสที่มุ่งเน้นการปฏิบัติและญาติโยมทั้งหลายที่มีต่อครูบาชุ่ม โพธิโก คงไม่พ้นแรงศรัทธาของคณะศิษย์บ้านซอยสายลม นำโดยพลอากาศโท ม.ร.ว. เสริม ศุขสวัสดิ์, คุณเฉิดศรี ศุขสวัสดิ์ ลูกศิษย์สายนี้เป็นผู้ที่นำพาครูบาชุ่ม โพธิโก เข้ามารักษาที่กรุงเทพมหานครในบั้นปลายชีวิตท่าน กับคณะศิษย์สายรัศมีพรหมโพธิโก นำโดยอาหมอสมสุข คงอุไร
สำหรับเกร็ดประวัติภาคพิสดารและความเป็นมาของครูบาชุ่ม โพธิโก อริยสงฆ์แห่งหริภุญชัยผู้ได้รับมอบพัดหางนกยูงและไม้เท้าประจำตัวของครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย นักบุญผู้ยิ่งใหญ่แห่งล้านนา สามารถสืบค้นได้จากหนังสือ เว็บไซต์ต่าง ๆ ด้วยข้อจำกัดด้านหน้ากระดาษ คงสรุปสาระสำคัญโดยสรุปว่า ครูบาชุ่ม โพธิโก อดีตเจ้าอาวาสวัดชัยมงคล (วังมุย) ต.ประตูป่า อ.เมือง จ.ลำพูน มีนามเดิมว่า ชุ่ม ปลาวิน (นามสกุลของท่านมีข้อมูลที่ไม่ตรงกัน บางแหล่งระบุว่านามสกุลของท่านคือ นันตละ) ถือกำเนิดเมื่อวันอังคารที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๒ ตรงกับวันขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๕ (ทางเหนือ) ปีกุน ณ บ้านวังมุย เป็นบุตรคนที่ห้าของโยมพ่อมูล และโยมแม่ลุน ปลาวิน คนเชื้อสายลัวะ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ในวัยเด็กศึกษาเล่าเรียนหนังสือและพระธรรมเบื้องต้นกับเจ้าอาวาสศรีสองเมือง อายุ ๑๒ ปี บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดพระธาตุขาว โดยมีครูบาอินตา วัดพระธาตุขาว เป็นพระอุปัชฌาย์ ในขณะบรรพชาเป็นสามเณร ศึกษาเล่าเรียนศาสตร์ต่างๆ กับพระอุปัชฌาย์สักระยะหนึ่งแล้ว จึงกราบลาพระอุปัชฌาย์เพื่อเดินทางไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมที่สำนักนักต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ เมื่ออายุครบบวช กลับมาอุปสมบทที่วัดพระธาตุขาว โดยมี ครูบาอินตา (ครูบาปัญโญ) วัดพระธาตุขาว เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์หมื่น เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์หลวงอ้าย เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า
"โพธิโก" เมื่ออุปสมบทแล้ว ครูบาชุ่ม โพธิโก มุ่งมั่นศึกษาเรียนรู้ทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ จนเป็นที่พึงพอใจของพระครูญาณมงคล (ฟู ญาณวิชโย) เจ้าคณะจังหวัดลำพูนในสมัยนั้น เป็นอย่างยิ่ง พระครูญาณมงคลมักเรียกใช้งานท่านเป็นประจำ ทั้งมีข้อเสนอให้ท่านไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่พระนครเพื่อปฏิบัติหน้าที่อบรมสั่งสอนพระเณรในจังหวัดลำพูนหลังจากที่สำเร็จการศึกษาแล้ว โดยทางจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่ท่านปฏิเสธข้อเสนอด้วยเหตุผลที่ว่าต้องการศึกษาเรียนรู้ทางด้านปฏิบัติมากกว่า ครั้นพระครูญาณมงคลจะขอตำแหน่งและสมณศักดิ์ให้ ท่านก็ไม่รับอีกเช่นกัน
ในการศึกษาเรียนรู้ด้านการปฏิบัติและสรรพวิชาต่าง ๆ ครูบาชุ่ม โพธิโก เดินทางไปฝากตัวเพื่อศึกษาพระกรรมฐานและพุทธาคมจากพระเกจิอาจารย์เมืองเหนือหลายรูป หนึ่งในนั้นคือ ครูบาเจ้าศรีวิชัย สิริวิชโย ครูบาอาจารย์ที่ท่านศึกษาเรียนรู้และเป็นกำลังสำคัญของครูบาเจ้าศรีวิชัยในการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ และที่สำคัญอีกรูปหนึ่ง คือ พระมหาเมธังกร (พรหม พฺรหฺมเทโว: ๒๔๑๘,๒๔๓๘,๒๔๙๒) วัดเมธังกราวาส (น้ำคือ) ต.ในเวียง อ.เมือง จ.แพร่ สหธรรมิกอีกรูปหนึ่งของครูบาเจ้าศรีวิชัยซึ่งเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาการสร้างตะกรุดหนังลูกควายตายพรายให้กับครูบาชุ่ม โพธิโก
ด้านวัตถุมงคล พระเครื่องและวัตถุมงคลที่สร้างในรูปและนามของครูบาชุ่ม โพธิโก มีจำนวนรุ่นน้อยมากเมื่อเทียบกับพระอริยสงฆ์เมืองล้านนารูปอื่น พระเครื่องและวัตถุมงคลชุดสำคัญแต่ละชุดของท่านล้วนทรง คุณค่าและควรค่าแก่การเก็บสะสมเชิงอนุรักษ์โดยเฉพาะตะกรุดหนังลูกความตายพราย เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรกของท่านซึ่งเป็นเหรียญที่มีศิลปะงดงามมากเหรียญหนึ่ง ที่สำคัญคือค่านิยมในการเล่นหายังไม่สูงมากจนเกินเอื้อม นอกจากทั้งสองรายการแล้ว ยังมีพระผงรูปเหมือนอีกรุ่นหนึ่งที่สวยแบบเรียบ ๆ มีเสน่ห์ แลคลาสสิกมาก เป็นของดีที่ยังพอเช่าหาได้ไม่ยากนัก
พระผงรูปเหมือนครูบาชุ่ม โพธิโก ปี ๒๕๑๗ เป็นพระผงรูปเหมือนรุ่นแรกที่ครูบาชุ่ม โพธฺโก อนุญาตให้อาจารย์ทองใบ สายพรหมา รองผู้อำนวยการวิทยาลัยพลศึกษาเชียงใหม่ ในขณะนั้น (ต่อมา อุปสมบทเป็นพระภิกษุ นามฉายา "โชติปัญโญ" ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพรหมวนาราม อ.สารภี จ.เชียงใหม่) และคณะ ประกอบด้วยอาจารย์ยุทธ เดชคำรณศึกษานิเทศก์เขตการศึกษา ๘ นักนิยมพระเครื่องและนักเขียนสมัครเล่นในหนังสือของดีและเหนือ คุณอิศรา เทพหัสดิน ณ อยุธยา ผู้ประกอบกิจการโรงพิมพ์ในเชียงใหม่ เป็นคณะผู้ดำเนินการจัดสร้างในปี ๒๕๑๗ พร้อมกับเหรียญรูปเหมือน, เหรียญโภคทรัพย์, พระปิดตา, ล็อกเกตรุ่นแรก ซึ่งท่านวัดจัดพิธีสมโภชเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๙ ด้วยเหตุที่พระผงรูปเหมือนพิมพ์นี้ มิได้มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์มาก่อน คณะผู้จัด สร้างจึงขอให้ทางวัดระงับการจำหน่ายจ่ายแจกพระผงรูปเหมือนชุดนี้ หลังจากที่ภารกิจในการสร้างอุโบสถและซ่อมแซมหอระฆังเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ลักษณะ เป็นพระผงรูปเหมือนครูบาชุ่ม โพธิโก ในกรอบพิมพ์แบบสี่เหลี่ยมชิ้นฟักด้านหน้าเป็นรูปครูบาชุ่ม โพธิโก นั่งสมาธิในลักษณะนั่งพับเพียบบนผ้าอาสนะ ใต้รูปเป็นฐานเขียงจารึกนามหลวงพ่อชุ่ม โพธิโก กรอบพิมพ์เป็นเส้นยกขอบหนาประมาณ ๑ มิลลิเมตร ด้านหลังประทับด้วยยันต์องค์พระสามยันต์แบบยันต์จม ใต้ยันต์เป็นอักษรสองแถว แถวแรก "วัดวังมุย" แถวที่สอง "ลำพูน" และประทับด้วยตรายางหมึกสีน้ำเงิน
ขนาด กว้าง ๒.๑ ๒.๓ เซนติเมตรโดยประมาณ ยาว ๓.๕ เซนติเมตร หนาประมาณ ๐.๕ เซนติเมตร
เนื้อหามวลสาร จัดเป็นพระเนื้อผงที่มีความละเอียดมาก แทบไม่มีเม็ดมวลสารใดปรากฏให้เห็น เนื้อเนียนคล้ายพระผงน้ำมัน
วรรณะสีผิว ผิวออกขาวอมเหลือง พระสภาพเดิมๆ ส่วนใหญ่มีคราบแป้งจับบาง ๆ และมีคราบสีน้ำตาลขึ้นเป็นจุด ๆ ให้เห็นอย่างชัดเจน
ปีที่สร้าง สร้างพร้อมกับเหรียญรูปเหมือนครูบาชุ่ม โพธิโก รุ่นแรก ในปี ๒๕๑๗
จำนวนการสร้าง ไม่ทราบจำนวนการสร้างที่ชัดเจน สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ที่หลักพัน
พิธีกรรม เป็นพระเครื่องที่ผ่านพิธีกรรมหลายพิธี เริ่มจากครูบาชุ่ม โพธิโก ทำพิธีอธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยวที่วิหารวัดชัยมงคล(วังมุย) ช่วงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๑๗ เป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน, จากนั้น นำเข้าพิธีสมโภชที่วัดวังมุยในคืนวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๑๗ เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด และพระเถระผู้ใหญ่เจริญพระพุทธมนต์บทธรรมจักกัปปวัฒนสูตร ครูบาชุ่ม โพธิโก อธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยวตลอดคืน เช้าวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๑๗ สวดเบิกเนตรและมงคลสูตรต่างๆ เป็นอันเสร็จพิธี, ต่อมาอาจารย์ยุทธ์ เดชคำรณ ได้รับเชิญให้ไปช่วยงานวัดบุพพารามในการสร้างพระพุทธบุพพาภิมงคล ภปร. จึงนำพระผงฯ ชุดนี้ไปเข้าพิธีอีกสามครั้ง ดังนี้ ๑) หลวงปู่คำแสน อินทจฺกโก อธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยวตั้งแต่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๘ - ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙ ๒) นำเข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกและเททองหล่อพระพุทธบุพพาภิมงคล ภปร. ในวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙ ๓) พิธีสมโภชและพุทธาภิเษกพระพุทธบุพพาภิมงคล ภปร. ในวันวิสาขบูชา ๒๕๑๙ (จากลานโพธิ์ ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๑๑๑ วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๐)
พลานุภาพ แคล้วคลาดนิรันตรายและเมตตามหานิยม
หลังจากที่คณะผู้จัดสร้างขอให้ทางวัดระงับการจำหน่ายจ่ายแจกพระผงรูปเหมือนครูบาชุ่ม โพธิโก เมื่อทางวัดเสร็จสิ้นภารกิจในการสร้างอุโบสถและซ่อมแซมหอระฆังเสร็จแล้ว พระผงรูปเหมือนชุดนี้ มีการนำออกให้เช่าบูชา ๒ ครั้ง ครั้งแรกระหว่างปี ๒๕๒๐ - ๒๕๒๒ ผ่านทางนิตยสารพระเครื่องลานโพธิ์ ครั้งที่สอง เป็นชุดที่ทางคณะผู้จัดสร้างถวายคืนวัดวังมุยและทางวัดรักษาเก็บรักษาไว้นาน เพิ่งนำออกให้เช่าบูชาในปี ๒๕๔๓ พระชุดนี้ มีจำนวน ๓๐๐ องค์ ส่วนใหญ่มีคราบสีตาลขึ้นเป็นจุดๆ ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน (ร่มโพธิ์ ปีที่ ๑๑ ฉบับที่ ๑๑๗ หน้า ๘)
(บทความเก่าจากนิตยสารพระเครื่องพระเกจิ ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๓๐๙ หน้า ๖๖ - ๖๗)