ประวัติการสร้างและภาพเหรียญยอดพระปิดตายุคหลังกึ่งพุทธกาล
เหรียญยอดพระปิดตายุคหลังกึ่งพุทธกาล
โดย... ชายนำ ภาววิมล ...
เหรียญยอดพระปิดตายุคหลังกึ่งพุทธกาลเป็นพุทธศิลป์ตระกูลพระปิดตาที่ให้ความสำคัญยิ่งกับการกำหนดแนวคิด (Conceptual Designed) ด้วยการนำปริศนาธรรมสูงสุดและอานิสงค์ของการเจริญวิปัสสนากรรมฐานเพื่อความหลุดพ้น (พระนิพพาน) มาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการสร้างจินตภาพอันเป็นสัญญะ (ตัวแบบ) ที่สามารถสื่อความหมายของการปิดทวารทั้ง ๙ และ/หรือ อายตนะทั้ง ๕ ว่าเป็นการควบคุมตัวแปรภายนอก (External Control) เพื่อให้เกิดสมาธิและความสงบอันเป็นความพร้อมที่จะนำไปสู่การพิจารณาเรียนรู้และเป็นบ่อเกิดของปัญญาที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้น รวมทั้งอานิสงค์ของการเจริญวิปัสสนากรรมฐานทั้งในแง่วิมุตติสุขและพลานุภาพด้านการปกปักรักษาให้ผู้ปฏิบัติธรรมรอดพ้นจากภยันตรายนานัปการ เชื่อสืบต่อกันมาว่าบุคคลใดสามารถเข้าถึงนิโรธสมาบัติ อันตรายใด ๆ ก็มิอาจกล้ำกรายได้ ดั่งชาดกที่ว่า
"พระอรหันตสาวกรูปหนึ่งได้เข้าสู่นิโรธสมาบัติที่ริมสระน้ำแห่งหนึ่ง ขณะนั้น นางสนมของพระราชามาเล่นน้ำกันอย่างเพลิดเพลิน นานเข้ารู้สึกหนาวสั่น จึงพากันสุมไฟเพื่อให้เกิดความอบอุ่น เผอิญไฟลุกลามออกไปไกลและลามเลียกายพระอรหันตสาวกรูปนั้นจนดำดั่งตอตะโก ด้วยความตกใจและเกรงกลัวพระราชอาญา สนมนางในเหล่านั้นจึงร่วมด้วยช่วยกันหาฟืนมาสุมไฟเผาด้วยหวังจะทำลายหลักฐานคือร่างของพระอรหันต์รูปนั้น เมื่อครบ ๑๕ วัน พระอรหันต์สาวกออกจากสมาบัติโดยมิได้รับอันตรายใด ๆ และออกบิณฑบาตตามปรกติ นางสนมเหล่านั้น รีบเข้ามาขออโหสิกรรมต่อความผิดที่ได้กระทำไว้"
ด้วยเหตุนี้ สีดำของพระปิดตาจึงเป็นปริศนาธรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงอานิสงค์ประการหนึ่งที่พึงได้รับจากการปฏิบัติขั้นสูง แล้วนำไปสู่การโจทย์ที่ส่งต่อไปยังจิตรกรชั้นครูเพื่อรังสรรค์ภาพต้นแบบตามองค์ประกอบของจินตภาพดังนี้
"พระปิดตามหาอุตม์แบบนั่งสมาธิเพชร ปิดทวารทั้งเก้า องค์พระปิดตาลักษณะกลมอ้วนแลคล้ายภาพของเทพที่แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ เค้าหน้ายิ้มแย้มตามแบบคนที่มีความสุขสงบ ผิวกายสีดำแดงหรือสีคล้ำ (แบบผิวพรรณของคนอินเดียตอนใต้) สวมใส่จีวรสีเหลืองทอง รอบองค์พระปิดตาเป็นแสงรัศมีที่เปรียบเสมือนเกราะป้องกันภัยต่าง ๆ นานา องค์ประกอบอื่น ๆ ของภาพ ควรจะเป็นการสื่อให้เห็นถึงความสงบ หยุดนิ่ง ท่ามกลางสิ่งเร้าภายนอกที่จะเข้ามากระทบ อาจจะสะท้อนออกมาในรูปของกองไฟที่รายล้อมด้วยกองกิเลสทั้งปวง อาทิ รูป รส กลิ่น เสียง รายละเอียดสุดแล้วแต่จิตรกรจะจินตนาการ (ปกหน้าด้านในหนังสือ ๘๐ ยอดพระปิดตายุคหลังกึ่งพุทธกาล)"
โจทย์ดังกล่าว เป็นเพียงกรอบแนวคิดเบื้องต้นที่ให้เกียรติและให้อิสระจิตรกรในการรังสรรค์ภาพตามที่พิจารณาเห็นสมควร ขอให้ได้กรอบใหญ่ส่วนรายละเอียดที่เป็นนามธรรม ก็ปล่อยผ่านได้ จินตภาพต้นแบบที่ได้นำไปสู่การออกแบบปก"หนังสือ ๘๐ ยอดพระปิดตายุคหลังกึ่งพุทธกาล" ในปี ๒๕๔๒, ล็อกเก็ตพระปิดตาครูบาชัยยะวงศาฯ จนฺทวํโส วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ต.นาทราย อ.ลี้ จ.ลำพูน (คุณนัดดา เศรษฐบุตร ขออนุญาตนำภาพไปสร้างล็อกเก็ตในปลายปี ๒๕๔๒), เหรียญยอดพระปิดตายุคหลังกึ่งพุทธกาล เพื่อสมนาคุณแก่ผู้ซื้อหนังสือ ๘๐ ยอดพระปิดตายุคหลังกึ่งพุทธกาลในปี ๒๕๔๔
เหรียญยอดพระปิดตายุคหลังกึ่งพุทธกาล เป็นเหรียญพุทธศิลป์ในตระกูลพระปิดตาที่สร้างพร้อมกับ เหรียญพระแก้วมรกตรุ่นมูลนิธิ ๑๐๐ ปี รัฐประศาสนศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปลายปี ๒๕๔๔ เหรียญพระแก้วมรกตรุ่นนี้ รศ. ดร. ดำรง วัฒนา ประธานมูลนิธิฯ ในขณะนั้น ดำริให้จัดสร้างเพื่อมอบให้เป็นที่ระลึกแก่ผู้มีอุปการคุณ และ/หรือ ผู้ที่มีส่วนช่วยเหลืองานของทางมูลนิธิ ฯ เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่พุทธศักราช ๒๕๔๕ มิได้มีเจตนาหรือโครงการที่จะจัดจำหน่ายหรือหารายได้ใด ๆ ทั้งสิ้น. ส่วนเหรียญยอดพระปิดตายุคกึ่งพุทธกาลที่สร้างขึ้นในเวลาเดียวกัน ก็มีจุดมุ่งหมายขณะจัดสร้างในลักษณะเดียวกันคือเพื่อสมนาคุณแก่ผู้มีอุปการคุณ
ลักษณะ เป็นเหรียญรูปไข่ขนาด ด้านหน้าเป็นภาพพระปิดตาในลักษณะเดียวกับหน้าปกหนังสือ ๘๐ ยอดพระปิดตาหลังกึ่งพุทธกาล ใต้ภาพเป็นสัญลักษณ์ดอกบัวตูม ๙ กลีบซึ่งดัดแปลงมาจาก ยันต์บัวแก้วนวหรคุณ ตรงกลางดอกบัวเป็นอุณาโลม ขนาบข้างดอกบัวด้วยอุณาโลม ด้านหลังประทับด้วยยันต์พระภควัมปติ ตามรูปยันต์ที่จัดวางในปกหลังหนังสือ ๘๐ ยอพระปิดตายุคหลังกึ่งพุทธกาล
ขนาด กว้าง ๒.๒๕ เซนติเมตร ยาว ๒.๗ เซนติเมตร หนา ๐.๑๗ เซนติเมตร
เนื้อหาและจำนวนการสร้าง มี ๕ เนื้อหา จำนวนการสร้างรวม เหรียญ ดังนี้
๑) ทองคำลงยา ๕ เหรียญ
๒) เงินลงยา ๑๐๐ เหรียญ
๓) นวโลหะ ๑๐๐ เหรียญ
๔) อัลปากา ๒๐๐ เหรียญ
๕) ทองแดงกาไหล่ทอง ๒,๐๐๐ เหรียญ
พิธีกรรม นำไปขอความเมตตาจากพระเถระและพระเกจิอาจารย์ ๕ รูปอธิษฐานจิตแผ่เมตตาพร้อมกับเหรียญพระแก้วมรกต รุ่น ๑๐๐ ปี รัฐประศาสนศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เนื่องจากเหรียญยอดพระปิดตายุคหลังกึ่งพุทธกาล เสร็จช้ากว่าเหรียญพระแก้วมรกต จึงมิได้นำไปให้ พระครูสมุห์อวยพร ฐิตญาโณ วัดดอนยายหอม นครปฐม, หลวงพ่อพูล วัดไผ่ล้อม, พระอาจารย์เจือ วัดกลางบางแก้ว อธิษฐานจิตแผ่เมตตาพร้อมกับเหรียญพระแก้วมรกต) พระเถระและพระเกจิอาจารย์ ๕ รูปที่อธิษฐานจิตแผ่เมตตาฯ ประกอบด้วย
๑) พระวิสุทธาธิบดี (วีระ ภทฺทจารี) วัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพมหานคร
๒) พระพรหมวชิรญาณ (ปสฤทธิ์ เขมํกโร) วัดยานนาวา กรุงเทพมหานคร
๓) พระเทพไตรโลกาจารย์ (ทองใส กตฺธุโร) วัดนิเวศธรรมประวัติ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา
๔) พระพุทธวงศ์มุนี (บุญมา ธีปธมฺโท) วัดจักรวรรดิราชาวาส กรุงเทพมหานคร
๕) พระอาจารย์ถนอม ธมฺมฐิติ วัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพมหานคร
ผู้มีส่วนร่วมสำคัญในการรังสรรค์เหรียญยอดพระปิดตายุคหลังกึ่งพุทธกาล
๑) อาจารย์อนันต์ สวัสดิ์สวนีย์ ส่วนงานช่างสิบหมู่ สถาบันศิลปกรรม กรมศิลปากร ที่ปรึกษา
๒) อาจารย์นิคม พลเยี่ยม ส่วนงานช่างสิบหมู่ สถาบันศิลปกรรม กรมศิลปากร จิตรกร
๓) ชายนำ ภาววิมล กำหนดแนวคิดเบื้องต้น จัดทำหนังสือฯ และสร้างเหรียญ
๔) โสภณ ศรีรุ่งเรือง (ช่างตุ้ม) แกะแม่พิมพ์และอำนวยการผลิต
๕) ธนชัย สุวรรณวัฒนะ อดีตผู้อำนวยการสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ประสานงานในการนำเหรียญไปขอความเมตตาจากพระเถระผู้ใหม่ทั้ง ๕ รูป อธิษฐานจิตแผ่เมตตา
เหรียญยอดพระปิดตายุคหลังกึ่งพุทธกาลจัดเป็นเหรียญพุทธศิลป์ที่ให้ความสำคัญยิ่งกับการออกแบบที่มุ่งเน้นการสื่อความหมายอันเป็นปริศนาธรรมในพระพุทธศาสนาและสร้างสรรค์งานพุทธศิลป์บริสุทธิ์โดยมิได้มีส่วนใดที่เกี่ยวเนื่องกับลัทธิเทวนิยมมาเจือปน จุดมุ่งหมายของผู้สร้างคือต้องการฝากผลงานไง้ในแผ่นดิน
อุทยานพระเครื่อง โดย... ชายนำ ภาววิมล ...
(utthayanphra.com)
๓๐ - ๑๑ - ๒๕๖๗