แชร์

หลวงปู่แป๊ะ สติปญฺโญ ภิกษุผู้เปี่ยมด้วยเมตตาบารมี

อัพเดทล่าสุด: 26 มี.ค. 2025
111 ผู้เข้าชม

พระครูวิมลปัญญานุกูล (แป๊ะ สติปญฺโญ) : ภิกษุผู้เปี่ยมด้วยเมตตาบารมี

 โดย....... ชายนำ ภาววิมล .......

            ก่อนเข้าสู่เนื้อหาสาระอันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชีวประวัติและวัตถุมงคลของพระสุปฏิปันโนผู้เปี่ยมด้วยเมตตาบารมีอีกรูปหนึ่งในทุกวันนี้ พระภิกษุที่เราสามารถกราบไหว้ด้วยความสนิทใจ ผู้เรียบเรียงขอใช้โอกาสและหน้ากระดาษนี้ ในการแสดงความอาลัย น้อมเศียรอภิวาทด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร์มหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย และตั้งจิตมั่นเพื่อนำวิชชาต่างๆ ที่พระองค์ท่านสั่งสอนไว้ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศชาติและสาธารณชนเท่าที่มีพละกำลังจักกระทำได้ ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ

              ๒๓ ปีนับแต่วันที่พระครูเกษมธรรมานันท์ (หลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก) อดีตเจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม ต.ดอนยายหอม อ.เมือง จ.นครปฐม ละสังขารจากเมืองปฐมนคราศรีมหาทวารวดีเพื่อเข้าสู่พระนิพพานอันเป็นเป้าหมายสูงสุดของพระบวรพุทธศาสนา (ปี ๒๕๕๙) ผู้เรียบเรียงยังไม่พบพระภิกษุทางด้านตะวันตกของกรุงเทพมหานครรูปใดที่มีปฏิปทางดงามยิ่ง ครองสมณะเพศด้วยความสงบสันโดษ เปี่ยมล้นด้วยเมตตามารมีเฉกเช่นหลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก วัดดอนยายหอม พระอรหันต์ที่ตราตรึงอยู่ในความทรงจำของบรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย แม้วันเวลาผ่านไปนานเท่าใด ภาพความเมตตาอย่างหาที่สุดมิได้ของหลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก ยังคงแจ่มชัดเหมือน วันวานที่ผ่านมา กระทั่งกลางปี ๒๕๕๙ คุณมนตรี แก้วพิจิตร โทรศัพท์มาหาและบอกว่าพบพระสุปฏิปันโนรูปหนึ่งโดยบังเอิญ พระภิกษุสูงวัยรูปนี้เป็นสหธรรมิกกับพระครูสมุทรสารโสภณ (หลวงพ่อไสว พุทฺธสโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดบางกะพ้อม อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ทั้งสองเป็นเกลอเก่ากันมานาน เป็นเพื่อนสนิทที่รู้จักมักคุ้นกันมาตั้งแต่เด็ก เคยเกณฑ์ทหารและประจำการร่วมกัน เมื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุ ก็มีการไปมาหาสู่กันเป็นประจำ ถึงหน้าเทศกาล จักส่งกระยาสารทให้กันและกันเสมอ นอกจากนั้น หลวงพ่อไสว พุทฺธสโร ยังมาสร้างเหรียญอดีตเจ้าอาวาสฯ ถวายท่านอีกรุ่นหนึ่ง พระสุปฏิปันโนผู้เป็นสหธรรมิกกับหลวงพ่อไสว พุทฺธสโร วัดบางกะพ้อม รูปนี้คือ พระครูวิมลปัญญานุกูล (หลวงปู่แป๊ะ สติปญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดดอนทราย ต.ดอนทราย อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

             สองสามครั้งแรกที่คุณมนตรี แก้วพิจิตร โทรศัพท์มาพูดคุยและชวนสนทนาเรื่องหลวงปู่แป๊ะ สติปญฺโญ ขณะนั้น ผู้เรียบเรียงยังไม่เห็นภาพของหลวงปู่แป๊ะ สติปญฺโญ ทั้งมีข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับท่านไม่มากพอ ศรัทธายังไม่เกิดขึ้นในห้วงเวลานั้น ได้แต่ตอบแบบเลี่ยง ๆ ไปว่ามีโอกาสเมื่อใด ค่อยเดินทางขึ้นไปกราบนมัสการท่านด้วยกันสักครั้ง เวลาผ่านไปพักใหญ่ คุณมนตรี แก้วพิจิตร และผู้เรียบเรียงมีเหตุจำเป็นต้องไปติดต่อกับหน่วยราชการแห่งหนึ่งในตัวเมืองราชบุรี เมื่อต้องผ่านเส้นทางนี้ เลยถือโอกาสแวะเข้าไปกราบนมัสการหลวงปู่แป๊ะ สติปญฺโญ สักครั้งหนึ่ง ไหน ๆ ก็ต้องผ่านทางนี้อยู่แล้ว ใช้เวลาอย่างมากก็ไม่น่าจะเกินหนึ่งชั่วโมง ตอนขาไปอาจไม่สะดวกเท่าที่ควร จึงเลือกเวลาซึ่งงานสำคัญที่ต้องทำในวันนั้นเสร็จสิ้นแล้ว เป็นเรื่องแปลกเหมือนกัน วันนั้นคนไปติดต่อราชการน้อยมาก ไม่เกินสิบนาที งานที่จำเป็นต้องมาติดต่อกับหน่วยราชการแห่งนั้น เสร็จสิ้นอย่างรวดเร็วและเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ในการให้บริการประชาชน ก็ยิ้มแย้มแจ่มใส อำนวยความสะดวกอย่างดียิ่ง

            วัดดอนทรายอยู่ห่างจากริมถนนเพชรเกษมไม่มากนัก ประตูเข้าวัดอยู่เยื้องกับทางแยกไปเจ้าเสมียน (สินค้าพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงของตำบลเจ็ดเสมียนคือหัวใช่โป้) คุณมนตรี แก้วพิจิตร และผู้เรียบเรียงเดินทางมา ถึงวัดดอนทรายในราวสิบโมงกว่า ๆ ใกล้สิบเอ็ดโมง บรรยากาศโดยทั่วไปของวัดดอนทรายแห่งนี้ เงียบสงบ ไม่พลุกพล่านเหมือนวัดทั่วไป วินาทีแรกที่ได้พบและกราบนมัสการหลวงปู่แป๊ะ สติปญฺโญ ต้องยอมรับตามตรงว่านาน ๆ ครั้งจะได้เห็นพระภิกษุสูงวัยที่มีโหงวเฮ้งและสง่าราศีดีเช่นนี้ ลักษณะใบหน้าหลวงปู่แป๊ะ สติปญฺโญ อิ่มเอิบเหมือนดั่งเจ้าสัวใหญ่ที่ประสบความสำเร็จและใช้ชีวิตในบั้นปลายของตนอย่างสมบูรณ์พูนสุขไม่มีเรื่องทุกข์ร้อนใจ พูดจาสุภาพอ่อนหวาน เรียบร้อย นัยน์ตาและรอยยิ้มแฝงด้วยความเมตตายิ่ง เมตตาที่มาจากภายในด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์ เมื่อได้สนทนาพูดคุยกับท่าน แม้นในเวลาสั้นๆ เพียงครึ่งชั่วโมง ก็พอรับรู้ได้ว่านี่คือพระแท้พระดีอีกรูปหนึ่ง พระเก่งนั้นพอหาได้ไม่ยากนัก แต่พระดีพระแท้นี่ซิ..หายาก นาน ๆ จะพบสักรูปหนึ่ง

            ระหว่างที่นั่งสนทนากับหลวงปู่แป๊ะ สติปญฺโญ สายตาเหลือบมองเข้าไปในห้องที่ท่านจำวัด ห้องนั้นมีลักษณะยาวคล้ายเส้นก๋วยเตี๋ยว ภายในห้องไม่มีอะไรเลย มีเพียงโต๊ะ ตู้และเตียงเล็ก ๆ ที่แลเรียบง่าย ไม่มีการตกแต่งหรือสิ่งอำนวยความสะดวกใด ๆ ทั้งสิ้น ผิดกับสมภารเจ้าวัดทั่วไปที่มีสภาพความเป็นอยู่ที่ซับซ้อน ดีกว่านี้มาก ระหว่างการสนทนา ท่านเล่าให้ฟังว่าท่านเป็นคนเชื้อสายลาวผสมเจ๊ก เหตุที่ได้ชื่อว่าแป๊ะ เพราะตอนที่ท่านเกิดในหมู่บ้านมีเด็กเกิดพร้อมกันสองคน ตัวขาวใหญ่ทั้งคู่ เลยตั้งชื่อเด็กท่านว่า "เจ๊กแป๊ะ" และตั้งชื่อเด็กอีกคนหนึ่งว่า "เจ๊กใหญ่" นอกจากนั้น ยังสังเกตได้ว่าท่านสามารถพูดภาษาจีนแต้จิ๋วตามแบบอย่างของคนจีนในไทยได้เป็นอย่างดี บางจังหวะก็ส่งภาษาจีนพูดคุยกับคุณมนตรี แก้วพิจิตร อย่างถูกคอ อีกทั้งมาทราบในภายหลังว่าหลวงปู่แป๊ะ สติปญฺโญ มีความสนิทสนมกับพ่อค้าชาวจีนในนครปฐมคนหนึ่งนามว่า"ซี่ฮี้ แซ่ลี้" คุณซี่ฮี้ แซ่ลี้ ท่านนี้เป็นคหบดีที่สร้างพระประธานขนาด ๘๐ นิ้วถวายวัดดอนทรายในปี ๒๕๓๙ โดยทำพิธีเททองที่โรงงานของช่างถวิล ศรีอินทร์คำ พระครูปฐมเจติยานุรักษ์ (สำลี เอกายโน) วัดพระปฐมเจดีย์ เป็นประธานในพิธีเททองฯ คราวนั้น เมื่อพูดถึงหลวงปู่แป๊ะ สติปญโญ ลูกหลานของคุณซี่ฮี้ แซ่ลี้ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "หลวงปู่แป๊ะ สติปญฺโญ เป็นพระแท้ที่ดีมาก ๆ"

            ชีวประวัติโดยสังเขปของหลวงปู่แป๊ะ สติปญฺโญ เท่าที่สืบค้นได้ในขณะนี้ มีสาระสำคัญโดยสังเขปดังนี้ สถานภาพปัจจุบัน (ปี ๒๕๕๙) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดดอนทราย มีสมณะศักดิ์เป็นพระครูวิมลปัญญานุกูลอายุ ๘๔ ปี พรรษา ๔๔ มีนามเดิมว่า แป๊ะ ลงลอย เป็นบุตรชายคนโตของโยมพ่อลอย - โยมแม่พูน ลงลอย กำเนิดในวันศุกร์ ไม่ทราบเดือน เมื่อปี ๒๔๗๕ มีน้อง ๓ คน คือ นางสาย ลงลอย, นายกลม ลงลอย, คนสุดท้องเสียชีวิตไปนานแล้ว โยมพ่อโยมแม่ของท่านมีอาชีพทำนา การศึกษาในวัยเด็กของท่าน เป็นไปตามสภาวะของสังคมเกษตรกรรมในยุคสมัยนั้น คือ เมื่อเรียนจบชั้น ป ๔ ที่โรงเรียนดอนขมิ้น อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี ก็ออกมาช่วยโยมพ่อโยมแม่ทำนา กระทั่งปี ๒๔๙๕ อันเป็นปีที่ท่านอายุครบ ๒๐ ปี จึงได้ไปเป็นทหารพร้อมกับหลวงพ่อไสว พุทฺธสโร

            ด้านการอุปสมบท หลวงพ่อแป๊ะ สติปญฺโญ อุปสมบท ๒ ครั้ง ครั้งแรกในปี ๒๔๙๙ บวชได้ ๕ พรรษาก็ลาสิกขาบทออกมาใช้ชีวิตฆราวาสกว่า ๑๐ ปี การใช้ชีวิตแบบปุถุชนของหลวงพ่อแป๊ะ สติปญฺโญ และเหตุที่กลับมาอุปสมบทครั้งที่ ๒ ยังไม่มีโอกาสสอบถามท่านอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่พอทราบจากคนวงนอกที่เคยไปกราบนมัสการหลวงพ่อแป๊ะ สติปญฺโญ เป็นประจำว่าในช่วงที่ท่านลาสิกขาบทออกมาเป็นฆราวาสนั้น ท่านเป็นชายหนุ่มที่มีเสน่ห์มากคนหนึ่ง เท็จจริงเป็นประการใดจะพยายามเสาะหาและมานำเสนออีกครั้งในโอกาสอันควร ในทัศนะส่วนตัวของผู้เรียบเรียง เชื่อว่าเรื่องความมีเสน่ห์ของหลวงพ่อแป๊ะ สติปญฺโญ มีความเป็นไปได้สูงมากเพราะบุคลิกลักษณะของท่าน มีทั้งความสงบเยือกเย็น พูดจาอ่อนหวาน สายตาเต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตาและอ่อนโยน คุณลักษณะแบบนี้ ไปไหนก็มีแต่คนรักคนเมตตา

            หลังจากใช้ชีวิตฆราวาสพอควรแก่กาล ด้วยบุญวาสนาที่จักต้องรับใช้พระบวรพุทธศาสนาสืบต่อไปในภายภาคหน้า หลวงพ่อแป๊ะ สติปญฺโญ ตัดสินใจบวชอีกครั้งหนึ่งโดยการอุปสมบทที่พระอุโบสถวัดบางลาน เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ พระครูโพธิสาทร (เฟื้อ อินฺทสโร) เจ้าอาวาสวัดบางลาน เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการเหรียญ สุวณฺณรํสี เจ้าอาวาสวัดดอนทราย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูอาทรรัตนกิจ (เม็ด สจฺจาสโภ) วัดบางลาน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า "สติปญฺโญ" เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้มาจำพรรษาที่วัดดอนทรายเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ ระหว่างจำพรรษาที่วัดดอนทราย หลวงปู่แป๊ะ สติปญฺโญ ศึกษาและสอนไล่ได้นักธรรมโทที่สำนักเรียนวัดโพธิไพโรจน์ บางปีก็เดินธุดงค์ลงไปทางภาคใต้ เท่าที่พอจำได้จากการบอกเล่าของท่าน คือ ธุดงค์ไปเพื่อฝึกจิตกับพระวิปัสสนาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในพระกรรมฐานที่กระบี่ราวสองสามเดือน

            เมื่อกล่าวถึงเรื่องพุทธาคม หลวงปู่แป๊ะ สติปญฺโญ มักหลีกเลี่ยงที่จะพูดหรือตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องพุทธาคมเสมอ แต่ก็มีประเด็นที่ทำให้คุณมนตรี แก้วพิจิตร สันนิษฐานว่า หลวงพ่อแป๊ะ สติปญฺโญ น่าจะมีความเกี่ยวพันกับสำนักวัดบางกะพ้อม ประเด็นแรก หลวงพ่อพรหม รตฺนโชโต อดีตเจ้าอาวาสวัดบางลานองค์ที่หก (อาจารย์ของหลวงพ่อเฟื้อ อินฺทสโร) เป็นสหธรรมิกกับหลวงพ่อคง ธมฺมโชโต วัดบางกะพ้อม พระเกจิอาจารย์ทั้งสองรูปมีการไปมาหาสู่กันเป็นประจำ งานตรุษสารท ก็มีการส่งกระยาสารทไปให้กันและกันเสมอ ๆ ประเด็นถัดมา วัดบางลาน วัดดอนทราย และวัดท่ามะขาม (บ้านเกิดของหลวงพ่อไสว พุทฺธสโร) เป็นวัดในอาณาบริเวณใกล้เคียงกันและมีความเกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิด ทั้งสามารถเดินทางไปมาหาสู่กับวัดบางกะพ้อมผ่านแม่น้ำแม่กลองได้โดยสะดวก ความสนิทชิดเชื้อระหว่างสำนักวัดบางกะพ้อมกับสำนักวัดบางลานส่งผ่านลงมาถึงยุคสมัยของหลวงพ่อไสว พุทฺธสโร อดีตเจ้าอาวาสวัดบางกะพ้อม กับพระครูวิมลปัญญานุกูล (แป๊ะ สติปญฺโญ) และลูกศิษย์สำคัญคนหนึ่งของหลวงปู่แป๊ะ สติปญโญ ซึ่งมาช่วยในพิธีอธิษฐานจิตปลุกเสกวัตถุมงคลรุ่นแรกของหลวงปู่แป๊ะ สติปญฺโญ ก็เคยไปบวชเรียนกับหลวงพ่อไสว พุทฺธสโร ที่วัดบางกะพ้อม มาแต่เก่าก่อน

             ในส่วนของผู้เรียบเรียง ค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ไม่มากนัก ถ้าท่านเลี่ยงที่จะพูดและไม่ตอบคำถามลักษณะนี้ คงต้องตามใจท่าน ที่สำคัญยิ่งคือผู้เรียบเรียงเชื่อมั่นในคุณลักษณะพิเศษเฉพาะตัวบุคคลของหลวงปู่แป๊ะ สติปญโญ มากกว่า คุณลักษณะด้านเมตตาบารมีที่ระเบิดออกมาจากภายในจิตอันบริสุทธิ์ของพระสุปฏิปันโนผู้ครองสมณะเพศมานานกว่า ๔๔ ปี ด้วยศีลาจารวัตรที่งดงามยิ่ง ย่อมก่อให้เกิดผลได้ดีกว่าการใช้พุทธาคมหรือไสยเวทย์ต่าง ๆ เพราะจิตที่ฝึกดีแล้วย่อมเป็นตัวกระทำที่สำคัญยิ่งกว่าพระเวทย์วิทยาคม พระเวทย์วิทยาคมเป็นเพียงสื่อที่เหนี่ยวนำให้เกิดพลานุภาพแห่งจิต และอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือบุญบารมีบุญบารมีเป็นบาทฐานที่นำไปสู่พลังเหนือธรรมชาติที่เรียกว่าบุญฤทธิ์ ฤทธิ์อันเกิดจากบุญบารมีที่สั่งสมมานานหลายภพหลายชาติ จึ่งมีความคงทนกว่าอิทธิฤทธิ์อันเป็นผลจากการใช้พระเวทย์วิทยาคม จริงเท็จประการใดคงต้องรอให้กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่เหตุเฉพาะหน้าที่ได้กราบนมัสการหลวงปู่แป๊ะ สติปญฺโญ ผู้เรียบเรียงมีความโน้มเอียงที่จะเชื่อว่าท่านเป็นพระสุปฏิปันโนที่อุดมไปด้วยเมตตาบารมี เมตตาบารมีที่ระเบิดออกมาจากส่วนลึกของจิตอันเป็นทุนเดิมที่มีมาแต่ชาติปางก่อน

             ด้านการสร้างวัตถุมงคล หลวงปู่แป๊ะ สติปญฺโญ ไม่เคยจัดสร้างพระเครื่องและวัตถุมงคลใด ๆ มาก่อน เหรียญหลวงพ่อเรือน/หลวงพ่อเหรียญ อดีตเจ้าอาวาสองค์ก่อนก็เป็นเหรียญที่หลวงพ่อไสว พุทฺธสโร อดีตเจ้าอาวาสวัดบางกะพ้อมเป็นผู้สร้างถวาย มาในปีนี้ (๒๕๕๙) หลวงปู่แป๊ะ สติปญฺโญ ดำริจะสร้างรั้ววัดดอนทรายเพื่อมอบหมายให้คณะศิษย์ฯ ดำเนินการจัดสร้างพระเครื่องและเหรียญรูปเหมือนรุ่นแรกของท่านขึ้นมาจำนวนหนึ่งเพื่อมอบให้เป็นที่ระลึกแก่ผู้ที่ไปร่วมทำบุญกับท่าน ในการจัดสร้างพระเครื่องและเหรียญรูปเหมือนรุ่นแรกนี้ คณะศิษย์ฯ กราบเรียนท่านว่าพระเครื่องและวัตถุมงคลที่จัดสร้างในคราวนี้ มีจำนวนไม่มากนัก ปัจจัยที่คาดว่าจะได้รับ คงไม่มากพอที่จะสร้างรั้วให้สำเร็จเสร็จสิ้นในคราวเดียวได้ แต่เป็นการประชาสัมพันธ์ให้คนรับรู้และมาร่วมทำบุญกับท่านอย่างต่อเนื่อง พระเครื่องและเหรียญที่จัดสร้างในวาระนี้ ประกอบด้วย

            ๑. เหรียญหล่อเจ้าสัวดอนทราย เป็นเหรียญหล่อที่สร้างขึ้นโดยการล้อศิลปะเหรียญหล่อเจ้าสัวของวัดกลางบางแก้ว แต่ปรับแต่งให้มีลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง กล่าวคือ ด้านหน้าคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของเหรียญหล่อเจ้าสัว ด้านหลังเป็นรูปพระมหากัจจายนะ และจารึกอักษรสามแถว ดังนี้ แถวแรก "วัดดอนทราย" แถวสอง "โพธาราม ราชบุรี" แถวสาม "๒๕๕๙" เหรียญหล่อเจ้าสัวดอนทรายทำพิธีเททองหล่อในราชาฤกษ์ และหลวงปู่แป๊ะ สติปญฺโญ ทำพิธีอธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยวที่อุโบสถวัดดอนทรายในมหัธโนฤกษ์อันเป็นฤกษ์ที่ให้ผลทางด้านโภคทรัพย์ที่อุดมสมบูรณ์ยิ่งและความมั่นคง เหรียญหล่อเจ้าสัวดอนทรายมี ๒ เนื้อ ดังนี้

                ๑.๑ เหรียญหล่อเจ้าสัวดอนทราย เนื้อเงิน จำนวนการสร้าง ๓๒ เหรียญ ทุกเหรียญตอกโค้ดและหมายเลขกำกับ กำหนดให้ทำเช่าบูชาพร้อมกับพญาหงส์รุ่นแรก ซึ่งมีจำนวนการสร้างเพียง ๓๒ ตน


                ๑.๒ เหรียญหล่อเจ้าสัวดอนทราย เนื้อโลหะผสม จำนวนการสร้าง ๔๑๖ องค์ มีส่วนผสมของโลหะอาถรรพ์ต่างๆ อาทิ นภศูล (ส่วนบนสุดของสายล่อไฟฟ้าจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ประสบความสำเร็จและเจริญเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง) พระเมฆสิทธิ์เก่าที่แตกชำรุด บางท่านเรียกเนื้อโลหะผสมนี้ว่า "เนื้อโลหะผสมแร่" เพราะเหรียญหล่อส่วนหนึ่งมีคราบผิวออกสีต่าง ๆ อันเป็นปฏิกิริยาของสินแร่บางอย่าง

            ๒. เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่แป๊ะ สติปญฺโญ รุ่นแรก เป็นเหรียญรูปเหมือนที่สร้างขึ้นโดยการล้อศิลปะเหรียญหลวงพ่อคง ธมฺมโชโต รุ่นแรก ทุกเหรียญตอกโค้ดตอกหมายเหรียญกำกับ มีทั้งหมด ๔ เนื้อ ดังนี้

                 ๒.๑ เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่แป๊ะ สติปญฺโญ เนื้อทองคำ จำนวน ๑ เหรียญ
                 ๒.๒ เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่แป๊ะ สติปญฺโญ เนื้อเงิน จำนวน ๕๐ เหรียญ

                 ๒.๓ เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่แป๊ะ สติปญฺโญ เนื้อสัมฤทธิ์ จำนวน ๔๘๓ เหรียญ


                 ๒.๔ เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่แป๊ะ สติปญฺโญ เนื้ออัลปากา จำนวน ๓๕๔๗ เหรียญ

           ๓. พระปิดตาหลังยันต์นะ รุ่นแรก สร้างขึ้นจากมวลสารต่าง ๆ มากมาย มีทั้งหมด ๓ เนื้อ ดังนี้

                ๓.๑ พระปิดตาผงคลุกรัก ก้นฝังตะกรุดเงิน จำนวนการสร้าง ๕๐๒ องค์


                ๓.๒ พระปิดตาเนื้อผงสีเทา จำนวนสร้าง ๑๘๐๐ องค์


                ๓.๓ พระปิดตาเนื้อผงสีขาว จำนวนสร้าง ๑๖๐๐ องค์

            ๔. พญาหงส์ รุ่นแรก  สร้างจากโลหะชุดเดียวกับเหรียญหล่อเจ้าสัว จำนวนการสร้าง ๓๒ ตน เป็นสุดยอดวัตถุมงคลอีกรายการหนึ่งที่มีจำนวนการสร้างน้อยมาก จัดเข้าชุดเหรียญหล่อเจ้าสัวเนื้อเงิน

            ชีวประวัติเบื้องต้นและข้อมูลการสร้างพระเครื่องและวัตถุมงคลหลวงปู่แป๊ะ สติปญโญ วัดดอนทราย ต.ดอนทราย อ.โพธาราม จ.ราชบุรี มีสาระสำคัญโดยสังเขปดังที่ได้นำเสนอมานี้ หากท่านสมาชิกและผู้อ่านนิตยสารพระเกจิท่านใดศรัทธาและประสงค์ที่จักได้เหรียญหล่อเจ้าสัวดอนทรายและเหรียญรูปเหมือนหลวงปู่แป๊ะ สติปญโญ ไว้สักการะ ติดต่อขอบูชาได้ที่วัดโดยตรง


บทความที่เกี่ยวข้อง
เหรียญเกราะเพ็ชร์__1
บทความเก่าว่าด้วยเรื่องความประวัติความเป็นมาและข้อมูลเกี่ยวกับเหรียญเกราะเพ็ชร วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร ปี ๒๕๐๗ จากนิตยสารพระเครื่องพระเกจิ ฉบับที่ ๓๐๔
23 ก.พ. 2025
หน้าปกบทความ_
บทความเก่าว่าด้วยประวัติความเป็นมาและข้อมูลเกี่ยวกับพระปรกใบมะขามหลวงปู่วิวเียร ฐิตปุญญเถร จากนิตยสารศูนย์พระเครื่อง ฉบับที่ ๑๗๒
21 ก.พ. 2025
หน้าปกบทความเรื่อง_22_เหรียญพระพุทธอนันตคุณ
บทความเก่าจากนิตยสารศูนย์พระเครื่องเรื่องเหรียญพระพุทธอนันตคุณ ปี ๒๕๒๗ เนื้อหาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและข้อมูลของเหรียญฯ
10 ก.พ. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy