แชร์

เหรียญหลวงพ่อดี สุวณฺโณ รุ่นโรงเรียนบ้านคลองมหาสวัสดิ์

อัพเดทล่าสุด: 5 เม.ย. 2025
70 ผู้เข้าชม

เหรียญหลวงพ่อดี สุวณฺโณ วัดสุวรรณาราม รุ่นโรงเรียนบ้านคลองมหาสวัสดิ์

เรื่องและภาพ โดย... ชายนำ ภาววิมล ...

            ช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา (๒๕๖๔) มีผู้อ่านที่ติดตามบทความนี้อย่างต่อเนื่องท่านหนึ่ง โทรศัพท์มาพูดคุยเรื่องเหรียญหลวงปู่คร่ำ ยโสธโร ซึ่งนำเสนอไปในนิตยสารพระเครื่องพระเกจิ ฉบับที่ ๓๔๒ ในช่วงท้ายของการสนทนา ท่านผู้นั้นพูดว่า "เหรียญพระเกจิอาจารย์ต่าง ๆ ที่ผู้เรียบเรียงหยิบยกมานำเสนอนั้น ส่วนใหญ่เป็นสายเหนียว และเสนอแนะให้นำเหรียญพระเกจิอาจารย์สายเมตตามานำเสนอบ้าง" ขอน้อมรับและขอบคุณอย่างยิ่งสำหรับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อสมาชิกและผู้อ่านที่ติดตามบทความนี้โดยตรง ในฉบับถัดไป ผู้เรียบเรียงจะค้นหาและนำวัตถุมงคลสายเมตตามานำเสนอตามข้อเสนอแนะ และก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาสาระหลักของบทความฉบับนี้ ผู้เรียบเรียงขอประชาสัมพันธ์กลุ่มใน Face book อุทยานพุทธศิลป์ อันเป็นกลุ่มใหม่ที่ผู้เรียบเรียงจัดตั้งขึ้นโดยมิได้มีเจตนาในการซื้อขายพระเครื่อง แต่เป็นการเผยแพร่ภาพและ/หรือข้อมูลเกี่ยวกับพระเครื่องและวัตถุมงคลในเชิงอนุรักษ์ นอกจากนั้น ยังเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการรังสรรค์ภาพพระเครื่องที่มุ่งเน้นความสวยงามบนพื้นฐานของพระแท้เป็นหลักสำคัญยิ่ง ในฐานะแอดมิน หากไม่มีกิจธุระอันใด ผู้เรียบเรียงจะนำเสนอภาพพระเครื่องทุกเช้า ตอน ๐๗.๐๐ น. เป็นประจำทุกวัน อย่างน้อยวันละ ๑ ภาพ สมาชิกและท่านผู้อ่านท่านใดสนใจและต้องการเห็นภาพพระเครื่องสวย ๆ คมชัดขนาดน้อง ๆ ช่างภาพมืออาชีพ เชิญชวนทุกท่านติดตามได้ที่ Face book อุทยานพุทธศิลป์

            ๒ ฉบับที่ผ่านมา ผู้เรียบเรียงได้แนะนำเหรียญพระเกจิอาจารย์ระดับแนวหน้าของประเทศ ๒ รูป คือ เหรียญหลวงปู่คร่ำ ยโสธโร วัดวังหว้า อ.แกลง จ.ระยอง รุ่นสร้างศาลากลางจังหวัดระยองพิธีเสาร์ห้าปี ๒๕๓๖, เหรียญขอบสตางค์หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ วัดบางพระ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ปี ๒๕๓๖ ว่ากันตามเนื้อผ้า เหรียญสุดยอดพระเกจิอาจารย์ร่วมยุคร่วมสมัย ทั้ง ๒ รูป ไม่ใช่เหรียญยอดนิยมของแต่ละสาย แต่ก็เป็นของดีที่สัมผัสจับต้องได้ จะด้วยเหตุบังเอิญหรือไม่ ก็ว่ากันไปตามที่สบายใจ เพราะเหรียญพระเกจิอาจารย์ที่จะหยิบยกมานำเสนอในฉบับนี้ เป็นเหรียญที่สร้างในปี ๒๕๓๖ อีกเช่นกัน เหรียญที่ว่านี้คือ เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อดี สุวณฺโณ อดีตเจ้าอาวาสวัดสุวรรณาราม ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม

            เปรียบกับหลวงปู่คร่ำ ยโสธโร และ หลวงพ่อเปิ่น ฐิตคุโณ วัดบางพระ นักนิยมพระเครื่องทั่วไปอาจไม่คุ้นกับชื่อเสียงเกียรติคุณของท่านมากนัก แต่ในเขตพื้นที่พุทธมณฑล โดยเฉพาะตลอดลำคลองมหาสวัสดิ์ (ชื่อดั้งเดิมที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานนามให้คือ คลองมหาสวัสดี) ตลอดไปถึงเขตพื้นที่นครชัยศรี หลวงพ่อดี สุวณฺโณ ไม่เป็นสองรองใคร จะกล่าวว่าเป็นพระโพธิสัตว์เมืองศาลายา คงไม่ผิดเพี้ยนไปจากความจริงมากนัก เหตุที่มิได้เชิดชูท่านดั่งเทพเจ้า เหมือนอย่างที่บรรดาสายตรงพระเกจิอาจารย์ทั้งหลายยกย่องครูบาอาจารย์ตน เพราะตระหนักรู้ดีว่าพระบวรพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เรียกว่า "อเทวนิยม" (Athesim) พูดง่าย ๆ คือ ไม่เชื่อในการดลบันดาลของเทพเจ้าทั้งหลาย แต่เชื่อในกฎแห่งกรรมหรือผลแห่งการกระทำของแต่ละบุคคล อีกทั้งสถานะของเทพในพระพุทธศาสนานั้น อยู่ต่ำกว่าพระภิกษุ สถานะของสัตว์โลกในพระพุทธศาสนาที่ว่าสูงหรือต่ำ มิได้กำหนดขึ้นจากฐานะความเป็นอยู่ แต่กำหนดโดยศีลหรือผลลัพธ์จากการกระทำความดีเป็นสำคัญ และหลักใหญ่ในการยกย่องเชิดชูคุณงามความดีของพระสุปฏิปันโนแต่ละรูป พึงต้องเปรียบให้อยู่ในสถานะที่สูงกว่าหรือย่างน้อยที่สุด ก็ไม่ควรต่ำกว่าสถานะที่บุคคลผู้นั้นดำรงอยู่ นี่คือสิ่งที่พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่มองข้ามไป

            เหตุที่ยกย่องเชิดชูและเปรียบหลวงพ่อดี สุวณฺโณ ว่าเป็นดั่ง "พระโพธิสัตว์เมืองศาลายา" ก็เพราะท่านเป็นพระนักพัฒนาผู้สร้างสรรค์สาธารณประโยชน์ให้กับพระพุทธศาสนาและชุมชนท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก เริ่มจากการบูรณปฏิสังขรณ์อุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฎิสงฆ์ ถาวรวัตถุต่าง ๆ ในวัดสุวรรณารามให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา ส่งเสริมสนับสนุนทั้งด้านการศึกษาและสาธารณสุขในเขตพื้นที่ศาลายาอย่างจริงจัง บางท่านที่คุ้นชินกับภาพความเจริญของอำเภอพุทธมณฑลช่วง ๑๐ - ๒๐ ปีที่ผ่านมา คงมองภาพไม่ชัดว่าศาลายาในอดีต มีสภาพเป็นเช่นไร ห้วงเวลานั้น ศาลายาเป็นชุมชนปลายเขตแดนนครปฐมกับกรุงเทพมหานครซึ่งอยู่ห่างไกลความเจริญของทั้งสองเมือง ไม่มีมหาวิทยาลัยจำนวนมากอย่างที่เห็นกันในทุกวันนี้ ไม่มีโรงเรียนชื่อดังอย่างมหิดลนุสรณ์ ไม่มีศูนย์การแพทย์กาญจนภิเษก ไม่มีพุทธมณฑล ไม่มีตลาดเหลืองซึ่งคนย่านนี้ไปจับจ่ายใช้สอยกันอย่างคึกคัก หากใครที่เคยไปโรงพยาบาลพุทธมณฑลในช่วงก่อนปี ๒๕๖๐ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลกลางทุ่งนาที่หลวงพ่อดี สุวณฺโณ ริเริ่มและให้การอุปถัมภ์มาโดยตลอด มีเส้นทางเข้าออกเป็นทางแคบ ๆ รถไม่สามารถสวนกันได้ นี่คือ ศาลายาก่อนปี ๒๕๔๐ ดินแดนไกลปืนเที่ยงที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก ไม่ต้องคิดไกลไปถึงร้อยปีที่แล้ว ชื่อตำบลศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม และแขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร เป็นชื่อที่สื่อให้เห็นถึงพิษภัยของโรคระบาดที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างการขุดคลองมหาสวัสดี หนึ่งคือ "ศาลายา" ชื่อตรงไปตรงมา ไม่ต้องคิดมาก ส่วน "ศาลาธรรมสพน์" เพี้ยนมาจากคำว่า ศาลาทำศพ คงเกริ่นไว้เป็นกษัยให้สมาชิกและผู้อ่านที่สนใจไปศึกษาเพิ่มกันกันเอง มหาวิทยาลัยมหิดลน่าจะตีพิมพ์หนังสือประวัติศาสตร์ศาลายาออกมาจำหน่ายหลายครั้งแล้ว เรื่องมันยาว คนที่ไม่ชอบประวัติศาสตร์เขาจะเบื่อเอา

            นอกจากความเป็นพระนักพัฒนาผู้มีชื่อเสียงเกียรติคุณโดดเด่นคู่เมืองศาลายาเป็นเวลานานกว่า ๗๐ ปี หลวงพ่อดี สุวณฺโณ พระโพธิสัตว์เมืองศาลายา แห่งลำน้ำมหาสวัสดี ใช้วิชาสมภารที่ร่ำเรียนมาจากสำนักวัดกลางบางแก้ว ในการโปรดญาติโยมและสร้างสรรค์สาธารณประโยชน์อย่างต่อเนื่อง จวบกระทั่งวันที่ท่านละสังขารไปในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๖ ด้วยอายุ ๙๐ ปี พรรษา ๖๘ สาธยายมาถึงตอนนี้ คิดเอาเองว่าอาจมีเสียงคำถามดังแผ่ว ๆ ลอยมากระทบจิตใจ้สำนึกว่า ยกแม่น้ำทั้งห้ามาถึงขนาดนี้แล้ว ทำไมหลวงพ่อดี สุวณฺโณ ถึงไม่ดังสุด ๆ แบบพระเกจิอาจารย์รูปอื่น ๆ ในย่านนี้ คำตอบคงไม่มีอะไรมาก ไม่ซับซ้อน พูดกันง่าย ๆ คือ แสงไฟส่องมาไม่ถึง แต่ถ้าจะพูดแบบกวนนิด ๆ พอให้น้ำขุ่น ก็ต้องตอบว่า หลวงพ่อดี สุวณฺโณ ไม่ได้มีลูกศิษย์ที่ชื่อ สุธน ศรีหิรัญ แล้วสุธน ศรีหิรัญ เกี่ยวอะไรกับเรื่องนี้...

            จำได้ว่าในสมัยที่ผู้เรียบเรียงรับราชการที่กรมแรงงาน (๒๕๓๒ - ๒๕๓๕) พี่สุธน ศรีหิรัญ เคยเล่าให้ฟังว่า พระพุทธวิถีนายก (บุญ ขนฺธโชติ) ปรมาจารย์สำนักวัดกลางบางแก้ว ผู้สร้างพระพิมพ์เจ้าสัวสุดยอดพระเครื่องเมืองยอดแหลม (คนนครปฐมในอดีตเรียกตนเองว่า "คนยอดแหลม" แต่คนยุคใหม่ที่ไม่ใช่หน่อเนื้อเชื้อไขพญากง/พญาพาน ตั้งฉายานครปฐมว่า เมืองเจดีย์ใหญ่) ที่มีสนนราคาเช่าหาแตะเลขแปดหลักไปนานแล้ว ทั้งยังมีผงยาจินดามณีและเบี้ยแก้ที่ขึ้นชื่อลือนาม มีลูกศิษย์ระดับจ้าววิทยายุทธ ๔ รูป เสียดายตอนนั้นไม่ได้จดไว้ นานไปก็ลืมหมด เพิ่งมาฟื้นความจำบางส่วนก็เมื่อเร็ว ๆ นี้เอง หนึ่งในยอดพระเกจิอาจารย์ผู้เป็นศิษย์ก้นกุฎิของหลวงปู่บุญ ขนฺธโชติ คือ "หลวงพ่อเนียม โชติกาโร" อดีตเจ้าอาวาสวัดสุวรรณาราม นั่นเอง แต่สปอร์ตไลท์ในมือของสุธน ศรีหิรัญ (พื้นเพเป็นคนนครชัยศรี) ส่องเพียงแค่หลวงปู่บุญ ขนฺธโชติ, หลวงปู่เพิ่ม ปุญญวสโน (พระอุปัชฌาย์ของสุธน ศรีหิรัญ), พระอาจารย์ใบ คุณวีโร, และหลวงพ่อเจือ ปิยสีโล, ถ้าพี่แกส่องสปอร์ตไลท์มาที่วัดสุวรรณารามสักนิด เชื่อขนมกินได้เลยว่าหลวงพ่อดี สุวณฺโณ ต้องเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างกว่านี้เยอะเลย เพราะสุธน ศรีหิรัญ คือ นักเขียนอาวุโสในวงการพระเครื่องที่ปลุกกระแสให้นักนิยมพระเครื่องเมื่อวันวานรู้จักชื่อเสียงเกียรติคุณของพระเกจิอาจารย์ในสำนักวัดกลางบางแก้วและสำนักเขาอ้ออันเกรียงไกรเป็นอันไม่

            ในความเป็นพระเกจิอาจารย์ตามเหลี่ยมมุมของคนยุคก่อน หลวงพ่อดี สุวณฺโณ เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีฉากหลังดีมาก จากประวัติที่เรียบเรียงโดยลุงเต็ก ลูกศิษย์คนสำคัญที่แบ่งเบาภาระของท่านมาโดยตลอด มีสาระสำคัญพอสรุปได้ว่า หลวงพ่อดี บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดกลางบางแก้ว เมื่ออายุได้ ๑๘ ปี เพื่อศึกษาเล่าเรียนกับพระอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญสรรพศาสตร์ด้านต่าง ๆ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหลวงปู่บุญ ขนฺธโชติ อย่างใกล้ชิด อาทิ คัมภีร์มูลกัจจายน์ จากหลวงพ่อเนียม โชติกาโร, อักขระขอมจากพระอาจารย์แสง พระผู้เชี่ยวชาญด้านอักขระวิธีของสำนักวัดกลางบางแก้ว ในปี ๒๔๖๖ (อายุครบบวช) กลับมาอุปสมบทที่อุโบสถวัดงิ้วราย (วัดใกล้บ้านเกิดของท่าน) โดยมีพระครูปัจฉิมทิศบริหาร (เกิด รัตนสิงห์) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการพุฒ วัดกกตาล เป็นพระกรรมวาจารย์ และพระปลัดบุญ วัดแค เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้อยู่ปรนนิบัติรับใช้หลวงพ่อเกิด รัตนสิงห์ พระอุปัชฌาย์ของท่านระยะหนึ่ง จากนั้นได้ออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อแสวงหาความวิเวกและเจริญพระวิปัสสนากรรมฐาน บางปีก็ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดอื่น ต่อเมื่อหลวงพ่อเนียม โชติกาโร ซึ่งหลวงปู่บุญ ขนฺธโชติ ส่งมาปกครองดูแลวัดสุวรรณารามถึงกาลมรณภาพ ชาวบ้านซึ่งเห็นว่าหลวงพ่อดี สุวณฺโณ มีจริยวัตรน่าเลื่อมใส จึงพร้อมใจกันนิมนต์ท่านมาเป็นเจ้าอาวาสวัดสุวรรณารามสืบต่อมา

            ความโดยสังเขปดังกล่าวมานี้ เป็นข้อมูลอ้างอิงได้เป็นอย่างดีว่า หลวงพ่อดี สุวณฺโณ นั้น มีดีและไม่เป็นสองรองใคร ทั้งมีเรื่องเล่าขานสืบต่อกันว่า พวกเรือหางยาวที่แล่นผ่านหน้าวัดสุวรรณาราม มีเรื่องยิงกันบนเรือ ต่างฝ่ายต่างไม่เป็นไร เพราะต่างคนต่างมีเหรียญหลวงพ่อดี สุวณฺโณ (รุ่นแรก ปี ๒๕๐๖) เมื่อสอบถามกันได้ความว่ามีเหรียญหลวงพ่อดี สุวณฺโณ ทั้งสองฝ่ายจึงเลิกวิวาทกัน เหตุการณ์ครั้งนั้น ศิษย์หลวงพ่อดี สุวณฺโณ เมื่อวันวาน ต่างกล่าวขวัญกันว่า ใครมีเหรียญหลวงพ่อดี ต้องดีกันเสมอ มาถึงตอนนี้ คงต้องยุติเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับหลวงพ่อดี สุวณฺโณ เพียงเท่านี้ เพราะยังมีเรื่องเหรียญรูปเหมือนของท่านอันเป็นกติกาที่รับรู้กันมาแต่แรก

            ในบรรดาเหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อดี สุวณโณ มีทั้งเหรียญที่ทางวัดจัดสร้างกับเหรียญที่หน่วยงานในชุมชนท้องถิ่นซึ่งหลวงพ่อดี สุวณฺโณ ให้การอุปการะมาโดยตลอดเป็นผู้จัดสร้างตามวาระต่าง ๆ เหรียญทั้งสองลักษณะนี้ ต่างเป็นที่รับรู้และเล่นหากันในกลุ่มลูกศิษย์สายนี้ จากคำบอกเล่าของจินตนาการ ศาม หนึ่งในเสาหลักด้านพระเครื่อง/วัตถุมงคลหลวงพ่อดี สุวณฺโณ ในพรรษาปี ๒๕๓๖ ซึ่งเป็นพรรษาสุดท้ายก่อนหลวงพ่อดี สุวณฺโณ จะละสังขารในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๖ หลวงพ่อดี สุวณโณ ได้อธิษฐานจิตแผ่เมตตาเหรียญรูปเหมือน / วัตถุมงคลหลายรายการ หนึ่งในนั้น คือ เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อดี สุวณฺโณ รุ่นที่ระลึก ๕๕ ปี โรงเรียนบ้านคลองมหาสวัสดิ์ หลัง มว ๑๐ ธันวาคม ๒๕๓๖ และจินตนาการ ศาม ได้ตอบข้อสงสัยของผู้เรียบเรียงว่าเหรียญรุ่นนี้ทันหลวงพ่อดี สุวณฺโณ หรือไม่ ว่า มว ๑๐ ธันวาคม ๒๕๓๖ หมายถึง วันครบรอบ ๕๕ ปี โรงเรียนบ้านคลองมหาสวัสดิ์ มิใช่วันที่หลวงพ่อดี สุวณฺโณ อธิษฐานจิตแผ่เมตตาให้ หากเข้าใจตรงกันแล้ว ในประเด็นนี้ คงไม่ใช่ประเด็นที่ต้องเคลือบแคลงสงสัยต่อไป

            เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อดี สุวณฺโณ รุ่นที่ระลึก ๕๕ ปี โรงเรียนบ้านคลองมหาสวัสดิ์ หรือ มว. ๑๐ ธันวาคม ๒๕๓๖ เป็นเหรียญขนาดพอเหมาะในยุค ๒๕๓๐ - ๒๕๓๙ ที่น่าสนใจและควรค่าแก่การเก็บสะสมอีกเหรียญหนึ่ง ผู้ริเริ่มในการจัดสร้างคืออดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคลองมหาสวัสดิ์ ผู้ประสานงานจัดสร้าง คือ ช่างถวิล ศรีอินทร์คำ เจ้าของโรงงานหล่อพระพุทธรูปย่านนั้น ส่วนช่างแกะและควบคุมการผลิตเหรียญ คือ ช่างตุ้ม (โสภณ ศรีรุ่งเรือง) ศิลปินช่างชั้นครูที่วงการพระใหม่กลุ่มหนึ่งตั้งฉายาว่าเป็นช่างแกะ มีดเทวดา ข้อมูลเท่าที่พอเสาะหากันได้ เหรียญรุ่นนี้มีจำนวนการสร้าง ๕,๐๐๐ เหรียญ เป็นกาไหล่ทอง ๑,๐๐๐ เหรียญ ทองแดงรมดำ ๔,๐๐๐ เหรียญ ส่วนเรื่องพลานุภาพนั้น จินตนาการ ศาม กล่าวว่า พระเครื่อง/วัตถุมงคลของท่านมีพุทธคุณครบเครื่อง มิใช่สายเหนียว เป็นสายดีที่ต้องดีกันเสมอ

(บทความเก่าจากนิตยสารพระเครื่องพระเกจิ ปีที่ ๒๘ ฉบับที่ ๓๔๔ เดือนพฤษภาคม ๒๕๖๔)

 


บทความที่เกี่ยวข้อง
เหรียญเกราะเพ็ชร์__1
บทความเก่าว่าด้วยเรื่องความประวัติความเป็นมาและข้อมูลเกี่ยวกับเหรียญเกราะเพ็ชร วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร ปี ๒๕๐๗ จากนิตยสารพระเครื่องพระเกจิ ฉบับที่ ๓๐๔
23 ก.พ. 2025
หน้าปกบทความ_
บทความเก่าว่าด้วยประวัติความเป็นมาและข้อมูลเกี่ยวกับพระปรกใบมะขามหลวงปู่วิวเียร ฐิตปุญญเถร จากนิตยสารศูนย์พระเครื่อง ฉบับที่ ๑๗๒
21 ก.พ. 2025
หน้าปกบทความเรื่อง_22_เหรียญพระพุทธอนันตคุณ
บทความเก่าจากนิตยสารศูนย์พระเครื่องเรื่องเหรียญพระพุทธอนันตคุณ ปี ๒๕๒๗ เนื้อหาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและข้อมูลของเหรียญฯ
10 ก.พ. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy