๑๐ ยอดพระเกจิอาจารย์ ผู้สืบสานแนวคิดในการสร้างพระปิดตาฯ
๑๐ ยอดพระเกจิอาจารย์ผู้สืบสานแนวคิดในการสร้างพระปิดตายุคหลังกึ่งพุทธกาล
โดย... ช.พิมลราช (ชายนำ ภาววิมล)...
โดยปกติแล้ว การนำเสนอเรื่องพระปิดตาสำนักต่าง ๆ ที่ผู้เขียนหยิบยกมานำเสนอต่อท่านผู้อ่านนิตยสารพระเครื่องร่มโพธิ์อย่างต่อเนื่อง เป็นการนำเสนอแบบเจาะลึกเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับพระปิดตาแต่ละพิมพ์อย่างละเอียด การนำเสนอในลักษณะนี้ เป็นสิ่งที่นักนิยมพระปิดตาที่เพิ่งก้าวเข้ามาเล่นหาพระเครื่อง สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการเล่นหาพระเครื่องได้ดียิ่งขึ้น หลายท่านอาจจะตั้งคำถามแบบซักค้านว่าอ่านบทความนี้แล้ว ช่วยให้เล่นพระปิดตาได้เป็นจริงหรือ คำถามนี้ตอบง่ายแต่ถ้าจะตอบให้ดีและไม่เข้าตัวนั้น ต้องคิดแล้วคิดอีกหลายตลบ ที่ต้องคิดเพราะว่าการเล่นหาพระเครื่อง ไม่ใช่สูตรสำเร็จเหมือนกับตำราการทำอาหารที่อ่านแล้ว สามารถนำไปใช้ทดลองทำได้ทันที จะอร่อยหรือไม่อร่อยเป็นอีกเรื่องหนี่ง
การเล่นหาพระเครื่องนั้น เปรียบได้กับการตามหาสมบัติพระศุลีหนังสือพระเครื่องจึงเป็นเพียงเข็มทิศและแผนที่ที่จะช่วยบอกทางให้เราก้าวเดินไปสู่จุดหมายที่เราต้องการ แต่เส้นทางที่พวกเรากำลังเดินทางไปนั้น มีอุปสรรคมากมายเหลือคณานับ ผู้ที่จะผ่านพ้นขวากหนามไปสู่จุดหมายปลายทางที่ตั้งใจจะไป ไม่ใช่จะได้มาด้วยการอาศัยโชคช่วยหรือใช้เงินซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า แต่ต้องมีความรู้อย่างแท้จริงด้วย ความเป็นหนึ่งในวงการพระเครื่อง ไม่ได้หยุดนิ่งอยู่ที่การมีพระเครื่องที่วงการนิยมเล่าหากันเป็นสากลเป็นจำนวนมากเท่านั้น ความเป็นจริงแล้ว ยังมีอีกหลาย ๆ สิ่งที่เป็นบทพิสูจน์ว่าใครเป็นผู้เยี่ยมยุทธ์ที่แท้จริง เมื่อครรลองของวงการนักนิยมพระเครื่องเป็นเช่นนี้ หนังสือพระเครื่องโดยทั่วไปจึงมีส่วนเพียง ๑๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ช่วยให้นักนิยมพระเครื่องรุ่นใหม่ ๆ รับรู้เรื่องราวของพระเครื่องพิมพ์ต่าง ๆ ที่ตนสนใจได้ การเรียนรู้ที่แท้จริงนั้น อยู่ที่ภาคปฏิบัติในเวทีการเล่นหาอย่างมีเหตุผล เป็นการเรียนรู้อย่างชาญฉลาด สุขุมรอบคอบ ไม่ใจเร็วด่วนได้ ที่สำคัญคือ ห้ามใช้หูเล่นพระเด็ดขาด เดี๋ยวจะหาว่า... หล่อ (น้อย) ไม่เตือน
แต่ถ้าหนังสือพระเครื่องฉบับใดที่เน้นข้อมูลแบบเจาะลึกและมีความน่าเชื่อถือเพียงพอ ก็จะช่วยให้นักนิยมพระเครื่องได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นเป็น ๒๐ - ๓๐ เปอร์เซ็นต์ อีก ๖๐ - ๗๐ เปอร์เซ็นต์ต้องไปเรียนรู้และหาประสบการณ์เอาเอง จุดอ่อนของการนำเสนอแบบเจาะลึกเฉพาะพระปิดตาแต่ละพิมพ์ ก็มีไม่น้อยเช่นกัน ที่เห็นกันชัด ๆ ประการหนึ่งก็คือ ได้เปรียบตรงที่รู้แคบแต่ลึก ความรู้ในลักษณะนี้อาจเพียงพอสำหรับการเล่นหาพระเครื่องแบบสมัครเล่น แต่สำหรับมืออาชีพแล้ว เราต้องมองภาพรวมให้ออก สามารถคาดคะเนและจับกระแสการเปลี่ยนแปลงของวงการพระเครื่องด้ำกลเคียงกับข้อเท็จจริงมากที่สุด กว่าที่ใครคนใดคนหนึ่งจะเห็นภาพรวมทั้งหมด ผู้นั้นจะต้องศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมทั้งจากเอกสารและผู้รู้ต่าง ๆ ด้วยตนเอง ต้องใช้เวลามากพอสมควรกว่าที่จะสั่งสมประสบการณ์และความเชื่อถือจากคนรอบข้าง
ดังนั้น การนำเสนอในนิตยสารพระเครื่องร่มโพธิ์ ฉบับที่ ๑๐๑ ซึ่งเป็นฉบับสุดท้ายของปี ๒๕๔๑ ผู้เขียนขอเปลี่ยนบรรยากาศด้วยการนำเสนอข้อมูลโดยสังเขปเกี่ยวกับสายพระปิดตายุคหลังกึ่งพุทธกาลของพระเกจิอาจารย์ร่วมสมัยที่จัดสร้างพระปิดตาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่านักนิยมพระเครื่องระดับอาวุโสส่วนหนึ่งจะมองข้ามพระปิดตาเหล่านี้ไป เนื่องจากท่านคุ้นเคยอยู่กับการเล่นหาเฉพาะในกลุ่มของพระปิดตาประเภทยอดนิยมที่นักนิยมพระเครื่องรุ่นใหม่ ๆ แทบจะไม่มีโอกาสได้สัมผัสหรือพบเห็นเลย แต่พระปิดตาที่กำลังจะกล่าวถึงในลำดับต่อไปนี้ ก็คือ พระปิดตาร่วมสมัยที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นพระปิดตาที่วงการนิยมเล่นหากันในอนาคต พระปิดตาในกลุ่มนี้ บางสำนักก็เป็นที่รู้จักและเล่นหากันเป็นสากลแล้ว บางสำนักก็กำลังไต่ระดับขึ้นมาจากพระปิดตาที่นิยมเล่นหากันในหมู่ลูกศิษย์เป็นพระปิดตาที่นิยมเล่นหากันในวงกว้าง และพระปิดตาที่นิยมเล่นหากันเป็นสากลตามลำดับ บางสำนักก็เป็นเพชรที่รอการเจียรนัย
๑. พระปิดตาหลวงปู่โต๊ะ อินทฺสุวณฺโณ วัดประดู่ฉิมพลี กรุงเทพมหานคร เป็นพระปิดตาเนื้อผงยุคหลังกึ่งพุทธกาลที่ได้รับความนิยมสูงสุด และเป็นต้นแบบที่วัดต่าง ๆ นำไปสร้างล้อแบบมากที่สุด พระปิดตาหลวงปู่โต๊ะ อินฺทสุวณฺโณ วัดประดู่ฉิมพลี ส่วนใหญ่จะมีสนนราคาเช่าหาอยู่ที่หลักพันต้น ๆ ขึ้นไปจนถึงหลักหมื่น พิมพ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดก็คือ พระปิดตารุ่นปลดหนี้และพระปิดตาจัมโบ้
๒. พระปิดตาหลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก วัดดอนยายหอม นครปฐม เป็นพระปิดตาที่น่าสนใจอีกสำนักหนึ่ง พระปิดตาที่โดดเด่นที่สุดของหลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก วัดดอนยายหอม ก็คือพระปิดตามหาอุตม์ยันต์ยุ่งเนื้อแร่ ปัจจุบันเล่นหากันที่หลักพันกลาง ๆ ขึ้นไป รองลงมาก็คือ พระปิดตาทรงเทริด หรือที่บางคนเรียกขานกันว่า พระปิดตาชีโบ และพระปิดตาน้ำเต้า นอกจากนี้แล้ว ยังมีพระปิดตาที่น่าสนใจอีกหลายพิมพ์ด้วยกัน ในทัศนะของผู้เขียน ถ้าจะจัดลำดับให้พระปิดตาหลวงปู่โต๊ะ อินฺทสุวณฺโณ วัดประดู่ฉิมพลี เป็นสุดยอดพระปิดตายุคหลังกึ่งพุทธกาลประเภทเนื้อผงแล้ว พระปิดตาหลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก วัดดอนยายหอม ก็น่าจะเป็นสุดยอดพระปิดตายุคหลังกึ่งพุทธกาลประเภทเนื้อโลหะ รอให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างพระปิดตาหลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก วัดดอนยายหอม ได้เผยแพร่สู่วงกว้าง หลายท่านคงจะได้รับทราบข้อเท็จจริงว่าพระปิดตาสำนักนี้โดเด่นอย่างไร ถ้ารูปลักษณ์ไม่มีอะไรสะดุดตาเป็นพิเศษ ก็คงไม่มีใครเล่นแร่แปรธาตุนำไปขายเป็นของพระเกจิอาจารย์ยุคเก่า เท่าที่ทราบ ก็มีการขายพระปิดตาทรงเทริดเป็นพระปิดตาทางใต้ ขายพระปิดตามีลาภเนื้อผง ซึ่งเป็นพระปิดตารุ่นแรกของท่านที่สร้างขึ้นในปี ๒๕๑๓ เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังในจังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมระบุว่าสร้างในราวปี ๒๔๙๐ กว่า ๆ
๓. พระปิดตาหลวงพ่อทองสุข อินฺทสาโร วัดสะพานสูง นนทบุรี เป็นพระปิดตามาตรฐานที่วงการนักนิยมพระเครื่องยอมรับและเล่นหากันมานาน แต่ด้วยเหตุที่ว่าเป็นพระปิดตาที่สืบสานตำรับการสร้างพระปิดตาเนื้อผงมาจากหลวงปู่เอี่ยม และหลวงปู่กลิ่น วัดสะพานสูง รูปแบบและเนื้อหาในการสร้าง ส่วนใหญ่จึงมีลักษณะคล้ายคลึงกับปรมาจารย์ทั้งสองท่าน และวัดต่าง ๆ ทางเมืองนนท์ก็ได้สร้างล้อพิมพ์พระปิดตาวัดสะพานสูง หลายต่อหลายวัดด้วยกัน อีกทั้งยังไม่มีลูกศิษย์สายตรงท่านใดนำข้อมูลแบบเจาะลึกมาเผยแพร่กันอย่างจริงจัง จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นักนิยมพระปิดตารุ่นใหม่ ๆ ไม่สามารถเข้าถึงแก่นแท้ในการเล่นหาพระปิดตาสายนี้ได้อย่างแท้จริง เลยหันไปเล่นพระปิดตาสายอื่นแทน ถ้ามีการนำข้อมูลที่ชัดเจนมาเผยแพร่อย่างเป็นเรื่องเป็นราว อนาคตไปได้ดีแน่นอน ของดีแท้แน่นอน รับรองไม่เป็นสองรองใคร
๔. พระปิดตาหลวงพ่อบุญเทียม ภูริปญฺโญ วัดลาดหลุมแก้ว ปทุมธานี ถือว่าเป็นเพชรแท้ที่รอการเจียรนัย พระปิดตาเนื้อผงใบลานรุ่นแรก พิมพ์ตะพาบแบบครึ่งซีก หรือที่ลูกศิษย์สายนี้ขนานนามว่า "พระปิดตากระโดดบาตร" เป็นพระปิดตาที่มีประสบการณ์มากที่สุด เป็นที่นิยมและเล่นหากันในหมู่ลูกศิษย์อย่างกว้างขวาง นอกจากนี้แล้ว ยังมีพระปิดตาเนื้อตะกั่วและพระปิดตาเนื้อผงอีกหลายพิมพ์ด้วยกัน สนนราคาเช่าหาส่วนใหญ่อยู่ที่หลักร้อย ถ้าคิดจะซื้ออนาคต พระปิดตาหลวงพ่อบุญเทียม ภูริปญฺโญ วัดลาดหลุมแก้ว เป็นพระปิดตาเมืองปทุมธานีอีกสำนักหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม
๕. พระปิดตาหลวงปู่เอี่ยม ปญฺญาทีโป วัดหงส์ปทุมาวาส ปทุมธานี พระปิดตาเนื้อผงคลุกรักยุคต้นของหลวงปู่เอี่ยม ปญญาทีโป วัดหงส์ เป็นพระปิดตาที่สร้างขึ้นจากพิมพ์เดิมของหลวงพ่อเปิง วัดชินวนาราม จะต่างกันที่สีและความแห้งของรัก ส่วนพระปิดตาที่สร้างขึ้นในยุคหลังของท่าน แม้จะมีพิมพ์ทรงและเนื้อหาที่แตกต่างกันไปบ้าง แต่ก็ยังคงเป็นพระปิดตาเมืองปทุมธานีที่โดดเด่นและน่าสนใจไม่น้อย พระปิดตายุคกลางและยุคท้าย ๆ ของหลวงปู่เอี่ยม ปญญาปทีโป วัดหงส์ปทุมาวาส ยังมีสนนราคาเช่าหาไม่สูงมากนัก หากจะเทียบกับพระปิดตารุ่นใหม่ที่มีอายุการสร้างไม่เกิน ๑๐ ปีที่ผ่านมานี้ พระปิดตาหลวงปู่เอี่ยม ปญฺญาทีโป วัดหงส์ปทุมาวาส มีภาษีดีกว่าหลายช่วงตัว
๖. พระปิดตาหลวงพ่อประสิทธิ์ สิทธิกาโร วัดไทรน้อย นนทบุรี โดยปกติแล้ว นักนิยมพระเครื่องทั่วไปจะรู้จักมักคุ้นกับชื่อเสียงเกียรติคุณของตะกรุดหลวงพ่อประสิทธิ์ สิทธิกาโร วัดไทรน้อย มากกว่าวัตถุมงคลประเภทอื่น ๆ น้อยคนนักที่จะทราบว่าหลวงพ่อประสิทธิ์ สิทธิกาโร วัดไทรน้อย เป็นพระเกจิอาจารย์ร่วมสมัยอีกร่วมหนึ่งที่มีการสร้างพระปิดตาเนื้อผงเป็นประจำ คะเนว่าพระปิดตาที่ท่านสร้างขึ้น น่าจะอยู่ที่ ๑๕ - ๒๐ พิมพ์ ก็จัดว่ามากเพียงพอที่จะเล่นหากันได้ เรื่องมวลสารที่ใช้ในการสร้าง เชื่อขนมกินได้เลยว่าเยี่ยมจริง ๆ พระปิดตาส่วนใหญ่กดพิมพ์โดยพระลูกศิษย์และทำกันเองภายในวัดไทรน้อย ถ้ามีแรงดันดี ๆ พระปิดตาหลวงพ่อประสิทธิ์ สิทธิกาโร วัดไทรน้อย น่าจะเป็นพระปิดตาอีกสำนักหนึ่งที่ไปได้ไกลพอสมควร
๗. พระปิดตาหลวงปู่เฮี้ยง ปุณฺณจฺฉนฺโท วัดป่าอรัญญิกาวาส ชลบุรี จัดเป็นพระปิดตาเมืองชลบุรีที่น่าสนใจอีกสำนักหนึ่ง ว่ากันตามจริง หลวงปู่เฮี้ยง ปุณฺณจฉนฺโท ได้เริ่มต้นสร้างพระปิดตาก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นเวลานานนับสิบปี พระปิดตาของท่านจัดเป็นพระปิดตาที่มีองค์ประกอบพื้นฐานดีมากและมีศักยภาพเกินพอที่จะก้าวขึ้นไปแทนที่พระปิดตาห้าสำนักใหญาของเมืองชลบุรีที่กลายเป็นตำนานพระปิดตาไปแล้ว พระปิดตาที่สร้างขึ้นภายหลังปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ยังคงเป็นของดีราคาถูกที่นักนิยมพระปิดตารุ่นใหม่ควรจะศึกษาค้นคว้าและเล่นหาด้วยความระมัดระวัง ถ้าไม่ละเอียดถี่ถ้วนเพียงพอ แทนที่จะได้พระปิดตาหลวงปู่เฮี้ยง ปุณฺณจฉนฺโท กลับไปได้พระปิดตาหลวงพ่อแฟ้ม วัดป่าอรัญญิกกาวาส ถ้าจะมองในแง่ของการได้พระปิดตาดี ๆ มาห้อยคอสักองค์ ก็ไม่น่าจะมีอะไรแตกต่างกันมากนัก เพราะหลวงพ่อแฟ้ม ท่านก็เป็นพระเกจิอาจารย์ระดับแนวหน้าของเมืองชลบุรีเช่นกัน และท่านก็เป็นศิษย์เอกที่ได้รับมอบหมายจากหลวงปู่เฮี้ยง ปุณฺณจฉนฺโท ให้เป็นผู้ดำเนินการสร้างพระปิดตาแทนท่านมาโดยตลอด ถ้าสามารถแยกแยะได้ถูกต้อง ก็น่าจะไปได้สวยทั้งสองรูป
๘. พระปิดตาหลวงปู่ศรี พรหฺมโชติ วัดอ่างศิลา ชลบุรี เป็นหนึ่งในสามพระปิดตาเมืองชลบุรีที่มีโอกาสก้าวขึ้นไปแทนที่พระปิดตาห้าสำนักใหญ่ที่กลายเป็นตำนานพระปิดตาเมืองชลบุรีไปแล้ว พระปิดตาของวัดอ่างศิลาเป็นพระปิดตาที่สร้างขึ้นตามแบบอย่างของพระปิดตาหลวงปู่แก้ว วัดเครือวัลย์ ความยากในการเล่นหาพระปิดตาหลวงปู่ศรี พุทธโชติ ก็คล้ายคลึงกับพระปิดตาหลวงปู่เฮี้ยง ปุณฺณจฉนฺโท วัดป่าอรัญญิกาวาส คือ หลวงพ่อพูนทรัพย์ เจ้าอาวาสรูปต่อมามาได้สร้างพระปิดตาล้อแบบพระปิดตาพิมพ์เดิม ถ้าไม่แม่นจริงหรือไม่เคยเห็นของแท้มาก่อน อาจพลาดได้ ก็ยังดีที่เป็นพระปิดตาสำนักเดียวกัน จะต่างกันที่ผู้สร้างที่เป็นของอาจารย์กับของลูกศิษย์เท่านั้น แต่ถ้าพลาดบ่อยก็ไม่ไหวเหมือนกัน เพราะสนนราคาค่านิยมต่างกันเยอะเลย
๙. พระปิดตาหลวงปู่เหมือน อินฺทโชโต วัดกำแพง ชลบุรี เป็นพระปิดตาที่สร้างขึ้นตามแบบอย่างพระปิดตาหลวงพ่อเจียม วัดกำแพง ซึ่งเป็นหนึ่งในห้ายอดพระปิดตาเมืองชลบุรี พระปิดตาที่หลวงปู่เหมือน อินฺทโชโต วัดกำแพง สร้างขึ้นมีจำนวนมากมายหลายสิบรุ่น ส่วนใหญ่ยังคงเป็นของดีราคาถูกที่พอหาได้ ถูกหรือแพงให้ดูที่รุ่นของการสร้าง พิมพ์ทรงและความสวยงาม ถ้ารักจะเล่นหาพระปิดตาเมืองชลบุรี พระปิดตาหลวงปู่เหมือน อินฺทโชโต เป็นทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย
๑๐. พระปิดตาหลวงปู่วิเวียร ฐิตปุญฺญเถร วัดดวงแข กรุงเทพมหานคร จัดเป็นทางเลือกที่น่าสนใจอีกทางหนึ่งสำหรับนักนิยมพระเครื่องรุ่นใหม่ ๆ ที่เพิ่งก้าวเข้ามาสู่วงการนี้ พระปิดตาหลวงปู่วิเวียร ฐิตปุญญเถร วัดดวงแข แม้ว่าจะมีการสร้างมากถึง ๑๘ พิมพ์ แต่ถ้าพิเคราะห์ให้ดี จะพบว่าพระปิดตาสำนักนี้ เป็นพระปิดตาที่มีศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะสำนัก พระปิดตารุ่นต้น ๆ เริ่มมีค่านิยมสูงขึ้นเรื่อย ๆ บางพิมพ์เล่นหากันถึงหลักพันแล้ว ประวัติการสร้างก็ชัดเจน พยานเอกสารก็มีให้ศึกษาอ้างอิง ถ้ามีแรงดันดี ๆ ก็น่าจะไปได้สวยเช่นกัน
นอกจากพระปิดตาทั้ง ๑๐ สำนักที่กล่าวมานี้ ก็ยังมีพระเกจิอาจารย์อีกจำนวนมากที่ได้สร้างสรรค์พระปิดตาที่ทรงคุณค่าออกมาให้พวกเราเล่นหากัน ที่ไม่ได้หยิบยกมากล่าวในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าพระปิดตาเหล่านั้นจะเป็นรองพระปิดตาของทั้ง ๑๐ สำนักดังกล่าวข้างต้น แต่เป็นการนำเสนอโดยการกำหนดแนวคิดตั้งแต่เริ่มว่าจะมุ่งเน้นการนำเสนอเฉพาะพระเกจิอาจารย์ที่มีการสร้างพระปิดตาอย่างต่อเนื่อง และมีจำนวนการสร้างไม่น้อยกว่า ๑๐ รุ่นหรือ ๑๐ พิมพ์ขึ้นไป ทั้งนี้เพื่อเป็นแนวทางที่จะให้นักนิยมพระปิดตารุ่นใหม่สามารถมองภาพในมุมกว้างได้ชัดเจนยิ่งขึ้น จากนั้นค่อยลงไปสู่รายละเอียดแบบเจาะลึกต่อไป เพราะในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่มีใครสามารถหยั่งรู้ทุกเรื่องได้
เมื่อธรรมชาติกำหนดมาอย่างนี้ เราต้องมองภาพรวมให้ออก แล้วค่อย ๆ เจาะลึกลงไปในรายละเอียดอย่างเป็นระบบ แค่ความรอบรู้เรื่องราวเกี่ยวกับพระปิดตาของพระเกจิอาจารย์เพียงรูปใดรูปหนึ่งที่กล่าวนามมาทั้ง ๑๐ รูปอย่างลึกซึ้ง ก็สามารถทำให้นักนิยมพระเครื่องยุคใหม่ยืนหยัดในวงการนี้ได้อย่างสง่าผ่าเผย
(บทความเก่า จาก นิตยสารพระเครื่องร่มโพธิ์ ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๖ [๑๐๑] ธันวาคม ๒๕๔๑ หน้า ๖ - ๘)