พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ตำนานยอดพระเครื่องเมืองหลังสวน (๘/๒๔)
พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน : ตำนานยอดพระเครื่องเมืองหลังสวน (๘/๒๔)
โดย.......ชายนำ ภาววิมล.......
ยอดพระเครื่องเมืองหลังสวนที่พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ร่วมกับอาจารย์ชุม ไชยคีรี จัดสร้างขึ้นในปี ๒๕๑๑ มี ๒ วาระด้วยกันคือ วาระแรกที่เรียกกันว่าพิธีเสด็จกลับ ระหว่างกุมภาพันธ์ - มีนาคม ๒๕๑๑ และวาระที่ ๒ ในพรรษาหรือไตรมาส ปี ๒๕๑๑ คั่นกลางด้วยพิธีของวัดบ้านสวนที่เริ่มกดพิมพ์พระตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไปและจัดพิธีอธิษฐานจิตปลุกเสกโดยการชุมนุมพระเกจิอาจารย์สายเขาอ้ออีกครั้งหนึ่งในช่วงเดือนเมษายน พฤษภาคม ปี ๒๕๑๑ แม้ว่าพิธีกรรมทั้งสามวาระ จักมีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกัน แต่ก็มีหลักเกณฑ์บางประการที่สามารถจำแนกแยกแยะว่าเป็นพระของสำนักใดได้อย่างชัดแจ้ง ความสับสนและความคาดเคลื่อนในการเล่นหาพระเครื่องชุดนี้ ส่วนใหญ่อยู่ที่พระพิมพ์กำแพงนิ้วและพระพิมพ์ปิดตาเนื้อว่านที่มีวรรณะสีผิวใกล้เคียงกัน ผู้เรียบเรียงได้นำเสนอไปแล้วในนิตยสารพระเครื่องลานโพธิ์ ๒ ฉบับที่แล้ว ในลำดับต่อไป ก็เป็นสารัตถะของพระพิมพ์ต่างๆ ที่จัดสร้างในพรรษา ปี ๒๕๑๑
๕. พระรูปเหมือนหลวงพ่อแดง พุทโธ พิมพ์หลังเตารีด รุ่นไตรมาส ๒๕๑๑ เนื้อสัมฤทธิ์
ระหว่างการดำเนินงานจัดสร้างพระเครื่องชุดหลวงพ่อแดง พุทโธ วัดถ้ำเขาเงิน และพระเครื่องชุดพระอาจารย์ทองเฒ่าหรือสมภารนอโม วัดบ้านสวน บรรดาศิษย์สายเขาอ้อที่มาร่วมในพิธีกรรมของทั้งสองวัด เรียกร้องให้มีการสร้างพระเครื่องเนื้อสัมฤทธิ์ด้วย หลวงพ่อคง สิริมโต, พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม และอาจารย์ชุม ไชยคีรี ซึ่งเป็นแม่งานในการจัดสร้างพระเครื่องของทั้งสองสำนัก จึงร่วมกันสร้างพระเนื้อสัมฤทธิ์ขึ้นอีกวาระหนึ่ง พยานเอกสารที่ระบุไว้ในหนังสือ พระครูสังฆวิจารณ์ฉัตร์ทันต์บรรพต อาจารย์ผู้เฒ่า วัดเขาอ้อ หน้า ๔ - ๕ มีสาระสำคัญ ดังนี้
"คณะศิษย์ทางภาคใต้ขอร้องให้ทำพิธีสร้างรูปท่านอาจารย์เฒ่าเป็นเนื้อสัมฤทธิ์ ฉะนั้นในพรรษา ปี ๒๕๑๑ พระอาจารย์ให้ลงยันต์ในแผ่นทอง ๑,๐๐๐ กว่าดวง ปลุกเศกแล้วสร้างเป็นรูปอาจารย์เฒ่า นำมาเข้าพิธีปลุกเศก พุทธาพิเศก ณ พิธีถ้ำเขาเงิน อ.หลังสวน จ.ชุมพร ตลอดไตรมาศ ๓ เดือน ไว้แจกแก่คณะศิษย์ที่ช่วยหาทุนในการทำพิธี และช่วยเป็นค่าพาหนะในการเดินทางไปแจกทั่วประเทศ ตามคำข้อร้อง ๓,๐๐๐ องค์"
พระเครื่องเนื้อสัมฤทธิ์ที่จัดสร้างในคราวนี้ มี ๒ พิมพ์ คือ พระรูปเหมือนหลวงพ่อแดง พุทโธ และพระรูปเหมือนพระอาจารย์ทองเฒ่า พระเครื่องทั้งสองพิมพ์มีลักษณะคล้ายคลึงและใกล้เคียงกันมาก
ลักษณะ พระรูปเหมือนหลวงพ่อแดง พุทโธ เป็นพระเครื่องแบบหลังเตารีดขนาดเล็ก ด้านหน้าเป็นรูปหลวงพ่อแดง พุทโธ นั่งสมาธิราบ มือขวาซ้อนบนมือซ้าย ด้านล่างขององค์พระจารึกนามหลวงพ่อแดง พุทโธ เป็นตัวหนังสือนูน ด้านหลังประทับด้วยยันต์พุทโธ
เนื้อหา สร้างขึ้นจากเนื้อสัมฤทธิ์ที่มีส่วนผสมของแผ่นยันต์ ๑,๐๐๐ กว่าดวง
วรรณะ ออกไปทางสีดำสนิท
จำนวนการสร้าง ๓,๐๐๐ องค์
พิธีกรรม อธิษฐานจิตปลุกเสกโดยพระเกจิอาจารย์สายเขาอ้อที่ถ้ำเขาเงิน ตลอดพรรษาปี ๒๕๑๑
๖. พระรูปเหมือนหลวงพ่อแดง พุทโธ รุ่นไตรมาส ๒๕๑๑ เนื้อผง
ในพิธีไตรมาสมีการสร้างพระผงรูปเหมือนหลวงพ่อแดง พุทโธ ขึ้นอีกรุ่นหนึ่งและนำเข้าพิธีอธิฐานจิตปลุกเสกตลอดพรรษาปี ๒๕๑๑ พร้อมกับพระรูปเหมือนหลวงพ่อแดง พุทโธ และ พระรูปเหมือนพระอาจารย์ทองเฒ่าเนื้อสัมฤทธิ์ พระผงรูปเหมือนหลวงพ่อแดง พุทโธ รุ่นนี้ อาจารย์ชุม ไชยคีรี บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรว่าเป็นพระรูปเหมือนหลวงพ่อแดง พุทโธ รุ่น ๒ มี ๒ พิมพ์ด้วยกัน คือ
๖.๑ พระผงรูปเหมือนหลวงพ่อแดง พุทโธ พิมพ์ใหญ่ พระพิมพ์นี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับพระรูปเหมือนหลวงพ่อแดง พุทโธ รุ่นแรกที่จัดสร้างในพิธีเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม ๒๕๑๑ สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นจากแม่พิมพ์ชุดเดียวกัน ความแตกต่างจึงอยู่ที่เนื้อหามวลสารเป็นหลัก เท่าที่เคยพบเห็นพระผงรูปเหมือนหลวงพ่อแดง พุทโธ ชุดนี้ส่วนใหญ่ที่พบเห็นเป็นเนื้อว่านผสมผงวิเศษต่าง ๆ กับเนื้อผงพุทธคุณ ขนาดองค์พระ กว้างประมาณ ๒.๐ เซนติเมตร สูงประมาณ ๒.๙ เซนติเมตร
๖.๒ พระผงรูปเหมือนหลวงพ่อแดง พุทโธ พิมพ์เล็ก ลักษณะคล้ายพระหลวงพ่อแดง พุทโธ เนื้อสัมฤทธิ์ ด้านหลังประทับด้วยยันต์พุทโธในลักษณะยันต์จม องค์พระกว้างประมาณ ๑.๘ เซนติเมตร สูงประมาณ ๒.๕ เซนติเมตร
วรรณะ มีทั้งสีแดงอมชมพูคล้ายสีอิฐ (แก่ผงว่านชุดพระหลวงพ่อแดง พุทโธ รุ่นแรก) และสีขาว
เนื้อหามวลสาร สันนิษฐานว่าน่าจะใช้เนื้อหามวลสารชุดเดียวกับพระกำแพงนิ้วหลังเรียบเนื้อผงพุทธคุณและพระสีวลี
พิธีกรรม อธิษฐานจิตปลุกเสกโดยพระเกจิอาจารย์สายเขาอ้อที่ถ้ำเขาเงิน ตลอดพรรษาปี ๒๕๑๑
๗. พระสีวลี รุ่นไตรมาส ๒๕๑๑ เนื้อว่านมหาลาภมหานิยม
ในหนังสือ"พระครูสังฆวิจารณ์ ฉัตร์ทันต์บรรพต อาจารย์ผู้เฒ่า วัดเขาอ้อ" กล่าวถึงประวัติความเป็นมาในการจัดสร้างพระสีวลีดังนี้ พระสีวลีเถระเจ้า เนื้อว่านมหาลาภมหานิยม พระสีวลีเถรเจ้าเป็นพระอรหันต์พระองค์เดียวที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเลิศด้วยลาภยิ่งกว่าพระสาวกทั้งปวง ในครั้งพุทธกาล แม้พระพุทธองค์ก็ยังทรงพึ่งพระสีวลีด้วยลาภในคราวที่จำเป็น เช่นในคราวที่นำพุทธบริวารเสด็จไปในทางทุระกันดาร ทั้งเป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายด้วย
ลักษณะ ด้านหน้าเป็นพระสีวลีในกรอบพิมพ์แบบใบหอก องค์พระสีวลีเป็นแบบพระธุดงค์ยืนบนฐานเขียง มือซ้ายถือกรด และสะพายบาตร มือขวาถือไม้เท้า ด้านหลังประทับด้วยพระคาถาพระสีวลี คือ นะ ชา ลี ติ
ขนาด กว้างประมาณ ๑.๒ เซนติเมตร (วัดจากส่วนที่กว้างที่สุดขององค์พระ) สูงประมาณ ๒.๙๕ เซนติเมตร
วรรณะสีผิว เนื้อค่อนข้างหยาบ หนึกแน่น สีออกควันบุหรี่ มีมวลสารต่างๆ ปรากฏให้เห็นประปราย
เนื้อหามวลสาร ประกอบด้วย เนื้อว่านเฉพาะที่เป็นลาภและเป็นมหานิยม เช่น ว่านเศรษฐี ว่านมหาเศรษฐี ว่านเงิน ว่านทองคำ ว่านขอลาภ ว่านขอเงิน ว่านขอทอง ว่านนางกวัก ว่านนางล้อม ว่านนางคุ่ม ว่านพระนางมาควดี ว่านโปยเซีย ว่านโปยตัน ว่านเสน่ห์จันทร์แดงหอม เสน่ห์จันทร์แดงขาว ว่านกุมาทอง ว่านแม่กล่อมลูก ยอดรัก ยอดสวาท ยอดกาหลง ผงอิทธิเจ ผงนะปะฐะมัง ดินยอดภูเขามงคลนาม ๙ ยอด ดินจอมปลวก ๙ จอม ดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมและจันทร์หอม
จำนวนการสร้าง ยังไม่พบพยานเอกสารใดที่ระบุจำนวนการสร้างอย่างชัดเจน ข้อมูลที่พบมีเฉพาะประเภทที่สร้าง ประกอบด้วย เนื้อธรรมดา ยกครู ๑๐ บาท ปิดทอง ยกครู ๑๕ บาท และหน้าทองคำ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ยกครู ๕๙ บาท
พิธีกรรม อธิษฐานจิตปลุกเสกโดยพระเกจิอาจารย์สายเขาอ้อที่ถ้ำเขาเงิน ตลอดพรรษาปี ๒๕๑๑
การบูชา เป็นพระพิมพ์เดียวที่มีการระบุวิธีการบูชาโดยระบุว่า "ทำพิธีจริงตามตำรา รับรองว่าได้ผลจริง แต่ขอให้ท่านเอาความเชื่อความสัตย์ของท่านเป็นประกัน ท่านจะเจริญด้วยโชคลาภเป็นอัศจรรย์ ทั้งให้บูชาด้วยดอกไม้และธูปเทียน หรือผลไม้ คาถาบูชาประจำบ้านว่าดังนี้ สิวลี จ มหาเถโร เทวตานรปูชิโต โสรโห ปัจยาทิมหิ มหาลาภัง ภวันตุเม ลาเภนอุตโม โหติ โสรโห ปัจยาทิเมหิ มหาลาภัง สทาโสตถี ภวันตุเม บูชาติดตัวไปติดต่อค้าขายหรือกำลังขายของ ภาวนาว่า นะ ชา ลิ ติ เป็นประจำ"
๘. เหรียญกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ รุ่นไตรมาส ปี ๒๕๑๑
เหรียญกรมหลวงชุมพรเขตต์อุดมศักดิ์ รุ่นไตรมาส ปี ๒๕๑๑ ดูเสมือนเป็นพระชุดเอกในพิธีไตรมาส ปี ๒๕๑๑ ในหนังสือ พระครูสังฆวิจารณ์ ฉัตร์ทันต์บรรพต อาจารย์ผู้เฒ่า วัดเขาอ้อ หน้า ๕๔ - ๕๕ กล่าวถึงเหรียญรุ่นนี้ว่า "เหรียญพระรูปเสด็จกรมหลวงชุมพรเขตต์อุดมศักดิ์ ซึ่งได้รวมพระอาจารย์ ๑๐๘ และเชิญพระวิญญาณเสด็จในกรม เข้าประทับทรงเขียนยันต์ตามตำราของพระองค์ลงในแผ่นทอง ทำเป็นพระรูป ปลุกเศกตลอดไตรมาศ ๓ เดือน ณ พิธีถ้ำเขาเงิน อ.หลังสวน จ.ชุมพร พรรษาปี ๒๕๑๑" พร้อมกับสร้างรูปหลวงพ่อแดง พุทโธ รุ่น ๒ ในหนังสือดังกล่าว มีการนำเสนอภาพเหรียญกรมหลวงชุมพรเขตต์อุดมศักดิ์ ๒ พิมพ์ คือ เหรียญกลม และเหรียญรูปไข่แบบเหรียญหัวแหวน
๘.๑ เหรียญกรมหลวงชุมพรเขตต์อุดมศักดิ์ แบบกลม
ลักษณะ ด้านหน้าเป็นพระรูปกรมหลวงชุมพรเขตต์อุดมศักดิ์ในฉลองพระองค์นายพลเรือแบบครึ่งองค์ ด้านบนของพระรูป ฯ เป็นอักษร ๒ แถว แถวบนสุดจารึกนาม "พลเรือเอกกรมหลวงชุมพรเขตต์อุดมศักดิ์" ถัดลงมาทางขวาของเหรียญจารึกบารมีกันภัย ด้านซ้ายของเหรียญผู้รักชาติ ด้านล่าง อักษรแถวในจารึกยันต์ ๑๐๘ พระอาจารย์ ๑๐๘ ตลอดไตรมาส และอักษรแถวล่างสุด ณ ถ้ำเขาเงิน อ.หลังสวน ๒๕๑๑ ด้านหลังประทับด้วยยันต์สามชุด ตรงกลางเป็นวงกลมสามวง ในวงกลมเป็นตัว อะ กับ อุณาโลม ล้อมด้วยยันต์ใบพัดจารึกพระคาถา อรหัง ทั้งสี่ด้าน อักขระขอมรอบนอกเป็นพระคาถา สุคโต ภควา
ขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ ๒.๘ เซนติเมตร
เนื้อหา ส่วนใหญ่เป็นเนื้อทองแดงรมดำ กาหลั่ยทองก็มีเช่นกัน
พิธีกรรม อธิษฐานจิตปลุกเสกโดยพระเกจิอาจารย์สายเขาอ้อที่ถ้ำเขาเงิน ตลอดพรรษาปี ๒๕๑๑
๘.๒ เหรียญเม็ดแตง กรมหลวงชุมพรเขตต์อุดมศักดิ์
ลักษณะ เป็นเหรียญรูปไข่ขนาดเล็กที่เรียกกันว่า"เหรียญเม็ดแตง" ด้านหน้าเป็นรูปกรมหลวงชุมพรเขตต์อุดมศักดิ์ในฉลองพระองค์แบบนายพลเรือ ด้านหลังประทับด้วยอักขระขอม อะ และ อุณาโลม ในวงกลมสองวง
ขนาด กว้าง ๑.๒ เซนติเมตร สูง ๑.๗ เซนติเมตร
เนื้อหา อัลปากา
พิธีกรรม อธิษฐานจิตปลุกเสกโดยพระเกจิอาจารย์สายเขาอ้อที่ถ้ำเขาเงิน ตลอดพรรษาปี ๒๕๑๑
๙. พระพิมพ์สมเด็จเนื้อผงดำ
พระพิมพ์สมเด็จเนื้อผงดำพิมพ์นี้เป็นพระพิมพ์สมเด็จที่ผู้เรียบเรียงได้รับจากพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ช่วงหลังปี ๒๕๓๖ ส่วนจะเป็นปีใดนั้นจำได้ไม่แน่ชัด ตอนแรกเคยตั้งข้อสังเกตว่า"พระพิมพ์สมเด็จเนื้อผงดำพิมพ์นี้ เป็นพระที่มีลูกศิษย์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งนำมาถวาย จึงไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก" จากภาพพระสมเด็จที่หนังสือเล่มหนึ่งระบุว่าเป็นพระสมเด็จกรุถ้ำเขาเงิน พระพิมพ์สมเด็จเหล่านั้น ดูอย่างไรใจก็ไม่รับ แต่เมื่อพิจารณาลักษณะทางกายภาพ เนื้อหามวลสาร ความแห้งและคราบไขของพระพิมพ์สมเด็จเนื้อผงดำ จำนวน ๒ องค์ ที่ได้รับจากมือพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ดังกล่าว ก็มีความโน้มเอียงที่จะเชื่อว่าพระพิมพ์สมเด็จเนื้อผงดำนี้เป็นพระพิมพ์สมเด็จที่พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม จัดสร้างขึ้นในปี ๒๕๑๑ แต่ไม่มีพยานหลักฐานที่นำมาอ้างอิงได้ว่าประวัติความเป็นมาของพระพิมพ์สมเด็จชุดนี้เป็นอย่างไรกันแน่ อาศัยคำบอกเล่าของนักนิยมพระเครื่องรุ่นใหม่ที่เสาะหาพระหลวงพ่อแดง พุทโธ ปี ๒๕๑๑ ตามบ้าน ก็ได้ข้อมูลว่าพระรูปเหมือนหลวงพ่อแดง พุทโธ มีเนื้อดำ แต่เมื่อซักไซ้หาข้อเท็จจริงก็ได้ความว่าเนื้อสีเข้มกว่าปกติ มิใช่ดำสนิทแบบพระพิมพ์สมเด็จทั้งสององค์นี้ จึงขอนำเสนอไว้เพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาค้นคว้าต่อไป
ลักษณะ เป็นพระพิมพ์สมเด็จฐานสามชั้น ขนาดเล็กกว่าพระพิมพ์สมเด็จทั่วไป หลังเรียบ
ขนาด กว้างประมาณ ๒.๑ เซนติเมตร สูงประมาณ ๓ เซนติเมตร
วรรณะสีผิว สีออกดำสนิท หากสัมผัสเหงื่อ จะออกมันวาว มีคราบไขขึ้นเบาๆ
เนื้อหามวลสาร บางกระแสระบุว่าเป็นเนื้อไม้พญางิ้วดำ เมื่อพิจารณาจากสภาพเนื้อหาที่ปรากฏมีข้อสรุป ๒ ประการคือ หากไม่ใช่เนื้อผงคลุกรัก ก็น่าจะเป็นเนื้อข้าวเหนียวดำซึ่งเป็นวิชาสำคัญของสำนักเขาอ้อ
จำนวนการสร้าง ยังไม่พบพยานหลักฐานใดที่ระบุจำนวนการสร้างที่แน่ชัด
พิธีกรรม หากมิใช่พระเครื่องชุดเดียวกับที่สร้างในพิธีไตรมาส ปี ๒๕๑๑ ก็พึงสันนิษฐานว่าอย่างน้อยต้องเป็นพระที่พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม อธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยว จากคำบอกเล่าของศิษย์คนหนึ่งที่ปรนนิบัติรับใช้ท่านเป็นประจำ ได้ความว่า "พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม มักอธิษฐานจิตปลุกเสกพระในช่วงเช้ามืดเป็นประจำ"
ยอดพระเครื่องเมืองหลังสวนในพิธีไตรมาส ปี ๒๕๑๑ ที่มีพยานหลักฐานสามารถอ้างอิงและยืนยันได้ก็มีดังที่นำเสนอมานี้ หากท่านใดมีข้อมูลหรือพยานหลักฐานเพิ่มเติม ผู้เรียบเรียงยินดีน้อมรับด้วยความขอบคุณยิ่ง
ติดตามเนื้อหาลำดับถัดไปในตอนที่ ๙
อุทยานพระเครื่อง โดย... ชายนำ ภาววิมล ... (utthayanphra.com)
๑๙ - ๑๑ - ๒๕๖๗