แชร์

พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ตำนานยอดพระเครื่องเมืองหลังสวน (๒/๒๔)

อัพเดทล่าสุด: 15 ม.ค. 2025
50 ผู้เข้าชม

พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน: ตำนานยอดพระเครื่องเมืองหลังสวน (๒/๒๔)

โดย... ชายนำ ภาววิมล ...

      การเล่นหาสะสมพระเครื่องในยุคสมัยนี้แตกต่างจากวันวานที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด จากความเชื่อความศรัทธาที่มีต่ออำนาจแห่งพุทธคุณในวัตถุมงคล/พระเครื่องของพระเกจิอาจารย์ที่ตนเคารพนับถือ แปรเปลี่ยนไปเป็นสินค้าอย่างหนึ่ง สินค้าปนความเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูงภายในระยะเวลาสั้น หากเล่นเป็นเล่นถูกทาง การตลาดกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันให้พระเครื่องแต่ละรายการได้รับความนิยมในวงกว้างอย่างรวด เร็ว นิยายปรัมปราฉบับต่างๆ ที่หยิบยกมากล่าวอ้าง โน้มน้าวให้ลูกค้าควักเงินซื้อพระของตน จริงบ้างเท็จบ้างคละเคล้ากันไป ครั้งสองครั้งคงไม่มีผลอะไรมากนัก นานเข้าจากเรื่องเท็จกลายเป็นเรื่องจริง เรื่องจริงกลายเป็นเรื่องเท็จในสายตาของนักสะสมพระเครื่องอีกกลุ่มหนึ่ง มันเป็นเช่นนี้ได้อย่างไร คงไม่มีอะไรมากเกินไปกว่าการขาดข้อมูลที่ถูกต้อง เพียงพอกับการตัดสินใจว่าจะเลือกเล่นหาสะสมพระเครื่องแบบใดดี สายใดถึงจะดี ในทางตรงกันข้าม การรู้ข้อมูลเชิงลึกและรู้ข้อมูลรอบข้าง(ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคสมัยนั้น) ไม่เพียงแต่จะช่วยให้เราเล่นหาสะสมพระเครื่องได้ถูกทาง ทั้งยังเป็นแนวทางในการเลือกเก็บสะสมวัตถุมงคล/พระเครื่องประเภทเพชรแท้ที่รอการเจียรนัยอีกเป็นจำนวนมาก

ถ้ำเขาเงิน : อนุสรณ์การเสด็จประพาสต้นและแหล่งกำเนิดตำนานยอดพระเครื่องเมืองหลังสวน

        การเสด็จประพาสเมืองหลังสวนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี ๒๔๓๒ (ร.ศ.๑๐๘) เป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์เหตุการณ์หนึ่งในการเสด็จประพาสทะเลฝั่งตะวันตกของอ่าวไทย ระหว่างวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ถึง ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๒ การเสด็จประพาสครั้งนี้ ทรงประทับเรือพระที่นั่งอุบลบูรทิศในการเสด็จไปยังเมืองต่าง ๆ โดยมีเรือพระที่นั่งเวสาตรีเป็นเรือพระที่นั่งสำรอง การเสด็จประพาสเมืองหลัง สวนในวันที่ ๙ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๒ เป็นเหตุการณ์ที่แสดงให้ถึงความสำคัญของเมืองหลังสวนในช่วงระหว่างปี ๒๔๒๐ ๒๔๓๐ ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่เมืองหลังสวนจัดส่งเงินภาษีอากรเข้าพระคลังหลวงเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เป็นยุคสมัยที่เมืองหลังสวนมีการพัฒนาและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว สันนิษฐานว่าผลพวงจากการเสด็จประพาสครั้งนี้ น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญในการรวมเมืองชุมพร เมืองหลังสวน เมืองไชยา และเมืองกาญจนดิษฐ์ เป็นมณฑลชุมพร มณฑลแห่งการทำนุบำรุงการค้าในปี ๒๔๓๙

       พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จถึงหน้าเมืองหลังสวนในวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๔๓๒ เวลา๒ โมงเช้า พระยารัตนเศรษฐี พระจรูญราชโภคากร พระศรีโลหภูมิพิทักษ์ พระอัษฎงคตทิศรักษา ลงไปรับเสด็จและเข้าเฝ้าบนเรือพระที่นั่งอุบลบูรทิศ จากนั้น เวลา ๑๒ นาฬิกา ๒๕ นาที ขุนนางทั้งสี่นำเสด็จขึ้นบกโดยใช้เรือไฟทอนิครอฟต์แล่นไปตามร่องน้ำเพื่อเดินทางไปขึ้นบกที่บางยี่โร เพลานั้นฝนตกหนักเลยต้องนำเสด็จทางเรือต่อไปที่บางขันเงิน การเสด็จประพาสเมืองหลังสวนในช่วงบ่ายวันนั้น พระพุทธเจ้าหลวงทรงบันทึกเรื่องราวต่างๆ ที่ทรงทอดพระเนตรสภาพภูมิสังคมของเมืองหลังสวนอย่างละเอียด ทรงมีพระราชดำรัสว่าเมืองหลังสวนเป็นเมืองที่มีความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ เจ้าเมืองสมควรเป็นพระยาได้ จึงทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พระจรูญราชโภคากร เป็น พระยาจรูญราชโภคากร และ หลวงพิพิธสุวรรณภูมิ เป็น พระกาญจนดิฐบดี

        เช้าวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๒ ทรงเสด็จประพาสบ้านและสวนผลไม้ของพระยาจรูญราชโภคา ช่วงบ่ายทรงเสด็จลงเรือแล่นขึ้นเหนือไปตามลำน้ำหลังสวน กระแสน้ำไหลเชี่ยวไม่มีจุดที่กระแสน้ำอับเลย พระพุทธเจ้าหลวงทรงบันทึกเหตุการณ์ที่พบนี้ว่ามีแต่เชี่ยวมากกับเชี่ยวน้อย กว่าจะเสด็จถึงหน้าถ้ำเขาเอน ใช้เวลา ๒ ชั่วโมง ๔๕ นาที พระพุทธเจ้าหลวงทรงบรรยายถึงลักษณะถ้ำเขาเอนว่าเป็นถ้ำเสมอตลิ่ง ที่ต้องขึ้นนั้นเป็นการขึ้นตลิ่ง มิใช่ขึ้นเขา ศิลาบนหน้าผาดูสูงใหญ่แลงามดี มีสามถ้ำ ถ้ำตรงกลางไม่สู้กว้างใหญ่ ปากถ้ำเปิดสว่าง มีพระพุทธรูปโตบ้างย่อมบ้าง ปิดทองใหม่ๆ จำนวน ๖ องค์ เป็นพระศิลาพม่าที่พระยาระนองและพระยาหลังสวนมาตั้งไว้ ๒ องค์ และทรงโปรดให้สลักพระปรมาภิไธยย่อ จปร พร้อมระบุปีที่จารึก ๑๐๘ บนผนังถ้ำเขาเอน ทั้งทรงมีพระราชดำริว่าสมควรสถาปนาพระเจดีย์ที่สร้างค้างอยู่บนชะง่อนหินข้างทางเข้าถ้ำเขาเงินให้เสร็จสิ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในการเสด็จประพาสเมืองหลังสวนและเป็นที่สักการบูชาของพุทธศาสนิกชนต่อไป ทั้งทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และทรงโปรดฯ ให้พระยาจรูญราชโภคากรดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์/ก่อสร้างจนแล้วเสร็จ และเปลี่ยนชื่อถ้ำเป็น "ถ้ำเขาเงิน" จากนั้นเป็นต้นมา สำหรับการบูรณปฏิสังขรณ์เจดีย์บนชะง่อนผาหน้าถ้ำเขาเงิน มีแผ่นศิลาจารึกที่ฐานเจดีย์ ดังนี้

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองฝั่งทะเลตะวันตกโดยลำดับ ถึงเมืองหลังสวนเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๐๘ ประทับแรมที่พลับพลาตำบลบางขันเงิน

           ครั้นถึงวันที่ ๑๐ สิงหาคม เสด็จพระราชดำเนินมาทางชลมารคขึ้นมาตามลำดับถึงวัดถ้ำเขเอน มีพระเจดีย์ที่ทำค้างอยู่ที่ชะง่อนศิลาหน้าถ้ำ ได้ทรงนมัสการแล้ว ทรงดำริว่า ควรจะสถาปนาพระเจดีย์ขึ้นไว้เปนที่ระฤกถึงการณ์ที่ได้เสด็จมาประพาสถึงตำบลนี้ และจะได้เปนทีสักการะบูชาของพุทธสาสนิกชนสืบไปสิ้นกาลนาน จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระยาจรูญราชโภคากร ผู้ว่าราชการเมืองหลังสวน ปฏิสังขรณ์พระเจดีย์นี้ขึ้นไว้ และให้เปลี่ยนนามถ้ำนี้ใหม่ ให้เรียกว่าถ้ำเขาเงินต่อไป

          ต่อมา ผู้ว่าราชการพร้อมด้วยกรมการได้ลงมือก่อสร้างพระเจดีย์ตั้งแต่วันที่ ๗ พฤษภาคม ร.ศ.๑๑๑ แล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ร.ศ.๑๑๑ สิ้นพระราชทรัพย์ ๔ ชั่ง ๓๖ บาท ๒๖ อัฐ แล้วได้ทำการฉลองในวันที่ ๒๖ มีนาคม ร.ศ.๑๑๑ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้จาฤกประกาศพระบรมราชูทิศไว้ในแผ่นศิลาติดไว้ที่ฐานพระเจดีย์นี้ เพื่อเป็นที่มหาชนผู้มานมัสการได้อนุโมทนาในพระราชกุศลผลบุญราสีนี้

        ในการเสด็จประพาสถ้ำเขาเอนครั้งนี้ พระพุทธเจ้าหลวงทรงเสด็จทอดพระเนตรเฉพาะถ้ำแรกแต่มิได้เสด็จขึ้นไปถึงถ้ำสองถ้ำที่อยู่ไหล่เขาสูงขึ้นไปเพราะเป็นเวลาเย็นเสียก่อน ขากลับทรงใช้เวลาในการล่องเรือเพียง ๕๐ นาทีก็ถึงพลับพลา จากนั้น ทรงเสด็จพระราชดำเนินจากพลับพลาไปตามทางผ่านวัดด่าน วัดตะโหนด ทรงประเคนจตุปัจจัยแก่พระภิกษุสงฆ์แล้วเสด็จพระราชดำเนินต่อไปยังบางยี่โร ผ่านตลาดคนจีนซึ่งขายสินค้าเฉพาะตอนเช้า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จกลับถึงเรือพระที่นั่งบูรทิศเวลาทุ่มยี่สิบห้านาที รุ่งเช้าเวลาสามโมงเศษ ทรงเสด็จออกจากหน้าเมืองหลังสวนมุ่งหน้าสู่เมืองชุมพร ก่อนเสด็จกลับถึงพระนครในวันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๓๒

        ความสำคัญของเมืองหลังสวนเป็นกระบวนการพัฒนาที่เริ่มก่อตัวขึ้นในปี ๒๓๙๙ การเสด็จประพาสเมืองหลังสวนของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ ในปี ๒๔๒๗ เป็นข้อเท็จจริงที่สรุปความสัมพันธ์เชื่อมโยงเชิงเหตุและผลได้ว่าเมืองหลังสวนเป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเด็นคำถามคือ เหตุใดพระพุทธเจ้าหลวงจึงเสด็จประพาสถ้ำเขาเอน ถ้ำเขาเอนมีความสำคัญเพียงใดในยุคสมัยที่เมืองหลังสวนมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ขณะนี้ ผู้เรียบเรียงยังไม่มีพยานเอกสารใดที่มีน้ำหนักมากพอที่จะอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อหนึ่งร้อยกว่าปีที่ผ่านมาได้อย่างชัดเจน หากวิเคราะห์หาข้อสรุปจากข้อมูลที่กล่าวถึงการเสด็จประพาสเมืองหลังสวนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และข้อมูลที่นำเสนอในนิตยสารพระเครื่องลานโพธิ์ฉบับที่แล้ว ข้อสังเกตคือ ลำน้ำหลังสวนน่าจะเป็นเส้นทางขนส่งแร่ดีบุกจากต้นน้ำหลังสวนและเมืองระนองออกไปสู่ตลาดภายนอก ประกอบกับชื่อเดิมของถ้ำเขาเงินทั้ง ๓ ชื่อ คือ ถ้ำเขาเห็น ถ้ำเขาเอ็น ถ้ำเขาเอน น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องหรือบ่งบอกอะไรสักอย่าง และอาจเป็นไปได้ที่สามารถมองเห็นทิวเขาสลับซับซ้อนและสายน้ำอันเชี่ยวกรากจากภูเขาแห่งนี้ ตำนานพื้นบ้านที่นำเสนอในลำดับต่อไปเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้เข้าใจสภาพแวดล้อมและประวัติความเป็นมาของถ้ำเขาเงินมากยิ่งขึ้น ประเด็นที่น่าพิจารณาอย่างยิ่งคือ หากถ้ำเขาเอนมิได้มีความสำคัญในด้านใดด้านหนึ่ง พระยาจรูญราชโภคากร ฤาจะกล้านำเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไปประพาสสถานที่แห่งนี้ เมื่อกาลเวลาล่วงเลยมาถึงปี ๒๕๑๑ พระเกจิอาจารย์สายเขาอ้อคงไม่ใช้ถ้ำเขาเงินแห่งนี้ เป็นสถานที่ในการประกอบพิธีจัดสร้างวัตถุมงคล/พระเครื่องครั้งยิ่งใหญ่เพื่อแจกให้กับทหาร ตำรวจ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในยุคสมัยนั้น

โบราณสถานถ้ำเขาเงิน: ต้นทุนทางสังคมที่พระพุทธเจ้าหลวงพระราชทานให้กับเมืองหลังสวน

        พระปรมาภิไธยย่อจปร ๑๐๘ บนผนัง พระเจดีย์บนชะง่อนหน้าทางขึ้นถ้ำเขาเอน และการพระราชทานนามใหญ่ของถ้ำเขาเงิน เป็นต้นทุนทางสังคมที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานให้กับเมืองหลังสวน เวลา ๑๒๖ ปีที่ผ่านพ้นไป ถ้ำเขาเงินมีการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์และผู้ดูแลจากวัดถ้ำเขาเงินไปเป็นเทศบาลเมืองหลังสวน มีสถานะเป็นโบราณสถานและอาณาบริเวณโดยรอบได้รับการปรับปรุงให้เป็นสวนสาธารณะในนาม "สวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี"หรือ"สวนสมเด็จย่า" ที่จังหวัดชุมพรพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของเมืองหลังสวน

        ถ้ำเขาเงินตั้งอยู่ที่ หมู่ ๗ บ้านเขาเงิน ตำบลท่ามะพลา อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ลักษณะของเขาเงินเป็นเขาลูกโดด อยู่ห่างจากตัวอำเภอหลังสวนมาทางทิศตะวันตกประมาณ ๔ กิโลเมตร เขาเงินมีขนาดกว้าง ๒๐๐ เมตรโดยประมาณ ยาวประมาณ ๓๐๐ เมตร ระดับความสูง ๖๐ เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำหลังสวน ตามตำนานพื้นบ้านที่เล่าสืบต่อกันมา มีสาระสำคัญโดยสังเขปว่า นายเกดเป็นคนแรกที่พบถ้ำแห่งนี้ ในถ้ำมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ ในขณะที่นายเกดพบถ้ำแห่งนี้ ก็มีชาวบ้านอีกคนหนึ่งพบพระพุทธรูปที่ทุ่งนา ทั้งคู่มีความเห็นพ้องต้องกันว่าควรนำพระพุทธรูปไปประดิษฐานในถ้ำที่เห็นและเรียกชื่อถ้ำนี้ว่าถ้ำเขาเห็น ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น"ถ้ำเขาเอ็น"และ"ถ้ำเขาเอน" เรื่องตำนานพื้นบ้านเกี่ยวกับถ้ำเขาเงิน ไม่น่าจะมีเฉพาะเรื่องการค้นพบถ้ำและการตั้งชื่อตั้งเพียงเรื่องเดียว ในปี ๒๕๓๙ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายในอายุกาลของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ผู้เรียบเรียงมีโอกาสได้สนทนากับผู้อาวุโสท่านหนึ่งในขณะเดินทางเขาเงินด้านหนึ่ง ผู้อาวุโสท่านนั้น บอกว่า ณ จุดที่กำลังคุยกันอยู่นั้น ในอดีตมีตำนานเกี่ยวกับเสือสมิงและชี้ไปที่ตีนเขาซึ่งมีศาลและรูปปั้นเสือโคร่งตั้งอยู่ เผอิญตอนนั้น ต้องรีบกลับมาให้ทันพิธีสังเวยครู (บูชาครู) เลยมิได้ซักไซ้หารายละเอียดเพิ่มเติม หลังจากนั้น อาการป่วยของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม กำเริบมากขึ้นเรื่อย ๆ เข้าออกโรงพยาบาลหลายครั้ง กระทั่งท่านละสังขารไปในวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ เลยไม่มีโอกาสสอบถามข้อมูลเรื่องนี้อีก

        ถ้ำเขาเงินเป็นถ้ำที่หันหน้าไปทางทิศใต้ ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปศิลปะรัตนโกสินทร์ประดิษฐานอยู่ ๕ องค์ ที่ผนังถ้ำด้านขวา (หันหน้าเข้าหาถ้ำ) มีพระปรมาภิไธยย่อ จปร ๑๐๘เดิมทาทับด้วยชาด ปัจจุบันทาสีแดงอะคริลิคทับแล้วปิดทอง ส่วนพระเจดีย์อยู่ตรงข้ามหน้าถ้ำ ระยะห่างประมาณ ๑๕ เมตร ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมก่ออิฐสอปูน องค์ระฆังกลมตั้งอยู่บนมาลัยลูกแก้ว ๓ ชั้น ส่วนบนเป็นบัลลังก์ก้านฉัตรเสาหางปล้องไฉนและปลียอด สูง ๑๐.๒๖ เมตร ฐานเจดีย์กว้าง ๕.๙๔ เมตร นอกจากนี้ ยังมีรอยพระพุทธบาทสำริด ตั้งอยู่บนศาลาบริเวณไหล่เขาด้านทิศใต้เป็นศิลปะแบบรัตนโกสินทร์ ยาว ๑.๘๓ เมตร

สำนักวัดถ้ำเขาเงิน: แหล่งพำนักของพระเกจิอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญวิปัสสนากรรมฐานและพระเวทย์วิทยาคม

        วัดถ้ำเขาเงินเป็นวัดเก่าแก่ในเมืองหลังสวนที่มีอายุกาลกว่า ๒๐๐ ปี ประวัติความเป็นมาของวัดในยุคก่อนหลวงพ่อแดง พุทโธ มิได้มีการบันทึกไว้ลายลักษณ์อักษรเป็นแต่การบอกเล่าสืบต่อกันมา เดิมเป็นเพียงสำนักสงฆ์ที่พระธุดงค์รูปหนึ่งนามว่า หลวงพ่อพาน มาปักกลดและเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ณ สถานที่แห่งนี้ ชาวบ้านละแวกนี้ศรัทธาในวัตรปฏิบัติของพระธุดงค์รูปนี้ จึงอาราธนาให้ท่านอยู่จำพรรษาที่เขาเอนแห่งนี้ เล่าสืบต่อกันมาว่า หลวงพ่อพานองค์นี้เป็นพระที่เก่งรอบด้าน สามารถรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า มีความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคด้วยสมุนไพรควบคู่ไปกับการใช้พระเวทย์วิทยาคม หลวงพ่อพานจำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์แห่งนี้เพียงรูปเดียวเป็นเวลานานกว่า ๔๐ ปี เมื่อหลวงพ่อพานองค์แรกมรณภาพไปแล้ว ชาวบ้านจึงไปนิมนต์หลวงพ่อภารรัตน์(แก้ว) มาเป็นเจ้าสำนักสงฆ์แห่งนี้ หลวงพ่อภารรัตน์(แก้ว) เป็นพระเกจิอาจารย์ที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีเมตตาบารมีสูงมาก เป็นที่เคารพนับถือและเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นนี้ มีพระภิกษุสงฆ์มาจำพรรษามากขึ้น หลวงพ่อภารรัตน์แก้ว ปกครองดูแลสำนักสงฆ์นี้เป็นเวลานานกว่ายี่สิบปีก็ละสังขารไป จากนั้น สำนักสงฆ์แห่งนี้ก็ว่างเว้นจากการมีพระภิกษุสงฆ์มาจำพรรษาไประยะหนึ่ง ต่อมามีพระธุดงค์รูปหนึ่งนามว่า หลวงพ่อโสดา ผ่านมาปักกลดบำเพ็ญภาวนาที่บ้านเขาเอน ชาวบ้านเกิดความเลื่อมใสศรัทธาจึงนิมนต์ให้จำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์แห่งนี้ เล่ากันว่าหลวงพ่อโสดาองค์นี้เป็นพระที่เชี่ยวชาญในพระเวทย์วิทยาคมแบบหาตัวจับยาก สามารถจุดเทียนเดินในน้ำได้และทำพิธีต่างๆ ในน้ำได้โดยเทียนไม่ดับ หลวงพ่อโสดาจำพรรษาอยู่ที่นี่ประมาณ ๑๐ พรรษา จากนั้นก็เดินธุดงค์ต่อไปโดยไม่มีใครพบเห็นหรือรู้เรื่องราวของท่านอีกเลย สำนักสงฆ์ถ้ำเขาเอนจึงต้องว่างเว้นพระภิกษุสงฆ์ไปอีกครั้งหนึ่ง

        หลังจากว่างเว้นพระภิกษุสงฆ์ไประยะหนึ่ง จึงมาถึงยุคสมัยหลวงพ่อแดง พุทโธ ตำนานพระเกจิอาจารย์เมืองหลังสวนที่มีชื่อเสียงเกียรติคุณโดดเด่นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ายอดพระเกจิอาจารย์เมืองอื่น เป็นพระเกจิอาจารย์อีกรูปหนึ่งที่มีนักเขียนในอดีตนำเกล็ดเล็กเกล็ดน้อยเกี่ยวกับปาฏิหาริย์ของท่านมานำเสนอในนิตยสารพระเครื่องหลายฉบับ และพระผงรูปเหมือนเนื้อว่านของท่านที่พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดสร้างเมื่อปี ๒๕๑๑ ก็มีประสบการณ์มากมาย แต่ก็เป็นเรื่องแปลกที่สำนักวัดถ้ำเขาเงินแห่งนี้ เมื่อใดมีพระเกจิอาจารย์ที่เชี่ยวชาญพระเวทย์วิทยาคมถึงที่สุดครั้งใด เมื่อยอดพระเกจิอาจารย์สำนักวัดถ้ำเขาเงินองค์นั้นละสังขารไป ดูเหมือนมีอาถรรพ์ที่สำนักนี้ต้องว่างเว้นพระภิกษุหรือไม่ก็พระเกจิอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญพระเวทย์วิทยาคมไปสักระยะหนึ่ง แล้วค่อยกลับมามียอดพระเกจิอาจารย์รุ่นใหม่ขึ้นมาแทนที่

(ติดตามตอนต่อไปในตอนที่ ๓)

อุทยานพระเครื่อง โดย... ชายนำ ภาววิมล ... (utthayanphra.com) / ๒๔ - ๑๐ - ๒๕๖๗


บทความที่เกี่ยวข้อง
หน้าปกบทความตอน ๒๐
ชีวประวัติ พระเครื่องและวัตถุมงคลพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน หลังสวน ชุมพร ตีพิมพ์ระหว่างปี ๒๕๕๘ - ๒๕๕๙ รวม ๒๔ ตอน
20 ม.ค. 2025
หน้าปกพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ตอนที่ ๑๙
ชีวประวัติ พระเครื่องและวัตถุมงคลพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน หลังสวน ชุมพร ตีพิมพ์ระหว่างปี ๒๕๕๘ - ๒๕๕๙ รวม ๒๔ ตอน
16 ม.ค. 2025
หน้าปกบทความพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ตอนที่ ๑๘
ชีวประวัติ พระเครื่องและวัตถุมงคลพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน หลังสวน ชุมพร ตีพิมพ์ระหว่างปี ๒๕๕๘ - ๒๕๕๙ รวม ๒๔ ตอน
14 ม.ค. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy