แชร์

พระปิดตาปางซ่อนหา หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส วัดบ้านกรับ กาญจนบุรี

อัพเดทล่าสุด: 10 ธ.ค. 2024
21 ผู้เข้าชม

 พระปิดตาปางซ่อนหา หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส วัดบ้านกรับ

โดย... ช.พิมลราช ...

            พระครูจันทรสโรภาส หรือ หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส เจ้าอาวาสวัดบ้านกรับ ต.ดอนแสลบ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี เป็นพระสุปฏิปันโนร่วมสมัยอีกรูปหนึ่งที่มีศีลาจาริยวัตรงดงาม เป็นพระบริสุทธิ์ที่ไม่ติดยึดในโลกธรรมแปด สมถะรักสันโดษ เปี่ยมด้วยพรหมวิหารธรรม ใครขอให้ท่านทำอะไร หากไม่เกินวิสัย ท่านจะสนองตอบศรัทธาของลูกศิษย์ลูกหาและสาธุชนทั่วไปโดยไม่มีการเลือกที่รักมักที่ชัง แม้ว่าหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส กำลังจะมีอายุย่างเข้า ๙๐ ปีในเดือนตุลาคมที่กำลังจะเข้ามาถึงในไม่กี่วันข้างหน้านี้ (๒๕๔๑) แต่ท่านก็มีร่างกายแข็งแรง เดินเหินคล่องแคล้ว เหนือสิ่งอื่นใด ท่านมีจิตใจเข้มแข็งสมชื่อ ทำอะไรทำจริง ทำให้ถึงที่สุด สู้ไม่ถอย ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้เด่นชัดก็คือ เมื่อครั้งที่ท่านได้รับนิมนต์ให้ไปร่วมอธิษฐานจิตแผ่เมตตาในพิธีชัยมังคลาภิเษกพระบรมรูปจำลองรัชกาลที่ ๕ ของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันเสาร์ที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๑ หลังจากที่เสร็จพิธีฯ แล้ว ทางเจ้าภาพได้ขอให้ท่านและพระเกจิอาจารย์อีก ๒ - ๓ รูป อยู่แจกพระพิมพ์สมเด็จสีหราชของคณะรัฐศาสตร์ให้กับบรรดาศิษย์เก่าและแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมในพิธีฯ  ผู้ที่เข้ามารับแจกพระพิมพ์สมเด็จสีหราชและพระเครื่องอื่น ๆ ที่ท่านนำติดตัวมาด้วย รวมทั้งผู้ที่ขอให้ท่านเป่ากระหม่อมให้ จะมีจำนวนมากเพียงใด คะเนว่าไม่น่าจะน้อยกว่าห้าถึงหกร้อยคนขึ้นไป ท่านก็เมตตาโปรดญาติโยมทุกคนที่รุมล้อมเข้ามาหาท่านอย่างทั่วถึง ตั้งแต่คนแรกไปจนถึงคนสุดท้ายที่มาร่วมงานอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย ทั้ง ๆ ที่ก่อนมาถึง หลลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส ป่วยเป็นไข้และยังไม่หายดี ในขณะที่พระเกจิอาจารย์รูปอื่น ๆ ซึ่งมีอายุน้อยกว่าท่านไม่น้อยกว่า ๑๐ ปีขึ้นไป ต่างก็ทยอยกลับไปก่อน เหตุการณ์ครั้งนั้น เป็นสิ่งพิสูจน์ให้เห็นถึงคุณธรรมและความเข้มแข็งของ หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส พระสุปฏิปันโนผู้มีอายุกาลล่วง เลยมาถึง ๘๙ ปี

            หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส มีชื่อเดิมว่า "หร่อง ฤกษ์งาม" เป็นบุตรของนายเทียน และนางทองพูน ฤกษ์งาม ถือกำเนิดเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๔๕๒ ที่ ต.สระพัง อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี ในสมัยที่ท่านยังเป็นเด็กอยู่ ท่านเคยไปอาศัยอยู่กับพระทิม ที่วัดมหาธาตุ จังหวัดราชบุรี เป็นเวลานาน ๑ ปี หลังจากนั้น ได้กลับมาอยู่ที่เขาย้อยอีกครั้ง แต่เนื่องจากท่านป่วยเป็นโรคคุทราตที่ข้อเท้า จึงได้ไปอาศัยอยู่ที่วัดบ้านครู ต่อมาเมื่ออายุครบบวช ได้อุปสมบทที่อุโบสถวัดหิรัญศรัทธาราม (หนองส้ม) ต.สระพัง อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี ในวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๓ โดยมีพระครูอ่อน เจ้าคณะแขวงเขาย้อย เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์จัน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์ขาว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่าจนฺทวํโส และได้อยู่จำพรรษาที่วัดโพธิ์บางเค็มใต้เรื่อยมาจนกระทั่งปี ๒๕๑๗ ท่านได้เดินทางมาเยี่ยมญาติที่ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี พระครูอินทสารโสภณ (เสริม อินฺทสาโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดรางหวาย และเจ้าคณะอำเภอพนมทวน ได้ชักชวนให้พระภิกษุหร่อง จนฺทวํโส จำพรรษาที่วัดรางหวาย ในระยะแรก ชาวบ้านเรียกขานนามท่านว่าหลวงพ่อมาจากเมืองเพชร ท่านพระครูอินสารโสภณจึงได้เปลี่ยนชื่อท่านเป็น"หลวงพ่อเพชร" ในเวลาต่อมา และในปี ๒๕๑๘ เมื่อตำแหน่งเจ้าอาวาสบ้านกรับว่างลง ท่านจึงได้รับมอบหมายจากเจ้าคณะอำเภอพนมทวนให้มาปกครองดูแลวัดบ้านกรับต่อไป

           ด้านการศึกษาพุทธาคม หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส เล่าให้ฟังว่า "ท่านมีความสนิทสนมชิดเชื้อกับหลวงพ่อแก้ว ติสฺสโร วัดหัวนา ต.ไร่โคก องบ้านลาด จ.เพชรบุรี ตั้งแต่เด็ก และหลวงพ่อแก้ว ติสฺสโร นี่เองที่สั่งสอนท่านว่าการทำอะไรต้องตั้งจิตให้มั่น เหมือนดั่งสิงโตน้ำตาลทรายที่มีความหวานทั้งตัว ส่วนหลวงพ่อแดง รตฺโต วัดเขาบันไดอิฐ นั้น ท่านได้ฝากตัวเป็นศิษย์หลังจากที่บวชได้หลายพรรษา ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อครั้งญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกตามหัวเมืองชายทะเลของไทย หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส จึงได้มีโอกาสพบและศึกษาเพิ่มเติมกับหลวงพ่อเปลี่ยน อินฺทสโร วัดใต้ไชยชุมพล ที่วัดโพธิ์บางเค็ม นอกจากยอดพระเกจิอาจารย์ทั้งสามรูปที่กล่าวนามมาแล้ว ท่านยังได้ศึกษาวิปัสสนากรรมฐานจากพระเกจิอาจารย์อีกหลายรูป ดังนั้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมพระเครื่องที่ผ่านการอธิษฐานจิตแผ่เมตตาจากท่าน จึงมีพลานุภาพและประสบการณ์ด้านแคล้วคลาดนิรันตรายโดดเด่นมาก โดยเฉพาะเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนน มีลูกศิษย์จำนวนมากที่รอดชีวิตอย่างน่าอัศจรรย์ ทั้ง ๆ ที่ผู้อยู่ในเหตุการณ์ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "อย่างนี้ ไม่รอดแน่"

           ที่น่าแปลกอีกประการหนึ่งคือ เหตุใดพระครูวิมลสิทธิชัย (นำ สุนิมฺมโล) เจ้าอาวาสวัดเลาเต่า ต.ห้วยพระ อ.ดอนตูม จ.นครปฐม ศิษย์ผู้สืบสายพุทธาคมของหลวงพ่อแช่ม อินฺทโชโต วัดตาก้อง ต.ตาก้อง อ.เมือง จ.นครปฐม ถึงได้นำวัตถุมงคลของท่านไปขอความเมตตาจากหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส ให้ช่วยอธิษฐานจิตแผ่เมตตาตลอดพรรษ ทั้ง ๆ ที่พระอาจารย์นำ สุนิมฺมโล ก็เป็นหนึ่งในยอดพระเกจิอาจารย์เมืองนครปฐมยุคปัจจุบัน (๒๕๔๑) อีกรูปหนึ่ง ด้านประสบการณ์เกี่ยวกับพระเครื่องของหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส พระบัณฑิต ปณฺฑิโต หรือ หลวงพี่ใหญ่ พระเลขาฯ ของหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส เคยแนะนำให้ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับพระลูกวัดรูปหนึ่งที่อุโบสถวัดบ้านกรับเมื่อต้นปี ๒๕๔๐ ผู้เขียนต้องขออภัยที่จำชื่อพระรูปนั้นไม่ได้เพราะมัวแต่พะวงอยู่กับเรื่องอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องทำในขณะนั้น จึงไม่ได้จดบันทึกไว้ พระรูปนั้น เล่าให้ฟังว่า "เมื่อประมาณ ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมา ตอนนั้นท่านยังเป็นวัยรุ่นที่คึกคะนอง วันหนึ่งได้ร่วมขบวนขันหมากไปขอสาวหมู่บ้านข้างเคียง ในขณะที่ทุกคนกำลังสนุกสนานกันอย่างเต็มที่ กลุ่มวัยรุ่นจากหมู่บ้านกรับเกิดเขม่นกับหนุ่มเจ้าถิ่น เลยยกพวกตะลุมบอนกันจนวุ่นวายไปหมด สาเหตุก็เหมือนกับเหตุการณ์ปกติของชายหนุ่มทั่วไป จะมีอะไรมากไปกว่าการเกี้ยวพาราสีสาวงามจนเป็นที่หมั่นไส้ในอารมณ์ของนักเลงเจ้าถิ่น หนุ่มบ้านกรับคนหนึ่งล้มลง ฉับพลันนั้นเอง ก็ถูกคู่กรณีนั่งคร่อมแล้วใช้มีดแทงไม่ยั้งมือ คนที่อยู่ในต่างก็คิดว่างานนี้หนุ่มต่างถิ่นต้องมาจบชีวิตที่นี่อย่างแน่นอน แต่...ปรากฏว่าคู่วิวาทกลับแทงเฉียดไปเฉียดมา ไม่ถูกตัวหนุ่มผู้เคราะห์ร้ายคนนี้เลย พอแขกที่มาร่วมงานได้สติ จึงแยกทั้งคู่ออกจากกัน เมื่อทุกสิ่งยุติลง จึงรู้ว่าในคอของหนุ่มชาวบ้านกรับ มีเหรียญพระอธิการหร่อง จนฺทวํโส รุ่นแรกเพียงเหรียญเดียวเท่านั้น"

          อีกเรื่องหนึ่งก็คือ เมื่อปี ๒๕๓๖ นายอรรณพ หอมทวนลม อยู่บ้านเลขที่ ๑๑๙ หมู่ ๑ ต.ดอนแสลบ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี เข้ามาเรียนโรงเรียนช่างกลในกรุงเทพมหานคร อาศัยอยู่แถวตรอกจันทร์สะพาน ๒ ถูกนักเรียนโรงเรียนคู่อริฟันด้วยมีดแต่ไม่เข้า ในคอมีเหรียญหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส อยู่เพียงเหรียญเดียว. และที่อดกล่าวถึงมิได้คือ นายเอกพงษ์ ศรีวงษ์ หลานชายของหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส ซึ่งอยู่ปรนนิบัติรับใช้ท่านเป็นประจำ ได้ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกและไปหาหมอที่โรงพยาบาลอู่ทอง ปรากฏว่าหมอฉีดยาไม่เข้า ในคอมีเหรียญอาร์มเนื้อเงินเพียงเหรียญเดียวอีกเช่นกัน. ในด้านประสบการณ์เกี่ยวกับอุบัติภัยบนท้องถนน เป็นที่เล่าลือกันมากในหมู่ลูกศิษย์ลูกหาและสาธุชนที่ศรัทธาเลื่อมใสในเมตตาบารมีของหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส แม้แต่พระพิฆเนศเนื้อผงและตะกรุดนะเพชรกรับรุ่นแรกแช่น้ำมนต์ ซึ่งเป็นของใหม่ที่สร้างขึ้นในปีสองปีนี้ ก็มีประสบการณ์ทางด้านนี้เช่นกัน

           ด้านการพัฒนา นับแต่วันแรกที่หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านกรับ เมื่อปี ๒๕๑๘ เป็นต้นมา ท่านได้เริ่มบูรณะปฏิสังขรณ์วัดบ้านกรับให้เจริญรุ่งเรืองเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ ผลงานที่เห็นได้ชัดเจนคือ อุโบสถหลังใหม่ที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้นำพระปรมาภิไธยย่อ ภปร และตราสัญลักษณ์ ๕๐ ปีแห่งการครองราชย์ฯ ขึ้นประดิษฐานที่ซุ้มหน้าบันอุโบสถ และงานพัฒนาชิ้นล่าสุดที่หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส เพิ่งทำเสร็จในปี ๒๕๔๐ คือ กำแพงแก้ว และในปีนี้ (๒๕๔๑) ท่านมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างเมรุหลังใหม่เพื่อทดแทนเมรุหลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมเนื่องจากใช้งานมานาน เมรุเผาศพเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับวิถีของชาวชนบท หากวัดใดไม่มีเมรุ ชาวบ้านย่านนั้นจะได้รับความเดือดร้อนหรืออย่างน้อยที่สุด ก็ไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควร โอกาสที่จะนำศพไปบำเพ็ญกุศลหรือไปเผาในวัดที่อยู่ห่างไกลออกไป ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายนัก ส่วนหนึ่งมาจากความยากจน แต่หลักใหญ่คือการเดินทางไปมาไม่สะดวกเหมือนในกรุงเทพมหานคร ดังนั้น การสร้างเมรุในชนบทจึงเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณชนอย่างแท้จริง

           การทอดกฐินสามัคคีของวัดบ้านกรับในปี ๒๕๔๑ มีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ ต้องการหารายได้เข้ามาสมทบทุนสร้างเมรุตามเจตนารมย์ของหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส และลูกศิษย์ส่วนหนึ่งมีความเห็นว่าน่าจะตั้งบุญนิธิเพื่อการศึกษาในนามของหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส ไว้ที่โรงเรียนวัดบ้านกรับ การตั้งบุญนิธิเพื่อการศึกษานี้ มีจุดมุ่งหมายหลักในการนำดอกผลที่ได้รับในแต่ละปีมาเป็นทุนการศึกษาให้กับเด็กนักเรียนที่ยากจน เมื่อหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส ทราบรายละเอียดต่าง ๆ แล้ว ท่านก็ให้ความเห็นชอบกับแนวคิดนี้ ทางคณะศิษย์จึงหารือกับคุณฑีฆายุ คงอ่อน บรรณาธิการบริหารนิตยสารพระเครื่องร่มโพธิ์ และทิพยาวรรณ ผู้จัดรายการ เพื่อนนักสะสม ทางสถานีวิทยุกองพลที่ ๑ รักษาพระองค์ คลื่น เอ.เอ็ม. ๑๓๕๐ หลังจากที่ได้รับทราบวัตถุประสงค์ชัดเจนแล้ว จึงรับเป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดทอดกฐินสามัคคีครั้งนี้

           พระปิดตาปางซ่อนหา เป็นพระปิดตาประเภทจิ๋วแต่แจ๋วที่ทางวัดบ้านกรับสร้างขึ้นเพื่อหาปัจจัยสมทบทุนสร้างเมรุดังรายละเอียดที่กล่าวมาแล้ว พระปิดตารุ่นนี้จัดเป็นพระปิดตารุ่นที่ ๔ ของหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส รุ่นแรกคือ "พระปิดตาแร่บ่อไผ่" ซึ่งนิตยสารพระเครื่องร่มโพธิ์เคยนำเสนอมาแล้ว ถัดมาคือ พระปิดตาพิมพ์กบ, พระปิดตาเพชรกลับพิมพ์จัมโบ้, และพระปิดตาปางซ่อนหาหลังยันต์นะเพชรกลับ ตามลำดับ

            ลักษณะ เป็นพระปิดตาขนาดเล็กกะทัดรัดในกรอบพิมพ์แบบกลับบัวฐานตัดตรง บางคนเรียกพระปิดตารุ่นนี้ว่า พระปิดตาหัวจรวด ด้านหน้าเป็นรูปพระปิดตาแบบนั่งสมาธิเพชร ประทับนั่งบนฐานบัวห้ากลีบ ศิลปะเป็นแบบกึ่งนูนต่ำ เส้นขอบเป็นแบบหวายผ่าซีก องค์พระกลมป้อม เศียรเป็นแบบเม็ดพระศกสองแถว พระนาภี (สะดือ) เป็นเม็ดกลมคล้อยต่ำลงมาใกล้กับฝ่าเท้าทั้งสองข้าง ด้านบนขององค์พระปิดตาเป็นรูปพระปางมารวิชัยแบบสะดุ้งกลับ ด้านหลังประทับด้วยยันต์นะเพชรกลับ ใต้ยันต์จารึกชื่อวัดบ้านกรับ และเลข ๔๑ หมายถึงปีที่สร้างพระปิดตารุ่นนี้
            ขนาด ฐานกว้างประมาณ ๑.๑ เซนติเมตร สูงประมาณ ๑.๗ เซนติเมตร หนาประมาณ ๐.๓ เซนติเมตร
            เนื้อหามวลสาร เป็นพระปิดตาเนื้อผงที่สร้างขึ้นจากปูนเปลือกหอยผสมกับผงขมิ้นเสก มวลสารหลักที่ใช้เป็นส่วนผสมในการสร้าง ประกอบด้วย
               ๑. ผงขมิ้นกับปูนที่เหลือจาการสร้างพระพิฆเนศ พระสมเด็จพิมพ์เกศทะลุซุ้ม พระหลวงปู่ทวดพิมพ์พระรอดจิ๋วหลังยันต์นะเพชรกลับของหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส
               ๒. ผงพระสมเด็จสีหราช คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
               ๓. ผงกระเบื้องหลังคาโบสถ์มหาอุด (หลังเก่า) วัดบ้านกรับ
               ๔. ผงพุทธคุณของหลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก วัดดอนยายหอม และผงวิเศษของพระสุปฏิปันโนอีกหลายรูป
            วรรณะ พระส่วนใหญ่ผิวจะมันเล็กน้อยและออกสีส้ม มีมวลสารต่าง ๆ ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน ทั้งสีขาว ดำ แดง
            จำนวนสร้าง ประมาณ ๕,๗๐๐ องค์
            พิธีกรรม หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส อธิษฐานจิตแผ่เมตตาเดี่ยวตั้งแต่ ๒๓ กรกฎาคม  - ๒๐ สิงหาคม ๒๕๔๑ จากนั้น นำเข้าพิธีอธิษฐานจิตแผ่เมตตาเดี่ยวที่อุโบสถหลังเก่า (โบสถ์มหาอุด) ในวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๑ ตรงกับวันศุกร์แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๙ ปีขาล จุลศักราช ๑๓๖๐ เวลา ๑๔.๓๙ น. หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส จุดเทียนชัย พระสงฆ์ ๔ รูปเจริญพระพุทธมนต์บท "ธมฺมจกฺกปฺปวตฺตนสูตร", พระคาถาพาหุงตลอดเวลาที่หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส ทำพิธีอธิษฐานจิตแผ่เมตตาเดี่ยว รวม ๙ จบ และจบด้วยพระคาถามงคลจักรวาล เป็นอันเสร็จพิธีฯ
            พลานุภาพ พิเคราะห์จากเนื้อหามวลสารที่ใช้ในการสร้าง การวางรูปยันต์ พิธีกรรมในการอธิษฐานจิตแผ่เมตตา การวางอารมณ์ของหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส ประกอบกับฤกษ์ยามที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม ลัคนาสถิตย์ราศีพิจิก (ธาตุน้ำ) และเสวยราชาฤกษ์ จัดเป็นฤกษ์ที่เหมาะสำหรับการทำพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์โดยเฉพาะเกี่ยวกับวัตถุมงคล โบราณว่าวิเศษดียิ่งนัก ทำให้มีความสว่างไสว สงบสันติ และนำไปสู่ความมีเสน่ห์ มีเมตตามหานิยม อุดมไปด้วยโชคลาภ ดาวเกตุอยู่หน้าลัคนา ดาวจันทร์เป็นเกษตรและมีดาวพุธเป็นคู่มิตร ดาวอังคารเป็นคู่มิตรกับดาวศุกร์ในราศีกรกฏ (ธาตุน้ำ) และดาวพุธกับดาวศุกร์เป็นคู่อสีติธาตุน้ำ ตำแหน่งของดวงดาวต่าง ๆ เหล่านี้ ส่งผลให้เกิดลาภผลพูนทวี สามารถอธิษฐานขอพรจากองค์พรได้ดั่งปรารถนา แต่ต้องเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามครรลองแห่งศีลธรรม อีกทั้งแคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งหลายทั้งปวง ในเมื่อองค์ประกอบต่าง ๆ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงสันนิษฐานว่า พระปิดตาปางซ่อนหารุ่นนี้ มีพลานุภาพเน้นหนักทางด้านเมตตามหานิยม อุดมไปด้วยโชคลาภ และแคล้วคลาดนิรันตราย หากผู้ที่นำไปสักการะบูชาได้มีการสวดมนต์ภาวนาประกอบด้วย อานิสงค์ที่ได้รับก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว
            ค่านิยม เป็นพระปิดตารุ่นใหม่ที่เพิ่งทำพิธีอธิษฐานจิตแผ่เมตตาเดี่ยวเสร็จไปหมาด ๆ อายุการสร้างก็ยังไม่ทันข้ามปี (ปี ๒๕๔๑) สนนราคาเช่าหาจึงยังคงอยู่ที่ ๕๐ บาท ซึ่งเป็นราคาเปิดตัวของทางวัด แต่ถ้าจะซื้ออนาคตข้างหน้า พระปิดตาปางซ่อนหาของหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส วัดบ้านกรับ เป็นพระปิดตาอีกสำนักหนึ่งที่มีเอกลักษณ์และความงดงามตามแบบฉบับของตนเอง ไม่ได้ลอกเลียนแบบใคร ไม่ว่าจะเป็นพิมพ์ทรงหรือเนื้อหามวลสาร พิธีกรรมเยี่ยมยอด แม้ดูเรียบง่ายแต่ก็พิถีพิถันและเข้มขลังยิ่งนัก จำนวนก็มีไม่มากจนเกินไป องค์ประกอบต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ จะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้พระปิดตารุ่นนี้เป็นเพชรน้ำงามที่รอการเจียรนัย เมื่อเวลานั้นมาถึง... เพชรเม็ดนี้จะทอแสงเจิดจ้าเพียงใด ตัวอย่างก็มีให้เห็นกันมากมาย ครั้งแล้วครั้งเล่า และก็คงมีให้เห็นกันเรื่อยไป

           ก่อนที่จะจบบทความเรื่อง พระปิดตาปางซ่อนหา หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส วัดบ้านกรับ ผู้เขียนขอเชิญชวนท่านผู้อ่านได้ร่วมทำบุญทอดกฐินสามัคคีที่วัดบ้านกรับ ต.ดอนแสลบ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี ในวันอาทิตย์ที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๑ รายละเอียดต่าง ๆ สอบถามได้ที่ กอง บก.นิตยสารพระเครื่องร่มโพธิ์ โทร. ๒๘๒ - ๘๒๖๓ (ปัจจุบัน ยุติกิจการทำหนังสือพระเครื่องแล้ว) ผู้ที่ร่วมทำบุญเป็นเจ้าภาพกฐินกองละ ๑๐๐ บาท จะได้รับ "พระขุนแผนหลังยันต์นะเพชรกลับ เนื้อผงขมิ้นกับปูน" ที่หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส ทำพิธีอธิษฐานจิตแผ่เมตตาเดี่ยวพร้อมกับพระปิดตาปางซ่อนหาเมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคมที่ผ่านมา  พระขุนแผนหลังยันต์นะเพชรกลับ สร้างขึ้นจากผงที่เหลือจากพระปิดตาปางซ่อนหา แต่ที่พิเศษกว่าก็คือ มีส่วนผสมของเสมาโบสถ์มหาอุดวัดบ้านกรับ (หลังเก่า) ที่ชำรุดแตกหักไปก่อนที่จะมีการบูรณะซ่อมแซมอุโบสถหลังเก่าเมื่อหลายปีก่อน โบราณเชื่อกันว่าใบเสมาโดยเฉพาะใบเสมาโบสถ์มหาอุดมีอานุภาพด้านป้องกันเสนียดจัญไรดีนัก ใครได้ไว้นับเป็นโชควาสนายิ่งนัก

           นอกจากจะได้รับพระขุนแผนที่สร้างขึ้นตามแบบอย่างของศิลปะอันบริสุทธิ์และถูกต้องตามพิธีกรรมที่สำเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว กำหนดไว้ตั้งแต่ยุคสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมาสักการะบูชาแล้ว ท่านยังได้ร่วมทำบุญกับพระสุปฏิปันโนผู้มีอายุยืนยาวถึง ๙๐ ปี และบุญที่กระทำนี้ ก็เป็นกุศลที่เกื้อประโยชน์ให้กับผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว การสร้างเมรุเผาศพมีอานิสงค์ไม่ด้อยไปกว่าการบริจาคโรงศพเลยแม้แต่น้อย อีกส่วนหนึ่งก็เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเยาวชนในชนบทที่มีฐานะยากจนให้มีโอกาสได้รับการศึกษาตามสมควรแก่การ

 

(เป็นบทความเก่าที่นำเสนอในนิตยสารพระเครื่องร่มโพธิ์ ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๔ (๙๙) เดือนตุลาคม ๒๕๔๑ / "ช.พิมลราช" เป็นนามปากกาของ "ชายนำ ภาววิมล")

อุทยานพระเครื่อง โดย...ชายนำ ภาววิมล ... (utthanyanphra.com)

๘ ธันวาคม ๒๕๖๗

 


บทความที่เกี่ยวข้อง
หน้าปกบทความพระปิดตาหกเหลี่ยมหลังยันต์อุ หลวงปู่เหมือน อินฺโชโต วัดกำแพง
ประวัติความเป็นมาและข้อมูลในการสร้างพระปิดตาหกเหลี่ยมหลังยันต์อุ หลวงปู่เหมือน อินฺทโชโต วัดกำแพง ตีพิมพ์ในนิตยสารพระเครื่องร่มโพธิ์ ฉบับ ๑๐๙ ปี ๒๕๔๓
10 ธ.ค. 2024
หน้าปกบทความพระขุนแผนทรงพล หลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก วัดดอนยายหอม
พระขุนแผนทรงพล หลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก วัดดอนยายหอม เป็นบทความเก่าที่เคยตีพิมพ์ในนิตยสารพระเครื่องร่มโพธิ์ ปีที่ี ๙ ฉบับที่ ๑๐๘ กุมภาพันธ์ - มีนาคม ๒๕๔๓
18 ธ.ค. 2024
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy