แชร์

เหรียญเกราะเพ็ชร์ วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร ปี ๒๕๐๗

อัพเดทล่าสุด: 24 ก.พ. 2025
148 ผู้เข้าชม

  เหรียญเกราะเพ็ชร์ วัดบพิตรพิมุข ปี ๒๕๐๗

โดย... ชายนำ ภาววิมล ...

           ภาพรวมของการเล่นหาและสะสมเหรียญพุทธคุณ เหรียญรูปเหมือนพระเกจิอาจารย์เป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมและเล่นหากันในวงกว้าง ทั้งมีสนนราคาเช่นหาสูงกว่าเหรียญพระพุทธเป็นอันมาก โดยเฉพาะในทุกวันนี้ ลักษณะการเล่นหาสะสมพระเครื่องที่แปรเปลี่ยนไปตามกระแสความเจริญทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ มี Smart phone เป็นพระเอกในการสื่อสารบนสังคมโลกยุคใหม่ พระเครื่องและวัตถุมงคลของพระเกจิอาจารย์ต่าง ๆ มีช่องทางการนำเสนอและเข้าถึงนักนิยมพระเครื่องมากขึ้น ทั้งเปิดโอกาสให้นักนิยมพระเครื่องยุคใหม่สามารถเสนอขายพระเครื่องและวัตถุมงคลบนสื่อออนไลน์ได้อย่างเสรี ผลที่ตามมาคือ มีการนำเสนอข้อมูลและภาพเหรียญรูปเหมือนของพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงเกียรติคุณโด่งดังในระดับท้องถิ่นขึ้นบนเว็บไซต์เป็นจำนวนมาก มีการจัดตั้งกลุ่มสาธารณะต่าง ๆ มากมาย พระเครื่องและวัตถุมงคลที่เคยไม่รู้จักมาก่อน ก็เริ่มปรากฏตัวและเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น มีสายตรงที่เชี่ยวชาญการเล่นหาสะสมพระเครื่องและวัตถุมงคลของพระเกจิอาจารย์แต่ละสายเพิ่มขึ้น เหรียญรูปเหมือนพระเกจิอาจารย์สภาพสวยเดิม ๆ  ศิลปะดีและสวยงามตระการตาที่เคยถูกมองข้ามไปเมื่อวันวาน ก็มีคนตามเก็บและสู้ราคากันแบบเห็นแล้วสะดุ้งไปหลายตลบ แต่ก็ยังมีพระเครื่องและวัตถุมงคลอีกจำนวนมากที่ยังเล่นหาอยู่ในวงแคบ ๆ สนนราคาเช่าหาก็ต่ำมาก ทั้ง ๆ ที่พระเครื่องและวัตถุมงคลเหล่านั้น เป็นของดี มีศิลปะงดงาม พิธีกรรมเยี่ยมยอดสุด ๆ ทั้งนี้เพราะนักนิยมพระเครื่องรุ่นใหม่ไม่รู้จัก

          พระเครื่องและวัตถุมงคลที่มีค่านิยมในการเล่นหาไม่สูงมากนักหรือนิยมเล่นหากันเฉพาะกลุ่มลูกศิษย์ พระเบ็ดเตล็ดหรือพระลูกย่อยที่ซื้อเข้าง่ายขายออกยาก มิได้หมายความว่าเป็นพระเครื่องที่ไม่มีคุณค่าหรือไม่มีอนาคต แต่เป็นโอกาส... โอกาสสำหรับผู้ที่นิยมชมชอบในพุทธศิลป์แบบใจรักจะเลือกเก็บสะสมพระเครื่องหรือเหรียญตามแนวทางที่ตนชอบในราคาที่ไม่สูงมากจนเกินไป แถมยังได้พระสวย ๆ เลี่ยมกันน้ำไว้อวดเพื่อนฝูงอีกต่างหาก หรือจะให้ลูกหลานห้อยคอติดตัวไปไหนต่อไหน ก็สบายใจไม่ต้องกลัวใครมากระชากแย่งชิงหรือทำร้ายร่างกายคนที่เรารัก พระเครื่องและวัตถุมงคลในกลุ่มนี้ มีให้เห็นมากพอสมควร คนที่มีข้อมูลดีกว่าย่อมได้เปรียบ สามารถเลือกเก็บสะสมและทำตลาดได้มากกว่าคนที่เดินตามกระแสการสะสมพระเครื่องแบบดั้งเดิม แนวทางนี้ มิใช่สิ่งที่ไม่มีอยู่จริงในสังคมพระเครื่องทุกวันนี้ ในสังคมพระเครื่องออนไลน์ เริ่มมีกระแสความนิยมในการทำตลาดพระเครื่องประเภทหนึ่งที่เรียกว่า พระลึกลับ หมายถึง พระเครื่องและวัตถุมงคลในอดีตที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้จักและมองข้ามมานาน เมื่อมีการเปิดเผยข้อมูลและสร้างกระแสในระดับหนึ่ง พระเครื่องเหล่านั้น มีค่านิยมและสนนราคาเช่าหาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

          หนึ่งในเหรียญพระพุทธที่นักนิยมพระเครื่องส่วนใหญ่ละเลยและมองข้ามมานานกว่า ๔๐ ปี ก็คือ เหรียญเกราะเพ็ชร์ วัดบพิตรพิมุขวรวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ปี ๒๕๐๗ พิจารณาจากข้อมูลซึ่งปรากฏในหนังสือ "อิทธิฤทธิ์ประสิทธิ์ผล" เอกสารเผยแพร่ของวัดบพิตรพิมุข ปี ๒๕๐๗ ต้องยอมรับตามความเป็นจริงว่าพระเครื่องและวัตถุมงคลของวัดบพิตรพิมุขที่จัดสร้างโดยพระสิรินันทมุนี อดีตเจ้าอาวาสวัดบพิตรพิมุข ในปี ๒๕๐๗ เป็นพระเครื่องที่มีเจตนาในการสร้างและพิธีกรรมดีมาก สาเหตุที่พระเครื่องชุดนี้โดยเฉพาะเหรียญเกราะเพ็ชร์เหรียญนี้ ยังไม่เป็นที่นิยมเล่นหาสะสมกันในวงกว้าง คงปฏิเสธมิได้ว่าเมื่อพูดถึงวัดบพิตรพิมุขหรือวัดเชิงเลน นักนิยมพระเครื่องส่วนใหญ่จะนึกถึงพระปิดตาและเหรียญหลวงปู่ไข่ อินทสโร เป็นอันดับแรก ด้วยเหตุที่พระเครื่องสองรายการนี้เป็นพระเครื่องยอดนิยมที่หายากยิ่งกว่าการงมเข็มในมหาสมุทร มีสนนราคาเช่าหากันตั้งแต่หลักหลายแสนขึ้นไปถึงหลักล้าน และในปี ๒๕๑๕ ทางวัดบพิตรพิมุขจัดสร้างพระเครื่องขึ้นมาอีกรุ่นหนึ่งโดยการล้อศิลปะพระปิดตาและเหรียญรูปเหมือนหลวงปู่ไข่ อินทสโร ตามแบบอย่างที่คนยุคนี้เรียกว่าพระย้อนยุค กระแสความสนใจจึงอยู่ที่พระเครื่องที่จัดสร้างในปี ๒๕๑๕ มากกว่ารุ่นปี ๒๕๐๗

          ความเป็นมาของการจัดสร้างพระเครื่องและวัตถุมงคลชุดอิทธิฤทธิ์ประสิทธิ์ผล ปี ๒๕๐๗ เป็นพระเครื่องที่มีอายุการสร้างนานกว่าห้าสิบปี (ปี ๒๕๖๐) ผ่านพิธีพุทธาภิเษกใหญ่ของวัดบพิตรพิมุขหลายครั้งหลายหน ประวัติความเป็นมาในการจัดสร้างที่ระบุไว้ในเอกสารเผยแพร่ของวัดบพิตรพิมุข มีสาระสำคัญโดยสรุปดังนี้ "ในปี ๒๕๐๗ พระสิรินันทมุนี เจ้าอาวาสวัดบพิตรพิมุข ถนนจักรวรรดิ พระนคร ดำริที่จะสร้างพระเครื่องขึ้นมาสักรุ่นหนึ่งเพื่อหารายได้สมทบทุนสร้างกุฏิสงฆ์ที่ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา นอกจากวัตถุประสงค์ในการหาทุนแล้ว พระสิรินันทมุนียังมีความมุ่งมั่นที่จะสรรค์สร้างพระเครื่องที่ทรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธ์แห่งพุทธมนต์ อักขระพระคาถาหัวใจไตรสรณาคม และพิธีกรรมตามตำรับตำราที่สืบทอดมาจากหลวงปู่ไข่ อดีตเจ้าอาวาสวัดบพิตรพิมุข เพื่อให้ผู้ที่นำไปสักการบูชาเป็นเครื่องมนสิการ ยังความสำเร็จสถาพรมาสู่ชีวิต พระเครื่องและวัตถุมงคลที่สร้างในวาระนี้ มี ๕ รายการด้วยกัน ประกอบด้วย พระพุทธกวัก ว.บ.พ. (ทางมหาลาภ - ผล), เหรียญเกราะเพ็ชร์ (ทางป้องกัน), เหรียญโภคทรัพย์ (ทางร่ำรวย), พระปิดตาพระอาจารย์ไข่ ว.บ.พ. (ทางมหานิยมอำนาจ), และผ้าธงยันต์อาจารย์ไข่ (ทางค้าขาย - อาชีพ)"

         เหรียญเกราะเพ็ชร์ เป็นเหรียญที่มีลักษณะและขนาดเล็กเท่าพระปรกใบมะขามทั่วไป ด้านหน้าเป็นภาพจำลองหลวงพ่อแสน พระพุทธรูปสำคัญของวัดบพิตรพิมุข ข้างพระเศียรเป็นอักขระขอม ๔ ตัว คือ พุท ธะ สัง มิ  ใต้ฐานเป็นอักษรย่อ ว.บ.พ. (วัดบพิตรพิมุข) ด้านหลังเหรียญเป็นยันต์เกราะเพ็ชร์ หลวงพ่อแสนองค์นี้ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสร้างตามแบบศิลปะเชียงแสน องค์เดิมเป็นเนื้อทองขาวล้วน เมื่อคราวที่วัดบพิตรพิมุขประสบอัคคีภัย หลวงพ่อแสนถูกไฟไหม้เหลือแต่พระเศียร พระสิรินันทมุนี จึงบูรณะใหม่ให้เป็นองค์ที่สมบูรณ์ในวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๗ นำเข้าพิธีพุทธาภิเษกพร้อมทั้งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเข้าไว้ในพระเกศ เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ และถวายพระนามใหม่ว่า "พระพุทธนันทมหามุนี ศรีอุตตร บุรีเชียงแสน อายุวัฒนโลกุตตมาจารย์"

         พิธีพุทธาภิเษกจัดขึ้นที่พระอุโบสถวัดบพิตรพิมุข เริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ ตรงกับวันแรม ๘ ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะโรง ศุภฤกษ์เวลา ๑๓ นาฬิกา ๒๕ นาที ประกอบด้วยภะระณี คือ มหัทธะโน ๒ แห่งฤกษ์ เป็นฤกษ์ที่มีอิทธิฤทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ มีลาภผลดี เจริญสุขดียิ่ง (ผู้ให้ฤกษ์: พระครูพิศาลสรกิจ หรือพระอาจารย์กลิ่น วัดจักรวรรดิราชาวาส) พระเกจิอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน ๑๖ รูป อธิษฐานจิตปลุกเสก พระเกจิอาจารย์ทั้ง ๑๖ รูป ประกอบด้วย

               ๑) พระครูอาทรสิกขกิจ (บุญมี อิสโร) วัดเขาสมอคอน ลพบุรี 
               ๒) พระครูอนุกูลคณารักษ์ (เงิน) วัดสว่างอารมณ์ นครนายก 
               ๓) พระครูสังวรโสภณ (มาก) วัดปากคลอง ลพบุรี 
               ๔) พระครูสุเทพสิทธิการย์ (ทองอยู่ ฐิติญาโณ) วัดเทวประสาท พิจิตร  
               ๕) พระครูสุขวุฒาจารย์ (สุข สุขสโร) วัดบางลี่ ลพบุรี 
               ๖) พระครูพิศาลสรกิจ (กลิ่น) วัดจักรวรรดิราชาวาส 
               ๗) พระครูสละ ปุญญสุวณฺโณ (หลวงพ่อฤาษี) วัดท้องคุ้ง ลพบุรี 
               ๘) พระอาจารย์เพิ่ม สุวิโจ วัดจักรวรรดิราชาวาส  
               ๙) พระอาจารย์ถิร วัดบพิตรพิมุข 
               ๑๐) หลวงพ่อเต๋ คงทอง วัดสามง่าม นครปฐม 
               ๑๑) พระครูสรกิจพิจารณ์ (ผัน จิณฺณธมฺโม) วัดราษฎร์เจริญ สระบุรี 
               ๑๒) ปรมาจารย์ผ่อง จินดา วัดจักรวรรดิราชาวาส 
               ๑๓) พระอาจารย์โชติ วัดจักรวรรดิราชาวาส 
               ๑๔) พระมหาสอน (ศิษย์เอกหลวงปู่ไข่) วัดบพิตรพิมุข 
               ๑๕) พระครูสาธุธรรมคุณาธาร (วน อหิสโก) วัดบพิตรพิมุข 
               ๑๖) พระครูสถาพรพุทธมนต์ (สำเนียง อยู่สถาพร) วัดเวฬุวนาราม นครปฐม

          เหรียญเกราะเพ็ชร์ วัดบพิตรพิมุข รุ่นนี้ เป็นเหรียญที่สร้างขึ้นสำหรับเด็กโดยเฉพาะ ช่วงแรกที่ทางวัดนำออกให้เช่าบูชาใหม่ ๆ มีด้ายสำหรับผูกข้อมือติดมากับเหรียญเพื่อให้ผู้เช่าบูชานำไปผูกข้อมือเด็ก ในเอกสารเผยแพร่ของวัดที่อ้างถึง กล่าวถึงเหรียญนี้ว่าเหรียญนี้มีลักษณะคล้ายใบมะขาม เล็กกะทัดรัด สวยงามมาก ขนาดกว้างของเหรียญประมาณครึ่งเซ็นต์ สูงประมาณ ๑ เซ็นต์ ด้านหน้าของเหรียญเป็นรูปหลวงพ่อแสน ที่ฐานมีตัวอักษร ว.บ.พ. ด้านหลังเป็นยันต์เกราะเพ็ชร์สี่เหลี่ยมรี มีพระอุณาโลมอยู่เบื้องบน วัตถุที่ทำเหรียญทำด้วยโลหะอย่างเดียวเป็นสีทอง ได้ทำด้ายสำหรับผูกข้อมูล ผูกติดไว้ที่เหรียญนั้นด้วย เพื่อใช้ผูกข้อมือเด็กจะไม่ขี้อ้อน เลี้ยงง่ายไม่เจ็บไข้ เมื่อหมดความจำเป็นแล้ว ตัดออกเหลือไว้แต่เหรียญไว้สำหรับติดตัวเด็ก ป้องกันอันตรายต่อไป เวลาจะผูกข้อมือเด็กให้ระลึกถึงหลวงพ่อแสนแล้วว่าพระคาถา คะ พุทธ ปัน ทู ธัม วะ คะ เด็กจะสมบูรณ์โตวันโตคืน คุณานุภาพของเหรียญเกระเพ็ชร์ ตามตำหรับบอกไว้ว่า เป็นเจ้าแห่งการป้องกันทั้งหลาย ผู้ที่มีเหรียญนี้เหมือนกับมีเกราะเพ็ชร์ป้องกันตัว จึงสมควรมีไว้เพื่อบุตรหลานของท่าน

         เนื่องจากเหรียญเกราะเพ็ชร์ มีจำนวนการสร้างมากพอสมควร และทางวัดก็มิได้ประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงจุดเด่นของเหรียญรุ่นนี้อย่างจริงจัง เป็นเหตุให้เหรียญเกราะเพ็ชร์เหลือตกค้างที่วัดบพิตรพิมุขนานกว่า ๒๐ ปี ผิดกับพระปรกใบมะขามที่ทางวัดบพิตรพิมุขจัดสร้างในปี ๒๕๑๖ มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่าหลวงปู่โต๊ะ อินทสุวณฺโณ วัดประดู่ฉิมพลี มาร่วมอธิษฐานจิตปลุกเสกด้วย ทั้งให้เช่าบูชาและแจกฟรีให้กับผู้ถือใบปลิวของวัดมารับแจก ทำให้พระปรกใบมะขามรุ่นนั้นหมดไปจากวัดอย่างรวดเร็ว การเหลือตกค้างที่วัดบพิตรพิมุขก็มีผลดีเช่นกัน ทางวัดนำวัตถุมงคลและพระเครื่องที่สร้างในปี ๒๕๐๗ เข้าพิธีพุทธาภิเษกฯ อีกหลายครั้ง อาทิ ปี ๒๕๑๕, ๒๕๑๖, ๒๕๓๖ กว่าเหรียญเกราะเพ็ชรจะค่อยๆหมดไปจากวัดบพิตรพิมุข ในปาเข้าไปถึงปี ๒๕๓๘ - ๒๕๓๙

          เมื่อวันวาน เหรียญเกราะเพ็ชร์เปรียบเสมือนเพชรในตมที่นักนิยมพระเครื่องทั่วไปมองข้ามกันมานาน นานกว่า ๕๓ ปี มาในวันนี้ กระแสความนิยมในพระเครื่องประเภทพระกลางใหม่กลางเก่าที่นักนิยมพระเครื่องทั่วไปไม่รู้จักและมองข้ามมาโดยตลอด เริ่มขยายตัวมากขึ้น รวมทั้งพระใหม่ที่มีขนาดเล็กกะทัดรัด เล็กพอ ๆ กับพระปรกใบมะขามในอดีต เริ่มเป็นที่นิยมและมีการจัดสร้างมากขึ้นเรื่อย ๆ น่าจะมีส่วนเกื้อหนุนให้คนหันมามองเหรียญเกราะเพ็ชร์รุ่นนี้มากขึ้น แต่ถ้าต้องการหาพระเครื่องชั้นดีให้คนที่ท่านรักห้อยคอ เหรียญเกราะเพ็ชร์เป็นทางเลือกที่น่าพิจารณาไม่น้อย มีทั้งความเก่า พิธีกรรมถูกต้องตามแบบอย่างที่มีมาแต่โบราณกาล ให้เด็กห้อยคอก็ไม่ต้องกลัวหาย ไม่ต้องอันตรายจากมิจฉาชีพ จะเลี่ยมทองไว้ใช้เองก็เบากระเป๋า

(บทความเก่าจากนิตยสารพระเครื่องพระเกจิ ปี ๒๕ ฉบับที่ ๓๐๔ เดือนธันวาคม ๒๕๖๐ หน้า ๗๐ - ๗๑) 


บทความที่เกี่ยวข้อง
หน้าปกบทความ_
บทความเก่าว่าด้วยประวัติความเป็นมาและข้อมูลเกี่ยวกับพระปรกใบมะขามหลวงปู่วิวเียร ฐิตปุญญเถร จากนิตยสารศูนย์พระเครื่อง ฉบับที่ ๑๗๒
21 ก.พ. 2025
หน้าปกบทความเรื่อง_22_เหรียญพระพุทธอนันตคุณ
บทความเก่าจากนิตยสารศูนย์พระเครื่องเรื่องเหรียญพระพุทธอนันตคุณ ปี ๒๕๒๗ เนื้อหาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและข้อมูลของเหรียญฯ
10 ก.พ. 2025
หน้าปกบทความพระพุทธกลฺยาณมิตฺตตา
บทความเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาในการดำเนินงานจัดสร้างพระพุทธกลฺยาณมิตฺตตา หลวงปู่เสาร์ห้า ปญฺญาวชิโร สำนักสงฆ์อุดมศรีสุข รุ่นเสาร์ห้า ปี ๒๕๖๗
6 ก.พ. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy