พระเครื่องที่จะนำเสนอในรายการนี้ อุทยานพระเครื่อง โดย... ชายนำ ภาววิมล ... ขอหยิบยกเหรียญแจกทานหลวงพ่อคง ฐิตวิริโย อดีตเจ้าอาวาสวัดเขากลิ้ง บ้านเขากลิ้ง หมู่ ๑๑ ต.แก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เหรียญดีราคาเยาวชนที่พอหาได้ในสนามพระต่าง ๆ ไม่ยากนัก ส่วนจะได้เหรียญสวย/เหรียญสภาพเดิม ๆ หรือไม่นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะพระเครื่องส่วนใหญ่ที่หมุนเวียนในท้องตลาด ส่วนใหญ่มักผ่านมือผ่านกล้องส่องพระมามากพอสมควร จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องมีรอยช้ำบ้าง ไม่มากก็น้อย เว้นแต่บางรายที่มีการซีนเก็บในซองแก้วอย่างดี วิธีนี้ช่วยในการรักษาผิวพระให้คงอยู่ในสภาพเดิมได้ยาวนานพอสมควร
พระครูถาวรวิริยคุณ (คง ฐิตวิริโย) เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดเขากลิ้ง ซึ่งเป็นวัดที่ท่านริเริ่มและสร้างขึ้นด้วยตนเอง เริ่มต้นด้วยการสร้างสำนักสงฆ์ในปี ๒๕๑๓ จากนั้น ดำเนินการก่อสร้างอุโบสถในปี ๒๕๒๓ และถาวรวัตถุต่าง ๆ อาทิ ศาลาการเปรียญ จนแล้วเสร็จในปี ๒๕๒๘ กรมการศาสนาประกาศจัดตั้งวัดอย่างเป็นทางการในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๒๘ และได้รับพระราขทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๒๙ มูลเหตุอันเป็นแรงจูงใจในการสร้างวัดเขากลิ้ง มีความเป็นมาดังนี้ ในกาลที่หลวงพ่อคง ฐิตวิริโย ธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพรในเขตภาคกลางของสยามประเทศ เมื่อเดินธุดงค์มาถึงแก่งกระจานและปักกลดบริเวณป่าไผ่อันเป็นที่ตั้งของวัดเขากลิ้งในปัจจุบันนี้ ในคืนหนึ่งของการบำเพ็ญภาวนา ท่านได้นิมิตในขณะจำวัดว่า ท่านเดินแบกกลดเข้าไปในป่าถึงแม่น้ำแห่งหนึ่ง มีช้างป่าเดินตามท่านมา ๓ เชือก ท่านเดินข้ามแม่น้ำลึกโดยไม่จม ช้างทั้งสามเชือกที่เดินตามมาก็เดินตาม ข้ามไปด้วยโดยไม่จมเช่นกัน ตื่นเช้ามา หลวงพ่อคง ฐิตวิริโย พิจารณาตรึกตรองอยู่หลายวัน ก็ไม่สามารถตีความนิมิตนี้ได้ ต่อมาเดินทางไปกราบนมัสการเรียนถามพระครูวิบูลญาณประยุต (เรียน พุฒญาโณ) วัดท่ากระเทียม อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี พระอุปัชฌาย์ของท่าน จึงได้ไขปริศนาว่า "คุณคง คุณจะทำป่าตรงนั้นให้เป็นวัดขึ้นได้ในอนาคต แม้จะยากแสนยากอย่างไร ก็จะประสบความสำเร็จ ดุจดังที่คุณได้ข้ามแม่น้ำนั้นมาได้โดยปราศจากอุปสรรคใด ๆ"
คำทำนายของพระอุปัชฌาย์ มิได้มีนัยเฉพาะเรื่องการสร้างวัดตามนิมิตที่เกิดขึ้น แต่ยังเป็นคำอวยพรที่ส่งผลให้กิจต่าง ๆ ซึ่งหลวงพ่อคง ฐิตวิริโย กระทำไปด้วยความวิริยะอุตสาหะตลอดชีวิตของท่านบรรลุผลสำเร็จและเป็นที่เคารพศรัทธาของญาติโยมทั้งหลายทั้งปวงในกาลต่อมา ในส่วนชีวประวัติของหลวงพ่อคง ฐิตวิริโย ข้อมูลโดยสังเขปที่ซึ่งอาศัยเค้าโครงเรื่องจากวิกิพีเดียและค้นคว้าเพิ่มเติมในบางประเด็น มีดังนี้
หลวงพ่อคง ฐิตวิริโย นามเดิมว่านายคง แก่นไม้อ่อน เกิดเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๔๖๖ ตรงกับวันพุธขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีกุน ที่บ้านบางพลับน้อย ต.บางพลับ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี เป็นบุตรคนที่ ๒ ของนายคุ่มและนางแม้น แก่นไม้อ่อน มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๔ คน ในวัยเด็กได้ย้ายจากสุพรรณบุรีมาอยู่ที่เมืองเพชรบุรี มาอยู่กับย่าพลอยและเข้าเรียนที่โรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ เรียนได้ ๒ ปี ย่าพลอยไปอยู่กับอาเขยของท่านซึ่งย้ายไปรับราชการที่ภูเก็ต จึงส่งท่านไปเรียนหนังสือที่วัดปากท่อ จ.ราชบุรี อยู่ได้ ๓ ปีก็ย้ายไปอยู่กับย่าพลอยที่ภูเก็ต หลังจากย่าพลอยถึงแก่กรรมด้วยอหิวาตกโรค ปู่รู้ข่าวจึงรับกลับมาอยู่ที่เพชรบุรีดังเดิม เมื่ออายุครบบวช ในปี ๒๔๘๗ ได้อุปสมบทที่อุโบสถวัดราษฎร์อำรุง (วัดไสค้าน) ต.ท่ายาง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี โดยมีพระครูสุนทรธรรมวงษ์ (เดช สุนฺทโร: ๒๔๑๐ - ๒๔๙๔) ในการอุปสมบทครั้งนี้ ท่านได้ศึกษาและสอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรี จากนั้น ได้สึกออกมาใช้ชีวิตฆราวาสที่บ้านโงหีบ ต.ท่ากระเทียม อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ท่านได้แต่งงานและมีลูก ๔ คน
หลังจากใช้ชีวิตฆราวาสมาระยะหนึ่ง ก็มีความคิดความมุ่งมั่นที่จะกลับมาอุปสมบทอีกครั้งหนึ่ง และได้อุปสมบทครั้งที่ ๒ ที่อุโบสถวัดตำหรุ ในปี ๒๕๐๗ ขณะอายุได้ ๔๑ ปี โดยมีพระครูวิบูลญาณประยุต (เรียน พุฒญาโณ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูใบฎีกาสมบุญ วัดตำหรุ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้ฉายา ฐิตวิริโย แปลว่า ผู้มีความเพียรเป็นที่ตั้ง เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้จำพรรษาที่วัดวิบูลประชาสรรค์ (วัดท่ากระเทียม) จากนั้น ได้ออกธุดงค์เพื่อบำเพ็ญเพียรตามป่าเขาลำเนาไพรในเขตพื้นที่ภาคกลาง/ตะวันตกของประเทศ จนได้พบสถานที่อันเป็นสัปปายะแก่การสร้างวัดดังความที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น
หลังจากการสร้างวัดเขากลิ้งสำเร็จลุล่วงและได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี ๒๕๒๙ หลวงพ่อคง ฐิตวิริโย ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดเขากลิ้งและพระอุปัชฌาย์ตามลำดับ ในด้านสมณศักดิ์ ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูสังฆรักษ์ ฐานานุกรมของพระเทพกิตติโมลี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตร ในปี ๒๕๕๐ ต่อมาได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ที่ พระครูถาวรวิริยคุณ สมณศักดิ์ท้ายสุดที่ท่านได้รับในปี ๒๕๕๘ คือ พระครูสัญญาบัตรชั้นเอกในราชทินนามเดิม
หลวงพ่อคง ฐิตวิริโย ละสังขารเมื่อวันพุธที่ ๙ มกราคม ๒๕๖๒ เวลา ๒๐.๔๒ น. ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ด้วยอาการอันสงบ สิริอายุได้ ๙๖ ปี พรรษา ๕๕ ในมุมมองของความเป็นพระเกจิ หลวงพ่อคง ฐิตวิริโย ได้รับการยกย่องจากนักนิยมพระเครื่องในสายนี้ว่าเป็นเทพเจ้าแห่งแก่งกระจาน ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์กระดับแนวหน้าของภาคตะวันตกและเป็นหนึ่งในพระเกจิอาจารย์ยุคใหม่ที่ได้รับการนิมนต์ไปร่วมในงานพุทธาภิเษกเป็นอันมาก ท่านสร้างเหรียญรูปเหมือนรุ่นแรกเพื่อเป็นที่ระลึกในงานวางศิลาฤกษ์อุโบสถวัดเขากลิ้ง วันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๒๓ เหรียญรุ่นแรกของท่านจัดเป็นเหรียญยอดนิยมที่คลาสสิคมาก ทุกวันนี้ พระเครื่องและวัตถุมงคลของท่านทุกรุ่น ยังคงความเป็นที่นิยมและเล่นหากันในวงกว้าง
เหรียญหลวงพ่อคง ฐิตวิริโย รุ่นแจกทาน จัดว่าเป็นเหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อคง ฐิตวิริโย ที่มีพยานเอกสารให้สืบค้นน้อยมาก อาศัยคำบอกเล่าของนักนิยมพระเครื่องเมืองเพชรท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นคนที่สามารถเข้าถึงพระเกจิอาจารย์หลายรูปในเมืองเพชรบุรี และเป็นผู้จัดหาเหรียญหลวงพ่อคง ฐิตวิริโย รุ่นฉลองอายุครบ ๙๒ ปี (บางคนเรียกเหรียญรุ่นนี้ว่าเหรียญพุทธซ้อน) และเหรียญรุ่นแจกทานมาให้ผู้เฒ่า ก็พอจะสันนิษฐานว่าเป็นเหรียญที่ทางวัดเขากลิ้งจัดสร้างขึ้นเพื่อแจกเป็นที่ระลึกในวันขึ้นปีใหม่ ๒๕๕๗
ลักษณะ เป็นเหรียญกลมขนาดเล็กเท่าเหรียญบาทไทย ด้านหน้าเป็นรูปหลวงพ่อคง ฐิติวิริโย แบบครึ่งองค์ ลักษณะการแกะแม่พิมพ์ค่อนไปทางศิลปะนูนสูง มีความคมชัดลึกและเหมือนหลวงพ่อคง ฐิติวิริโย เป็นอันมาก ใต้ภาพจารึกนามสมณศักดิ์ "พระครูถาวรวิริยคุณ" ตอกโค้ดบริเวณสังฆาฏิ ด้านหลังเป็นยันต์ในลักษณะเดียวกับโค้ดที่ตอกหน้าเหรียญ ใต้ยันต์ระบุชื่อวัดและปีที่สร้าง "วัดเขากลิ้ง จ.เพชรบุรี ๒๕๕๗"
ขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง ๒ เซนติเมตร หากวัดจากห่วงเหรียญลงมาถึงขอบเหรียญด้านล่าง จักมีความยาว ๒.๕ เซนติเมตร
เนื้อหา เนื้อทองฝาบาตร (เท่าที่เห็น)
จำนวนการสร้าง ไม่ทราบจำนวนการสร้างที่แน่นอน
พลานุภาพ เด่นทางด้านแคล้วคลาดนิรันตราย คงกระพันชาตรี ตามสไตล์พระเกจิอาจารย์เมืองเพชร
ค่านิยม เป็นเหรียญรูปเหมือนขนาดเล็กที่จัดสร้างขึ้นในบั้นปลายชีวิตของหลวงพ่อคง ฐิตวิริโย และไม่ค่อยมีภาพปรากฏให้เห็นบ่อยนัก ประกอบกับภาพเหรียญที่ปรากฏในอินเตอร์เน็ต ส่วนใหญ่ผิวไม่งามเหมือนเหรียญจริง เพราะเหรียญทองฝาบาตรที่มันวาวเป็นเหรียญที่ถ่ายภาพให้สีไม่เพี้ยนยากมาก เลยไม่ค่อนโดนใจเท่าที่ควร ผิดกับเหรียญจริงที่เก็บรักษาอย่างดี สนนราคาเช่าหาจึงไม่สูงมากนัก จัดเป็นของดีราคาเบาที่จับต้องได้
เหรียญหลวงพ่อคง ฐิตวิริโย จัดเป็นเหรียญรูปเหมือนพระเกจิอาจารย์ขนาดเล็กที่มีศิลปะงดงามและทรงคุณค่าเชิงอนุรักษ์อีกเหรียญหนึ่ง ทรงคุณค่าเพราะเป็นเหรียญที่ผู้สร้างมีเจตนาจัดทำเพื่อมอบให้ญาติโยมเป็นที่ระลึกในวาระแห่งทุกคนมีความสุข เหรียญแจกทานรุ่นนี้ อุทยานพระเครื่อง โดย... ชายนำ ภาววิมล ...ได้จากนักนิยมพระเครื่องอาวุโสของเมืองเพชรบุรีท่านหนึ่ง ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น จำนวนที่ได้มามีเพียงไม่กี่เหรียญ (น่าจะไม่เกิน ๒๐ เหรียญ) หากท่านใดสนใจอยากได้ไว้บูชา อุทยานพระเครื่อง โดย... ชายนำ ภาววิมล ... ยินดีแบ่งปันให้ท่านไปสักการะบูชาในอัตราเหรียญละ ๒๕๐ บาท (สองร้อยห้าสิบบาทบาทถ้วน) สนนราคานี้รวมค่าจัดส่งแล้ว โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารกสิกรไทย สาขาศาลายา ในนามของผู้เรียบเรียง เลขบัญชี ๕๗๘ - ๒ - ๒๔๕๖๘ - ๘ ส่งสำเนาการโอนและแจ้งที่อยู่ทางไลน์ตามหมายเลขโทรศัพท์ ๐๘๑ - ๙๑๒ - ๗๘๙๙ (จัดส่งทาง EMS ในวันถัดไป) การแบ่งปันนี้ไม่มีบริการเก็บเงินปลายทาง..ครับ เพราะไม่ได้ทำเป็นอาชีพ แต่เป็นงานอดิเรกที่ชอบ
ข้อมูลจากนิตยสารพระเครื่องพระเกจิ ฉบับที่ ๓๕๔ ปีที่ ๒๙ เดือนตุลาคม ๒๕๖๕ หน้า ๔๘ ข ๔๙