แชร์

พระปิดตามหลวงพ่อปลื้ม จิตฺตสญฺญโต วัดสวนหงส์ จ.สุพรรณบุรี

อัพเดทล่าสุด: 1 มี.ค. 2025
56 ผู้เข้าชม

พระปิดตาหลวงพ่อปลื้ม จิตฺตสญฺญโต วัดสวนหงส์ สุพรรณบุรี

 โดย... ชายนำ ภาววิมล ...

..... หลวงพ่อปลื้ม จิตฺตสญฺญโต เป็นพระเกจิอาจารย์ชั้นแนวหน้าอีกรูปหนึ่งที่นักนิยมพระเครื่องในส่วนกลางไม่ควรมองข้าม ลำพังแค่คำพูดหรือการสาธยายเป็นตัวหนังสือ คงจะไม่สามารถชี้นำให้ท่านผู้อ่านคล้อยตามได้ ลองไปกราบนมัสการท่านสักครั้งหนึ่ง แล้วท่านจะทราบด้วยตัวของท่านเองว่าหลวงพ่อปลื้มน่าเคารพเพียงไร .....

            พระครูสุมนคณารักษ์หรือหลวงพ่อปลื้ม จิตฺตสัญฺญโต เจ้าอาวาสวัดสวนหงส์ ต.บางปลาม้า อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ท่านเป็นพระสุปฏิปันโนอีกรูปหนึ่งที่เปี่ยมล้นด้วยเมตตาธรรม มีศีลาจาริยวัตรงดงาม แม้อายุของท่านจะล่วงเลยมาถึง ๘๙ ปี แต่ท่านก็ยังเข้มงวดกวดขันกับการอบรมสั่งสอนให้พระลูกวัดอยู่ในกรอบพระวินัยและวัตรปฏิบัติที่พระภิกษุสงฆ์พึงกระทำ  สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนสังเกตพบเห็นจากการไปกราบนมัสการท่านเพียงสองครั้งก็คือ พระภิกษุสามเณรในวัดทุกรูปต่างให้ความเคารพยำเกรงหลวงพ่อปลื้ม จิตฺตสญฺญโต เป็นอย่างยิ่ง หากใครทำอะไรไม่ถูกไม่ควร ท่านก็จะเทศนาว่ากล่าวตักเตือนเสมอ ๆ จนบางครั้งผู้ที่ไม่เข้าใจอาจมองอย่างผิวเผินว่าหลวงพ่อปลื้ม จิตฺตสญ์ญโต ดุและเป็นพระเจ้าระเบียบ แต่ถ้าสังเกตกันดี ๆ มองกันอย่างพินิจพิเคราะห์แล้ว หลวงพ่อปลื้ม จิตฺตสญฺญโต เป็นพระที่เพียบพร้อมด้วยพรหมวิหารธรรม การสั่งสอนว่ากล่าวตักเตือนแต่ละครั้ง ล้วนตั้งอยู่บนรากฐานของเหตุและผลที่เป็นแก่นแท้ของหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา หากไม่เบื่อต่อการว่ากล่าวสั่งสอนของท่านและพยายามฟังด้วยความตั้งใจแล้ว คำพูดทุกคำของท่านล้วนแต่จะเป็นประโยชน์ต่อการครองตนทั้งสิ้น

           ในอีกภาพหนึ่งที่บรรดานักนิยมพระเครื่องสนใจและเสาะแสวงหากัน หลวงพ่อปลื้ม จิตฺตสญฺญโต เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีพลังจิตแก่กล้า ครั้งแรกที่ผู้เขียนไปกราบนมัสการท่าน ได้มีโอกาสพูดคุยกับหนุ่มสาวคู่หนึ่งที่เดินทางจากกรุงเทพมหานคร เพื่อมาขอบูชาสติ๊กเกอร์ติดรถ ชายหนุ่มผู้นั้นเล่าให้ฟังว่าภรรยาของเขาเป็นคนบางปลาม้าโดยกำเนิด ที่มาเช่าสติ๊กเกอร์ติดรถและพระเครื่องอื่น ๆ เพราะภรรยาของเขาเล่าให้ฟังว่า คนบางปลาม้ากลุ่มหนึ่งได้ไปกราบนมัสการหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ที่วัดบ้านไร่ เมื่อหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ทราบว่ามาจากบางปลาม้า ก็บอกให้กลับไปกราบนมัสการหลวงพ่อปลื้ม จิตฺตสญฺญโต ไม่ต้องมาหาท่านหรอก เท็จจริงประการใดผู้เขียนไม่ขอยืนยันเพราะฟังเขามาอีกต่อหนึ่ง ผู้เขียนไม่ได้ฟังจากหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ โดยตรง หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ จะพูดหรือไม่พูด คำพูดของหนุ่มสาวคู่นั้นเป็นจริงหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไร ปฏิปทาของหลวงพ่อปลื้ม จิตฺตสญฺญโต ต่างหากที่น่าประทับใจ น่าเคารพนับถือ ศรัทธาเกิดจากสิ่งที่ได้พบได้เห็น มิใช่เพียงแค่เกิดจากคำกล่าวที่เล่าลือกันแบบปากต่อปากโดยไม่สามารถพิสูจน์ อ้างอิงได้

          หลวงพ่อปลื้ม จิตฺตสญฺญโต เป็นบุตรของนายสนและนางชื่น ศุภพินิจ ถือกำเนิดเกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๗ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๐ ตรงกับวันขึ้น ๑๑ ค่ำเดือน ๑๑ ปีมะเมีย เมื่อแรกเกิดเป็นที่ปลื้มอกปลื้มใจของพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ จึงได้ชื่อว่าปลื้ม ศุภพินิจ ด้วยเหตุที่โยมพ่อของท่านเป็นศิษย์หลวงพ่อเนียม ธมฺมโชติ วัดน้อย จึงได้พาท่านไปกราบหลวงพ่อเนียม ธมฺมโชติ หลายครั้ง ตอนที่หลวงพ่อปลื้ม จิตฺตสญฺญโต อายุได้ ๒ ขวบ ท่านเอามือจุ่มลงไปในน้ำร้อนด้วยความซน หลวงพ่อเนียม ธมฺมโชติ เห็นเข้าเลยมอบตะกรุดสามกษัตริย์ให้ท่านชุดหนึ่ง และหลังจากนั้นเป็นต้นมา หลวงพ่อปลื้ม จิตฺตสญฺญโต ก็วนเวียนอยู่กับวัดน้อยมาโดยตลอด ในที่สุดก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดน้อย จนกระทั่งปี ๒๔๖๑ ขณะนั้นอายุได้ ๑๑ ปี จึงได้ศึกษาวิชาต่าง ๆ ทั้งอักขระ หนังสือไทย หนังสือขอม และมูลกัจจายน์จากหลวงลุงโต วัดน้อย

          เมื่ออายุได้ ๑๒ ปี นายสำเนียง ศุภพินิจ โยมอาของท่านกลับจากกรุงเทพฯ มาอยู่ที่บ้าน เห็นว่าหลวงพ่อปลื้ม จิตฺตสญฺญโต มีความมุ่งมั่นที่จะเรียนหนังสือ จึงได้นำท่านมาฝากเรียนที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ราช วรมหาวิหาร พออายุได้ ๑๕ ปี ราวปี ๒๔๖๕ ได้บรรพชาอีกครั้งหนึ่งตามระเบียบของวัดมหาธาตุฯ ที่ต้องการให้พระเณรในวัดมีอุปัชฌาย์องค์เดียวกัน คือมีเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อปลื้ม จิตฺตสญฺญโต เป็นสามเณรที่มีความตั้งใจเล่าเรียนเป็นอย่างยิ่ง ท่านสามารถสอบไล่ได้นักธรรมตรี และบาลีประโยค ๓ ตั้งแต่เป็นสามเณร ต่อมาในปี ๒๔๗๑ ได้อุปสมบท ณ พระอุโบสถวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ราชวรมหาวิหาร เมื่อวันพุธที่ ๒๕ เมษายน ๒๔๗๑ ตรงกับวันขึ้น ๗ ค่ำเดือน ๖ ปีมะโรง โดยมีสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระญาณสมโพธิ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระนิกรมมุนี เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า จิตฺตสญฺญโต แปลว่า ผู้มีจิตที่สำรวมดีแล้ว

          เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้ศึกษาเล่าเรียนต่อจนสอบไล่ได้นักธรรมเอกและบาลีประโยค ๔  จากนั้นจึงได้เป็นครูสอนบาลีไวยากรณ์ ณ สำนักเรียนวัดมหาธาตุฯ ต่อมาในปี ๒๔๗๕ ได้รับมอบหมายให้เป็นครูสอนบาลีและนักธรรม ณ สำนักเรียนวัดเจ้าเจ็ดใน อำเภอเสนา และวัดโคกทอง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตามลำดับ แรงดลใจประการสำคัญที่ทำให้หลวงพ่อปลื้ม จิตฺตสญฺญโต หันมาศึกษาในทางปฏิบัติ ก็คือ โยมพ่อของท่านได้กล่าวเตือนว่า คุณการศึกษาทางวิชาการก็เหนือกว่าโยมพ่อแล้ว แต่จิตคุณยังสู้โยมพ่อไม่ได้ เมื่อได้รับคำเตือนแล้ว หลวงพ่อปลื้ม จิตฺตสญญโต ก็มีจิตมุ่งมั่นที่จะศึกษาวิปัสสนากรรมฐานอย่างแน่วแน่ แม้ว่าใครจะทักท้วงหรือยับยั้งอย่างไร ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความตั้งใจของท่านได้ ดังนั้น พระผู้ใหญ่ทั้งหลายจึงได้อนุญาตให้ท่านย้ายไปจำพรรษาและศึกษาด้านการปฏิบัติที่วัดประดู่ทรงธรรม หลังจากที่ท่านเดินทางไปมาระหว่างวัดโคกทองกับวัดประดู่ทรงธรรมเป็นเวลานานกว่า ๒ ปี

          วัดประดู่ทรงธรรมเปรียบเสมือนสำนักตักศิลาของกรุงศรีอยุธยา เป็นศูนย์รวมแห่งสรรพวิชาการต่าง ๆ มากมายหลายแขนง พระเกจิอาจารย์ที่ได้รับการศึกษาอบรมจากสำนักวัดประดู่ทรงธรรมล้วนเชี่ยวชาญในพระเวทวิทยาคม มีพลังจิตเข้มขลัง อาทิ หลวงพ่อนอ จนฺทสโร วัดกลางท่าเรือ, หลวงพ่อเทียม สิริปญฺโญ วัดกษัตราธิราช ทั้งสองรูปที่กล่าวนามมานี้ ต่างก็เป็นศิษย์รุ่นพี่ของหลวงพ่อปลื้ม จิตฺตสญฺญโต ที่ได้รับการอบรมสั่งสอนอย่างใกล้ชิดจากก๋งจาบ สุวรรณ หลวงพ่อปลื้ม จิตฺตสญฺญโต ได้มุมานะพากเพียรในการศึกษาด้านการปฏิบัติ จนได้รับการแต่งตั้งเป็นครูสอนกรรมฐานจากก๋งจาบ สุวรรณ หลังจากนั้น ได้ย้ายไปจำพรรษาและทำหน้าที่ครูสอนนักธรรมและบาลีอีกหลายแห่งหลายสำนัก จนกระทั่งถึงปี ๒๔๙๑ จึงได้รับคำสั่งให้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสวนหงส์และเจ้าคณะตำบลบางปลาม้า

           ในด้านวัตถุมงคล วัดสวนหงส์ได้สร้างพระเครื่องในนามหลวงพ่อปลื้ม จิตฺตสญฺญโต หลายรุ่น แม้ว่าวัตถุมงคลของท่านยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายและเล่นหาเป็นสากล หากเป็นเขตจังหวัดสุพรรณบุรีในยุคสมัยนี้ (ปี ๒๕๓๙) หลวงพ่อปลื้ม จิตฺตสญฺญโต เป็นพระเกจิอาจารย์ชั้นแนวหน้าอีกรูปหนึ่งที่นักนิยมพระเครื่องในส่วนกลางไม่ควรมองข้าม ลำพังแค่คำพูดหรือการสาธยายเป็นตัวหนังสือ คงจะไม่สามารถชี้นำให้ท่านผู้อ่านคล้อยตามได้ ลองไปกราบนมัสการท่านสักครั้งหนึ่ง แล้วท่านจะทราบด้วยตัวของท่านเองว่าหลวงพ่อปลื้มน่าเคารพเพียงไร

           พระปิดตาหลวงพ่อปลื้ม จิตฺตสญฺญโต วัดสวนหงส์ เป็นพระเครื่องพิมพ์หนึ่งที่สร้างขึ้นในโอกาสที่หลวงพ่อปลื้ม จิตฺตสญฺญโต มีอายุครบ ๘๘ ปี โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะหารายได้สมทบทุนเพื่อดำเนินกิจกรรมของวัดสวนหงส์ ๓ ประการคือ ๑) ถมดินบริเวณวัดสวนหงส์ ๒) ซ่อมแซมเสนาสนะ ๓) จัดตั้งมูลนิธิสวนหงส์เพื่อการศึกษา

             ลักษณะ เป็นพระปิดตามหาอุตม์แบบครึ่งซีก ล้อศิลปะพระปิดตานะหัวเข่า หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร วัดหนัง พระหัตถ์ (มือ) คู่แรกปิดพระพักตร์ (หน้า) ลักษณะคล้ายดอกบัวตูม ปรากฏนิ้วมือชัดเจน แขนเล็ก พระหัตถ์คู่ที่สองปิดหูทั้งสองข้าง คู่ที่สามวางบรรจบกันที่พระอุระ (หน้าอก) แบบพระนั่งสมาธิ พระหัตถ์คู่ที่สี่ล้วงลงไปปิดทวารหนัก ระหว่างแขนทั้งสองข้างเป็นเส้นสามเส้น หัวเข่าทั้งสองข้างประทับด้วยตัว นะ ด้านหลังอูมเล็กน้อย ประทับด้วยตัว นะ จมลงไปในเนื้อพระ
            ขนาด
กว้าง ๑.๖ ซ.ม. สูง ๑.๘ ซ.ม. หนาประมาณ ๐.๔ ซ.ม.
            เนื้อหามวลสาร
เป็นพระปิดตาแบบปูนปั้น มีส่วนผสมของปูนเปลือกหอย กล้วย ข้าวสุก ผงเกสร และน้ำมันตังอิ้ว เป็นส่วนผสมหลักในการสร้าง นอกจากนี้ ยังมีส่วนผสมของผงต่าง ๆ ดังนี้
              
๑) ผงเทพรัญจวน วัดประดู่ทรงธรรม
               ๒) ผงหลวงพ่อแฉ่ง สีลปญโญ วัดบางพัง
               ๓) ดินสังเวชนียสถานสี่
               ๔) รักพระประธานในโบสถ์วัดสวนหงส์
               ๕) ผงพระชำรุดต่าง ๆ มากมาย
               ๖) ผงเกสรดอกบัวหลวง
            วรรณะ อ
อกสีขาวแก่ปูน และสีน้ำตาลอ่อนสำหรับองค์ที่แก่น้ำมันตังอิ้ว
            จำนวนการสร้าง
๒๐,๐๐๐ องค์
            พิธีกรรม
อธิษฐานจิตแผ่เมตตาเดี่ยวโดยหลวงพ่อปลื้ม จิตฺตสญฺญโต ในวันอาทิตย์ที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๓๗ ณ อุโบสถวัดสวนหงส์ พร้อมพระกริ่งและพระชัยวัฒน์ รุ่นเจริญอายุ ๘๘ ปี
            พลานุภาพ
เน้นหนักด้านเมตตามหานิยมและแคล้วคลาด
            ค่านิยม
เป็นพระใหม่ที่มีอายุการสร้างเพียงปีเศษ ๆ สนนราคาเช่นหายังไม่สูงมากนัก เช่าหากันไม่ควรเกินหลักร้อยต้น ๆ (ปี ๒๕๓๙)

           พระปิดตาหลวงพ่อปลื้ม จิตฺตสญฺญโต วัดสวนหงส์ เป็นพระปิดตาที่มีพื้นฐานดีมากอีกพิมพ์หนึ่ง สาระสำคัญประการแรกอยู่ที่หลวงพ่อปลื้ม จิตฺตสญฺญโต ซึ่งเป็นพระสุปฏิปันโนผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ อีกทั้งเป็นศิษย์ผู้สืบทอดสรรพวิทยาการต่าง ๆ จากสำนักวัดประดู่ทรงธรรม และหลวงพ่อเนียม ธมฺมโชติ วัดน้อย ประการต่อมาคือ พระปิดตาทุกองค์กดพิมพ์กันภายในวัดสวนหงส์ เงื่อนไขทั้งสองประการจะเป็นตัวแปรหลักที่ทำให้พระปิดตาชุดนี้โดดเด่นและเล่นหากันอย่างกว้างขวางในท้องถิ่น ส่วนจะเป็นพระหลักนิยมที่เล่นหากันเป็นสากลหรือไม่นั้น เวลาเท่านั้นที่เป็นเครื่องพิสูจน์

 

(บทความเก่าจากนิตยสารศูนย์พระเครื่อง ปีที่ ๗ ฉบับ ๑๗๒ (๑๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๙) หน้า ๓๕ - ๓๖ ต่อ ๗๐)


บทความที่เกี่ยวข้อง
ภาพหน้าปก ๑๐ ยอดพระเกจิอาจารย์ฯ
บทความเก่าในนิตยสารพระเครื่องร่มโพธิ์ ฉบับที่ ๑๐๑ ว่าด้วยความเห็นเกี่ยวกับ ๑๐ ยอดพระเกจิอาจารย์ผู้สืบสานแนวคิดในการสร้างพระปิดตายุคหลังกึ่งพุทธกาล
5 มี.ค. 2025
ภาพหน้าปกบทความพระปิดตาหลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป
Rewrite จากบทความเรื่องพระปิดตาหลังภาพเครื่องอัฐบริขาร หลวงพ่อเปลี่ยน ปญฺญาปทีโป ในนิตยสารพระเครื่องพระเกจิ ปีที่ ๒๕ ฉบับที่ ๓๒๓ เดือนกรกฎาคม ๒๕๖๒
25 ธ.ค. 2024
ประวัติการสร้างและภาพเหรียญยอดพระปิดตายุคหลังกึ่งพุทธกาล
กรอบแนวคิดและประวัติความเป็นมาในการสร้างเหรียญยอดพระปิดตายุคหลังกึ่งพุทธกาล รวมทั้งภาพเหรียญทั้ง ๕ เนื้อที่จัดสร้างในคราวนี้
6 ธ.ค. 2024
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy