แชร์

เหรียญที่ระลึก ร.๕ สถาปนาคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ปีที่ ๕๐

อัพเดทล่าสุด: 21 ธ.ค. 2024
41 ผู้เข้าชม

เหรียญที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รุ่นครบรอบ ๕๐ ปีสถาปนาคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

        พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตราธิราชผู้สรรค์สร้างคุณูปการให้แก่สยามประเทศอย่างหาที่สุดมิได้ ความเจริญก้าวหน้าด้านต่าง ๆ ที่ส่งต่อมาถึงยุคสมัยปัจจุบัน ล้วนเป็นรากฐานที่พระองค์ท่านทรงจัดวางไว้ด้วยพระเนตรอันยาวไกล ในแวดวงประณีตศิลป์ (Fine Arts) พระบรมฉายาลักษณ์พระบาท สมเด็จพระปิยะมหาราช เป็นทั้งประติมากรรม จิตรกรรม และเหรียญที่ระลึกอันทรงคุณค่ายิ่ง โดยเฉพาะเหรียญที่ระลึกรุ่นต่าง ๆ ที่รังสรรค์ขึ้นในรัชสมัยพระองค์ท่าน แม้ใกาลสมัยต่อมา ก็มีการรังสรรค์ประณีตศิลป์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระองค์ท่านเป็นอันมาก และหนึ่งในนั้นคือ "พระบรมรูปและเหรียญที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครบรอบสถาปนาคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีที่ ๕๐ พุทธศักราช ๒๕๔๑"

        พระบรมรูปและเหรียญที่ระลึกฯ รุ่นนี้ เป็นงานวิจิตรศิลป์ซึ่งคณะรัฐศาสตร์ร่วมกับสมาคมศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับพระบรมราชานุญาตให้จัดสร้างขึ้น (หนังสือที่ รล ๐๐๐๓/๑๓๔๐๓ ลงวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๔๐ และ รล ๐๐๐๓/๑๗๙๔๔ ลงวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๐) เพื่อตั้งกองทุนพัฒนารัฐศาสตร์ มีวัตถุประสงค์ในการนำเงินกองทุนมาส่งเสริมด้านการวิจัย การพัฒนาในทางวิชาการ เพิ่มคุณภาพอาจารย์และนิสิต บูรณะซ่อมแซมอาคารเรียนให้ทันสมัย พระบรมรูปที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระบรมราชานุญาติให้จัดสร้างคือ พระบรมรูปจำลองพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว ขนาดสูง ๑๐ นิ้ว ทรงครุย Doctor of Law Gown. มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เนื้อทองสัมฤทธิ์เคลือบสีเขียวฟองดูรีล์แบบยุโรป และเหรียญที่ระลึกในกรอบเหรียญกลมทรงสูทลักษณะเดียวกับพระบรมรูปจำลอง ฝีมือช่างกองกษาปน์ สำหรับจำนวนการสร้างที่ได้รับพระบรมราชานุญาติ มีดังนี้ พระบรมรูปจำลอง ขนาด ๑๐ นิ้ว จำนวน ๕,๐๐๐ องค์ (ทำจริงไม่ถึง), เหรียญทองคำ ๑๕๐ เหรียญ (ทำตามจำนวนจอง ไม่ถึง ๑๕๐ เหรียญ), เหรียญเงิน ๒,๕๔๑ เหรียญ, เหรียญทองแดง ๕๐๐๐ เหรียญ

        ด้านพิธีกรรม สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานทรงเททองหล่อพระบรมรูปจำลองพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พลับพลาพิธี สนามฟุตบอลคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันพุธที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ เวลา ๑๗ นาฬิกา ๑๕ นาที จากนั้น ได้ทำพิธีชัยมังคลาภิเษกพระบรมรูปและเหรียญที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว บำเพ็ญกุศลเนื่องในโอกาสคณะรัฐศาสตร์ ครบรอบสถาปนาปีที่ ๕๐ ในปี ๒๕๔๑ ณ ห้องพิธีสมาคมนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันเสาร์ที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๔๑ โดยมีพระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ (ชวิน รังสิพราหมณกุล) หรือพระครูวามเทพมุนี ในขณะนั้นเป็นเจ้าพิธี พระมหาเถรและพระเกจิอาจารย์ที่มาร่วมในพิธี ฯ ประกอบด้วย

             ๑)  สมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง
             ๒)  พระคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร วัดโพธิ์แมนคุณาราม เจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย
             ๓)  พระคณานัมธรรมปัญญาธิวัตร วัดกุศลสมาคร เจ้าคณะใหญ่อานัมนิกาย
             ๔)  พระราชอุดมมงคล (หลวงพ่ออุตตมะ) วัดวังก์วิเวการาม กาญจนบุรี
             ๕)  พระมงคลสิทธิคุณ (หลวงพ่อลำใย) วัดทุ่งลาดหน้า กาญจนบุรี
             ๖)  พระครูวิมลญาณอุดม (พระอาจารย์ชินเทพ) วัดสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร
             ๗)  พระครูสมุห์อวยพร ฐิตญาโณ วัดดอนยายหอม นครปฐม
             ๘)  พระครูปุริมานุรักษ์ (หลวงพ่อพูล) วัดไผ่ล้อม นครปฐม
             ๙)  พระครูประยุตนวการ (หลวงพ่อแย้ม) วัดสามง่าม นครปฐม
           ๑๐)  พระครูพัฒนาภินันท์ (หลวงพ่อแกละ) วัดลำลูกบัว นครปฐม
           ๑๑)  พระครูจันทสโรภาส (เพชร จนฺทวํโส) วัดบ้านกรับ กาญจนบุรี
           ๑๒)  พระครูอนุรักษ์วรคุณ (หลวงพ่อสง่า) วัดหนองม่วง ราชบุรี
           ๑๓)  พระอาจารย์สิริ วัดตาล นนทบุรี
           ๑๔)  พระครูวินัยวัชรกิจ (อุ้น สุขกาโม) วัดตาลกง
           ๑๕)  พระครูปลัดธงชัย (พระอาจารย์ต๊ะ) วัดช้าง นครนายก
           ๑๖) พระครูนนทสิทธิการ (ประสิทธิ์ สิทธิกาโร) วัดไทรน้อย นนทบุรี

       ประธานจุดเทียนชัย: สมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ประธานดับเทียนชัย: พระอุดมญาณโมลี วัดสัมพันธวงศ์ เจ้าคณะภาค ๑๑ (ธรรมยุต) พระพิธีธรรม: คณะ ๗ วัดชนะสงคราม จำนวน ๔ รูป พระสงฆ์เจริญพุทธมนต์: วัดสัมพันธวงศ์ จำนวน ๙ รูป

       หากกล่าวถึงคุณค่าของการสะสมเหรียญที่ระลึกเชิงอนุรักษ์ เหรียญพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รุ่นสถาปนาคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีที่ ๕๐ เป็นเหรียญพระบรมรูปจำลองฯ ที่ควรค่าแก่การสะสมอีกอีกเหรียญหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของงานในสกุลช่างกษาปน์ เจตนาการสร้างที่มีการขอพระบรมราชานุญาติถูกต้องตามกฏหมาย ความน่าเชื่อถือของสถาบันผู้จัดสร้างและพิธีกรรมที่สมฐานะของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เรียบเรียงโดย: ชายนำ ภาววิมล / ๒๓ - ๑๐ - ๒๕๖๗


บทความที่เกี่ยวข้อง
ประวัติการสร้างและภาพเหรียญยอดพระปิดตายุคหลังกึ่งพุทธกาล
กรอบแนวคิดและประวัติความเป็นมาในการสร้างเหรียญยอดพระปิดตายุคหลังกึ่งพุทธกาล รวมทั้งภาพเหรียญทั้ง ๕ เนื้อที่จัดสร้างในคราวนี้
15 ม.ค. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy