แชร์

เหรียญหล่อ ๗๙ หลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก วัดดอนยายหอม นครปฐม

อัพเดทล่าสุด: 12 ม.ค. 2025
5 ผู้เข้าชม

เหรียญหล่อ ๗๙ หลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก วัดดอนยายหอม นครปฐม

โดย... ชายนำ ภาววิมล ...

             พระครูเกษมธรรมานันท์ (แช่ม ฐานุสฺสโก) นามเดิมว่า แช่ม อินทนชิตจุ้ย เกิดเมื่อวันพุธที่ ๖ มีนาคม ๒๔๔๙ ตรงกับวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเมีย เป็นบุตรคนที่ ๓ ของโยมพ่อเนียม อินทนชิตจุ้ย (ลูกผู้พี่ของพระราชธรรมาภรณ์:  เงิน จนฺทสุวณฺโณ) กับแม่อ่ำ อินทนชิตจุ้ย (ญาติห่าง ๆ ของหลวงพ่อคง ธมฺมโชโต วัดบางกะพ้อม) เมื่ออายุครบบวช อุปสมบทที่อุโบสถวัดดอนยายหอม ในวันศุกร์ที่ ๖ พฤษภาคม ๒๔๗๐ โดยมีพระอุตตรการบดี (สุข ปทุมสฺสวณฺโณ) ศิษย์เอกของพระครูปัจฉิมทิศบริหาร (นาค โชติโก) วัดห้วยจระเข้ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการเงิน จนฺทสุวณฺโณ เจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูวินัยธรใย กิตฺตธโร วัดบางช้างใต้ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า ฐานุสฺสโก

             ในปีพรรษาที่ ๑ คือ ปี ๒๔๗๑ หลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมประจำสำนักเรียนวัดดอนยายหอม ทั้งได้ศึกษาเรียนรู้พระปริยัติธรรมอย่างต่อเนื่องจนสอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอกในปี ๒๔๘๖ และเป็นกรรมการตรวจประโยคธรรมชั้นตรีสนามหลวง นอกเหนือจากการศึกษาพระปริยัติธรรมแล้ว หลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก ศึกษาวิปัสสนากรรมฐานและพุทธาคมกับหลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ, หลวงพ่อสุข ปทุมฺสสวณฺโณ, หลวงพ่อคง ธมฺมโชโต, หลวงพ่อรุ่ง วัดแก้ว. จนเชื่ยวชาญและได้รับความไว้วางใจจากหลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ ให้เป็นผู้ลงอักขระเลขยันต์ต่าง ๆ แทนท่าน กระทั่งถึงยามปัจฉิมวัยของหลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ ท่านจึงได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ปกครองวัดดอนยายหอมมาโดยตลอด หลังมรณกาลของหลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม ในปี ๒๕๒๐

             สมณศักดิ์ หลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก ได้รับการแต่งตั้งเป็น พระครูปลัดแช่ม พระฐานานุกรมของพระราชธรรมาภรณ์ (เงิน จนฺทสุวณฺโณ) ในปี ๒๕๐๖, เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบลชั้นโท (วิปัสสนา) ราชทินนามที่ พระครูเกษมธรรมานันท์ ในปี ๒๕๑๕, ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก (วิปัสสนา) ราชทินนามเดิม ในปี ๒๕๒๔

             งานด้านการพัฒนา สมัยที่หลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ มีชีวิตอยู่ หลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญของหลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ ในการพัฒนาและสร้างสรรค์สาธารณประโยชน์ต่าง ๆ มากมาย เมื่อหลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ ละสังขารไปในปี ๒๕๒๐ ท่านได้สืบทอดเจตนารมณ์ของหลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ ต่อไป ผลงานสำคัญ ๆ ประกอบด้วย การบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะ กุฏิสงฆ์ และถาวรวัตถุภายในวัดดอนยายหอม, ประธานอุปถัมภ์ในการสร้างวัดตะแบกโพรงสามัคคีธรรมที่ทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, สร้างโรงเรียนหลวงพ่อแช่ม อุปถัมภ์ (ฉิมเกตุ อ่อนอุทิศ) ที่คลองจินดา อ.สามพราน จ.นครปฐม, สร้างตึกคนไข้ ๔ ชั้นที่โรงพยาบาลศูนย์นครปฐม อ.เมือง จ.นครปฐม, จัดหาทุนสร้างหอประชุมอำเภอเมือง จ.นครปฐม ฯลฯ

            ชื่อเสียงกิตติคุณ เชื่อกันว่าหลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก สำเร็จเตโชกสิณตั้งแต่พรรษายังน้อย บางคนเชื่อว่าท่านสำเร็จฌานอภิญญา มีพลังจิตเข้มขลัง ปรากฏการณ์ที่ทำให้ชื่อเสียงกิตติคุณของท่านโด่งดังขึ้นมาอย่างรวดเร็ว คือ สามารถอธิษฐานจิตปลุกเสกจนน้ำมนต์เทไม่ออกจากขวด พระเครื่องและวัตถุมงคลต่าง ๆ ที่ท่านอธิษฐานจิตแผ่เมตตา มีพลานุภาพครบเครื่องทุกด้าน ที่โดดเด่นที่สุดคือ เมตตามหานิยม นอกจากนี้ น้ำพระพุทธมนต์ แห้งเจิม มงคลสวมคอ การผูกหุ่นพยนต์ และสาลิกาลิ้นทอง ล้วนเป็นวิชาที่หลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก ทำได้เข้มขลังยิ่งนัก

            เหรียญหล่อ ๗๙ หลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก พิมพ์หันข้างครึ่งองค์

            เหรียญหล่อ ๗๙ หลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก จัดเป็นเหรียญรูปเหมือนพระเกจิอาจารย์เมืองยอดแหลมแบบหล่อโบราณที่มีศิลปะงดงามยิ่งอีกเหรียญหนึ่ง หลักการสำคัญของการออกแบบเหรียญรุ่นนี้คือ ความสมดุลระหว่างขอบเหรียญกับขนาดภาพหลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก ไม่ใหญ่คับจอหรือเล็กจนเกินงาม มีช่องว่าง (ช่องไฟ) ที่พอเหมาะและสวยงาม แต่ด้วยเหตุที่เป็นงานหล่อแบบโบราณเลยส่งผลให้ความคมชัดลดลงไป ทั้งยังมีเหรียญชำรุดจำนวนกว่าร้อยละ ๓๐ (เหรียญชำรุดเหล่านี้ นำไปเป็นชนวนหล่อพระเครื่องต่าง ๆ จนหมด) จุดมุ่งหมายในการสร้างเหรียญหล่อ ๗๙ คือ การรังสรรค์เหรียญหล่อโบราณที่มีศิลปะงดงามโดยมีเหรียญหล่อโบราณรูปเหมือนเจ้าคุณฯ โชติ ธมฺมปฺปชฺโชติโก วัดพระปฐมเจดีย์ เป็นคู่เทียบในการออกแบบ

            ลักษณะ เป็นเหรียญหล่อรูปไข่แบบโบราณเบ้าปูนเทมือ ด้านหน้าเป็นรูปหลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก หันข้างครึ่งองค์ บริเวณจีวรจารึกตัวเลข ๗๙ และมีรอยจารทุกเหรียญ ด้านหลัง ประทับด้วยยันต์นะทรหด ตามสายวิชาของสำนักวัดดอนยายหอม แต่มีความต่างจากยันต์หลังเหรียญหลวงพอเงิน รุ่นแรก ตรงมีนำ นะคุ้ม ซึ่งเป็นยันต์ด้านหน้าพระปิดตามหาอุตม์ยันต์ยุ่งเนื้อแร่ มาจัดวางบริเวณด้านบนของอักขระ พุท และ โธ ใต้ยันต์จารึกนาม หลวงพ่อแช่ม และตอกโค้ดตัว มะ
            ขนาด กว้าง ๒.๖​ เซนติเมตร สูง ๓.๒ เซนติเมตร หนา ๐.๒ เซนติเมตร (โดยประมาณ)
            เนื้อหา/ชนวน เป็นเหรียญโลหะผสมแบบซัดส่ง (ไม่มีสูตร มีอะไรก็ใส่ไปตามที่มี) ซึ่งมีส่วนผสมของโลหะชนวน
               ๑) ชนวนมหามงคล ๑ แท่ง ชนวนมหามงคลนี้เป็น ๑ ใน ๑๖ แท่งที่หลอมรวมในปลายปี ๒๕๒๕ เพื่อนำไปเป็นชนวนหล่อพระประธานสำนักสงฆ์ตะแบกโพรงสามัคคีธรรม และพระหลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก รุ่นต่าง ๆ ได้แก่ พระกริ่งใหญ่ยอดขุนพล, พระกริ่งยอดขุนพล, พระกริ่งอรหัง, พระชัยวัฒน์รุ่นแรก, พระบัวเข็ม, พระชินราชใบเสมา, เหรียญหล่อพระเจ้า ๕ พระองค์, พระยอดธงรุ่นแรก (รุ่นเททองหล่อพระประธานสำนักสงฆ์ตะแบกโพรงสามัคคีธรรม) โลหะชนวนมหามงคลนี้ ประกอบด้วย
                    ๑.๑ ชนวนพระกริ่งวัดสุทัศน์ ตั้งแต่ปี ๒๔๗๙ - ๒๔๙๕ หนัก ๓๐๐ กรัม (ได้รับจากอดีตพระครูหนู หรือคุณนิรันดร์ แดงวิจิตร)
                    ๑.๒ ก้านชนวนพระชัยหลวงปู่บุญ ขนฺธโชติ วัดกลางบางแก้ว (ได้รับจากคุณธารี ปิติธนสารสมบัติ)
                    ๑.๓ เนื้อระฆังแตกหลวงพ่อพรหม ถาวโร วัดช่องแค นครสวรรค์ (ได้รับจากอาหมอสมสุข คงอุไร)
                    ๑.๔ ชนวนพระรูปเหมือนครูบาขันแก้ว อุตฺตโม วัดสันพระเจ้าแดง เนื้อสัมฤทธิ์รุ่นแรก และเหรียญเสมารุ่นพิเศษ (ได้รับจากอาหมอสมสุข คงอุไร)
                    ๑.๕ ชนวนพระร่วงใบมะยม วัดพระปฐมเจดีย์ รุ่นอินโดจีน
                    ๑.๖ ชนวนพระเชียงแสน หลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ วัดดอนยายหอม
                    ๑.๗ ชนวนพระกริ่งอธิบดีและพระชัยวัฒน์กรมอัยการ (ได้รับจากคุณชัยวัฒน์ เกตุปรีชาสวัสดิ์)
                    ๑.๘ ชนวนพระอาจารย์ศรีเงิน อาภาธโร วัดดอนศาลาทุกรุ่น (ได้รับจากช่างสุเทพ โสธรประธาน)
                    ๑.๙ ชนวนพระปิดตาพระอาจารย์เจ๊ก ฐิตธมฺโม วัดเขาแดงตะวันตก พัทลุง (ได้รับจากช่างสุเทพ โสธรประธาน)
                    ๑.๑๐ ชนวนพระหลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก วัดดอนยายหอม อาทิ พระงบน้ำอ้อย พระสังกัจจายน์ พระปิดตาเนื้อแร่ พระปิดตาทรงเทริด
                    ๑.๑๑ เกศพระบูชาสมัยสุโขทัย (ได้รับจากคุณมนตรี แก้วพิจิตร)
                    ๑.๑๒ แผ่นทองลงยันต์พระเกจิอาจารย์ ๒๙ รูป ประกอบด้วย
                              · หลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ วัดดอนยายหอม นครปฐม 
                              · หลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก วัดดอนยายหอม นครปฐม (๙ แผ่น)
                              · พระครูปลัดประพันธ์ วัดดอนยายหอม นครปฐม (๒ แผ่น)
                              · พระครธใบฎีกาล้วน วัดดอนยายหอม นครปฐม (๑ แผ่น)
                              · พระครูสมุห์อวยพร ฐิตญาโณ วัดดอนยายหอม นครปฐม (๑๑ แผ่น)
                              · พระอาจารย์รัตน์ วิโรจโน วัดดอนยายหอม นครปฐม (ลงยันต์ ๑๐๘ นะ ๑๔)
                              · หลวงปู่แก้ว สุวณฺณโชโต วัดสุทธิวาตวราราม (ช่องลม) สมุทรสาคร
                              · หลวงปู่ธูป เขมสิริ วัดแคนางเลิ้ง กรุงเทพมหานคร (๒ แผ่น)
                              · หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ วัดบ้านไร่ นครราชสีมา
                              · หลวงพ่อเพิ่ม วัดสรรเพชญ นครปฐม
                              · หลวงพ่อพรห์ม ติสฺสเทโว วัดขนอนเหนือ องบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา (๑ แผ่น)
                              · หลวงพ่อฮวด วัดหัวถนนใต้ นครสวรรค์
                              · หลวงพ่อฑูรย์ วัดโพธินิมิต กรุงเทพมหานคร 
                              · หลวงพ่อพระมหาโพธิ์ ญาณสํวโร วัดคลองมอญ ชัยนาท 
                              · หลวงพ่อคอน วัดชัยพฤกษ์มาลา กรุงเทพมหานคร (๑๘ แผ่น)
                              · พระครูญาณวรากร วัดไม้เรียง นครศรีธรรมราช
                              · หลวงปู่คำแหง วัดป่าสุวรรณนิเทศทรงธรรม ร้อยเอ็ด
                              · พระปลัดใบ คุณวีโร วัดกลางบางแก้ว นครปฐม (๑ แผ่น)
                              · หลวงพ่อผาด วัดบางสะแกนอก กรุงเทพมหานคร (๑ แผ่น)
                              · พระอาจารย์สมบัติ ปิยธมฺโม วัดทองศาลางาม กรุงเทพมหานคร (๒ แผ่น)
                              · พระครูกัลยาณูกุล (เฮง) วัดกัลยาณมิตร กรุงเทพมหานคร (๒ แผ่น)
                              · พระสุวิโจภิกขุ (เพิ่ม) วัดจักรวรรดิราชาวาส กรุงเทพมหานคร (๒ แผ่น)
                              · พระครูอุดมขันติธรรม (ครูบาขันแก้ว อุตฺตโม) วัดสันพระเจ้าแดง ลำพูน (๓ แผ่น)
                              · พระครูภาวนาวิมล (สิริ) วัดชนะสงคราม กรุงเทพมหานคร (๒ แผ่น)
                              · พระธรรมปิฏก (นิยม) วัดชนะสงคราม กรุงเทพมหานคร (๒ แผ่น)
                              · หลวงพ่อหอม ดีที่สุด วัดแคสามเสน กรุงเทพมหานคร (๒ แผ่น)
                              · พระครูเมธีวรานุวัตร (ภทฺทสารีภิกขุ) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ กรุงเทพมหานคร (๒ แผ่น)
                              · หลวงพ่อเพี้ยน วัดตุ๊กตา นครปฐม (๒ แผ่น)
                              · หลวงพ่อพุฒ วัดกลางบางพระ นครปฐม (๒ แผ่น)
                    ๑.๑๓ ตะกรุดพระเกจิอาจารย์ ๒๐ รูป รวม ๘๐ ดอก ประกอบด้วย
                              · ตะกรุดโทนหลวงปู่ทิม อิสริโก วัดละหารไร่ ระยอง ๑ ดอก
                              · ตะกรุดโทนหลวงพ่อบุญเทียม ภูริปญฺโญ ลาดหลุมแก้ว ปทุมธานี ๑ ดอก
                              · ตะกรุดหลวงปู่โต๊ะ อินฺทสุวณฺโณ วัดประดู่ฉิมพลี กรุงเทพมหานคร ๓ ดอก
                              · ตะกรุดเงินหลวงปู่แสง ยโสธโร วัดคลองน้ำเจ็ด ตรัง ๑ ดอก
                              · ตะกรุดเงินหลวงพ่อพรห์ม ติสฺสเทโว วัดขนอนเหนือ บางปะอิน พระนครศรีอยุธยา ๑ ดอก
                              · ตะกรุดหลวงพ่อพริ้ง วัดโบสถ์โก่งธนู ลพบุรี ๒ ดอก
                              · ตะกรุดพระครูธวัชชัยคุณ วัดโกศลรังสฤษฏ์ ร้อยเอ็ด ๑ ดอก
                              · ตะกรุดสาลิกาหลวงปู่คำแหง วัดป่าสุวรรณนิเทศทรงธรรม (๒ ชุดรวม ๔ ดอก)
                              · ตะกรุดหลวงพ่อทองมา วัดสว่างทาสี ร้อยเอ็ด ๑ ดอก
                              · ตะกรุดหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก พระนครศรีอยุทธยา ๑ ดอก
                              · ตะกรุดครูบาวัง วัดบ้านเด่น จ.ตาก ๑ ดอก
                              · ตะกรุดมหาทั้ง ๕ หลวงพ่อเพชร ฐานธมฺโม วัดสิงห์ทอง อุบลราชธานี  ๒ ดอก
                              · ตะกรุดหลวงปู่สี ปิยทสฺสี วัดวังสำโรง พิจิตร ๒ ดอก
                              · ตะกรุดครูบาธรรมชัย วัดทุ่งหลวง เชียงใหม่ ๑ ดอก
                              · ตะกรุดหลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก วัดดอนยายหอม นครปฐม ๒๕ ดอก
                              · ตะกรุดหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ วัดบ้านไร่  นครราชสีมา ๑ ดอก
                              · ตะกรุดหลวงพ่อช่วง วิสาระโท วัดถ้ำเขาม้าร้อง ประจวบคีรีขันธ์ ๑ ดอก
                              · ตะกรุดพระโพธิวรคุณ (ฑูรยฺ อตฺตทีโป) วัดโพธินิมิต กรุงเทพมหานคร ๑ ดอก
                              · ตะกรุดหลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ วัดดอนยายหอม  นครปฐม ๓ ดอก
                              · ตะกรุดกระถางธูป พระอาจารย์ศรีเงิน อาภาธโร วัดดอนศาลา พัทลุง ๑ ดอก
                   ๑.๑๔ ห่วงเหรียญต่าง ๆ จำนวน ๙๙๙ ห่วง
                   ๑.๑๕  พระเครื่อง/เหรียญต่าง ๆ จำนวน ๓๑๙ รายการ รวม ๕๑๙ องค์
              ๒) แผ่นทองพระเกจิอาจารย์ต่าง ๆ จำนวน ๑๖ รูป อาทิ หลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก วัดดอนยายหอม, ครูบาพรหมจักรสังวร วัดพระพุทธบาทตากผ้า ลำพูน, หลวงพ่อแอบ วัดปากน้ำ หาดใหญ่, หลวงพ่อพลัด ภทฺริโย วัดโคกสูง หาดใหญ่, หลวงพ่อแผ่ว วัดโตนดหลง เพชรบุรี, หลวงพ่อผัน วัดราษฏร์เจริญ, หลวงพ่อเพิ่ม วัดสรรเพชญ์ นครปฐม, หลวงพ่อคอน วัดชัยพฤกษ์มาลา, หลวงปู่อินทร์ วัดศรีจันทร์ ขอนแก่น
              ๓) ตะกรุดพระเกจิอาจารย์ต่าง ๆ อาทิ หลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก วัดดอนยายหอม, ครูบาขันแก้ว อุตฺตโม วัดสันพระเจ้าแดง, หลวงพ่อฮวด วัดหัวถนนใต้ นครสวรรค์, หลวงพ่อยอด วัดวินัยสังวร
              ๔) ชนวนพระประธานวัดดอนยายหอม
              ๕) เนื้อพระบูชาชำรุดที่หลวงพ่อแอบ วัดปากน้ำ รวบรวมไว้
              ๖) ชนวนพระเชียงแสนชำรุด / เหรียญหลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ รุ่นแรก และรุ่น ๒๕๐๐
              ๗) ชนวนพระหลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก รุ่นต่าง ๆ อาทิ พระกริ่งยอดขุนพล, พระกริ่งอรหัง, พระบัวเข็ม, พระชินราชใบเสมา, พระยอดธงรุ่นเททองหล่อพระประธานสำนักสงฆ์ตะแบกโพรงสามัคคีธรรม, พระงบน้ำ อ้อย, พระรูปเหมือนหลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก ขนาด ๕ นิ้ว, พระสังกัจจายน์ พระปิดตาเนื้อแร่ พระปิดตาทรงเทริด และเหรียญหล่อหูในตัว น้ำหนักประมาณ ๑๕ กิโลกรัม
              ๘) ลูกสะกดหลวงพ่อแช่ม จำนวน ๑๖ ลูก
              ๙) ห่วงเงินต่าง ๆ จำนวน ๒๙๙ ห่วง
           ปีที่สร้าง ๒๕๒๗
           จำนวนการสร้าง สั่งหล่อ ๑,๒๐๐ เหรียญ แต่ได้จริงเพียง ๘๗๙ เหรียญ
           พิธีกรรม หลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก มอบหมายให้หลวงพ่ออวยพร ฐิติญาโณ และพระอาจารย์วิรัตน์ วิโรจโน ทำพิธีเททองที่โรงหล่อย่านลำพะยาของช่างสุเทพ โสธรประทาน เมื่อเหรียญเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระอาจารย์รัตน์ วิโรจโน รับภาระในการจารเหรียญทั้งหมด ก่อนนำไปถวายหลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก ทำการอธิษฐานจิตแผ่เมตตาเดี่ยวเรื่อยไปจนถึงวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๒๗ จึงได้นำออกให้เช่าบูชา


           บุคคลผู้ดำเนินงานรังสรรค์เหรียญ: ชายนำ ภาววิมล กำหนดแบบเบื้องต้น (Conceptual Design), ช่างตุ้ม (โสภณ ศรีรุ่งเรือง) แกะแม่พิมพ์บล็อคทองเหลือง, ช่างยู้ (สุเทพ โสธรประทาน) ถอดแม่พิมพ์และหล่อเหรียญ
           ค่านิยม เป็นเหรียญหล่อโบราณยอดนิยมในหมู่พระเครื่องและวัตถุมงคลสายวัดดอนยายหอม ในช่วงเศรษฐกิจดี ๆ สนนราคาเช่าหาเคยปรับตัวขึ้นไปถึง ๓๐,๐๐๐ กว่า และจัดเป็นหนึ่งในไตรภาคีเหรียญหล่อรูปเหมือนพระเกจิอาจารย์เมืองยอดแหลม ประกอบด้วย เหรียญหล่อหันข้างพระเทพสุธี (โชติ ธมฺมปฺปชฺโชติโก) วัดพระปฐมเจดีย์, เหรียญหล่อหน้าเสือ หลวงพ่อน้อย อินฺทสาโร วัดธรรมศาลา, เหรียญหล่อ ๗๙ หลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก วัดดอนยายหอม

           เหรียญหล่อ ๗๙ หลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก วัดดอนยายหอม อ.เมือง จ.นครปฐม เป็นอีกหนึ่งในตำนานเหรียญหล่อโบราณระดับแนวหน้าของเมืองยอดแหลมที่มีประวัติความเป็นมาชัดเจน ชัดเจนด้วยข้อมูลที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งมีการเผยแผ่ข้อมูลไปในนิตยสารพระเครื่องหลายฉบับ ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นปัจจัยที่สื่อให้เห็นความเพียรพยายาม / ความพิถีพิถันในการรังสรรค์เหรียญหล่อรูปเหมือนพระอริยสงฆ์ที่ทรงคุณค่าทางพุทธศิลป์เพื่อถวายเป็นอาจารยบูชา หากพิจารณาเหรียญรุ่นนี้ ด้วยความละเอียดถี่ถ้วนจะพบว่าเหรียญรุ่นนี้ ควรค่าแก่การสะสมเชิงอนุรักษ์เพียงใด

 


บทความที่เกี่ยวข้อง
ภาพหน้าปกหลวงพ่อแช่ม วัดดอนยายหอม ภาคปาฏิหาริย์
บทความหลวงพ่อแช่ม ฐุานุสฺสโก วัดดอนยายหอม ภาคปาฏิหาริย์ ในนิตยสารพระเครื่องลานโพธิ์ ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๑๒๑๙ เดือนกุมภาพันธ์ ปี๒๕๖๑
22 ธ.ค. 2024
หน้าปกบทความพระขุนแผนทรงพล หลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก วัดดอนยายหอม
พระขุนแผนทรงพล หลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก วัดดอนยายหอม เป็นบทความเก่าที่เคยตีพิมพ์ในนิตยสารพระเครื่องร่มโพธิ์ ปีที่ี ๙ ฉบับที่ ๑๐๘ กุมภาพันธ์ - มีนาคม ๒๕๔๓
18 ธ.ค. 2024
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy