แชร์

พระบัวเข็มหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส วัดบ้านกรับ จ.กาญจนบุรี

อัพเดทล่าสุด: 25 มี.ค. 2025
104 ผู้เข้าชม

 พระบัวเข็ม : นิมิตแห่งการก้าวพ้นอุปสรรค บังเกิดโภคทรัพย์สมบัติมั่งมีเงินทองลาภผลพูนทวี

 โดย... ชายนำ ภาววิมล ...

            ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะพูดคุยกับใคร ก็มีแต่คนบ่นว่าเศรษฐกิจไม่ดี เงินทองหายาก ยอดขายที่เคยไปได้ดีมาก ๆ เมื่อวันวาน ย่ำแย่ลงไปเรื่อยๆ ไม่มีทีท่าว่าจะพลิกฟื้นกลับมาโดยเร็ว ได้แต่รอความหวังว่ายุคทองทางเศรษฐกิจจะกลับมาในเร็ววัน คงไม่มีอะไรที่แย่ไปกว่านี้แล้วกระมัง ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมา คนไทยเราเผชิญกับเหตุร้ายครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็ผ่านพ้นมาได้ด้วยพระบารมีแห่งองค์พระมหากษัตราธิราชและแรงศรัทธาในพระพุทธศาสนา ผ่านพ้นและรอคอยเวลาที่สิ่งดี ๆ จะหวนคืนกลับมาอีกครั้ง

            ในความเชื่อของพุทธศาสนิกชนส่วนหนึ่ง ยามใดที่ประสบปัญหา มีความไม่สบายกายไม่สบายใจเกิดขึ้น หรือการเริ่มต้นกระทำการใด ๆ มักไปทำบุญทำกุศล จัดพิธีกรรมต่าง ๆ ตลอดทั้งขอบารมีพระพุทธรูปสำคัญ ๆ พระเกจิอาจารย์ สรรพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายให้ช่วยเหลือ ปกปักรักษา เกื้อกูล ค้ำจุนให้สามารถผ่านพ้นอุปสรรคนานัปการที่เกิดขึ้น ประสบความสำเร็จตามปรารถนาของตน แต่มีบางกลุ่มที่ศรัทธาและเสาะสรรหาพระเครื่อง วัตถุมงคลที่ตนเชื่อกันว่ามีพลานุภาพ (พุทธคุณตามความเชื่อของนักนิยมพระเครื่อง) ด้านต่าง ๆ มาสักการบูชาหรือห้อยคอติดตัวเป็นประจำ

            การนำพระเครื่องและวัตถุมงคลมาสักการบูชาหรือห้อยคอติดตัว แต่เดิมเป็นการนำพระเครื่องหรือวัตถุมงคลที่เชื่อกันว่ามีพลานุภาพด้านต่าง ๆ อาทิ หลวงพ่อทวด วัดช้างไห้ โดดเด่นทางแคล้วคลาดนิรันตรายโดยเฉพาะเรื่องอุบัติภัยบนท้องถนน พระรอด พระกำแพง หรือความศรัทธาที่มีต่อพระพุทธรูป พระเกจิอาจารย์ เทพเจ้า พระมหากษัตริย์ มาใส่ตลับหรือเลี่ยมด้วยวัสดุตามกำลังที่ตนมีอยู่และนำอาราธนาขึ้นคอเป็นประจำ แต่ทุกวันนี้เริ่มเปลี่ยนแปลงไป โหราจารย์รุ่นหลัง พยายามนำเสนอหลักการใหม่ในการเลือกสักการบูชา ห้อยพระเครื่องที่ถูกโฉลกกับวันเกิดของแต่ละบุคคล ปรากฏว่ามีคนคล้อยตามและส่งต่อกันในสังคมโลกออนไลน์พักใหญ่ แล้วก็แผ่วลงไปตามกาลเวลา หลักการใหม่ที่ว่านี้ มีความเป็นไปได้หรือความน่าเชื่อถือเพียงใด คงต้องปล่อยให้ผลที่เกิดขึ้นจากการนำพระเครื่องที่โหราจารย์ยุคใหม่กำหนดและกาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

