เหรียญพระพุทธอนันตคุณ ปี ๒๕๒๗
เหรียญพระพุทธอนันตคุณ
โดย... ชายนำ ภาววิมล ...
"ศรัทธา" เป็นพลังเหนือธรรมชาติที่ก่อให้เกิดความอัศจรรย์ ปรากฎการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยหลักการทางด้านวิทยาศาสตร์... ในลักษณะเดียวกับทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของนิวตันที่มุ่งเน้นการศึกษาในสิ่งที่สามารถพิสูจน์ได้ นักวิทยาศาสตร์ในกลุ่มนี้ มีทัศนคติและความเชื่อว่าความอัศจรรย์ อิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ เป็นเรื่องของความงมงายเหลวไหล จริงเท็จประการใด ไม่มีเครื่องมือใดมาพิสูจน์ให้เห็นกันชัด ๆ แบบหนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง สองบวกสองเป็นสี่ได้ ในขณะที่คนไทยรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งปฏิเสธเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์และปรากฎการณ์เหนือธรรมชาติ ชาว ตะวันตกซึ่งมีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์/เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ก้าวล้ำไปสู่การพิชิตห้วงอวกาศมานานร่วม ๓๐ ปี ก็มีการศึกษาเกี่ยวกับพลังจิตและปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานนับร้อยปี เรื่องเช่นนี้ บางท่านได้ตั้งประเด็นคำถามขึ้นมาว่าเป็นการทวนกระแสความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์หรือไม่ "นักวิชาการไทยท่านหนึ่งแสดงความเห็นว่า ไม่ได้เป็นเรื่องของการทวนกระแส แต่เป็นเรื่องของความมุ่งมั่นในการศึกษาค้นคว้า การพิสูจน์ปรากฏการณ์ที่ไม่สามารถจับต้องหรือมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ตัวอย่างที่ยกมาอ้างอิงในเชิงเปรียบเทียบเสมอ ๆ คือพลังงาน"
อีกแง่มุมหนึ่ง "ศรัทธาเป็นแรงผลักดันหรือพลังแฝงในตัวบุคคลที่จะกระตุ้นให้แต่ละคนสร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่าให้ปรากฏและเป็นอนุสรณ์ให้ชนรุ่นหลังได้ระลึกถึงต่อไป" การสร้างพระเครื่องก็เช่นกัน หากกระทำกันง่าย ๆ แบบยุคสมัยนี้ ใคร ๆ ก็ทำได้ ขอให้มีเงินเพียงอย่างเดียว สั่งให้โรงงานทำสวยแค่ไหนก็ทำได้ การกล่าวเช่นนี้ มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย บางกลุ่มก็สนใจเฉพาะพระสวยตามแบบสมัยนิยม บางกลุ่มก็สนใจเล่นหาแต่พระประเภทซื้อง่ายขายคล่อง จะเล่นหาพระประเภทใดก็สุดแล้วแต่ใจชอบ บังคับกันไม่ได้
ความหลากหลายที่มีอยู่ในแวดวงพระเครื่อง มีทั้งจุดเด่นและข้อด้อยในเวลาเดียวกัน บ่อยครั้งที่นักนิยมพระเครื่องชั้นแนวหน้าหลาย ๆ ท่าน เก็บพระเครื่องราคาแพงไว้ในกระเป๋าหรือไม่ก็ไว้สำหรับซื้อขายแลกเปลี่ยนเท่านั้น ไม่ได้มีไว้สำหรับห้อยคอติดตัวเหมือนอย่างที่คนวงนอกเข้าใจกัน พระเครื่องที่เซียนใหญ่หรือนักนิยมพระเครื่องอีกหลาย ๆ ท่านนำมาห้อยคอ กลับเป็นพระเครื่องประเภทของดีราคาถูกที่นักนิยมพระเครื่องทั่ว ๆ ไป มองข้าม อาทิ พระยี่สิบห้าพุทธศตวรรษ
คำถามหนึ่งที่ผู้เขียนพบเสมอ ๆ ตลอดระยะเวลากว่า ๒๐ ปีที่ติดตามอ่านหนังสือพระเครื่องหลายฉบับ ก็คือ มีผู้อ่านจำนวนมากเขียนจดหมายไปถามว่าจะนำพระเครื่ององค์ใดมาห้อยคอดี ถ้าจะตอบกันแบบกำปั้นทุบดินโดยไม่ต้องคิดให้หนักสมองก็คือ ชอบองค์ใด ศรัทธาในพระเกจิอาจารย์องค์ใด ก็นำพระเครื่ององค์นั้นมาห้อยคอ ขอให้ชอบหรือศรัทธาต่อองค์พระที่เรานำมาห้อยคอ ก็มีกำลังใจดีแล้ว ทำอะไรก็มีความเชื่อมั่น โอกาสที่จะประสบความสำเร็จหรือเกิดปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ก็มีมากขึ้น หากไม่มีศรัทธาแล้ว พระเครื่องที่ห้อยคอก็เป็นเสมือนเครื่องประดับชนิดหนึ่งเท่านั้น
ประเด็นที่น่าพิจารณาอีกข้อหนึ่งในการตัดสินใจเลือกพระเครื่ององค์ใดองค์หนึ่งมาห้อยคอ ก็คือ ปูมหลังหรือประวัติความเป็นมาในการสร้างพระเครื่องแต่ละรุ่น หากพระเกจิอาจารย์ผู้อธิษฐานจิตแผ่เมตตา มีศีลบริสุทธิ์ เปี่ยมด้วยเมตตาบารมี พลังจิตเข้มขลัง ผู้สร้างมีเจตนาบริสุทธิ์ พิธีกรรมถูกต้องครบถ้วนตามตำรับตำราที่กำหนดไว้แต่โบราณกาล พระเครื่ององค์นั้นเองที่เราควรจะอาราธนามาสักการะบูชาติดตัวเป็นประจำ สวยหรือไม่สวย เก่าหรือไม่เก่า เล่นหากันหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไร คุณค่าอยู่ที่ศรัทธาของแต่ละคนที่มีต่อพระเครื่องแต่ละองค์ต่างหาก เรื่องอื่น ๆ เป็นเพียงส่วนประกอบย่อย ๆ ในการตัดสินใจเลือกหาเท่านั้น
การนำเสนอเรื่องเหรียญพระพุทธในฉบับนี้ (ศูนย์พระเครื่อง ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๑๗๒ / ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๓๙) ผู้เขียนจะได้หยิบยกเหรียญดี มีศิลปะที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งอีกเหรียญหนึ่งที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักมากนัก มาเสนอต่อท่านผู้อ่านโดยละเอียดเพื่อให้เห็นถึงศรัทธาและความมุ่งมั่นของพุทธศาสนิกชนท่านหนึ่งที่ต้องการสร้างพระเครื่องที่ทรงคุณค่า มีพุทธคุณยอดเยี่ยมตามแบบฉบับของการสร้างพระเครื่องที่มีมาแต่โบราณกาล ผลที่เกิดขึ้นจากศรัทธาและความมุ่งมั่นนี้ ถ้าจะหยิบยกหรือนำเรื่องอภินิหาร ประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาเล่าสู่กันฟัง อาจเกิดวิจิกิจฉาหรือข้อสงสัยต่าง ๆ นานัปการ ถ้าเชื่อก็ดีไป ถ้าไม่เชื่อ เรื่องราวที่หยิบยกมาก็จะมีค่าเป็นเพียงนิยายปรัมปรา หรือไม่ก็นิทานหลอกเด็กเท่านั้น ดังนั้น สาระสำคัญของบทความนี้ จึงอยู่ที่กระบวนการจัดสร้างที่พิถีพิถันในทุก ๆ ขั้นตอน เริ่มจากการออกแบบ เนื้อหามวลสารที่มีส่วนผสมของชนวนต่าง ๆ มากมาย และท้ายสุดคือ "พิธีกรรม"
เหรียญพระพุทธอนันตคุณ เป็นเหรียญที่คุณสุธันว์ สุนทรเสวี เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงคราม สร้างขันในปี ๒๕๒๗ โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
๑. เป็นอุเทสิกเจดีย์ไว้เคารพบูชาในคราวที่รำลึกถึงพระพุทธองค์
๒. เพื่อมอบเป็นที่ระลึกแก่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์เพื่อศาสนกุศล และกุศลอื่น ๆ ที่เห็นสมควร
๓. เพื่อเป็นมหากุศลและสืบต่อพระพุทธศาสนา
ลักษณะ เป็นเหรียญรูปไข่ขนาดกลาง ด้านหน้าเป็นรูปพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะแบบสุโขทัย ประทับนั่งบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย ด้านหลังเป็น ยันต์อิติปิโสเกราะเพชร ตามตำรับหลวงปู่ศุข เกสโร วัดปากคลองมะขามเฒ่า ใต้ยันต์เป็นตัวเลขไทย ๒๕๒๗
ขนาด กว้าง ๒.๔ ซ.ม. ยาว ๒.๒ ซ.ม.
เนื้อหามวลสารและจำนวนการสร้าง มีจำนวนทั้งสิ้น ๒,๙๙๙ เหรียญ จำแนกเป็น เหรียญเงิน ๔๖ เหรียญ, โลหะผสม ๒,๓๕๗ เหรียญ, ทองแดง ๕๙๖ เหรียญ. เหรียญทั้งหมดที่สร้างในวาระนี้ มีชนวนต่าง ๆ ผสมอยู่มากมาย ดังรายละเอียดต่อไปนี้
๑) ยันต์ ๑๐๘ นะ ๑๔ ตามตำรับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว
๒) ชนวนพระกริ่ง พระชัยวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทวมหาเถร) วัดสุทัศน์ฯ กรุงเทพมหานคร
๓) ชนวนพระกริ่ง พระชัยวัฒน์ พระมงคลราชมุนี (สนธ์ ยติธโร) วัดสุทัศน์ฯ กรุงเทพมหานคร
๔) ชนวนพระกริ่ง พระชัยวัฒน์ พระศรีสัจจญาณเถร (ประหยัด ปญฺญาธโร) วัดสุทัศน์ฯ กรุงเทพมหานคร
๕) ชนวนพระกริ่งพระศาสนโสภณ (แจ่ม จตฺตสลฺโล) วัดมกุฎกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร
๖) ชนวนพระกริ่งเจ้าคุณนรฯ วัดเทพศิรินทร์ กรุงเทพมหานคร
๗) ชนวนพระกริ่งชินปัญชร หลวงปู่ทิม อิสริโก วัดละหารไร่ ระยอง
๘) ชนวนพระกริ่งอรหัง หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ วัดดอยแม่ปั๋ง เชียงใหม่
๙) ชนวนพระกริ่งหลวงปู่แก้ว สุวณฺณโชโต วัดสุทธิวาตวราราม (ช่องลม) สมุทรสาคร
๑๐) ชนวนพระกริ่งหลวงพ่ออบ อินทวิริโย วัดถ้ำแก้ว เพชรบุรี
๑๑) ชนวนพระกริ่ง - พระชัยวัฒน์ หลวงปู่โต๊ะ อินฺทสุวณฺโณ วัดประดู่ฉิมพลี กรุงเทพมหานคร
๑๒) ชนวนพระหลวงปู่ดู่ พรหฺมปญฺโญ วัดสะแก พระนครศรีอยุธยา
๑๓) ชนวนพระหลวงพ่อทองอยู่ ยโส วัดใหม่หนองพะอง สมุทรสงคราม
๑๔) ชนวนพระกริ่งมหามงคล, พระกริ่งเพชรรัตน์ พระอาจารย์ศรีเงิน อาภาธโร วัดดอนศาลา พัทลุง
๑๕) ชนวนพระกริ่งหลวงพ่อเกษม เขมโก สุสานไตรลักษณ์ ลำปาง
๑๖) ชนวนพระกริ่งหลวงพ่อพรห์ม ติสฺสเทโว วัดขนอนเหนือ พระนครศรีอยุธยา
๑๗) ชนวนพระชัยวัฒน์หลวงปู่บุญ ขนฺธโชติ วัดกลางบางแก้ว นครปฐม
๑๘) ชนวนพระชัยฯ ท่านเจ้ามา อินฺทสโร วัดสามปลื้ม กรุงเทพมหานคร
๑๙) ชิ้นส่วนพระบูชาชำรุดหลายสมัย
๒๐) ชนวนพระรูปเหมือนหลวงปู่เขียน ธมฺมรกฺขิโต วัดถ้ำขุนเณร พิจิตร
๒๑) ชนวนพระรูปเหมือนสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหฺมรํสี) วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพมหานคร
๒๒) ชนวนพระหลวงพ่ออุตตมะ อุตตมรมฺโภ วัดวังวิเวการาม กาญจนบุรี
๒๓) ชนวนพระครูบาขันแก้ว อุตฺโม วัดสันพระเจ้าแดง ลำพูน
๒๔) ชนวนพระท่านพระอาจารย์นำ แก้วจันทร์ วัดดอนศาลา พัทลุง
๒๕) ชนวนพระของพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร สกลนคร
๒๖) ชนวนพระพ่อท่านคลิ้ง จนฺทสิริ วัดถลุงทอง นครศรีธรรมราช
๒๗) ชนวนพระหลวงพ่อหน่าย อินฺทสิโล วัดบ้านแจ้ง พระนครศรีอยุธยา
๒๘) เนื้อระฆังแตกหลวงพ่อพรหม ถาวโร วัดช่องแค นครสวรรค์
๒๙) ตะกรุดต่าง ๆ กว่า ๓๐ รายการ อาทิ ตะกรุดมหาจักรพรรตราธิราช ตะกรุดเกราะเพชร ตะกรุดโสฬสมหามงคล
๓๐) แผ่นยันต์ของพระเกจิอาจารย์ต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งหมด ๓๔๓ รูป
๓๑) เงินพดด้วงสมัยอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์
๓๒) เงินบาทสมัย ร.๕ และ ร.๖
๓๓) เงินนอโม วัดพระบรมธาตุ นครศรีธรรมราช
๓๔) สตางค์แดงรุ่นเก่า พ.ศ. ๒๔๕๙ ๒๔๘๒
พิธีกรรม อธิษฐานจิตแผ่เมตตาเดี่ยวโดยพระเกจิอาจารย์ ๘ รูป รวมเวลาทั้งสิ้น ๒๒๗ วัน ดังนี้
๑) หลวงปู่ดู่ พรหฺมปญฺโญ วัดสะแก อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา วันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๓๗
๒) พระอาจารย์มหาโพธิ์ ญาณสํวโร วัดคลองมอญ อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท วันที่ ๔ กรกฎาคม - ๑๘ ตุลาคม ๒๕๒๗
๓) พระครูวิมลศีลาภรณ์ (ครูบาสุรินทร์ สุรินโท) วัดศรีเตี้ย อ.บ้านโฮ้ง จ.ลำพูน วันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๒๗
๔) พระครูวิมลวรเวทย์ (หลวงพ่อบุญมี ชยวุฑฺโฒ) วัดท่าสะต๋อย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ๒๕ - ๒๗ ตุลาคม ๒๕๒๗
๕) พระครูจันทสมานคุณ (หลวงปู่หล้า ตาทิพย์) วัดป่าตึง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ ๒๙ ตุลาคม - ๒๗ ธันวาคม ๒๕๒๗ ในการอธิษฐานจิตแผ่เมตตา หลวงปู่หล้า ตาทิพย์ ได้เจริญภาวนาพระพุทธมนต์ธรณีสารและพระคาถาชินปัญชรอันศักดิ์สิทธิ์กำกับลงไปในเหรียญอย่างเต็มที่
๖) หลวงปู่หนู ฉินฺนกาโม วัดทุ่งแหลม ราชบุรี ตั้งแต่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๒๗ - ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘
๗) พระเทพวราลังการ (ศรีจันทร์ วณฺณาโภ) วัดศรีสุทธาวาส จ.เลย ตั้งแต่วันที่ ๑๐ - ๑๒ มีนาคม ๒๕๒๘
๘) พระครูเกษมธรรมานันท์ (แช่ม ฐานุสฺสโก) วัดดอนยายหอม นครปฐม ตั้งแต่วันที่ ๑๖ - ๓๐ มีนาคม และ ๑๖ เมษายน ๒๕๒๘
พลานุภาพ ยันต์อิติปิโสเกราะเพชรเป็นยันต์ที่มีพลานุภาพโดดเด่นด้านการคุ้มครองป้องกัน แคล้วคลาดจากภยันตรายต่าง ๆ หากไม่สามารถหาตะกรุดเกราะเพชรสายวัดปากคลองมะขามเฒ่าได้ เหรียญพระพุทธอนันตคุณนี้ น่าจะเป็นทางเลือกที่สามารถนำมาทดแทนได้
ค่านิยม หลักร้อยกลาง ๆ (ปี ๒๕๓๙) ศูนย์ ฯ บางแห่งเล่นหาเป็นพระหลวงปู่ดู่ พรหฺมปญฺโญ เพื่อให้ได้ราคาสูงขึ้น
เหรียญพระพุทธอนันตคุณจัดเป็นเหรียญรุ่นใหม่ที่มีพิธีกรรมยอดเยี่ยมอีกเหรียญหนึ่ง เริ่มจากการออกแบบเหรียญ คุณสุธันว์ สุนทรเสวี ได้ไปสอบทานความถูกต้องของอักขระต่าง ๆ ในยันต์เกราะเพชร กับพระอาจารย์มหาโพธิ์ ญาณสํวโร วัดคลองมอญ ซึ่งเป็นศิษย์สายวัดปากคลองมะขามเฒ่าที่ได้รับการถ่ายทอดสรรพวิชาต่าง ๆ มาจากพระใบฎีกายัง พระฐานานุกรมของหลวงพ่อศุข เกสโร วัดปากคลองมะขามเฒ่า เรื่องนี้ นต.เผ่าพันธุ์ เชี่ยวเวช เคยกล่าวกับผู้เขียนว่า "จ่าเปี๊ยก หรือ ปรีชา เอี่ยมธรรม อดีตบรรณาธิการหนังสืออาณาจักรพระเครื่องเคยพบเห็นตำรับตำราสายวัดปากคลองมะขามเฒ่าของพระอาจารย์มหาโพธิ์ เมื่อ ๒๐ กว่าปีที่แล้วมา" ดังนั้น จึงไม่ต้องสงสัยว่าอักขระเลขยันต์ที่ปรากฏในเหรียญพระพุทธอนันตคุณถูกต้องตามตำรับตำราที่มีมาแต่โบราณกาลหรือไม่ หากจะมีอักขระวิบัติบ้าง ก็คงอยู่ที่ขั้นตอนการแกะแม่พิมพ์ ตัวหนังสือยิ่งเล็กเท่าไหร่ โอกาสพลาดก็อาจมีได้เช่นกัน
นอกจากการกำหนดแบบแล้ว เหรียญพระพุทธอนันตคุณยังมีความแปลกแยกแตกต่างจากเหรียญปั๊มทั่วไปคือ เป็นเหรียญที่มีชนวนสำคัญ ๆ ผสมอยู่มากมาย โดยปกติแล้ว เหรียญปั๊มส่วนใหญ่จะไม่มีชนวนผสมเลย ในเมื่อเน้นเรื่องชนวน จำนวนการสร้างจึงมีไม่มากนัก และพิธีกรรมในการอธิฐานจิตแผ่เมตตาที่ผู้สร้างกำหนดขึ้น ต้องยอมรับว่าพระเกจิอาจารย์แต่ละรูป ล้วนเป็นพระสุปฏิปันโนผู้มีพลังจิตแก่กล้าทั้งสิ้น จุดเด่นที่สุดของพระเกจิอาจารย์ทั้งแปดรูป นักนิยมพระเครื่องทั่วไปจะให้เครดิตกับหลวงปู่ดู่ พรหฺมปญฺโญ วัดสะแก และพยายามตีขุมให้เป็นพระเครื่องของหลวงปู่ดู่ พรหฺมปญฺโญ เพราะได้ราคาดีกว่า แต่ถ้าจะว่ากันตามเนื้อผ้า พระอาจารย์มหาโพธิ์ ญาณสํวโร วัดคลองมอญ น่าจะโดดเด่นที่สุด เหตุผลง่าย ๆ พื้น ๆ ก็คือ เหรียญพระพุทธอนันตคุณถูกจริตหรือต้องโฉลกกับพระอาจารย์มหาโพธ์ ญาณสํวโร มากที่สุด ยันต์อิติปิโสเกราะเพชรเป็นยันต์ที่พระอาจารย์มหาโพธิ์ ญาณสํวโร เชี่ยวชาญมากที่สุด ตะกรุดเกราะเพชรของพระอาจารย์มหาโพธิ์ ญาณสํวโร วัดคลองมอญ ก็มีชื่อเสียงโดดเด่นเป็นที่ยอมรับกันว่ามีพลานุภาพยอดเยี่ยม จัดเป็นหนึ่งในสิบของตะกรุดชั้นแนวหน้าที่สร้างขึ้นในยุคหลังกึ่งพุทธกาล ในเมื่อยันต์ประทับหลังเหรียญเป็นยันต์อิติปิโสเกราะเพชรที่ผ่านการตรวจทานจากพระอาจารย์มหาโพธิ์ ญาณสํวโร และท่านได้เมตตาอธิษฐานจิตแผ่เมตตาเดี่ยวนานถึง ๑๐๗ วัน แล้วจะให้เข้าใจเป็นอย่างอื่นได้อย่างไร