แชร์

พระปรกใบมะขามหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส วัดบ้านกรับ หลังยันต์จม

อัพเดทล่าสุด: 26 ม.ค. 2025
129 ผู้เข้าชม

พระปรกใบมะขามหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส วัดบ้านกรับ พิมพ์ยันต์จม

 โดย... ภุชงค์ (นามปากกาของชายนำ ภาววิมล) ...

            พระครูจันทสโรภาส หรือ หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส เจ้าอาวาสวัดบ้านกรับ หมู่ ๑ ตำบลดอนแสลบ อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี เป็นพระสุปฏิปันโนร่วมสมัยอีกรูปหนึ่งที่มีศีลาจริยวัตรงดงาม เปี่ยมด้วยพรหมวิหารธรรม ให้ความเอื้อเฟื้อและต้อนรับปฏิสันถารแก่ลูกศิษย์ลูกหาที่มากราบนมัสการท่านด้วยความจริงใจ พูดน้อย พูดเท่าที่จำเป็นโดยไม่มีการแสแสร้งหรือจัดฉากเพื่อหวังผลประโยชน์จากผู้ที่เข้ามาหาท่าน ทุกคนเสมอภาคเท่าเทียมกันหมด ใครขอให้ท่านทำอะไร หากไม่เกินวิสัย ท่านจะสนองตอบต่อศรัทธาของลูกศิษย์ลูกหาและสาธุชนทั่วไป โดยไม่มีการเลือกที่รักมักที่ชัง เป็นพระแท้ที่ไม่ติดยึดในโลกธรรมแปด สมถะรักสันโดษ ดำรงสมณเพศด้วยความเรียบง่าย

            ในอีกมุมหนึ่งของพระภิกษุผู้มีอายุกาลล่วงเลยมาถึง ๙๑ ปี หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส เป็นพระนักพัฒนาที่มีเหตุผลละเอียดรอบคอบ มีหลักการในการทำงานที่ชัดเจน ทำอะไร ต้องทำให้จริง ทำให้ถึงที่สุด อย่างเช่น ความริเริ่มในการสร้างเมรุหลังใหม่เมื่อปี ๒๕๔๑ ท่านทราบดีว่ายามที่ประเทศชาติกำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เป็นเรื่องยากที่จะสร้างเมรุให้สำเร็จลุล่วงในเร็ววัน และตำบลดอนแสลบก็ประสบปัญหาแล้งจัดติดต่อกันมานานหลายปี ชาวบ้านทำนาไม่ได้ผล ลูกศิษย์ลูกหาในกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่ก็มีปัญหาทางเศรษฐกิจกันทั่วหน้า

           แต่ด้วยความจำเป็นที่ต้องสร้างเมรุหลังใหม่ ท่านจึงกำหนดแผนการทำงานแบบค่อยเป็นค่อยไป  โดยประมาณการเวลาที่จะใช้ในการสร้างเมรุให้เสร็จสมบูรณ์ภายใน ๓ ปี แต่ตัวเมรุต้องสามารถใช้งานได้โดยเร็ว การสร้างเตาเผาและปล่องไฟจึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องทำขึ้นมาก่อน ส่วนประกอบอื่น ๆ ที่แสดงออกถึงศิลปะและความสวยงามเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่ต้องทำในภายหลัง แต่ด้วยแรงศรัทธาและความร่วมมือร่วมใจของลูกศิษย์ทุกสาย เมรุหลังนี้น่าจะสำเร็จลุล่วงภายในต้นปีนี้ (๒๕๔๓)

           หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส มีชื่อเดิมว่า หร่อง ฤกษ์งาม เป็นบุตรของนายเทียน และนางทองพูน ฤกษ์งาม ถือกำเนิดเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๒ ที่ต.สระพัง อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี มีพี่น้องร่วมสายโลหิต ๘ คน ในสมัยที่ท่านยังเป็นเด็กอยู่ ได้ไปอาศัยอยู่กับพระทิมที่วัดมหาธาตุ จังหวัดราชบุรี เป็นเวลานานประมาณ ๑ ปี หลังจากนั้น กลับมาอยู่ที่เขาย้อยอีกครั้งหนึ่ง แต่เนื่องจากท่านป่วยเป็นโรคคุทราตที่ข้อเท้า จึงไปพักอายุอยู่ที่วัดบ้านครู  ต่อมาเมื่ออายุครบบวช ได้อุปสมบทที่อุโบสถวัดหิรัญศรัทธาราม (หนองส้ม) ต.สระพัง อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี ในวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๓ โดยมีพระครูอ่อน เจ้าคณะแขวงเขาย้อย เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์จัน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์ขาว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า จนฺทวํโส และได้อยู่จำพรรษาที่วัดโพธิ์บางเค็มเรื่อยมา

           ในปี ๒๕๑๗ ท่านเดินทางไปเยี่ยมญาติที่ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี พระครูอินทสารโสภณ (เสริม อินฺทสาโร) อดีตเจ้าอาวาสวัดรางหวาย/เจ้าคณะอำเภอพนมทวน ได้ชักชวนพระภิกษุหร่อง จนฺทวํโส มาจำพรรษาที่วัดรางหวาย ระยะแรก ชาวบ้านเรียกขานนามท่านว่า "หลวงพ่อมาจากเพชร" นานวันเข้า ท่านพระครูอินทสารโสภณ (เสริม อินฺทสาโร) จึงได้เปลี่ยนชื่อท่านเป็น "หลวงพ่อเพชร" และในปี ๒๕๑๘ ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านกรับว่างลง ท่านจึงได้รับมอบหมายจากเจ้าคณะอำเภอพนมทวนให้มาปกครองดูแลวัดบ้านกรับต่อไป

           ด้านการศึกษาพุทธาคม หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส ได้เล่าให้ฟังว่า ท่านมีความสนิทชิดเชื้อกับหลวงพ่อแก้ว ติสฺสโร วัดหัวนา ตั้งแต่เด็ก ไปมาหาสู่กันเป็นประจำ และหลวงพ่อแก้ว ติสฺสโร นี่เองที่สอนท่านว่าการทำอะไร ต้องตั้งจิตให้มั่น เหมือนดั่งสิงโตน้ำตาลทรายที่มีความหวานทั้งตัว ส่วนหลวงพ่อแดง ญาณวิลาศ วัดเขาบันไดอิฐ นั้น ท่านได้เดินทางไปฝากตัวเป็นศิษย์หลังจากที่บวชได้หลายพรรษาแล้ว  ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อครั้งที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกตามหัวเมืองชายทะเลของไทยเรา หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส จึงได้มีโอกาสพบและศึกษาสรรพวิชาต่าง ๆ เพิ่มเติมจากหลวงพ่อเปลี่ยน อินฺทสโร วัดใต้ชัยชุมพล ที่เดินทางมาแจกผ้ายันต์แดงให้กับชาวบ้านที่วัดโพธิ์บางเค็มใต้ นอกจากยอดพระเกจิอาจารย์ทั้งรูปแล้ว ท่านยังได้ศึกษาวิปัสสนากรรมฐานจากพระเกจิอาจารย์อีกหลายรูปด้วยกัน

           พระเครื่องและวัตถุมงคลที่ผ่านการอธิษฐานจิตแผ่เมตตาจากหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส ล้วนมีพลานุภาพและประสบการณ์ด้านแคล้วคลาดนิรันตรายโดดเด่นมาก โดยเฉพาะเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนน มีลูกศิษย์จำนวนมากที่รอดชีวิตมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ ทั้ง ๆ ที่ผู้อยู่ในเหตุการณ์ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "อย่างนี้ ไม่รอดแน่"  เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว คุณวิศาล แพรไพศาล กำนันตำบลดอนแสลบ เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า "หลานชายของกำนันถูกคนร้ายจ่อยิงประชิดตัวที่ตลาดเขต ในขณะที่กำลังจะจอดรถ กระสุนขนาด ๑๑ ม.ม. ทะลุกระจกด้านข้างเข้ามารวม ๗ นัด แต่ไม่ถูกตัวเลย" เท็จจริงประการใด ผู้เขียนยังไม่มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ที่ถูกจ่อยิง ถ้าท่านผู้ใดผ่านไปที่ตำบลดอนแสลบ ลองแวะไปสอบถามกำนันวิศาล แพรไพศาล อาจได้ข้อมูลอีกหลายอย่าง

           พระปรกใบมะขามหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส หลังยันต์จม เป็นพระปรกใบมะขามรุ่นแรกที่ท่านมอบหมายให้คณะกรรมการฯ จัดสร้างขึ้นพร้อมกับวัตถุมงคลอีก ๔ รายการ คือ เหรียญหล่อพิมพ์เสมารุ่นแรก, เหรียญหล่อใบโพธิ์รุ่นแรก, เหรียญไข่รุ่นพิเศษ, และพระปรกใบมะขามพิมพ์ยันต์ลอย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาปัจจัยสมทบทุนสร้างซุ้มประตูวัดบ้านกรับ  เดิมที ทางช่างแกะแม่พิมพ์เป็นแบบยันต์ลอย แต่ปรากฏว่าพิมพ์ไม่สวย ทางคณะกรรมการฯ จึงได้ยุติการติดต่อกับช่างคนนั้นโดยไม่ได้บอกยกเลิกงาน และเปลี่ยนไปว่าจ้างให้ช่างสังวร ศรีรุ่งเรือง เป็นผู้แกะแม่พิมพ์และปั๊มพระปรกใบมะขามขึ้นมาใหม่ ต่อมาทางคณะกรรมการฯ ทราบข่าวทางช่างคนเดิมได้ปั๊มพระปรกใบมะขามพิมพ์หลังยันต์ลอยเรียบร้อยแล้ว จึงตัดสินใจกลับไปนำพระปรกใบมะขามทั้งหมดมาให้หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส อธิษฐานจิตแผ่เมตตาเดี่ยวพร้อมพระปรกใบมะขามพิมพ์ยันต์จม

            ลักษณะ เป็นพระปรกใบมะขามปางสมาธิแบบนั่งราบ ประทับนั่งบนฐานพญานาคเจ็ดเศียร ด้านหลังประทับด้วยพระคาถาหัวใจพระไตรปิฎก (ตรีเพชร) คือ "มะ อะ อุ" ด้านบนจารึกชื่อ "หลวงพ่อเพชร" ใต้พระคาถาเป็นชื่อ "วัดบ้านกรับ" และเลข "๑" ตอกโค้ดตัว "นะ" หน้า (ด้านซ้าย) ตัว "อ"
           ขนาด ฐานกว้าง ๐.๕ เซนติเมตร สูง ๑.๓ เซนติเมตร
           เนื้อหา ทองคำ เงิน ทองแดง
           จำนวนการสร้าง ทองแดง มีประมาณ ๑๕,๐๐๐ องค์ ส่วนทองคำและเงิน ไม่ทราบจำนวนการสร้างที่แน่ชัด สันนิษฐานว่า ทองคำน่าจะอยู่ที่หลักสิบ ส่วนเงินน่าจะอยู่ที่สองหรือร้อยองค์เป็นอย่างมาก
           ปีที่สร้าง พ.ศ. ๒๕๓๙
          พิธีกรรม หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส ทำพิธีอธิษฐานจิตแผ่เมตตาเดี่ยวที่กุฏิของท่าน
          พลานุภาพ เด่นทางด้านคุ้มครองป้องกันและแคล้วคลาดนิรันตราย
          ค่านิยม เป็นพระปรกใบมะขามที่นิยมเล่นหากันในหมู่ลูกศิษย์ สนนราคาเช่าหายังอยู่ที่หลักสิบ จัดเป็นของดีราคาถูกที่น่าสนใจอีกพิมพ์หนึ่ง

        พระปรกใบมะขามหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส รุ่นแรก พิมพ์ยันต์จม จัดเป็นพระปรกใบมะขามในช่วงปลายของทศวรรษที่ ๒๕๓๑ - ๒๕๔๐ ที่มีศิลปะงดงามอีกพิมพ์หนึ่ง เรื่องพุทธคุณหรือพลานุภาพนั้น บอกได้เต็มปากเต็มคำเลยว่าเรื่องคุ้มครองป้องกันและแคล้วคลาดนิรันตรายเด่นมาก  เมื่อครั้งที่ผู้เขียนยังไม่ได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสกับหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส อย่างใกล้ชิด ผู้เขียนได้นำพระปรกใบมะขามรุ่นแรกพิมพ์ยันต์จมฝากใส่ย่ามของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม อดีตเจ้าอาวาสวัดถ้ำเขาเงิน อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ไปเข้าในพิธีพุทธาภิเษกที่วัดแห่งหนึ่งในย่านฝั่งธนฯ เมื่อเสร็จแล้ว ได้ถามพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ว่า "พระปรกใบมะขามนี้ดีหรือไม่" ท่านได้ออกปากชมว่า "เขาทำมาดี มีแต่จิตล้วน ๆ ไม่มีไสย" จึงเชื่อมั่นแบบเต็มร้อยได้เลยพระปรกใบมะขามชุดนี้ดีแน่

         อนาคตของพระปรกใบมะขามชุดนี้ คงจะไปได้ดีในระดับหนึ่ง ที่ว่าเช่นนี้ก็เพราะเส้นทางไปวัดบ้านกรับค่อนข้างซับซ้อน ไม่มีโทรศัพท์ติดต่อ อีกทั้งคนในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ไม่มีกำลังมากพอที่จะมาเล่นหาพระเครื่องกันอย่างจริงจังเหมือนอย่างนักนิยมพระเครื่องเมืองอื่น ๆ ดังนั้น จึงเป็นข้อจำกัดหรือเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ค่านิยมในการเล่นหาพระเครื่องของท่านเป็นไปแบบเรียบ ๆ แต่ถ้ามองย้อนกลับไปในอดีต ประสบการณ์จะตอกย้ำรอยเดิมอีกหรือไม่ว่า กาลเวลาเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์และบ่งชี้ถึงคุณค่าของผลงานที่ดี

 


บทความที่เกี่ยวข้อง
หน้าปกบทความ_
บทความเก่าว่าด้วยประวัติความเป็นมาและข้อมูลเกี่ยวกับพระปรกใบมะขามหลวงปู่วิวเียร ฐิตปุญญเถร จากนิตยสารศูนย์พระเครื่อง ฉบับที่ ๑๗๒
21 ก.พ. 2025
ภาพหน้าปก ๑๐ ยอดพระเกจิอาจารย์ฯ
บทความเก่าในนิตยสารพระเครื่องร่มโพธิ์ ฉบับที่ ๑๐๑ ว่าด้วยความเห็นเกี่ยวกับ ๑๐ ยอดพระเกจิอาจารย์ผู้สืบสานแนวคิดในการสร้างพระปิดตายุคหลังกึ่งพุทธกาล
5 มี.ค. 2025
หน้าปกบทความพระปิดตาหกเหลี่ยมหลังยันต์อุ หลวงปู่เหมือน อินฺโชโต วัดกำแพง
ประวัติความเป็นมาและข้อมูลในการสร้างพระปิดตาหกเหลี่ยมหลังยันต์อุ หลวงปู่เหมือน อินฺทโชโต วัดกำแพง ตีพิมพ์ในนิตยสารพระเครื่องร่มโพธิ์ ฉบับ ๑๐๙ ปี ๒๕๔๓
10 ธ.ค. 2024
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy