แชร์

พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ตำนานยอดพระเครื่องเมืองหลังสวน (๑๘/๒๔)

อัพเดทล่าสุด: 14 ม.ค. 2025
16 ผู้เข้าชม

พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน : ตำนานยอดพระเครื่องเมืองหลังสวน (๑๘/๒๔)

โดย....... ชายนำ ภาววิมล .......

            พิธีหล่อพระพุทธฐานธรรมหิรัญบรรพต พระประธานในพระอุโบสถหลังใหม่ของวัดถ้ำเขาเงิน เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๓ จัดว่าเป็นอีกหนึ่งในตำนานยอดพระเครื่องเมืองหลังสวน เมื่อได้ข้อสรุปเรียบร้อยแล้ว คุณคงศักดิ์ เทพทวีพิทักษ์, คุณสุธน ศรีหิรัญ และผู้เรียบเรียง เข้าไปขอพบพลตำรวจเอกมนัส ครุฑไชยันต์ ที่กรมตำรวจเพื่อเรียนเชิญไปเป็นประธานในพิธีเททองหล่อพระพุทธฐานธรรมหิรัญบรรพต เหตุที่เรียนเชิญพลตำรวจเอกมนัส ครุฑไชยันต์ เป็นประธานในพิธีเททองฯ ครั้งนี้ เนื่องมาจากพลตำรวจเอกมนัส ครุฑไชยันต์ เป็นนายกสมาคมชาวชุมพร ก่อนเดินทางไปขอพบ ทั้งสามคนที่พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม มอบหมาย ต่างก็ไม่มีความเชื่อมั่นว่าการเรียนเชิญฯ ครั้งนี้จักประสบความสำเร็จหรือไม่ เพราะไม่มีใครเคยรู้จักพลตำรวจเอกมนัส ครุฑไชยันต์ มาก่อน เมื่อได้พบและนำเรียนข้อมูลต่าง ๆ ให้พลเอกมนัส ครุฑไชยันต์ ทราบโดยละเอียด พละเอกมนัส ครุฑไชยันต์ รับปากด้วยความเต็มใจและให้ประสานกับนายเวรเรื่องกำหนดการเททองต่อไป

           จากนั้นการดำเนินงานต่าง ๆ เริ่มนับหนึ่งและมีความคืบหน้าอย่างรวดเร็ว จักพูดว่าไม่มีปัญหาอุปสรรคเลยก็ว่าได้ และหลายต่อหลายครั้ง ก็มีเหตุมหัศจรรย์ที่ทำให้เชื่อมั่นว่าถ้ำเขาเงินแห่งนี้เป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนาที่เต็มเปี่ยมด้วยแรงครู อำนาจบารมีของสรรพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายทั้งปวงในพระบวรพุทธศาสนาที่สถิตในสถานที่แห่งนี้ ประสบการณ์และปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในคราวนั้น นักนิยมพระเครื่องและศิษย์รุ่นหลังอาจไม่มีโอกาสได้ศึกษาค้นคว้าจากพยานเอกสารใด เพราะไม่มีการบันทึกไว้เหมือนดั่งครั้งที่อาจารย์ชุม ไชยคีรี และพระเกจิอาจารย์สายเขาอ้อ ประกอบด้วย พระอาจารย์นำ แก้วจันทร์ วัดดอนศาลา, หลวงพ่อคง สิริมโต วัดบ้านสวน, หลวงพ่อหมุน ยสโร วัดเขาแดง และพระอาจารย์ปาล ปาลธมฺโม วัดเขาอ้อ มาร่วมจัดสร้างพระหลวงพ่อแดง พุทโธ ในปี ๒๕๑๑ การนำเสนอในนิตยสารพระเครื่องลานโพธิ์ ตอนที่ ๑๗ - ๑๘ เป็นส่วนหนึ่งของการนำเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยและเหตุการณ์จากความทรงจำในครั้งนั้น ความทรงจำของหนึ่งในสามคนที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการประสานงานจัดสร้างพระพุทธฐานหิรัญบรรพต มานำเสนอแบบเจาะลึกเพื่อเป็นข้อมูลให้คนรุ่นต่อไปได้ใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจเล่นหาหรือสะสมยอดพระเครื่องเมืองหลังสวนต่อไป ลำดับแรก ขอนำเสนอพระบูชาและพระเครื่องที่จัดสร้างในวาระนี้ ดังต่อไปนี้

           ๔.๑ พระร่วงโรจน์ฤทธิ์

           พระร่วงโรจนฤทธิ์เป็นพระพุทธรูปสำคัญที่หล่อเป็นพระนำฤกษ์ในพิธีเททองหล่อพระพุทธฐานหิรัญบรรพต พระประธานในอุโบสถหลังใหม่ โดยยึดคติการหล่อพระชัยหรือพระนำฤกษ์ มาใช้เป็นแนวคิดในการหล่อพระพุทธรูปมงคลนามเป็นปฐมฤกษ์ เหตุผลสำคัญที่นำพระร่วงโรจนฤทธิ์มาเป็นพระนำฤกษ์ประการหนึ่ง คือ พระร่วงโรจนฤทธิ์เป็นมงคลนามที่สื่อถึงความเจริญรุ่งเรือง เหตุผลรองคือทั้งคุณสุธน ศรีหิรัญ และผู้เรียบเรียงต่างก็เป็นคนเชื้อสายเมืองนครปฐม พระร่วงโรจนฤทธิ์ นี้หล่อขึ้นจากโลหะเบ้าเดียวกับพระพุทธฐานธรรมหิรัญบรรพต ความสูงประมาณ ๒๒ นิ้ว จำนวนการสร้างเพียง ๒ องค์

           เมื่อหลายปีก่อน มีนักธุรกิจพระเครื่องคนหนึ่งไปถามช่างสฤษดิ์ สามนกฤษณะ หรือช่างหริ ว่า ตอนที่เดินทางไปหล่อพระที่วัดถ้ำเขาเงิน มีการหล่อพระร่วงโรจนฤทธิ์หรือไม่ ช่างหริตอบไปตามตรงว่าไม่มีการหล่อพระบูชา นักธุรกิจพระเครื่องคนนั้นเที่ยวโพนทะนาบอกใครต่อใครว่า พระร่วงโรจนฤทธิ์ นี้ไม่มีการสร้างและไม่มีอยู่จริง การที่ช่างหริตอบไปเช่นนั้น เป็นการตอบตามความเป็นจริง ตอบเท่าที่ช่างหริรู้ แต่ข้อเท็จจริงคือ พระร่วงโรจนฤทธิ์ทั้งสององค์ เป็นพระนำฤกษ์พิธีหล่อพระพุทธฐานธรรมหิรัญบรรพต ในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๓ ช่างใหญ่ที่รับงานและควบคุมการหล่อ คือ ช่างถวิล ศรีอินทร์คำ ส่วนช่างหรินั้น เดินทางไปหล่อพระกริ่งปวเรศเขาเงินที่วัดถ้ำเขาเงิน ในวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๓๗ เวลาห่างกัน ๔ ปี และที่สำคัญยิ่งคือ ช่างหริเป็นช่างหล่อพระกริ่ง/พระเครื่องขนาดเล็ก มิใช่ช่างหล่อพระพุทธรูปบูชา ความเข้าใจคลาดเคลื่อนนี้ มิได้มีปัญหาจากผู้ตอบ แต่เป็นปัญหาอันเกิดจากตัวผู้สอบถามเองที่ไปถามช่างผิดคน ผิดยุคผิดสมัย และด่วนสรุปว่า พระโรจนฤทธิ์ นี้ ไม่มีอยู่จริง พระร่วงโรจนฤทธิ์ทั้งสององค์นี้ มิใช่พระบูชาที่สร้างขึ้นเพื่อหาปัจจัยสมทบทุนหล่อพระประธานและสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ แต่เป็นพระพุทธรูปบูชาที่สร้างขึ้นเป็นการเฉพาะบุคคลที่เป็นหลักในการประสานงานเพื่อให้การดำเนินงานนี้ สำเร็จลุล่วงไปตามความมุ่งมั่นของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ข้อมูลที่นำเสนอนี้ เป็นเพียงการบันทึกเสี้ยวหนึ่งของตำนานยอดพระเครื่องเมืองหลังสวนให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และพระร่วงโรจนฤทธิ์ทั้งสององค์นี้ ยังคงประดิษฐานเพื่อเป็นมิ่งขวัญของสุธน ศรีหิรัญ และผู้เรียบเรียงไปอีกนานแสนนาน

            ๔.๒ พระพุทธฐานธรรมหิรัญบรรพต ขนาดหน้าตัก ๙ นิ้ว

             ป็นพระพุทธรูปบูชาที่ปั้นหุ่น เททองหล่อขึ้นก่อนพิธีเททองหล่อพระประธาน ทั้งเป็นต้นแบบในการปั้นหุ่นพระพุทธฐานธรรมหิรัญบรรพต ลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางประทานพรแบบนั่งขัดสมาธิเพชรศิลปะศรีวิชัย ฐานบัวสองชั้น ด้านหน้าของฐานเขียงแกะสลักอักษรสองแถว แถวบน พระพุทธฐานธรรมหิรัญบรรพต แถวที่สอง วัดถ้ำเขาเงิน ชุมพร พ.ศ.๒๕๓๓ พระบูชารุ่นนี้ มีจำนวนการสร้าง ๙๙ องค์ มีทั้งลงรักปิดทองและรมดำ

          ๔.๓ เหรียญพระพุทธฐานธรรมหิรัญบรรพต รุ่นแรก

            ลักษณะเป็นเหรียญหยดน้ำสอบเข้าด้านละสองหยัก ด้านหน้าเป็นรูปพระพุทธฐานธรรมหิรัญบรรพต ขอบเหรียญเป็นแบบสองขอบและขอบด้านล่างแกะเป็นลายเส้นแบบลายไทย ใต้ฐานองค์พระจารึกชื่อ "พระพุทธฐานธรรมหิรัญบรรพต" ด้านหลังประทับด้วยยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ และหัวใจพระคาถา๒ บท คือ มะอะอุ และ อิสวาสุ ใต้ยันต์จารึกชื่อวัดและปีที่สร้าง คือ วัดถ้ำเขาเงิน ๓๓ เหรียญพระพุทธฐานธรรมหิรัญบรรพต รุ่นแรก มี ๓ เนื้อด้วยกัน คือ เหรียญทองคำ ๑๙ เหรียญ เหรียญเงิน ๑๐๘ เหรียญ และทองแดงจ่าเงา ๕,๐๐๐ เหรียญ

           ๔.๔ พระพุทธฐานธรรมหิรัญบรรพต เนื้อผง รุ่นแรก

           ลักษณะเป็นพระผงในกรอบสี่เหลี่ยมขนาดใกล้เคียงกับพระของขวัญวัดปากน้ำรุ่นสี่ ด้านหน้าเป็นรูปพระพุทธฐานหิรัญบรรพตประทับนั่งในซุ้มกลีบบัว พื้นหลังในซุ้มกลีบบัวเป็นแอ่งจมลึกลงไป องค์พระเป็นแบบศิลปะนูนสูง ด้านหลังประทับด้วยยันต์ในลักษณะเดียวกับยันต์หลังเหรียญ วรรณะสีผิวออกขาว มีมวลสารปรากฏให้เห็นประปราย มวลสารหลักที่ใช้ในการสร้างขึ้นพระพุทธฐานธรรมหิรัญบรรพตจัดว่าเป็นผงสำคัญของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม อีกอย่างหนึ่ง คือ ผงนอโมเข้าห้อง เหตุที่ลูกศิษย์ลูกหาและนักนิยมพระเครื่องส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จักและคุ้นเคยกับผงนอโมเข้าห้อง มิใช่ว่าผงนี้ด้อยกว่าผงใต้ดาน ผงวิเศษทุกอย่างที่พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ลงมือเขียนผงลบผงด้วยตนเอง ดีเหมือนกันหมด หากจะมีความแตกต่างกันบ้าง ก็คงต้องบอกกล่าวไปตามความเป็นจริงว่าเป็นไปตามอุปเท่ห์ของการทำผงแต่ละชนิด ส่วนอื่นการรับรู้ของลูกศิษย์ลูกหาและนักนิยมพระเครื่องทั่วไป เป็นคนละประเด็น เป็นเพราะอิทธิพลของปลายปากกาของนักเขียนแต่ละคน
            การสร้างพระพุทธฐานธรรมหิรัญบรรพตเนื้อผงรุ่นแรก แม้นว่าเป็นการสร้างพระผงที่สำเร็จเรียบร้อยจากโรงงาน มีความสวยงามกว่าพระชุดหลวงพ่อแดง พุทโธ ที่พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม จัดสร้างขึ้นในปี ๒๕๑๑ แต่ก็เป็นพระผงที่มีความพิถีพิถันและเป็นพระผงที่พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ให้ความสำคัญมากอีกพิมพ์หนึ่ง ยังจำเหตุการณ์วันที่พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ฝากผงนอโมเข้าห้องมาให้ผู้เรียบเรียงได้โดยไม่ลืมเลือนว่า เช้าวันนั้น คุณคงศักดิ์ เทพทวีพิทักษ์ สั่งลูกน้องให้นำผงนอโมเข้าห้องที่จักนำมาเป็นส่วนผสมสำคัญในการสร้างพระพุทธฐานธรรมหิรัญบรรพตมาให้ที่ทำงาน ผงนอโมเข้าห้องที่นำมาให้อยู่ในถุงสีน้ำตาลรัดแน่นเหมือนถุงใส่แป้งข้าวจ้าวที่ทำขายกันในยุคสมัยนั้น น้ำหนักประมาณว่าน่าจะอยู่ที่สี่หรือห้ากิโลกรัม ตอนที่ได้รับผงนอโมเข้าจากลูกน้องของคุณคงศักดิ์ เทพทวีพิทักษ์ ถามว่าทำไมไม่นำไปให้คุณสุธน ศรีหิรัญ จะได้ไม่ต้องผ่านหลายมือ แต่ก็ไม่ได้คำตอบอะไร เลยนำห่อผงนอโมเข้าห้องนั้นไปวางไว้หลังรถโดยไม่ได้คิดว่าจะมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น
           เย็นวันนั้น ขับรถกลับบ้านตามปกติ เส้นทางที่ใช้คือไปตามถนนรัชดาภิเษกเวียนขวาเข้าถนนลาดพร้าวและใช้ทางลัดเข้าหลังมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทร์เกษมเพื่อไปออกซอยเสนานิคม ๑ จำได้ว่าเย็นวันนั้น ฝนตกหนักมากแต่ก็ไปได้เรื่อยๆ พอรถเลี้ยวเข้าซอยลัดที่จะไปออกซอยเสนานิคม ๑ น้ำท่วมหนักมาก ต้องขับรถช้าๆ ประคองไม่ให้เครื่องดับ กว่าจะไปถึงบ้านที่ลาดปลาเค้าใช้เวลานานมากกว่าปกติหลายสิบนาที ขณะขับรถนั้น ลืมไปว่านำผงนอโมเข้าห้องห่อนั้นไปไว้ท้ายรถ เมื่อถึงบ้านสำรวจตรวจสอบโดยละเอียดพบว่าน้ำซึมเข้ามาในตัวรถพอสมควร พอเปิดฝากระโปรงท้ายรถ ต้องพบเหตุมหัศจรรย์ที่ไม่เคยพบมาก่อน ห่อผงนอโมตั้งอยู่กลางห้องเก็บของท้ายรถ น้ำซึมเข้ามาเก็บเต็มห้องเก็บของ สภาพเปียกแฉะไปหมด เว้นแต่อาณาบริเวณโดยรอบห่อผงนอโมเข้าห้องรัศมีจากห่อฯ ประมาณ ๒ - ๓ นิ้ว ที่ไม่มีรอยเปียกน้ำเลย จะเป็นด้วยปาฏิหาริย์หรือน้ำยังซึมเข้ามาไม่ทั่วทั้งบริเวณ ก็สุดแล้วแต่มุมมองและวิจารณญาณของแต่ละท่าน แต่สำหรับผู้เรียบเรียง นี่คือเหตุการณ์ประทับใจอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ลืมยาก รายละเอียดปลีกย่อยอาจลืมได้ แต่ภาพใหญ่ไม่เคยลืมเลย แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า ๒๖ ปี
            พระพุทธรูปบูชา เหรียญ และพระผงชุดพระพุทธฐานธรรมหิรัญบรรพตรุ่นแรก นำเข้าพิธีพุทธาภิเษก ที่วัดถ้ำเขาเงิน ในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๓ โดยมีพระเกจิอาจารย์สายเขาอ้อที่มีชื่อเสียงเกียรติคุณโดดเด่นในยุคนั้นมาร่วมพิธีหลายรูป อาทิ พระครูกาชาด (บุญทอง เขมทตฺโต) วัดดอนศาลา, พระอาจารย์ศรีเงิน อาภาธโร วัดดอนศาลา, หลวงพ่อคล้อย อโนโม วัดภูเขาทอง, หลวงพ่อพรหม ขนฺติโก วัดบ้านสวน และพระเกจิอาจารย์ในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่เป็นสหธรรมิกของท่าน มาร่วมในพิธีพุทธาภิเษกครั้งนี้ แนวคิดหลักที่ใช้เป็นจุดขายทางการตลาดในการนิมนต์พระเกจิอาจารย์มาร่วมในพิธีพุทธาภิเษก คือ ๑. ศรีเงิน / บุญทอง และ ๒. เขาเงิน / เขาทอง
           ก่อนพิธีเททองหล่อพระพุทธฐานธรรมหิรัญบรรพต คุณคงศักดิ์ เทพทวีพิทักษ์, คุณสุธน ศรีหิรัญ,ผู้เรียบเรียง เดินทางไปวัดถ้ำเขาเงินก่อนวันงานสองวันเพื่อเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ เมื่อเข้าไปถึงวัดถ้ำเขาเงิน ช่างถวิล ศรีอินทร์คำ เข้ามาปรึกษาว่าฝนตกหนักมาสองวันและน้ำท่วมเต็มบริเวณลานที่จักทำพิธีเททองหล่อพระพุทธฐานธรรมหิรัญบรรพต หากเป็นเช่นนี้ คงเป็นอุปสรรคต่อการเททองฯ ขอให้คุณสุธน ศรีหิรัญ เป็นธุระในการหารือกับพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ในการหารือกับพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ท่านมิได้กล่าว ถึงสิ่งใด มีเพียงเรื่องเดียวที่ท่านพูดคือให้ไปจุดธูปเทียนบอกกล่าวหลวงพ่อแดง พุทโธ ที่อาศรมซึ่งจัดสร้างขึ้นเมื่อปี ๒๕๑๑ พวกเราทั้งสามคนจึงถือโอกาสไปสักการะและอธิษฐานขอบารมีจากหลวงพ่อแดง พุทโธให้ฝนที่ตกหนักติดต่อกันมาหลายวัน หยุดตกเพื่อให้งานเททองฯ สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี พออธิษฐานขอพรเสร็จได้สักพักใหญ่ ฝนค่อย ๆ ซาลงไปเรื่อย ๆ แต่ก็ยังตกพรำ ๆ ตลอดเวลา น้ำที่ท่วมเต็มบริเวณก็ค่อย ๆ ลดลงไปเรื่อย ๆ เวลาในขณะนั้น ผู้เรียบเรียงไม่มีความมั่นใจอะไรเลยสักอย่าง ฝนยังไม่ยอมหยุด ท้องฟ้าก็ไม่เปิด ยังครึ้มฟ้าครึ้มฝนตลอดเวลา ปัจจัยที่รวบรวมมาได้ก็เพียงแสนกว่าบาท ขาดอีกสองแสนกว่าบาท ทั้งยังวิตกไปล่วงหน้าว่าหากประธานในพิธีเททองไม่มาจะแก้ปัญหาอย่างไร คิดไปเรื่อยเปื่อยตามประสาคนคิดมาก
            เช้าวันเททองหล่อพระพุทธฐานธรรมหิรัญบรรพต พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม เรียกพวกเราทั้งสามคนเข้าไปพบที่กุฏิหลังเดิมของท่าน บอกให้ไปจุดธูปบอกกล่าวหลวงพ่อแดง พุทโธ อีกครั้ง เมื่อจุดเสร็จแล้วให้จุดประทัดตามอีกหนึ่งชุด คราวนี้ ได้ผล ฝนที่ตกพรำ ๆ หยุดตกโดยสิ้นเชิง ลูกศิษย์ลูกหาคณะต่าง ๆ เริ่มเดินทางมาถึง บางคณะนุ่งขาวห่มขาวในคอห้อยพระปิดตามหาลาภองค์น้อยแบบยกทีม ทำเอาคนสร้างเป็นปลื้มไปเลย. ความวิตกกังวลที่มีมาแต่ต้นค่อย ๆ คลายลงไปเรื่อย ๆ และสบายใจมากยิ่งขึ้นเมื่อได้ข่าวว่าพลตำรวจมนัส ครุฑไชยันต์ จะเดินทางมาทางเฮลิคอปเตอร์ตามกำหนดเวลาที่วางไว้ และเดินทางมาพร้อมกับภรรยาของท่าน เมื่อพิธีกรรมเป็นไปตามแผนงานที่กำหนด ปัจจัยที่ได้จะเพียงพอหรือไม่ ให้ไปว่ากันภายหลัง ทำงานเฉพาะหน้าให้สำเร็จเสร็จสิ้นไปได้ด้วยดี ก็วิเศษแล้ว
            เมื่อได้ฤกษ์ รู้สึกปีติจนไม่รู้ว่ามีเหตุใดเกิดขึ้นบ้าง ทราบเพียงแต่ว่าภรรยาของพลตำรวจเอกมนัส ครุฑไชยันต์ ถอดสร้อยหรือแหวนทองคำอะไรสักอย่างผสมลงไปในโลหะที่กำลังร้อนได้ที่ ตอนนั้น ผู้เรียบเรียบเรียงนั่งคลุกเข่าอยู่ทางด้านขวาของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ด้านซ้ายคือ ประพาส กุลมงคล ลูกศิษย์ที่เคารพนับถือพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม มากที่สุดคนหนึ่ง ท้องฟ้าเวลานั้น เปิดและสดใสมากเป็นพิเศษ ไม่เหลือร่องรอยของฝนที่ตกหนักติดต่อกันมาหลายวัน งานทุกอย่างเป็นไปด้วยดี ไม่มีอุปสรรคใดเลย หลังจากพิธีเททองเสร็จเรียบร้อยและส่งประธานฯ กลับแล้ว ทางวัดแจ้งให้ทราบว่าปัจจัยที่ได้รับในวันนั้นประมาณห้าแสนกว่าบาท คณะของพลตำรวจเอกมนัส ครุฑไชยันต์ นำมาร่วมทำบุญหล่อพระประธาน พระพุทธฐานธรรมหิรัญบรรพต ในราวสองแสนบาทโดยประมาณและรวบรวมจากในงานอีกประมาณแสนกว่าบาท หักค่าหล่อพระแล้ว พอมีเงินเหลืออยู่บ้าง ก็ถือว่าเป็นเงินทุนตั้งต้นในการสร้างอุโบสถหลังใหม่ต่อไป
            หลังงาน ประพาส กุลมงคล ถามผู้เรียบเรียงว่าวันนี้เห็นอะไรไหม ตอนนั้น พาซื่อตอบไปตามตรงว่าไม่เห็นมีอะไรเป็นพิเศษเลย ปลื้มปีติมากจนลืมสังเกตว่ามีเหตุใดเกิดขึ้นบ้าง ประพาส กุลมงคล จึงขยายความต่อ ไปว่าเทพเทวาอารักษ์มาร่วมอนุโมทนาในพิธีเททองฯ เป็นจำนวนมาก เลยถามไปว่าเห็นด้วยตาตนเองหรือ ประพาส กุลมงคล บอกไม่เห็นแต่พ่อท่านคล้อย ฐานธรรมโม บอก เลยหันไปถามพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ว่าจริงไหม คราวนี้ ท่านไม่ตอบได้แต่ยิ้ม เพราะท่านรู้ดีว่าศิษย์คนนี้หัวดื้อเอาเรื่องคนหนึ่ง อยากจะสอนวิชาให้ก็ไม่เอา... จะฝังเข็มทองให้ก็ไม่เอาเพราะกลัวภรรยาตำหนิ...มาถึงเวลานี้ ได้แต่รำพึงรำพรรณว่า ..เสียดายจัง...
(บทความเก่าจากนิตยสารพระเครื่องลานโพธิ์ ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๑๑๘๙ ปักษ์หลัง พฤษภาคม ๒๕๕๙ หน้า ๑๗ - ๑๙)

บทความที่เกี่ยวข้อง
หน้าปกบทความตอน ๒๐
ชีวประวัติ พระเครื่องและวัตถุมงคลพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน หลังสวน ชุมพร ตีพิมพ์ระหว่างปี ๒๕๕๘ - ๒๕๕๙ รวม ๒๔ ตอน
20 ม.ค. 2025
หน้าปกพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ตอนที่ ๑๙
ชีวประวัติ พระเครื่องและวัตถุมงคลพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน หลังสวน ชุมพร ตีพิมพ์ระหว่างปี ๒๕๕๘ - ๒๕๕๙ รวม ๒๔ ตอน
16 ม.ค. 2025
หน้าปกบทความตอน ๑๗
ชีวประวัติ พระเครื่องและวัตถุมงคลพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน หลังสวน ชุมพร ตีพิมพ์ระหว่างปี ๒๕๕๘ - ๒๕๕๙ รวม ๒๔ ตอน
5 ม.ค. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy