กระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมโลกทุกวันนี้ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและยากที่จะคาดการณ์ผลลัพธ์ที่จะตามมาในอนาคตอันใกล้ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เป็นตัวการสำคัญยิ่งที่ทำให้วิถีชีวิตของเราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน มิเพียงเพื่อความอยู่รอด แต่เป็นความรู้เท่าทันและความสามารถในการใช้ประโยชน์จากบรรดา AI ทั้งหลาย โดยเฉพาะ Chatbot ได้อย่างชาญฉลาด ไม่ถูกสมองกลหลอก ผู้ทรง คุณวุฒิด้าน AI กล่าวว่ามนุษย์เราอ่านหนังสือมากที่สุดก็เพียง ๓,๐๐๐ เล่ม แต่ AI อ่านหนังสือมากกว่ามนุษย์เป็นอันมาก หากเทียบเคียงปริมาณหนังสือที่คน ๆ หนึ่งได้อ่านตลอดชีวิตว่าเป็นเสมือนมดเล็ก ๆ ตัวหนึ่ง กับ AI ซึ่งเปรียบได้ดั่งช้างสารตัวใหญ่ ปัจจุบันคงไม่ไกลเกินความเป็นจริง แต่วันข้างหน้า อาจไม่ใช่ใหญ่เท่าช้างตัวหนึ่งแต่อาจใหญ่กว่านี้หลายต่อหลายเท่า ความแตกต่างสำคัญยิ่งและทำให้มนุษย์เรายังมีแต้มต่อ AI หลายช่วงตัวคือ AI ยังไม่มีความสามารถมากพอที่จะจำแนกแยกแยะได้ว่าหนังสือที่อ่านกับข้อมูลที่ป้อนเข้าสู่ระบบอะไรที่เป็นจริงหรือเท็จ ใครถามอะไรมาก็ตอบกลับไปแบบทื่อ ๆ ถูกผิดไม่รู้ คนถามรับผิดชอบกันเอง ผิดกับสมองมนุษย์ที่มีความสามารถในการพินิจพิเคราะห์และวินิจฉัยได้ด้วยตนเองว่าสิ่งที่ตนเองประสบพบเจอนั้น ถูกหรือผิด
สิ่งที่มนุษย์เรากำลังเผชิญและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ มิใช่เรื่องใหม่แต่ประการใด เป็นปรกติวิสัยที่เกิดขึ้นในวงการพระเครื่องมานานพอสมควร โดยเฉพาะช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ข้อมูลข่าวสารด้านพระเครื่องที่ปรากฏในโลกออนไลน์ เป็นกรณีตัวอย่างที่พวกเรามีประสบการณ์ร่วมกัน ข้อมูลพระเครื่องในโลกออนไลน์มีจำนวนมากมายมหาศาลแต่ที่เชื่อถือได้มีน้อยมาก บางข้อมูลผิดเพราะคนแรกเขียนผิด คนถัดไปลอกตามกันแบบผิด ๆ เปรียบได้กับการติดกระดุมเสื้อ ถ้าติดเม็ดแรกผิด เม็ดต่อ ๆ ไปก็ผิดหมด, นิยายปรัมปราที่ผู้ขายแต่ละคนจินตนาการกันเองเต็มไปหมด, บ้างก็จับแพะชนแกะ มั่วกันไปหมด ฯลฯ คนที่รู้จริงเหลือน้อยมาก ล้มหายตายจากไปหรือถอนตัวจากวงการก็มีไม่น้อย ที่ยังอยู่ก็ไม่มีใครอยากไปยุ่งเกี่ยวให้เปลืองตัว หมูเขาจะหาม เอาคานไปสอด มีแต่เรื่องเดือดร้อนรำคาญใจ หากใครไม่พิจารณาไตร่ตรองให้ละเอียดถี่ถ้วน ก็จะได้ความรู้และความเชื่อผิด ๆ โลกออนไลน์ของวงการพระเครื่องเป็นชุมชนของผู้ขายและผู้ซื้อมือต้น (ซื้อเพื่อขายต่อ) มิใช่โลกของผู้ซื้อรายสุดท้าย กระแสข้อมูลที่พรั่งพรูในโลกออนไลน์เป็นข้อมูลที่ใช้เพื่อประโยชน์ทางการขาย มิใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมดหรือไม่ก็มีความน่าเชื่อถือไม่มากนัก สิ่งหนึ่งที่เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้/ข้อเท็จจริงที่มีน้ำหนักมากพอที่จะเกื้อกูลให้นักนิยมพระเครื่องรุ่นใหม่คือ หนังสือพระเครื่องยุคเก่าและโบวชัวร์ที่ตีพิมพ์ในสมัยนั้น รวมตลอดทั้งเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
แม้นเรื่องราวในวงการพระเครื่องที่เกิดขึ้นเมื่อวันวาน จะไม่มีการบันทึกข้อมูลไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่การได้อ่านหนังสือพระเครื่องจำนวนมาก หมั่นสังเกต และตั้งคำถามว่า"เอ๊ะ"ก่อนเชื่อ จะเป็นหลักคิดที่ทำให้เราสามารถพินิจพิเคราะห์และจำแนกแยกแยะสิ่งที่ถูกสิ่งที่ผิดได้อย่างสมเหตุสมผล ตัวอย่างหนึ่งเคยพบเห็นคือพระกริ่งของวัดใหญ่วัดหนึ่งที่สร้างในราวปี ๒๔๙๕ - ๒๔๙๖ มีการโพสต์ว่าพระครูลืมมาร่วมพิธีพุทธาภิเษก ด้วย ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลที่ผิดพลาดเพราะท่านมรณภาพในปี ๒๔๖๔ บ้างก็ว่าเจ้าคุณศรีฯ (สนธิ์) เป็นเจ้าพิธีฯ ก็เป็นไปไม่ได้อีกเช่นกัน เพราะท่านมรณภาพในวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๔๙๕ นี่เป็นตัวอย่างเล็ก ๆ ของการสืบค้นจากพยานเอกสารต่าง ๆ เพื่อสอบทานความถูกต้องของข้อมูลที่ได้พบเห็น ทั้งสามารถใช้ร่องรอยเท่าที่มีอยู่ในการสืบสาวไปถึงความเป็นมาของการจัดสร้างได้อย่างชัดเจนและใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยเหตุนี้ ประสบการณ์ที่เกิดจากการสั่งสมความรู้และข้อมูลเชิงลึกที่ถูกต้องเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้นักนิยมพระเครื่องทั้งเชิงอนุรักษ์และเชิงพาณิชย์สามารถกลั่นกรองและสอบทานความถูกต้องของข้อมูลเชิงประมาณแต่ไร้คุณภาพได้ดีกว่าคนที่ไม่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์เชื่อมโยงของข้อมูลต่าง ๆ
"หนังสือ ๘๐ ยอดพระปิดตายุคหลังกึ่งพุทธกาล" เป็นหนังสือแนววิชาการพระเครื่องที่ "ชายนำ ภาววิมล" หรือบัณฑิตเฒ่าจัดพิมพ์ขึ้นในปี ๒๕๔๒ หนังสือเล่มนี้เป็นผลงานที่เกิดขึ้นจากจิตวิญญาณที่ต้องการสร้างสรรค์งานเขียนที่มีคุณภาพเพื่อประดับไว้ในวงการพระเครื่องสักเล่มหนึ่ง ความปรารถนานี้เริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ เมื่อถ่ายทอดแนวคิดนี้ออกไป ก็เป็นเรื่องปรกติที่มีทั้งแรงสนับสนุนและการท้วงติงจากคนรอบข้าง ส่วนหนึ่งมีความเห็นว่า การนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับพระปิดตายุคใหม่มีความเสี่ยงสูงมาก โอกาสที่จะประสบความสำเร็จมีน้อยมาก แต่ยังมีอีกหลายท่านที่ให้ข้อคิดว่า การทำหนังสือพระเครื่อง ต้องมองไปข้างหน้า มองไปที่คนรุ่นใหม่ นักนิยมพระเครื่องกลุ่มนี้ต้องการข้อมูลที่ถูกต้อง เงื่อนไขสำคัญยิ่งที่ทำให้ความตั้งใจของบัณฑิตเฒ่าต้องขยับออกไปถึงปี ๒๕๔๑ แล้วมาสำเร็จลุล่วงในปี ๒๕๔๒ มิใช่เพราะความสับสนในแนวคิดหรือความลังเลใจใด ๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นเรื่องของความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรู้และประสบการณ์ด้านการจัดทำหนังสือพระเครื่อง ตลอดทั้งการยอมรับจากวงการพระเครื่อง เมื่อโอกาสและจังหวะเวลามาถึง จินตนาการ ความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมานานกว่ายี่สิบปี ได้ถ่ายทอดออกมาเป็นอักษรและภาพพระปิดตาในหนังสือเล่มนี้
การนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับพระปิดตายุคหลังกึ่งพุทธกาลที่สร้างขึ้นในระหว่างปี ๒๕๐๐ - ๒๕๔๐ เป็นความพยายามในการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพระปิดตาที่นักนิยมพระเครื่องยุคใหม่สามารถเล่นหาหรือเลือกเก็บได้ในยุคสมัยนั้น โดยมีหลักคิดสำคัญ ๒ ประการคือ ความพร้อมของข้อมูลที่สามารถสอบทานความถูกต้องได้ ประการที่สองคือ ต้องมีพระแท้มาใช้พิจารณาประกอบการเรียบเรียงข้อมูล หลักคิดสองประการดังกล่าวเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เนื้อหาสาระของหนังสือเล่มนี้มีความใกล้เคียงกับข้อเท็จจริงมากที่สุด สามารถใช้เป็นแนวทางการศึกษาค้นคว้าและเลือกเก็บสะสมพระปิดตายุคหลังกึ่งพุทธกาลได้ดียิ่งขึ้น แต่ก็มิได้หมายความหนังสือเล่มนี้ต้องมีเนื้อหาสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่มีข้อผิดพลาดใด ๆ เกิดขึ้น แม้ข้อมูลต่าง ๆ สืบค้นจากนิตยสารพระเครื่องเก่า ๆ มากกว่าหนึ่งพันเล่ม สอบถามและสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญที่มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับการสร้างพระปิดตาแต่ละพิมพ์เท่าที่สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม โอกาสที่รายละเอียดปลีกย่อยบางประการมีความ คลาดเคลื่อนไปบ้างก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน เพราะผู้เรียบเรียงมิใช่ผู้สร้าง และผู้สร้างเองก็ไม่สามารถจดจำรายละเอียดต่าง ๆ ได้ทั้งหมด
จุดเด่นที่ทำให้หนังสือ "๘๐ ยอดพระปิดตาหลังกึ่งพุทธกาล" เล่มนี้แตกต่างไปจากหนังสือพระเครื่องทั่วไปคือ ให้ความสำคัญกับการรวบรวมข้อมูลพื้นฐานที่นักนิยมพระเครื่องทุกระดับสามารถสืบค้นข้อมูลการสร้างพระปิดตาจำนวน ๘๐ พิมพ์ได้อย่างชัดแจ้ง พระปิดตาทั้ง ๘๐ พิมพ์นี้ มีทั้งพระปิดตาเนื้อผงและเนื้อโลหะ พระปิดตามหาลาภและพระปิดตามหาอุตม์ ด้านอายุการสร้าง
๑) พระปิดตาที่สร้างระหว่างปี ๒๕๐๐ - ๒๕๑๐ จำนวน ๗ พิมพ์ (ร้อยละ ๘.๗๕)
๒) พระปิดตาที่สร้างระหว่างปี ๒๕๑๑ - ๒๕๒๐ จำนวน ๒๙ พิมพ์ (ร้อยละ ๓๖.๒๕)
๓) พระปิดตาที่สร้างระหว่างปี ๒๕๒๑ - ๒๕๓๐ จำนวน ๒๕ พิมพ์ (ร้อยละ ๓๑.๒๕)
๔) พระปิดตาที่สร้างระหว่างปี ๒๕๓๑ - ๒๕๔๐ จำนวน ๑๗ พิมพ์ (ร้อยละ ๒๑.๒๕), โครงสร้างข้อมูลพื้นฐานดังกล่าวประกอบด้วย ๑๒ หัวข้อได้แก่ ประวัติความเป็นมาโดยสังเขป, ลักษณะ, ขนาด, เนื้อหา, วรรณะสีผิว, มวลสารที่ใช้ในการสร้าง, จำนวนการสร้าง, ปีที่สร้าง, พิธีกรรม, พลานุภาพ, และค่านิยม (ในขณะจัดทำหนังสือ).
การบรรยายลักษณะทางกายภาพโดยสังเขปประกอบกับการนำเสนอภาพพระเครื่องขนาดเท่าองค์จริงในห้วงเวลาที่จัดทำหนังสือ ยังไม่มีการนำเหรียญบาทหรือเหรียญสิบบาทมาวางเปรียบเทียบ อาจเป็นวิธีการที่คนสมัยนี้ไม่คุ้นชิน แต่ก็จุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้อ่านคุ้นชินกับภาพพระปิดตาทั้ง ๘๐ พิมพ์อันเป็นบันไดขั้นแรกในการเล่นหาและสะสมพระปิดตายุคหลังกึ่งพุทธกาล อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกต ๒ ประการที่นักนิยมพระปิดตาไม่ควรมองข้าม ประการแรกข้อมูลเกี่ยวกับค่านิยมและสนนราคาเช่าหาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสความนิยมของแต่ละกลุ่มในแต่ละห้วงเวลา ถือเป็นกฎเกณฑ์ตายตัวไม่ได้เพราะพระเครื่องไม่มีราคาที่แท้จริง เป็นการเล่นหาแลกเปลี่ยนตามกระแสหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย ประการที่สอง ธรรมชาติของพระปิดตาบางพิมพ์มีขนาดไม่เท่ากัน อาทิ พระปิดตาที่สร้างขึ้นด้วยกรรมวิธีแบบโบราณ พระปิดตาที่ปั้นหุ่น/เททองทีละองค์ พระปิดตาเหล่านี้ไม่สามารถวัดหรือเทียบเคียงกับภาพขนาดเท่าองค์จริงที่นำเสนอในหนังสือเล่มนี้ได้ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องใช้วิธีประมาณการหรือใช้หลักความใกล้เคียงมาประกอบการพิจารณา
นอกจากเนื้อหาสาระเชิงลึกที่เก็บรวบรวมและประมวลไว้ในหนังสือขนาด ๑๔๒ หน้าเล่มนี้ จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้คือ ภาพหน้าปก ภาพหน้าปกเป็นจิตรกรรมที่บัณฑิตกำหนดแนวคิดที่มีจุดมุ่งหมายในการสื่อถึงปริศนาธรรม อานิสงค์ของการเจริญวิปัสสนากรรมทั้งด้านวิมุตติสุขคือ ความสุขที่ได้จากการปฏิบัติธรรมและอำนาจแห่งพุทธคุณที่จักปกปักรักษาให้ผู้ปฏิบัติธรรมรอดพ้นจากภยันตรายนานัปการ ปริศนาธรรมที่ระบุในหัวข้อที่มาของความคิด สรุปได้ดังนี้การปิดทวารทั้ง ๙ หรือปิดอายตนะทั้ง ๕ เป็นการควบคุมตัวแปรภายนอก (External Control) เพื่อให้เกิดสมาธิอันที่จะนำไปสู่การพิจารณาเรียนรู้และเป็นบ่อเกิดของปัญญาที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้น ภาพพระปิดตานี้ ได้รับความเมตตาอย่างดียิ่งจากท่านอาจารย์อนันต์ สวัสดิสวนีย์ ผู้อำนวยการส่วนงานช่างสิบหมู่ สถาบันศิลปกรรม กรมศิลปากร ทั้งด้านการให้คำปรึกษาชี้แนะ การคัดสรรจิตรกรรมฝีมือดีอย่าง "อาจารย์นิคม พลเยี่ยม" มาเป็นผู้รังสรรค์ภาพปริศนาธรรมนี้ ตลอดทั้งการกำกับดูแลให้งานสำเร็จลุล่วงตามกำหนด การที่วางไว้ และที่อดกล่าวมิได้คือ หนังสือ ๘๐ ยอดพระปิดตายุคหลังกึ่งพุทธกาลเป็นหนังสือพระเครื่องเล่มแรกที่เคลือบหน้าปกแบบ Spot UV เล่มแรกของวงการพระเครื่อง
เพลานี้ "หนังสือ ๘๐ ยอดพระปิดตายุคหลังกึ่งพุทธกาล" มีสถานะเป็นหนังสือเก่าที่มีอายุในราว ๒๕ ปี พระปิดตาหลายพิมพ์ในหนังสือเล่มนี้กลายเป็นพระปิดตาที่นิยมเล่นหากันในตั้งแต่หลักพันขึ้นไปถึงหลักหมื่น บางพิมพ์ก็เป็นพระปิดตาที่นักนิยมพระเครื่องกลุ่มหนึ่งเรียกขานกันว่าพระลึกลับ และหลายพิมพ์ก็ยังคงเป็นของดีราคาถูกที่พอหาได้ ค่านิยมและสนนราคาเช่าหาอาจเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่เนื้อหาอันเป็นแกนหลักของหนังสือเล่มนี้ยังคงเป็นหนังสือวิชาการพระเครื่องที่สามารถใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงในการเล่นหาสะสมพระปิดตายุคหลังกึ่งพุทธกาลไม่เสื่อมคลาย เมื่อเอ่ยถึงพระปิดตา คนส่วนใหญ่จะนึกถึง"พนม แพทย์คุณ"เป็นอันดับแรก เพราะพนม แพทย์คุณ เป็นนักเขียนที่มีงานเขียนเกี่ยวกับพระปิดตาทั้งยุคเก่า/ยุคใหม่มากที่สุดในยุคหนังสือพระเครื่องเฟื่องฟู ถัดมาเป็นบัณฑิตเฒ่าที่มีงานเขียนเกี่ยวกับพระปิดตาไม่น้อยเช่นกัน ต่างกันก็ตรงที่บัณฑิตเฒ่ามุ่งเน้นเฉพาะพระปิดตายุคใหม่ ทั้งใช้นามปากกาหลากหลาย ใช้มากจนคนไม่รู้จักว่าเจ้าของนามปากกานั้นคือใคร พนม แพทย์คุณ รู้จักมักคุ้นกับบัณฑิตเฒ่าเป็นอย่างดี ทุกครั้งที่พบกัน คำถามที่เอ่ยปากถามกันเสมอ ๆ คงไม่พ้นคำว่าเล่มหน้า เขียนเรื่องอะไร บางครั้งก็มีการแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลกันตามควรแก่การ การกล่าวนามพนม แพทย์คุณ มิได้มีจุดประสงค์อะไรมากไปกว่าการสรุปประเด็นสำคัญที่ว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่เรียบเรียงโดยหนึ่งในกลุ่มบุคคลที่ทำงานด้านการเขียนบทความเรื่องพระปิดตาอย่างจริงจัง
การจัดพิมพ์หนังสือในครานั้น ได้พิมพ์เผื่อไว้จำนวนหนึ่งเพราะรู้ว่าสักวันหนึ่งคงต้องนำออกมาใช้ประโยชน์ตามที่เห็นสมควร ส่วนใหญ่มอบให้เป็นที่ระลึกกับผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือเป็นหลัก ขายไปบ้างก็มีเช่นกัน ท่านใดสนใจหรือต้องการหนังสือพระปิดตายุคกลางเก่ากลางใหม่ไว้เป็นเอกสารอ้างอิง อุทยานพระเครื่อง โดย... ชายนำ ภาววิมล ... (utthayanphra) เก็บหนังสือพระปิดตายุคหลังกึ่งพุทธกาลไว้จำนวนหนึ่งสำหรับบริการผู้ที่ติดตามงานเขียนของบัณฑิตเฒ่ามาโดยตลอด หนังสือสภาพดีเยี่ยม เก็บรักษาอย่างดี ไม่ค่อยหยิบจับ สนนราคาเล่มละ ๕๐๐ บาท (ห้าร้อยบาท รวมค่าส่งแล้ว) พิเศษสุด สมณาคุณด้วยเหรียญยอดพระปิดตาหลังกึ่งพุทธกาลเล่มละเหรียญ (เหรียญนี้สร้างในปี ๒๕๔๕ พร้อมกับเหรียญพระแก้วมรกตของมูลนิธิ ๑๐๐ ปีมูลนิธิรัฐประศาสนศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) สั่งซื้อโดยการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารกสิกรไทย สาขาศาลายา ในนามของ "ชายนำ ภาววิมล" เลขบัญชี ๕๗๘ - ๒ - ๒๔๕๖๘ ๘ ส่งสำเนาการโอนและแจ้งที่อยู่ทางไลน์ตามหมายเลขโทรศัพท์ ๐๘๑ - ๙๑๒ - ๗๘๙๙ (จัดส่งทาง EMS ในวันถัดไป) ไม่มีบริการเก็บเงินปลายทาง