             สำหรับคนยุคเก่าแล้ว นักนิยมพระเครื่องอาวุโสส่วนใหญ่ มักให้ความสำคัญกับอุปเท่ห์ พลานุภาพ และประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการนำพระเครื่องหรือวัตถุมงคลแต่ละสำนักไปสักการบูชาหรือห้อยคอติดตัว เป็นเกณฑ์ในการเลือกพระเครื่องแต่ละองค์มาขึ้นคอ นอกจากพระพุทธรูปสำคัญและรูปเหมือนพระเกจิอาจารย์ที่ได้รับความนิยมและเล่นหากันโดยทั่วไปแล้ว ยังมีพระรูปจำลองพระอรหันตสาวก ๓ รูปคือ พระมหากัจจายน์  พระสีวลี และพระอุปคุตหรือพระบัวเข็ม ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเลิศทางด้านเมตตามหานิยม ลาภสักการะ ๒ รูปแรกเป็นพระอรหันตสาวกที่พระพุทธองค์ทรงยกย่อง พระมหากัจจายน์เป็นเลิศทางปัญญาและลาภสักการะ พระสีวลีเป็นเลิศทางธุดงควัตรและโชคลาภ ส่วนพระอุปคุตหรือพระบัวเข็มเป็นพระอรหันตสาวกที่พระบรมศาสดาทรงทำนายว่าเป็นผู้ทรมาณและทำให้พระยามารละทิฐิมานะในที่สุด พระอุปคุตรูปนี้เป็นพระอรหันต์ยุคหลังพุทธกาลที่มีบารมีและฤทธิ์สูงมาก เชื่อสืบต่อกันมาว่าใครได้ใส่บาตรพระอุปคุตเป็นคนแรก ๓ วันติดต่อกัน จักร่ำรวยเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี

              เมื่อเอ่ยถึง "พระบัวเข็ม" เชื่อว่านักนิยมพระเครื่องรุ่นใหม่ ๆ ที่มีอายุพรรษาในวงการพระเครื่องไม่มากนัก คงจะมีข้อมูลเกี่ยวกับพระบัวเข็มไม่มากพอ เมื่อไม่มีข้อมูลหรือรายละเอียดที่ชัดแจ้ง เลยมองข้ามความโดดเด่นของพระบัวเข็มไปอย่างน่าเสียดาย การหยิบยกเรื่องราวที่คนทั่วไปไม่สนใจมาเล่าสู่กันฟัง คงไม่น่าพิสมัยมากนักเพราะไม่มีใครอดทนเพียงพอที่จะมารับรู้ รับฟัง รับทราบเรื่องที่ตนเองไม่สนใจ หากจำเป็นต้องนำเสนอเพื่อให้เกิดความกระจ่างครบถ้วนกระบวนความเกี่ยวกับพระเครื่องอีกพิมพ์หนึ่งของหลวงพ่อเพชร จนทวํโส วัดบ้านกรับ ต.ดอนแสลบ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี พระสุปฏิปันโนที่มีสิริอายุยืนยาวถึง ๙๔ ปี ก็ต้องโหมโรงออกแขกให้ท่านนักนิยมพระเครื่องรุ่นกระเตาะ ศิษยานุศิษย์ และผู้ที่เคารพศรัทธาในพระปฏิปทา ศีลจาริยาวัตรอันบริสุทธิ์ของยอดพระเกจิอาจารย์เมืองขุนแผนรูปนี้ ทราบประวัติความเป็นมาของพระบัวเข็ม หรือที่เรียกขานกันอีกนามหนึ่งว่า "พระอุปคุต" ว่ามีความพิสดารลึกล้ำเพียงใด

             ในพระคัมภีร์พระเวท ฉัฏฐบรรพ หน้า ๔๑ อาจารย์เทพย์ สาริกบุตร กล่าวถึงพระบัวเข็ม ดังนี้ เป็นพระที่นิยมสร้างกันในเมืองมอญและพม่า ทำเป็นรูปพระเถระนั่งก้มหน้า มีใบบัวคลุมศีรษะ มีเข็มตุ้มปักตามหัวไหล่ ตามเข่าหลายแห่ง ฐานรองนั่งเป็นดอกบัวค่ำดอกหนึ่ง ดอกหงายดอกหนึ่ง ใต้ฐานมีรูปดอกบัว ใบบัว เต่า ปลา ปู ปั้นนูนๆขึ้นมา เป็นพระที่ทำด้วยแก่นไม้พระศรีมหาโพธิ์ ลงรักปิดทองบาง ๆ ว่าเป็นพระสำหรับขอฝน ทำนองเดียวกับพระสุภูติเถรในพระราชพิธีพิรุณศาสตร์

            ชาวมอญและพม่าเชื่อกันว่า "พระอุปคุตเถระองค์นี้ ยังมีพระชนม์ชีพอยู่ อยู่ในปราสาทแก้วใต้น้ำ เดินไปกลางฝนเหมือนอย่างมีร่มกั้น ฝนไม่เปียกกาย บางทีเห็นนั่งบนน้ำ ลอยขึ้นล่องแสงแดดไม่ต้องกาย มีคำเล่าลือว่า ชาวเมืองแรงกูนคนหนึ่งตักบาตรพระอุปคุตแล้วได้เป็นเศรษฐี ชาวเมืองแรงกูนจึงพากันตื่นแต่เช้าตรู่ยังไม่สว่าง คอยใส่บาตรพระอุปคุตแต่ก็ไม่มีโอกาสใส่บาตร เมื่อไม่ได้ใส่บาตร เลยคิดสร้างรูปท่านจำลองขึ้นมาไว้บูชา เพื่อความประสงค์ให้ท่านช่วยโปรดให้เป็นเศรษฐี ที่ทำเป็นรูปใบบัวคลุมอยู่บนเศียรนั้น สมมุติว่าเป็นเงาที่กันฝนและแดด รูปเหมือนใบบัว คตินิยมในเรื่องนี้ ได้ฝังใจเชื่อถือกันในหมู่ชาวพม่าและมอญสืบมาจนถึงทุกวันนี้"

            พ.สุวรรณ กล่าวถึงพระอุปคุตหรือพระบัวเข็มในคำนำหน้าของหนังสือ "พระบัวเข็มพระอรหันต์พิชิตมารให้ลาภร่ำรวย" ดังนี้ พระบัวเข็มหรือพระอุปคุตเป็นพระบูชาที่นิยมกันมากในกลุ่มชนชาวพม่ามอญ และคนไทยทางภาคเหนือ พระบัวเข็มเริ่มเป็นที่รู้จักกันในหมู่คนไทย เมื่อครั้งที่พระมอญนำพระบัวเข็มมาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ขณะทรงผนวชเป็นพระภิกษุ) ในสมัยรัชกาลที่ ๓, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกล่าวถึงความเป็นมา ความศักดิ์สิทธิ์ ตลอดจนอานิสงส์ที่ได้จากการบูชาพระบัวเข็มอย่างน่าสนใจ ในหนังสือพระราชพิธีสิงสองเดือน พระราชนิพนธ์ของพระองค์ ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์เมื่อปี ๒๔๓๑ นับเป็นเวลา ๑๐๐ กว่าปีมาแล้ว

            "พระบัวเข็มหรือพระอุปคุตเป็นพระอรหันต์สาวกหลังพุทธกาล ๒๐๐ กว่าปี มีประวัติความเป็นมาน่าสนใจ กล่าวคือ ตอนยังไม่บวช ช่วยพ่อแม่ค้าขายในตลาดเมืองมถุรา (อินเดีย) ปรากฏว่าประสบความสำเร็จดีมาก มีลูกค้ามาอุดหนุนมากมาย เงินทองเข้าบ้านตลอด ต่อมาบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา มีความตั้งใจเจริญวิปัสสนากรรมฐานโดยลำดับ กระทั่งบรรลุพระอรหันตผลสำเร็จเป็นพระอรหันต์ เป็นพระอาจารย์สั่งสอนสมถะกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน มีลูกศิษย์ลูกหาถึง ๑๘,๐๐๐ รูป เล่ากันว่าท่านชอบจำพรรษาอยู่ที่ใต้มหาสมุทร (สะดือทะเล)

            ชื่อเสียง ความรู้ความสามารถของท่านแพร่สะพัดถึงพระกรรณของพระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์จึงเสด็จไปอาราธนาท่านให้มาคุ้มครองความเรียบร้อยงานพิธีฉลองสถูปเจดีย์ ๘๔,๐๐๐ องค์ ระหว่างนั้น มีพญามารมาก่อกวนในพิธี พญามารตนดังกล่าวคือ "พระยาวัสวดี" คู่อริเก่าของพระพุทธเจ้าเมื่อคราวจะตรัสรู้ พญามารตนนี้แหละที่จะมาแย่งชิงรัตนะบัลลังก์ จนพระองค์ต้องตรัสเรียกนางวสุนธรา พระแม่ธรณีมาเป็นพยานโดยบีบมวยผมน้ำกรวด (ที่พระพุทธเจ้าทรงกระทำทุกครั้งที่ทรงบำเพ็ญกุศล) ไหลออกมาเป็นทะเลหลวง ท่วมทับเสนามารทั้งหลายให้จมวอดวาย กระแสน้ำได้ซัดช้างคีรีเมขล์ให้ถอยร่นไปติดขอบจักรวาล พญามารวัสวดีตกตะลึงเป็นอัศจรรย์ จึงประนมหัตถ์ถวายนมัสการ ยอมปราชัยพ่ายแพ้บุญบารมีของพระพุทธองค์ พญามารมาก่อกวนทำลายพิธีครั้งนี้ เข้าใจว่าเมื่อไม่มีพระพุทธเจ้า คงไม่มีใครขวางได้ ปรากฏว่าถูกพระอุปคุตเนรมิตสุนัขเน่า มีกลิ่นเหม็นคลุ้ง เต็มไปด้วยหมู่หนอนยัวเยียน่าขยะแขยง เอาไปผูกติดไว้ที่คอพญามาร ซึ่งแก้อย่างไรก็ไม่ออก ต้องเหาะไปหาเทพยดา พระอินทร์ ท้าวจตุโลกบาลมหาราช ตลอดจนพระพรหมก็ไม่อาจแกพันธนาการนี้ได้

             ในที่สุดพญามารจึงจำใจกลับมาหาพระอุปคุต เข้าไปกราบสารภาพผิด แต่ก่อนจะแก้เอาสุนัขเน่าออกให้ พระอุปคุตเห็นว่าควรมัดนางพญามารไว้ก่อน โดยมัดติดกับภูเขา จนกว่างานพิธีของพระเจ้าอโศกมหาราชจะเสร็จสิ้น เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้พญามารถึงกับรำพึงว่า "ตัวเรานี้ผจญกับพระพุทธเจ้ามานักต่อนัก ไม่เคยเลยที่พระพุทธเจ้าจะทำกับเราอย่างนี้ พระอุปคุตเป็นเพียงพุทธสาวกทำกับเราถึงขนาดนี้"  พระอุปคุตจึงกล่าวว่า "ดูก่อนพญามาร อาตมากับท่านเป็นคู่ทรมานกัน เพราะเหตุนี้จึงไม่มีกรุณา การกระทำโทษแก่ท่านครั้งนี้ เพื่อจะยังให้ท่านมีจิตยินดีปรารถนาพุทธภูมิ และพระพุทธเจ้าได้ตรัสพยากรณ์ไว้ว่า พระอุปคุตเถระจะได้ทรมานพระยาวัสวดี ให้ละพยศหมดความอหังการ สิ้นร้ายกาจในอนาคตกาล พญามารนั้นจะปรารถนา เป็นพระพุทธเจ้าในภายหน้า ขอท่านจงตั้งใจละจิตบาปเสีย อย่าได้กระทำบาปต่อไปอีกเลย"

             ด้วยเหตุนี้ คนทางเหนือและอีสาน ตลอดจนชาวมอญและพม่า ต่างนิยมสร้างรูปพระอุปคุตบูชากันอย่างสนิทใจ คติโบราณนั้นจนถึงปัจจุบัน หากมีงานพิธีสำคัญ ต้องกราบอาราธนาท่านพระอุปคุตออกมาตั้งบูชาขอพรไม่ให้มีอุปสรรคเกิดขึ้น หรือชีวิตท่านผู้ใดมีอุปสรรคต้องบูชาสักการะพระอุปคุต ขอพรจากท่าน ย่อมบังเกิดความราบรื่นในการดำเนินชีวิตอย่างน่าอัศจรรย์ พวกสัปเหร่อเมื่อเจอผีดุ ก็ยังต้องใช้พระคาถาพระมหาอุปคุตผูกมารเพื่อมิให้ผีดุอาละวาด พระคาถานี้ผู้เขียนได้รวบรวมจากตำราเก่าของครูไว้ในภาคผนวก"

           หากสมาชิกหรือผู้อ่านนิตยสารพระเกจิมีโอกาสได้บูชาพระอุปคุตหรือพระบัวเข็ม นำไปบูชาสักการะประจำบ้านหรือที่ทำงาน ย่อมเป็นนิมิตแห่งการก้าวพ้นอุปสรรคและบังเกิดโภคทรัพย์สมบัติมั่งมีเงินทองลาภผลพูนทวี เนื่องจากพระอุปคุตเป็นพระอรหันต์แห่งโชคลาภ ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นั่นเอง

             เป็นอย่างไรบ้างครับ เกร็ดข้อมูลฉบับย่อที่เกี่ยวกับพระบัวเข็มที่คัดลอกมานำเสนอต่อท่านผู้อ่าน หากมีโอกาสได้อ่านฉบับดั้งเดิม เชื่อว่าผู้อ่านคงได้อรรถรสและสนุกกว่านี้หลายเท่า โดยเฉพาะตอนที่พระเจ้าอโศกมหาราชทดสอบความสามารถของพระอุปคุต ตอนสำคัญของเนื้อเรื่องคือ ตอนที่พระอุปคุตต่อสู้กับพญามาร พระยาวัสวดีมารเนรมิตหรือกระทำการใด พระอุปคุตสามารถแก้เกมและทำได้เหนือกว่าเท่าตัว เสียดายที่มีข้อจำกัดในการนำเสนอ จึงคัดลอกเฉพาะในส่วนของบทนำที่ พ.สุวรรณ ประมวลและเรียบเรียงข้อมูลตั้งแต่ประวัติความเป็นมา ความเชื่อและการสร้างวัตถุมงคลในรูปของพระบัวเข็ม เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความกระจ่างและเห็นถึงความสำคัญ คุณค่าของพระบัวเข็มในมิติต่าง ๆ

            พระอุปคุตหรือพระบัวเข็มที่สร้างขึ้นในยุคกึ่งพุทธกาลเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ นักนิยมพระเครื่องส่วนใหญ่มักมองข้ามอุปเท่ห์ อานิสงค์ของพระบัวเข็มและคุณค่าในการเก็บสะสมไปอย่างน่าเสียดาย ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า นอกจากความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพระบัวเข็มแล้ว ในช่วง ๕๐ ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีพระเกจิ อาจารย์รูปใดที่มีชื่อเสียงเกียรติคุณโด่งดังด้านการสร้างพระเครื่องและวัตถุมงคลในรูปของพระบัวเข็มจนเป็นที่ยอมรับและเล่นหากันเป็นสากล เงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งคือ พระบัวเข็มที่พบเห็นในยุคสมัยนี้ ส่วนใหญ่ขาดเอกลักษณ์ที่ทำให้นักนิยมพระเครื่องสามารถแยกแยะว่าเป็นของสำนักใดกันแน่ ถ้าเฟ้นหากันอย่างเอาจริงเอาจังสักหน่อย ก็พอจะหาพระบัวเข็มที่มีโหงวเฮ้งดี ๆ มาเล่นหากันได้เหมือนกัน

            นอกจากพระอุปคุตหลวงพ่อผาง จิตฺตคุตโต วัดป่าอุดมคงคาคีรีเขตร์, พระบัวเข็มหลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก วัดดอนยายหอม ซึ่งเป็นพระเครื่องยุคกลางเก่ากลางใหม่ที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งแล้ว พระบัวเข็มหลวงพ่อเพชร จนทวํโส เป็นพระบัวเข็มรุ่นใหม่ที่น่าสนใจไม่น้อยเช่นกัน ถ้ากระแสความนิยมในการบูชาพระบัวเข็มเกิดขึ้นเมื่อไหร่ โอกาสที่พระบัวเข็มหลวงพ่อเพชร จนทวํโส จะก้าวขึ้นมาสู่ความนิยมในระดับแนวหน้าก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน ประสบการณ์แคล้วคลาดนิรันตรายซึ่งเป็นจุดเด่นของพระหลวงพ่อเพชร จนทวํโส ทุกรุ่นและศิลปะที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นเงื่อนไขสำคัญที่เกิดหนุนให้นักนิยมพระเครื่องส่วนหนึ่งต้องเหลียวมาเล่นหาพระบัวเข็มชุดนี้กับเขาบ้าง

            พระบัวเข็มหลวงพ่อเพชร จนทวํโส เป็นพระเครื่องที่ท่านอนุญาตให้คณะศิษย์จัดสร้างขึ้นในปี ๒๕๔๐ เพื่อมอบให้เป็นที่ระลึกแก่ผู้ที่มาร่วมทำบุญสมทบทุนสร้างวัตถุถาวรในวัดบ้านกรับ พระบัวเข็ม หลวงพ่อเพชร จนทวํโส มีรายละเอียด ดังนี้

           ลักษณะ เป็นพระบัวเข็มลอยองค์ขนาดเล็กกระทัดรัด มือขวาถือดอกบัว มือซ้ายอุ้มบาตร ลักษณะคล้ายพระบัวเข็มหลวงพ่อแช่ม ฐานุสสโก วัดดอนยายหอม ต่างกันที่พระบัวเข็มหลวงพ่อแช่ม ฐานุสสโก มือซ้ายถือหอยสังข์และมีขนาดใหญ่กว่าพระบัวเข็มหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส เล็กน้อย
            จำนวนการสร้าง ประมาณ ๑,๐๐๐ องค์
            มวลสารที่ใช้ในการสร้าง
                 ๑. ชนวนพระกริ่งและพระชัยวัฒน์จันทร์ตรี หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส 
                 ๒.ชนวนพระกริ่งหลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ วัดบางพระ ปี ๒๕๓๖
                 ๓. ชนวนหล่อพระประธานหลวงพ่อเสริม วัดปทุมวนาราม
                 ๔. ผงตะไบพระกริ่งวัดสุทัศน์ ปี ๒๕๓๖
                 ๕. ผงตะไบพระกริ่งยอดขุนพล หลวงพ่อแช่ม ฐานุสสโก วัดดอนยายหอม
                 ๖. ชนวนพระกริ่งยอดขุนพล/พระบัวเข็ม/เหรียญหล่อ ๗๙ หลวงพ่อแช่ม ฐานุสสโก วัดดอนยายหอม                                                                                                                                                                                                            ๗. ชนวนพระกริ่งปวเรศเขาเงิน พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน
                 ๘. แผ่นยันต์พระเกจิอาจารย์ต่างๆ อาทิ หลวงปู่ดี จตฺตมโล วัดพระรูป, หลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก วัดดอนยายหอม, หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส วัดบ้านกรับ, หลวงปู่เครื่อง สุภทฺโท วัดสระกำแพงใหญ่ ศรีสะเกษ, พระครูสมุห์อวยพร ฐิติญาโณ วัดดอนยายหอม
           พิธีกรรม อธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยวโดยหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส
           พลานุภาพ เด่นทางด้านแคล้วคลาดนิรันตราย และโชคลาภ

           พระบัวเข็มรุ่นนี้จัดว่าเป็นหนึ่งในตำนานพระเครื่องหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส ที่มีประสบการณ์มากที่สุดอีกพิมพ์หนึ่ง เป็นพระรูปหล่อลอยองค์แบบโบราณที่มีศิลปะงดงามและมีจำนวนการสร้างไม่มากนัก หากนักนิยมพระเครื่องสายตะวันตกที่ชื่นชอบพระบัวเข็มหลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก และไม่สามารถหาพระบัวเข็มหลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก มาสักการบูชาได้เนื่องจากสนนราคาเช่าหาปรับตัวขึ้นไปที่หลักหมื่นนานแล้ว ทั้งหายากสุด ๆ หลุดมาเมื่อไหร่ เป็นเข้ารังสายตรงมือหนักทุกที สามารถใช้พระบัวเข็มหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส แทนได้ เหตุผลหลักคือ พระบัวเข็มหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส มีชนวนพระชุดเอกและแผ่นยันต์หลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก ผสมเป็นจำนวนมาก และหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส เป็นพระสุปฏิปันโนที่กราบไหว้ได้โดยไม่มีข้อกังขา แม้จักละสังขารไปแล้วกว่า ๑๒ ปี สรีระของท่านยังไม่เน่าไม่เปื่อยและแข็งเป็นหิน


บทความที่เกี่ยวข้อง
เหรียญเกราะเพ็ชร์__1
บทความเก่าว่าด้วยเรื่องความประวัติความเป็นมาและข้อมูลเกี่ยวกับเหรียญเกราะเพ็ชร วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร ปี ๒๕๐๗ จากนิตยสารพระเครื่องพระเกจิ ฉบับที่ ๓๐๔
23 ก.พ. 2025
หน้าปกบทความ_
บทความเก่าว่าด้วยประวัติความเป็นมาและข้อมูลเกี่ยวกับพระปรกใบมะขามหลวงปู่วิวเียร ฐิตปุญญเถร จากนิตยสารศูนย์พระเครื่อง ฉบับที่ ๑๗๒
21 ก.พ. 2025
หน้าปกบทความเรื่อง_22_เหรียญพระพุทธอนันตคุณ
บทความเก่าจากนิตยสารศูนย์พระเครื่องเรื่องเหรียญพระพุทธอนันตคุณ ปี ๒๕๒๗ เนื้อหาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและข้อมูลของเหรียญฯ
10 ก.พ. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy