พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ตำนานยอดพระเครื่องเมืองหลังสวน (๑/๒๔)
พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน : ตำนานยอดพระเครื่องเมืองหลังสวน (๑/๒๔)
โดย... ชายนำ ภาววิมล ...
ปี ๒๕๓๒ ผู้เรียบเรียงขอโอนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ไปรับราชการที่กองคุ้มครองแรงงาน กรมแรงงาน (ขณะนั้น กรมแรงงานเป็นส่วนราชการระดับกรมในสังกัดกระทรวง มหาดไทย) การโอนมารับราชการที่กรมแรงงาน เป็นช่วงจังหวะที่ทำให้มีโอกาสรู้จักมักคุ้นกับนักนิยมพระเครื่องอาวุโสหลายท่าน อาทิ จุฑาธวัช อินทรสุขศรี อดีตปลัดกระทรวงแรงงาน, สุธน ศรีหิรัญ บรรณาธิการนิตยสารพระเครื่องลานโพธิ์ ทั้งเป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าไปสัมผัสรับรู้เรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับพระเกจิอาจารย์สายเขาอ้อนอกเขตพื้นที่จังหวัดพัทลุงรูปหนึ่ง พระเกจิอาจารย์ที่ไม่เป็นสองรองใครในหมู่เหล่าของพระเกจิอาจารย์สายเขาอ้อหลังยุคพระอาจารย์นำ ชินวโร วัดดอนศาลา, พระอาจารย์ปาล ปาลธมฺโม วัดเขาอ้อ, หลวงพ่อหมุน ยสโร วัดเขาแดง ตะวันตก, หลวงพ่อคง สิริมโตวัดบ้านสวน ทั้งเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างพระเครื่องชุดหลวงพ่อแดง พุทโธ ปี ๒๕๑๑ คู่กับอาจารย์ชุม ไชยคีรี พระเกจิอาจารย์รูปนี้คือ พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม พระเกจิ อาจารย์เมืองหลังสวนที่เชี่ยวชาญในพระเวทย์วิทยาคมหลากหลายแขยง อาทิ การเป่าทองเข้าตัว น้ำมนต์ดอกบัวทอง การลบผงทำผงพุทธคุณต่างๆ เช่น ผงทะลุกระดาน ผงนอโมเข้าห้อง เมื่อละสังขารไปแล้ว สังขารของท่านก็ไม่เน่าไม่เปื่อย
๗ ปีกว่า (ตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ ๒๕๓๙) ที่มีโอกาสใกล้ชิดและแบ่งเบาภาระพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ในการเททองหล่อพระพุทธฐานธรรมหิรัญบรรพต พระประธานในพระอุโบสถหลังใหม่ของวัดถ้ำเขาเงิน การจัดสร้างครั้งนี้เป็นแนวคิดคุณสุธน ศรีหิรัญ ที่เคยตกลงกับพ่อท่านเอาไว้ สมัยเดินทางไปพบท่านครั้งแรกกับคุณประกอบ กำเนิดพลอย ว่าจะพยายามหาทุนสร้างอุโบสถให้ จนต่อมา คุณคงศักดิ์ เทพทวีพิทักษ์ ได้เข้ามาร่วมสมทบ โดยคุณสุธน ศรีหิรัญได้นำรูปแบบ "พระกริ่งทักษิณชินวโร" ที่เคยร่วมสร้างกับพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล, คุณประกอบกำเนิดพลอย ถวายพระอาจารย์นำ แก้วจันทร์ ที่วัดดอนศาลา พัทลุง โดยนำเค้าต้นแบบมาจากพระพุทธรูปศิลปะศรีวิชัย ที่พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลได้มาจากภาคใต้ในอดีต โดยได้ดัดแปลงจากปางมารวิชัยมาเป็นปางประทานพร ส่วนชื่อนั้น คุณสุธน ศรีหิรัญ ได้นำเอาฉายาของพ่อท่านคล้อย คือ "ฐานธมฺโม" มาผนวนกกับชื่อวัดถ้ำเขาเงิน เป็น "พระพุทธฐานธรรมหิรัญบรรพต" อันมีความหมายว่า "ธรรมของพระพุทธองค์ได้หลักปักฐาน ณ ภูเขาเงินแล้ว" นอกจากนั้น ยังได้เชิญ พล.ต.อ.มนัส ครุฑไชยันต์ มาเป็นประธานเททอง ณ วัดถ้ำเขาเงิน โดยมีบรรดาลูกศิษย์และประชาชนมาร่วมพิธีจำนวนมาก
นอกจากนั้น ได้สร้างพระพุทธฐานธรรมหิรัญบรรพต ขนาดบูชา ๙ นิ้ว เหรียญและพระผงพระพุทธฐานธรรมหิรัญบรรพต ไว้ด้วย โดยทำพิธีพุทธาภิเษกในโบสถ์หลังเก่า มีคณาจารย์เขาอ้อจากพัทลุงมาร่วมพิธีฯ ในงานนั้น พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ได้ร่วมกับพระครูกาชาด (บุญทอง) วัดดอนศาลาทำข้าวเหนียวดำแจกผู้เดินทางไปร่วมงานพุทธาภิเษก จากนั้น ได้สนองงานจัดสร้างวัตถุมงคลและพระเครื่องรุ่นต่างๆ กว่าสิบพิมพ์ ตลอดทั้งการเขียนบทความเพื่อเผยแพร่ชื่อเสียงเกียรติคุณของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ในนิตยสารพระเครื่องหลายต่อหลายฉบับ หนังสือ ชีวประวัติและภาพพระเครื่องหลวงพ่อคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน อ.หลังสวน จ.ชุมพร (เล่มหน้าปกสีแดง) โดยใช้นามปากกาว่า ศิษย์พ่อหลวง ล่าสุดเปิดกลุ่มสาธารณะในเฟสบุ๊ค เกียรติคุณพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน สิ่งที่ทำมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ มาถึงทุกวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับชีวประวัติ ปฏิปทาวัตรปฏิบัติและข้อมูลเชิงลึกที่เป็นเบื้องหลังการจัดสร้างวัตถุมงคล/พระเครื่องรุ่นสำคัญๆ ของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ยอดพระเกจิอาจารย์แห่งลุ่มน้ำหลังสวน ข้อมูลดังกล่าวมานี้ ส่วนหนึ่งเป็นข้อมูลที่ศึกษาค้นคว้าจากเอกสารและพยานวัตถุที่เกี่ยวข้อง ส่วนหนึ่งเป็นประสบการณ์ตรงที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดสร้างพระประธานในพระอุโบสถหลังใหม่ วัตถุมงคล/พระเครื่องและรับรู้เรื่องการจัดสร้างวัตถุมงคล/พระเครื่องของศิษย์สายต่างๆ การนำเสนอชีวประวัติของท่านคล้อย ฐานธมฺโม ในนิตยสารพระเครื่องลานโพธิ์ ฉบับนี้ แม้มิใช่บทความที่สามารถนำเสนอรายละเอียดและข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามหลักและวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลในโลกอุดมคติได้ แต่อย่างน้อยที่สุด บทความที่สุธน ศรีหิรัญ บรรณาธิการ นิตยสารพระเครื่องลานโพธิ์ มอบหมายให้ผู้เรียบเรียงรวบรวมและนำเสนอในนิตยสารพระเครื่องฉบับนี้ คงเป็นแนวทางการศึกษาค้นคว้า เล่นหาสะสมวัตถุมงคล/พระเครื่องที่พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม จัดสร้างได้อย่างถูกต้อง
หลังสวน : จากชุมชนเกษตรกรรมขนาดเล็กและท่าเรือข้ามคาบสมุทร สู่เมืองผลไม้ที่หลากหลาย
เมืองหลังสวน เมืองต้นกำเนิดของตำนานการสร้างยอดพระเครื่องสายเขาอ้ออันเกรียงไกรที่อยู่นอกเขตพื้นที่จังหวัดพัทลุง มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ไม่มีหลักฐานอ้างอิงที่ชัดเจน ทราบแต่ว่าลุ่มน้ำหลังสวนเป็นแหล่งที่มนุษย์เข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ด้วยข้อจำกัดที่เป็นแม่น้ำสายสั้นๆ และมีพื้นที่ราบลุ่มน้อย เป็นเหตุให้ชุมชนในอาณาบริเวณนี้ไม่สามารถขยายตัวเป็นชุมชนเกษตรขนาดใหญ่เฉกเช่นเมืองชุมพร เมืองไชยา เมืองนครศรีธรรมราช และเมืองพัทลุง หลังสวนในอดีต จึงมีฐานะเป็นเพียงชุมชนเกษตรกรรมขนาดเล็กและชุมชนท่าเรือข้ามคาบสมุทรที่มีพัฒนาการของความเป็นเมืองควบคู่มากับเมืองชุมพร ทั้งมีฐานะเป็นเพียงเมืองบริวารของเมืองชุมพร ประเด็นที่ว่าเป็นชุมชนท่าเรือข้ามคาบ สมุทร เป็นประเด็นคำถามทางภูมิประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจและควรค่าแก่การศึกษามาก พิจารณาจากแผนที่ภาคใต้ของราชอาณาจักรไทย เขตพื้นที่ชุมพร ระนอง แถบลุ่มน้ำหลังสวนเขตพื้นที่ที่แคบที่สุดในคาบสมุทรอินโดจีน รายละเอียดที่แท้จริงเป็นอย่างไร คงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักภูมิศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ว่ากันไปตามวิชาชีพของเขา แต่มีข้อสังเกตประการหนึ่งที่สันนิษฐานได้ว่า เมืองหลังสวนเป็นชุมชนเก่าแก่ที่ก่อรากสร้างฐานมานาน แต่ไม่ค่อยมีบทบาทและความสำคัญในเชิงภูมิรัฐศาสตร์มากนัก เพิ่งมาเป็นเมืองในเส้นทางยุทธศาสตร์การรบระหว่างไทยกับพม่าตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมาถึงตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และเริ่มปรากฏชัดว่าเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจในรัชสมัยพระ บาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ชื่อเมือง หลังสวน มีที่มาที่ไปอย่างไร ยังไม่สามารถสืบค้นพยานหลักฐานใดมายืนยันหรือตอบคำถามได้อย่างชัดเจน เป็นเพียงข้อสันนิษฐานที่เชื่อสืบต่อกันมา ข้อสันนิษฐานแรกหลังสวน มาจากคำว่า รังสวน หรือ คลังสวน ทั้งสองคำมีความหมายคล้ายคลึงกัน นัยคือเป็นที่รวมของผลไม้นานาชนิด มิใช่ว่ามีเพียงผลไม้ชนิดใดชนิดหนึ่ง เพราะเมืองหลังสวนมีผลไม้แทบทุกชนิดที่ภาคใต้มีและมีตลอดทั้งปี ต่างจากเมืองอื่นๆ ที่มีผลไม้เพียงไม่กี่ชนิด บางเมืองมีเพียงชนิดเดียว ผลไม้ที่มีชื่อเสียงของหลังสวน มีดังนี้ เงาะ ทุเรียน มังคุด ลางสาด ละมุด ลูกจันทร์ กล้วย เป็นต้น ข้อสันนิษฐานนัยนี้ วิกิพิเดีย นำเสนอไว้ว่า ...กระทรวงคมนาคมจึงได้สันนิษฐาน ในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ ว่า หลังสวน น่าจะเพี้ยนมาคำว่า รังสวน หรือ คลังสวน ซึ่งหมายถึง แหล่งหรือที่รวมของผลไม้ทุกชนิดนั่นเอง ข้อสันนิษฐานที่สอง มีนัยไปในทิศทางเดียวกันคือเป็นชื่อที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับผลไม้ นัยนี้มีข้อสันนิษฐานว่าชื่อเมืองมาจากคำว่าบ้านหลังสวนมีที่มา ๓ ประการ คือ
๑) ทุกบ้านในเมืองหลังสวนปลูกต้นไม้ไว้จนไม่สามารถมองเห็นบ้านเรือน จึงมีผู้สงสัยว่าบ้านเมืองนี้หายไปไหน จึงมองไม่เห็น คำตอบคือบ้าน อยู่หลังสวน ความหมายคือหน้าบ้านเป็นสวน ต่อมากร่อนเหลือแค่ หลังสวน
๒) มาจากคำว่าหลังบ้านมีสวน เป็นความหมายที่แสดงถึงวิถีชีวิตของคนหลังสวนในสมัยก่อนว่า ทุกบ้านมีสวนของตนเอง แม้บ้านเจ้านายในสมัยก่อนก็มีสวนผักสวนผลไม้เช่นเดียวกัน
๓) เป็นอีกหนึ่งข้อสันนิษฐานที่วิกิพิเดียนำเสนอว่า เมื่อครั้งที่พระยาอุปกิตศิลปสารเดินทางไปตรวจราชการที่เมืองหลังสวน ก็ได้ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับที่มาของคำว่าหลังสวน ดังนี้ ....คำว่า หลังสวน จะผิดหรือถูก ขอฝากไว้ที่นี้ด้วย คือ ริมฝั่งทั้งสองของแม่น้ำ ไม่เห็นมีบ้านเรือนเหมือนอย่างแม่น้ำเรา มีแต่สวนครึ้มทั้งสองฟาก มีแต่ทางขึ้นลงจากแม่น้ำเท่านั้น ถามผู้แจวเรือว่าแถวนี้ไม่มีบ้านดอกหรือ เขาตอบว่ามีแต่อยู่หลังสวนขึ้นไป ภายหลังข้าพเจ้าไปเที่ยวตามบ้านเหล่านั้น ก็ได้เห็นจริงตามที่เขาพูด จึงสันนิษฐานว่า เมืองหลังสวนคงมาจากเค้าที่บ้านเมืองอยู่ข้างหลังสวนลึกเข้าไป...
นอกจากข้อสันนิษฐานที่มาจากลักษณะทางภูมิสังคมของเมืองหลังสวนดังกล่าวแล้ว ยังมีข้อสันนิษฐานอีกประการหนึ่งที่ผู้เรียบเรียงพบเห็นจากกระดาษอัดสำเนาที่เมือง เมืองชุมพรเป็นผู้มอบให้เมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว ข้อสันนิษฐานนี้ มีสาระสำคัญโดยสรุปว่า หลังสวนมาจากคำว่าล้างสวด ซึ่งเป็นชื่อเดิมของแม่น้ำหลังสวน (คลองล้างสวด) เหตุที่ใช้ชื่อนี้ มีผู้สันนิษฐานว่า "เมื่อปี ๒๔๕๒ พม่ายกทัพมาตีเมืองชุมพร แม่ทัพพม่าชื่อว่า ดุเรียงสาระกะยอ เมื่อตีเมืองชุมพรได้แล้ว ยกทัพเลยไปตีหลังสวน ตั้งทัพที่ริมน้ำบริเวณแหลมทราย ปัจจุบัน มีหมู่บ้านหนึ่งชื่อว่าบ้านทัพยอ เข้าใจว่าตัดมาจากคำว่าดุเรียงสาระกะยอ คงเหลือเป็นบ้านทัพยอ คือ หมู่บ้านที่ดุเรียงสาระกอตั้งทัพนั่นเอง เมื่อกองทัพของดุเรียงสาระกะยอพักไพล่พลรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ได้นำสวดสำหรับนิ่งข้าวในสมัยนั้นลงไปล้างในคลอง ต่อมาชาวบ้านจึงเรียกคลองนั้นว่า คลองล้างสวด เมื่อนานเข้าจึงเพียนเป็น คลองหลังสวน ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับชื่อเมืองหลังสวนที่เพี้ยนมาจากคำว่าคลองล้างสวดเป็นข้อสันนิษฐานที่มีลักษณะแปลกแยกไปจากข้อสันนิษฐานอื่นๆ เท็จจริงเป็นประการใด คงไม่ใช่สาระสำคัญที่ต้องหยิบยกมาวิพากษ์ วิจารณ์เพื่อสืบหาข้อเท็จจริงในเวทีนี้ แต่ก็ต้องแสดงความเห็นประกอบเรื่องที่เรียบเรียงเช่นกัน ในทัศนะส่วนตัวแล้ว ผู้เรียบเรียงให้ความสำคัญหรือน้ำหนักกับข้อสันนิษฐานนี้น้อยมาก เพราะการกล่าวอ้างปีที่เกิดเหตุมีการพิมพ์ผิดพลาด จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า ประวัติศาสตร์ที่อ้างเป็นการรบระหว่างไทยกับพม่าครั้งที่ ๔๒ เหตุเกิดในปี ๒๓๕๒ การรบครั้งนี้ ดุเรียงสาระกะยอ ยกมาตีเมืองมะลิวัน(เกาะสองหรือวิกตอเรียพ้อยท์) ระนอง และกระบี่ ก่อนมาตีเมืองชุมพร ยังไม่ทันได้ตี ทัพไทยก็ยกลงมาถึงและตีทัพดุเรียงสาระกะยอแตกในวันเดียว ข้อเท็จจริงนี้ทำให้ความเชื่อถือส่วนบุคคลที่มีต่อข้อสันนิษฐานนี้ลดลงไปมาก"
ความสำคัญและการเจริญเติบโตของเมืองหลังสวน ชุมชนเก่าของเมืองหลังสวนกระจายอยู่ในเขตพื้นที่ ๓ ตำบล ประกอบด้วย แหลมทราย ท่ามะพลา พ้อแดง ดังสังเกตได้จากบ้านเรือนในชุมชนดังกล่าวที่เป็นแบบเค้าเดิมของสถาปัตยกรรมพื้นเมือง เดิมคนหลังสวนปลูกพืชผลไม้เพื่อบริโภคภายในครัวเรือน มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันบ้างแต่ไม่ได้เป็นเรื่องของการค้าขายเชิงพาณิชย์ นอกจากการปลูกพืชผลไม้พื้นบ้าน ก็มีการทำประมง ไสกุ้ง (ทำกะปิ) ทำน้ำตาลโตนด เจาะน้ำตาลทำไต้จุดไฟ ตัดไม้ไผ่ตัดหวาย ทอผ้า ชาวบ้านอยู่ร่วมกันอย่างสันโดษ มีความแตกต่างทางเศรษฐกิจน้อยมาก ต่อเมื่อคนจีนอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองหลังสวน จึ่งมีการค้าขายโดยการนำสินค้าต่างๆ อาทิ ภาชนะเครื่องปั้นดินเผา ผ้า ด้าย เกลือ ข้าว สินค้าพื้นเมือง (หมากแห้ง หวาย) บรรทุกเรือสำเภาไปขายที่ภาคกลาง เกิดชุมชนค้าขาย ๓ แห่งคือ บ้านปากน้ำหลังสวน บางยี่โร และวังตะกอ วังตะกอเป็นชุมชนค้าขายที่อยู่ลึกเข้าไปทางต้นน้ำหลังสวน สมัยก่อนแม่น้ำหลังสวนมีร่องน้ำลึก เรือสินค้าสามารถแล่นเข้าไปถึงวังตะกอได้ ต่อมามีการขุดแร่ดีบุกทางต้นน้ำหลังสวน เป็นเหตุให้แม่น้ำหลังสวนตื้นเขิน
เมืองหลังสวนเริ่มมีการพัฒนาและทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปี ๒๓๙๙ พระยารัตนเศรษฐี (บรรดาศักดิ์ของคอซู้เจียง ณ ระนอง ในขณะนั้น) ขยายการจัดเก็บภาษีดีบุกแบบผูกขาดเหมาเมืองเข้าไปในเมืองต่างๆ ที่ขึ้นกับเมืองชุมพร ประกอบด้วย เมืองท่าแซะ เมืองตะโก และเมืองหลังสวน จากแหล่งชุมชนเกษตรกรรมขนาดเล็กพัฒนาไปเป็นเมืองเกษตรพาณิชยกรรมที่มีอัตราการเจริญทางเศรษฐกิจสูงมากจนได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นเมืองจัตวาขึ้นตรงต่อราชสำนักในพระนคร ต่อมาในปี ๒๔๒๐ กรมการเมืองต้มน้ำกระแช่กินกันเองและตั้งตนเป็นโจรอั้งยี่ทำการปล้นสะดมภ์ เรียกว่า ยี่หินหัวควาย ทางราชสำนักจึงแต่งตั้งพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง ณ ระนอง) จางวางเมืองระนองเป็นผู้จัดการเมืองหลังสวน เมื่อเหตุการณ์สงบลง ทางราชสำนักจึงมอบกิจการของตระกูล ณ ระนอง ในเมืองหลังสวนให้กับพระยาจรูญโภคากร (คอซิมเต็ก ณ ระนอง) เป็นผู้ดูแลและจัดการโดยตรง
ในสมัยที่พระยาจรูญราชโภคา(คอซิมเต็ก ณ ระนอง) เป็นเจ้าเมืองหลังสวน มีการดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงระบบการจัดการต่างๆ ในเมือง อาทิ การปฏิรูปภาษีแบบผูกขาดเหมาเมือง การปักปันเขตแดนระหว่างเมืองหลังสวน แขวงเมืองที่ขึ้นตรงต่อเมืองหลังสวน เมืองชุมพร และเมืองระนอง การส่งเสริมการค้า การทำเหมืองแร่ ด้วยการจัดตั้งโรงภาษีและการชักชวนคนจีนให้เข้ามาตั้งหลักแหล่งทำมาหากินในเมืองหลังสวน ทำให้เศรษฐกิจและสังคมของเมืองหลังสวนเจริญเติบโตและพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ผลประโยชน์จากการพัฒนาและเจริญเติบโตของเมืองหลังสวน การจัดเก็บภาษีอากรต่างๆ อาทิ ส่วยแร่ดีบุก เงินอากรค่านา ภาษีอากรดีบุก ภาษีฝิ่น อากรสุรา อากรบ่อนเบี้ย และเงินค่าน้ำ ที่เมืองหลังสวนจัดส่งให้กับพระคลังในช่วงระหว่างปี ๒๔๒๑ ๒๔๓๐ เพิ่มขึ้นจากเดิม ๑๐๘ ชั่งเป็น ๒๒๙ ชั่ง และในปี ๒๔๒๙ เมืองหลังสวนเริ่มต้นจัดเก็บภาษีชนิดอื่นเพิ่มขึ้น อาทิ ภาษีศุลกากร ภาษีสุกรตาย เงินผูกปี้จีน ผลพวงจากการพัฒนาที่เกิดขึ้น นอกจากราชสำนักได้รับประโยชน์โดยตรงจากภาษีอากรดังกล่าวแล้ว ชาวเมืองหลังสวนเองก็ได้รับประโยชน์โดยตรงเช่นกัน ดังคำกล่าวของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ ครั้นเสด็จประพาสเมืองหลังสวน ในปี ๒๔๒๗ ว่า ตั้งแต่พระยารัตนเศรษฐี จางวางเมืองระนองมาจัดการครั้งก่อน บ้านเมืองเรือกสวนไร่นา การค้าขายเจริญขึ้นมาก ราษฎรตั้งหน้าทำมาค้าขายเพราะเป็นเมืองที่เพิ่งจะรื้อบำรุงใหม่ พระยารัตนเศรษฐีและพระหลังสวนก็ตั้งหน้าแต่จะบำรุงบ้านเมืองและราษฎรให้มีความสุขความเจริญขึ้นอย่างเดียว ให้ออกทุนสร้างถนน สร้างสวน สร้างตึก/โรงเรือนตลาดในเมืองหลังสวน
เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปการปกครอง ทรงจัดตั้งมณฑลชุมพรขึ้นในปี ๒๔๓๙ โดยมีพระราชประสงค์ที่จะให้เป็นมณฑลทำนุบำรุงการค้า โดยรวมเมืองชุมพร เมืองหลังสวน เมืองไชยา และเมืองกาญจนดิษฐ์ เป็นมณฑลชุมพร ในช่วงนี้เป็นช่วงที่การค้าในเมืองหลังสวนมีความเจริญรุ่งเรืองมาก ปริมาณการส่งสินค้าเข้าและออกสูงเป็นอันดับสองรองจากเมืองกาญจนดิษฐ์ ทั้งเป็นเมืองเดียวในมณฑลชุมพรที่มีการทำเหมืองแร่ดีบุกเป็นอาชีพหลักอย่างหนึ่งของเมือง เป็นยุคสมัยที่มีการสำรวจ ให้สัมปทานแต่ชาวตะวันตกและชาวจีนเป็นจำนวนมาก
ที่สาธยายมาตั้งแต่ต้น อาจมีผู้ตั้งคำถามว่า แล้วไหง... ไม่เห็นมีอะไรหรือส่วนใดเกี่ยวข้องกับตำนานยอดพระเครื่องเมืองหลังสวน แต่ถ้าพิจารณาความสัมพันธ์เชื่อมโยงของเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในยุคสมัยนั้นกันอย่างลึกซึ้ง คงปฏิเสธมิได้ว่าการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเมืองหลังสวนน่าจะเป็นมูลเหตุสำคัญประการหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จประพาสเมืองหลังสวนในปี ๒๔๓๒ หรือ รศ. ๑๐๘ ทรงจารึกพระนามภิไธยย่อ จปร ที่ผนังถ้ำเขาเอน ทรงโปรดให้สร้างพระเจดีย์บนชะง่อนหินข้างทางเข้าถ้ำเขาเอน และทรงเปลี่ยนชื่อ ถ้ำเขาเอน เป็น ถ้ำเขาเงิน นี่คือความเป็นมาที่สำคัญยิ่งของวัดถ้ำเขาเงินซึ่งเป็นที่จุดกำเนิดของตำนานยอดพระเครื่องเมืองหลังสวน
เรียบเรียงโดย... ชายนำ ภาววิมล ...