แชร์

พระปิดตาหกเหลี่ยม หลวงพ่อเหมือน อินฺทโชโต วัดกำแพง

อัพเดทล่าสุด: 10 ธ.ค. 2024
29 ผู้เข้าชม

พระปิดตามหาอุตม์พิมพ์หกเหลี่ยมหลังยันต์ "อุ" หลวงปู่เหมือน อินฺทโชโต วัดกำแพง จ.ชลบุรี

 โดย... ช.พิมลราช ...

          พระครูอุดมวิชชากร (เหมือน อินฺทโชโต) อดีตเจ้าอาวาสวัดกำแพง และเจ้าคณะตำบลบางปลาสร้อย อ.เมือง จ.ชลบุรี เป็นหนึ่งในสามยอดพระเกจิอาจารย์ระดับแนวหน้าเมืองชลบุรีที่มีความเชี่ยวชาญในการสร้างพระปิดตาเนื้อผงจาก ๕ พระปรมาจารย์ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นต้นตำรับพระปิดตาเนื้อผงคลุกรักอันลือชื่อของเมืองชลบุรี ยอดพระเกจิอาจารย์ทั้งห้า ประกอบด้วย หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์, หลวงพ่อภู่ วัดนอก, หลวงพ่อเจียม วัดกำแพง, หลวงพ่อโต วัดเนินสุทธาวาส, และหลวงพ่อครีพ วัดสมถะ

          หลวงปู่เหมือน อินฺทโชโต เป็นพระสุปฏิปันโนผู้เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม รักสันโดษ สงบเยือกเย็น ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่เคยมีอารมณ์ขุ่นมัว จึงเป็นที่เคารพรักของสาธุชนทั่วไป ในอีกมุมมองหนึ่ง หลวงปู่เหมือน อินฺทโชโต เป็นพระเกจิอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ เชี่ยวชาญในการเจริญวิปัสสนากรรมฐานและพระเวทวิทยาคม ท่านจึงได้รับนิมนต์ไปร่วมในพิธีพุทธาภิเษกมากที่สุดอีกรูปหนึ่ง และท่านมักจะถูกจัดให้นั่งอธิษฐานจิตแผ่เมตตาคู่กับหลวงปู่โต๊ะ อินทสุวณฺโณ วัดประดู่ฉิมพลี เป็นประจำ เพราะท่านทั้งสองเป็นสหธรรมิกกัน อายุก็ไล่เลี่ยกัน ว่ากันว่าในยุคสมัยนั้น งานใดไม่มีหลวงปู่โต๊ะ อินฺทสุวณฺโณ วัดประดู่ฉิมพลี กับ หลวงปู่เหมือน อินฺทโชโตวัดกำแพง งานนั้นจะดูกร่อยไปถนัดตา

          หลวงปู่เหมือน อินฺทโชโต มีชื่อเดิมว่า "เหมือน ถาวรวัฒน์" เป็นบุตรคนที่ห้าของนายตึ๋ง และนางปุ่น ถาวรวัฒน์ ถือกำเนิดเมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๖ ตรงกับวันแรม ๓ ค่ำ ปีมะเส็ง ที่บ้านตำบลมะขามหย่ง อ.เมือง จ.ชลบุรี เมื่ออายุครบบวช ได้ทำการอุปสมบทที่อุโบสถวัดกำแพงในปี ๒๔๕๖ โดยมีหลวงพ่อจั่น วัดเสม็ด เป็นพระอุปัชฌาย์, พระวินัยธรถมยา เป็นพระกรรมวาจาจารย์, หลวงพ่อหมอน วัดกำแพง เป็นพระอนุสาวนาจารย์. ได้รับนามฉายาว่า "อินฺทโชโต"

          ในด้านพุทธาคม หลวงปู่เหมือน อินฺทโชโต เป็นเกจิอาจารย์ผู้สืบสายพุทธาคมและตำราการสร้างพระปิดตาของหลวงปู่เจียม วัดกำแพง ท่านเริ่มสร้างพระปิดตาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้นมา พระปิดตาที่หลวงปู่เหมือน อินฺทโชโต รังสรรค์ขึ้นมานั้น ส่วนใหญ่เป็นการสร้างล้อแบบพิมพ์พระปิดตาหลวงปู่เจียม เชื่อกันว่าพระปิดตาของท่านมีพลานุภาพโดดเด่นทางด้านเมตตามหานิยมเป็นยิ่งนัก

          พระปิดตามหาอุตม์พิมพ์หกเหลี่ยมหลังยันต์ "อุ" เป็นพระปิดตาที่หลวงปู่เหมือน อินฺทโชโต อนุญาตให้พระใบฎีกานิพนธ์ หรือพระครูทุ้ย จัดสร้างขึ้นในคราวเดียวกับพระปิดตาหลังตะแกรง โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะถวายให้ท่านแจกเป็นที่ระลึกในงานทำบุญวันเกิดประจำปี ๒๕๒๓ พระปิดตารุ่นนี้แกะพิมพ์โดยช่างเล้งซึ่งมีผลงานโดดเด่นจากการสร้างพระผงเจ้าคุณนรฯ วัดเทพศิรินทร์ หลายต่อหลายชุดด้วยกัน และพระครูทุ้ยเป็นผู้ดำเนินการกดพิมพ์พระปิดตาชุดนี้ภายในวัดกำแพงด้วยตนเอง

          ลักษณะ เป็นพระปิดตาขนาดเล็กที่สร้างขึ้นโดยการล้อแบบพระปิดตาหลวงปู่เจียม ด้านหน้าเป็นพระปิดตาแบบมหาอุตม์ในกรอบพิมพ์แบบหกเหลี่ยม ลักษณะองค์พระเป็นศิลปะแบบนูนสูง ด้านหลังประทับด้วยตัว อุ ในรูปหยดน้ำที่กดลึกลงไปในเนื้อพระ เส้นยันต์เป็นแบบเส้นลอย
          ขนาด กว้างประมาณ ๑.๓ - ๑.๔ เซนติเมตร สูงประมาณ ๑.๕ เซนติเมตร
          เนื้อหา ผงเกสร
          วรรณะ สีน้ำตาลอ่อน มีทั้งเคลือบแล็คเกอร์และไม่เคลือบ มีมวลสารเม็ดสีขาวกระจายทั่วองค์พระ สีดำและสีแดง มีให้เห็นประปราย
          มวลสารที่ใช้ในการสร้าง ผงจากเกศพระประธานในอุโบสถ สันนิษฐานว่าเป็นผงของหลวงปู่เจียม ผงนี้ห่อด้วยพระขาวบาง พระครูทุ้ยเล่าว่า ขณะที่พบ ผ้าขาวบางที่ห่อผงชุดนี้อยู่ในสภาพที่ขาดยุ่ย, ผงหลวงภู่ วัดต้นสน, ผงจากวัดท่าฉลอง ภูเก็ต, ผงพระปิดตาหลังตะแกรง, ผงหลวงปู่เหมือน อินทโชโต.
         จำนวนการสร้าง ๘,๐๐๐ องค์
         ปีที่สร้าง พ.ศ. ๒๕๒๒
         พิธีกรรม หลวงปู่เหมือน อินฺทโชโต ทำพิธีอธิษฐานจิตแผ่เมตตา (เดี่ยว) ตลอดพรรษา
         พลานุภาพ เชื่อกันว่าดีทุกด้าน ที่เด่นเป็นพิเศษคือ เมตตามหานิยม
         ค่านิยม เป็นพระปิดตาที่นิยมเล่นหาในหมู่ลูกศิษย์ สนนราคาเช่าหาอยู่ที่หลักร้อย (ในปี ๒๕๔๓)

         พระปิดตามหาอุตม์พิมพ์หกเหลี่ยมหลังยันต์อุ เป็นพระปิดตายุคปลายของหลวงปู่เหมือน อินฺทโชโตที่น่าสนใจ มีประวัติความเป็นมาชัดเจน และควรค่าแก่การเก็บสะสมหรือนำมาห้อยคอได้แบบใจเต็มร้อยอีกพิมพ์หนึ่ง เป็นของดีราคาถูกที่ไม่ควรมองข้าม เล่นพระปิดตายุคหลังกึ่งพุทธกาลที่รู้ประวัติแน่ชัดอย่างนี้ โอกาสเสี่ยงน้อยมาก ถ้ามุ่งเน้นที่ยุคต้นของหลวงปู่เหมือน อินฺทโชโต คงต้องระวังมากหน่อย เพราะสายตรงเขากระซิบเบา ๆ พอให้ได้ยินว่า ของเก๊และของคุณหลวงชอบหาวัด มีให้เห็นมานานแล้ว... จ้า (ข้อมูลจากหนังสือ ๘๐ ยอดพระปิดตายุคหลังกึ่งพุทธกาล)

นิตยสารพระเครื่องร่มโพธิ์ ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๖ (๑๐๙) เมษายน - พฤษภาคม ๒๕๔๓ หน้า ๖

"ช.พิมลราช" เป็นนามปากกาของ "ชายนำ ภาววิมล"

อุทยานพระเครื่อง โดย...ชายนำ ภาววิมล ... (utthayanphra.com)

เผยแพร่ใหม่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๖๗


บทความที่เกี่ยวข้อง
ปกบทความพระปิดตาปางซ่อนหาหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส
พระปิดตาปางซ่อนหาเป็นพระปิดตารุ่นที่ ๔ ของหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส ที่จัดสร้างในปี ๒๕๔๑ เผยแพร่ข้อมูลในนิตยสารพระเครื่องร่มโพธิ์ ฉบับที่ ๙๙ ตุลาคม ๒๕๔๑
10 ธ.ค. 2024
หน้าปกบทความพระขุนแผนทรงพล หลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก วัดดอนยายหอม
พระขุนแผนทรงพล หลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก วัดดอนยายหอม เป็นบทความเก่าที่เคยตีพิมพ์ในนิตยสารพระเครื่องร่มโพธิ์ ปีที่ี ๙ ฉบับที่ ๑๐๘ กุมภาพันธ์ - มีนาคม ๒๕๔๓
18 ธ.ค. 2024
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy