แชร์

พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ตำนานยอดพระเครื่องเมืองหลังสวน (๖/๒๔)

อัพเดทล่าสุด: 28 ธ.ค. 2024
33 ผู้เข้าชม

 พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน : ตำนานยอดพระเครื่องเมืองหลังสวน (๖/๒๔)

 โดย.......ชายนำ ภาววิมล.......

         พระผงรูปเหมือนหลวงพ่อแดง พุทโธ เนื้อว่าน ปี ๒๕๑๑ ที่นำเสนอในนิตยสารพระเครื่องลานโพธิ์ ฉบับที่ ๑๑๗๖ ปักษ์แรกเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๘ เป็นพิมพ์เอกในชุดยอดพระเครื่องเมืองหลังสวนที่มีพลานุภาพโดดเด่นไม่แพ้พระเครื่องสำนักใดในภาคใต้ เจตนาการสร้าง พุทธศิลป์ เนื้อหามวลสาร พิธีกรรม พระเกจิอาจารย์ผู้อธิษฐานจิตปลุกเสก ผู้ดำเนินการจัดสร้าง ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญที่เกื้อหนุนให้พระผงรูปเหมือนหลวงพ่อแดง พุทโธ เนื้อว่านรุ่นนี้ เป็นอีกหนึ่งในตำนานยอดพระเครื่องเมืองใต้ที่มีเรื่องเล่าขานสืบต่อกันมาไม่รู้จบ โดยเฉพาะพิธีกรรมที่นำพระผงรูปเหมือนหลวงพ่อแดง พุทโธ จำนวน ๑,๐๐๐ องค์ ไปพลีทะเล (ทิ้งทะเล) ที่ปากน้ำหลังสวน และทำพิธีอัญเชิญพระผงรูปเหมือนหลวงพ่อแดง พุทโธ กลับวัดถ้ำเขาเงิน

        ในหนังสือ "ชีวประวัติหลวงพ่อคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน อ.หลังสวน จ.ชุมพร", ปี ๒๕๓๙, หน้า ๑๖ ๑๗ ศิษย์พ่อหลวง (นามปากกาของผู้เรียบเรียงในขณะนั้น) กล่าวถึงรายละเอียดของเรื่องราวต่างๆ ในพิธีดังกล่าวว่า พิธีการปลุกเสกได้กระทำกันที่ถ้ำ จปร. เป็นเวลานานถึง ๗ วัน ๗ คืนติดต่อกัน เมื่อปลุกเสกเสร็จแล้ว ได้อัญเชิญหลวงพ่อแดง พุทฺโธ และกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ มาประทับทรง และร่วมบริกรรมอธิษฐานจิตปลุกเสกด้วยอีกรอบหนึ่ง นอกจากพิธีอธิษฐานจิตปลุกเสกแล้ว ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความพิสดารลึกล้ำ ความพิถีพิถัน และความยิ่งใหญ่ในการสร้างพระเครื่องครั้งนี้ ได้มีการบันทึกในหนังสือประวัติการสร้างพระหลวงพ่อแดง พุทฺโธ  ท้ายสุด อาจารย์นับ ธรรมภักดี ได้มอบให้คุณสุธน ศรีหิรัญ นำไปเผยแพร่ในนิตยสารพระเครื่องลานโพธิ์ ฉบับที่ ๕๗๘ ซึ่งผู้เขียนขอวิสาสะคัดลอกมานำเสนอต่อท่านผู้อ่าน ดังนี้

         "วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๑ ตรงกับวันพฤหัสบดี เดือน ๓ ขึ้น ๙ ค่ำ เวลา ๙.๐๐ น. ทำพิธีสังเวยดวงวิญญาณหลวงพ่อแดง พุทฺโธ พระเถระ ๙ รูป เจริญพระพุทธมนต์ ทำพิธีเรียกสูตรผง ผสมผงว่านยา เข้ากับเครื่องผสมต่างๆ เวลา ๑๑.๐๐ น. พราหมณ์ผู้ทรงศีล ๙ ท่าน เริ่มพิมพ์รูปหลวงพ่อแดง พุทฺโธ ต่อจากนั้น ภิกษุสามเณรและผู้ทรงศีลนั่งบริกรรมพิมพ์พระทั้งกลางวันกลางคืน ๓๐ คน ได้พระตามปรารถน

          วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๑๑ ตรงกับวันอังคาร เดือน ๔ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เวลา ๙.๐๐ น. พระเถระ ๙ รูป เจริญพระพุทธมนต์ ทำพิธีบวงสรวงสังเวยและบูชาฤกษ์ เชิญครูบาอาจารย์เข้าสู่มณฑลพิธี ณ ถ้ำเขาเงิน แล้วลงไปทำพิธีสังเวยเทพารักษ์ ณ ศาลเทพารักษ์ที่สร้างขึ้นกลางแม่น้ำหน้าถ้ำเขาเงิน น้ำลึกประมาณ ๗ เมตร ต่อจากนั้น คณะ กรรมการตรวจนับ เอารูปหลวงพ่อแดง พุทฺโธ รวมกับพระยอดขุนพล ๓ องค์ เป็น ๑,๐๐๐ องค์ ลงเรือพร้อมด้วยคณะกรรมการและพระสงฆ์ประมาณ ๓๐ กว่าคน นั่งเรือจากถ้ำเขาเงินออกสู่ทะเลสาบปากน้ำอำเภอหลังสวน น้ำลึกประมาณ ๑๐ เมตร ทำพิธีสังเวยเทพารักษ์ พระสงฆ์ ๕ รูป สวดชัยมงคลคาถา คณะกรรมการมี นายสัญญา ปาลวัฒน์วิไชย นายอำเภอ, พ.ต.ต. นัฐ คำมุนี ผู้บังคับกองตำรวจ, นายคำมั่น ถามาตย์ ศึกษาธิการอำเภอ, นายบุญเลิศ หัวหน้าแผนกสหกรณ์อำเภอ, กำนันน้อย ไทยถาวร อำเภอหลังสวน อาราธนาพระลงสู่ทะเล ๑,๐๐๐ องค์ต่อหน้าประชาชนเป็นจำนวนมาก เสร็จแล้ว คณะกรรมการนั่งเรือกลับประมาณ ๒ ชั่วโมง ถึงถ้ำเขาเงิน หลวงพ่อคล้อย และอาจารย์ชุม พร้อมด้วยคณะศิษย์ ๒๐ กว่าคน ทำการปลุกเสกและนั่งบริกรรมเรียกพระให้กลับพร้อมกัน เรียกอยู่ถึงวันที่ ๑๖ มีนาคม เวลา ๕.๓๐ น. รวม ๔ วัน พระเริ่มเสด็จกลับต่อหน้าประชาชนที่คอยชม พร้อมกันย่ำฆ้อง ย่ำกลอง พระสวดไชยมงคล ประชาชนนับร้อยๆ จนถึงเวลา ๑๐.๐๐ น. ของวันที่ ๑๘ จึงหยุดเสด็จกลับ คณะกรรมการจึงพร้อมกันอาราธนาดึงพระลงมาจากศาลเทพารักษ์กลางแม่น้ำสู่พิธี ตรวจนับพระที่เสด็จกลับ ๙๒๒ องค์ คงขาดไป ๗๘ องค์ พระที่ขาดไป ทราบทีหลังว่าท่านไปตกที่บ้านลูกหลานของท่านหลายองค์ นับเป็นอัศจรรย์ยิ่งแก่ผู้พบเห็น ซึ่งไม่เคยพบเห็นมาก่อนเลย นอกจากนั้น ก็ได้ทำพิธีทดสอบความขลังด้านคงกระพันกันปีนต่อหน้าประชาชน ออกพิธีเริ่มแจกพระแก่ผู้ไปช่วยเหลือพิธีและแจกฟรีแก่ประชาชน ทหารตำรวจที่คอยไปรับตั้งแต่วันที่ ๑๙ ถึงวันที่ ๒๔ มีนาคม วันที่ ๙ เมษายน ๒๕๑๑ คณะกรรมการนำไปแจกและอบรมทหารกองทัพประจำจังหวัดชุมพร ประมาณ ๑,๐๐๐ กว่าคน ให้ทุกคนทำใจให้เข้าถึงคุณพระแล้วใช้ดาบฟันทหารที่เข้าถึงประมาณ ๒๐ คนให้ดู และนำมอบให้แม่ทัพทุกกองทัพ ตลอดถึงบุคคลสำคัญของประเทศทุกท่าน"

         ในหนังสือ"พ่อหลวงคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน อ.หลังสวน จ.ชุมพร วันเสาร์ที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๐ ครบรอบ ๑๐๐ วัน" หน้า ๘๙  อาจารย์นับ ธรรมภักดี เขียนบรรยายเหตุการณ์ในพิธีเสด็จกลับอีกสำนวนหนึ่ง แม้ข้อมูลจะเหมือนกันแต่ก็มีรายละเอียดปลีกย่อยและลีลาการเขียนที่ทำให้เห็นคุณค่าความสำคัญของพิธี ฯ นี้ มากยิ่งขึ้น สารัตถะสำคัญที่ อาจารย์นับ ธรรมภักดี บันทึกในหนังสือเล่มนี้แบบเต็ม ๆ มีดังต่อไปนี้

      การดำเนินการสร้างวัตถุมงคลของหลวงพ่อคล้อย ครั้งแรกเป็นการสร้างรูปหลวงพ่อแดง พุทฺโธ ด้วยเนื้อว่านผสมผงวิเศษจำนวนมาก ซึ่งท่านอาจารย์ชุม ไชยคีรี ได้สะสมไว้เป็นเวลาถึง ๒๐ ปี อาจารย์ชุม ไชยคีรี เป็นศิษย์จากสำนักเขาอ้อ สำนักอันเด่นดังในภาคใต้ จังหวัดพัทลุง อาจารย์ชุม ไชยคีรี เป็นเกจิอาจารย์ฆราวาส เป็นผู้ตั้งมั่นในคุณธรรม มีศีลสำรวมตลอดเวลา บำเพ็ญเพียรภาวนากัมมัฏฐานเป็นปกติวิสัย เปี่ยมไปด้วยความเมตตาธรรม การดำเนินการสร้างรูปหลวงพ่อแดง พุทฺโธ ประกอบพิธีกรรมเป็นไปตามตำรับตำราสำนักเขาอ้อทุกประการ กำหนดการสร้าง ๑๐๐,๐๐๐ องค์ (หนึ่งแสนองค์) โดยชาวพุทธตำบลท่ามะพลาทุกหมู่บ้านเวียนกันมาพิมพ์พระ ผู้เข้าร่วมพิธีพิมพ์พระต้องเป็นผู้ชาย นุ่งขาว ห่มขาว สมาทานศีล ๕ บริกรรมภาวนาคำว่า "พุทโธ" เป็นพุทธานุสติ การดำเนินการพิมพ์พระใช้เวลา ๓๐ วัน ทั้งกลางวันกลางคืน ณ โรงพิธีวัดถ้ำเขาเงิน ตั้งแต่วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๑ มีนายสัญญา ปาลวัฒน์วิชัย ณ อยุธยา นายอำเภอหลังสวน เป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์ พระครูใบฎีกาคล้อย ฐานธมฺโม อดีตเจ้าหน้าอาวาสวัดถ้ำเขาเงิน ประธานที่ปรึกษาฝ่ายสงฆ์ ได้อาราธนาคณาจารย์จากสำนักเขาอ้อ จังหวัดพัทลุง มาประกอบพิธีนั่งปรกปลุกเสก มีรายนามดังนี้

          ๑. พระอาจารย์นำ ชินวโร วัดดอนศาลา จังหวัดพัทลุง
          ๒. พระอาจารย์พระครูพิพัฒน์สิธร วัดบ้านสวน จังหวัดพัทลุง
          ๓. พระอาจารย์พระครูปาน ปาลธมฺโม วัดเขาอ้อ
          ๔. พระอาจารย์หมุน ยสโร วัดเขาแดง จังหวัดพัทลุง
          ๕. พระครูใบฎีกาคล้อย ฐานธมฺโม จังหวัดพัทลุง

        ได้ประกอบพิธีพุทธาภิเศก ปลุกเสก ภายในถ้ำเขาเงินอันศักดิ์สิทธิ์ ตั้งแต่วันที่ ๑๒ - ๑๘ มีนาคม ๒๕๑๑ เป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน ได้อาราธนาพระเดชพระคุณพระปกาศิตพุทธศาสตร์ เจ้าคณะจังหวัดชุมพร (ตำแหน่งในขณะนั้น) เป็นประธานจุดเทียนชัย ในระหว่างประกอบพิธีมีเหตุการณ์มหัศจรรย์ยิ่ง มีวิญญาณหลวงปู่คง อาจารย์ขุนแผนมาประทับทรงร่วมพิธีปลุกเสกด้วย เป็นการเพิ่มความขลังศักดิ์สิทธ์แด่รูปหลวงพ่อแดง พุทฺโธ อย่างสุดขลัง และโดยพุทธาคม จิตตานุภาพของเกจิอาจารย์ ตลอดดวงวิญญาณหลวงพ่อแดง พุทฺโธ ทำให้รูปหลวงพ่อแดง พุทฺโธ แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ดังเปาะแปะในโต๊ะหลายนาที (โต๊ะโบราณ) ผู้เขียน (อาจารย์นับ ธรรมภักดี) ได้สังเกตดูอยู่เห็นเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก

        ในแต่ละคืน ได้มีการทดลองความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ โดยอาจารย์ชุม ไชยคีรี ให้ผู้ไปร่วมพิธีนำรูปพระหลวงพ่อแดง พุทฺโธ กำใส่มือ แล้วให้ระลึกถึงหลวงพ่อแดง พุทฺโธ พร้อมให้ภาวนาพุทฺโธ บริกรรมจนเกิดสมาธิจิต หลังจากนั้น อาจารย์ชุม ไชยคีรี ใช้ดาบอันคมกริบขนาดเฉือนหนังสือ พิมพ์พับ ๘ ขาดกระจุย ให้ผู้มาร่วมพิธีชมก่อน แล้วใช้ดาบนั้น เฉือนตามคอ แขน ผู้ที่กำพระหลวงพ่อแดง พุทฺโธ บางรายให้ถอดเสื้อแล้วใช้ดาบฟันฉับๆ ลงบนแผ่นหลัง ดูแล้วน่าหวาดเสียวเหลือเกิน แต่เปล่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่ระคายเคืองผิวหนังแม้แต่น้อย ทำให้ผู้ชมตกตะลึงพรึงเพริดไปตามๆ กัน ในอิทธิปาฏิหาริย์รูปของหลวงพ่อแดง พุทฺโธ และเชื่อมั่นในพระพุทธคุณ ธรรมคุณและ สังฆคุณ

        หลังจากพิธีพุทธาภิเษกแล้ว คณะกรรมการมีนายอำเภอหลังสวนเป็นประธาน พร้อมด้วยหลวงพ่อคล้อย ฐานธมฺโม อาจารย์ชุม ไชยคีรี และคณะศิษย์ได้นำรูปพระหลวงพ่อแดง จำนวน ๑,๐๐๐ รูป พร้อมพระยอดขุนพล ๓ รูป ลงเรือออกจากปากน้ำหลังสวนสู่ทะเลลึก แล้วรูปพระลงสู่ทะเล เสร็จแล้วกลับสู่ถ้ำเขาเงิน ประกอบพิธีเชิญรูปพระหลวงพ่อแดง พุทฺโธ ให้เสด็จกลับสู่ศาลเทพารักษ์ ใช้ผ้าขาวทำเพดานศาล ศาลห่างจากตลิ่งราว ๒๐ เมตร สูงประมาณ ๗ เมตร คณะเกจิอาจารย์ประกอบพิธีอัญเชิญอยู่ภายในถ้ำเขาเงิน ให้รูปพระหลวงพ่อแดง พุทโธ มาลงสู่เพดานผ้าขาวในศาลกลางแม่น้ำหลังสวนนั้น บริเวณริมตลิ่งมีประชาชนนับจำนวน ๑,๐๐๐ กว่าคนคอยจ้องตามองไปยังศาลกลางแม่น้ำหลังสวน ไม่ยอมหลับนอน ด้วยอยากจะดูว่ารูปพระหลวงพ่อแดง พุทฺโธ จะเสด็จกลับอย่างไร ที่เรียกว่า "พระเสด็จกลับ"

         พิธีเชิญเสด็จกลับรูปหลวงพ่อแดง พุทฺโธ ประกอบพิธีอัญเชิญตั้งแต่ ๑๒ - ๑๖ มีนาคม ๒๕๑๑ เป็นเวลา ๔ วัน เริ่มเสด็จกลับวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๑๑ เวลา ๕.๓๐ น. จนถึงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๑๑ เวลา ๑๐.๐๐ น. จึงหยุดเสด็จกลับ หลายคนเกิดความคลางแคลงใจว่า จะกลับได้อย่างไร ระยะทางจากถ้ำเขาเงินไปสู่ปากน้ำหลังสวน สู่ทะเลลึก เกินกว่า ๑๐ กิโลเมตร ต่างคอยจ้องตาไม่กระพริบกันทีเดียว

        เป็นเวลาเกือบใกล้สว่าง ขณะนั้น ผู้เขียน (อาจารย์นับ ธรรมภักดี) ถวายนวดแด่ท่านอาจารย์หมุน ยสโร ท่านจึงเอ่ยขึ้นว่า พระเสด็จกลับแล้ว ผู้เขียนก็ลาท่านออกมาหน้าถ้ำเขาเงิน เดินไปริมตลิ่งคอยจ้องดู ทันทีเสียงฆ้อง กลอง เสียงพลุ ก็ดังลั่นขึ้นเป็นสัญญาณ พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา เป็นการประกาศ พระเสด็จกลับแล้ว ทุกคนจ้องมองดู เห็นว่าเพดานผ้าขาวห้อยย้อยตกลงๆ และมีน้ำหยดลงมาด้วย เฝ้าดูกันจนสว่าง ปรากฏรุ่งเช้า คณะกรรมการโดยอาจารย์ชุม ไชยคีรี และคณะลงเรือพายตรงไปยังศาลกลางแม่น้ำ อาราธนาเหรียญหลวงพ่อแดง พุทฺโธ เรียกว่าพระเสด็จกลับเข้าสู่โรงพิธีภายในถ้ำเขาเงิน ประกอบพิธีต่อไป ได้พระเสด็จกลับ ๙๒๒ รูป หายไป ๗๘ รูป

         การสร้างเหรียญหลวงพ่อแดง พุทฺโธ รุ่นแรกด้วยเนื้อว่านสำเร็จบริบูรณ์ตามตำราโบราณาจารย์ ประชาชนต่างมาบูชาเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตน ฝูงชนมาอย่างมืดฟ้ามัวดิน รูปบูชาหลวงพ่อแดง พุทฺโธ หมดในพริบตา การบูชาเหรียญตลอดพระเสด็จกลับ เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการสร้างแล้ว มีเงินคงเหลือ ๖๐,๐๐๐ บาทเศษ เพียงพอในการสร้างอาศรมตามวัตถุประสงค์ได้ ๑ หลัง อีกส่วนหนึ่งได้นำเหรียญหลวงพ่อแดง พุทฺโธ รุ่นแรกบรรจุใต้ฐานรูปปั้นหลวงพ่อแดง พุทฺโธ ไว้ภายในอาศรมนั้น เพื่อกาลอนาคตในการบำรุงรักษา ส่วนที่นำไปแจกทหาร ตำรวจ พลเรือน ผู้รับผิดชอบหน้าที่รักษาความมั่นคงของประเทศ มีอาจารย์พระครูพิพัฒน์สิริธร หลวงพ่อคล้อย ไม่ประมาท ทั้งทหารเรือ ทหารบก ทหารอากาศ ตลอดอาสาสมัคร และในหลายจังหวัด การเดินทางได้รับความร่วมมือจากทางราชการด้วย

        เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการจัดสร้างพระผงรูปเหมือนหลวงพ่อแดง พุทฺโธ วัดถ้ำเขาเงิน ที่คัดลอกมาทั้งสองตอน แม้มีสาระสำคัญเหมือนกัน แต่ก็มีรายละเอียดปลีกย่อยที่พึงหยิบยกมานำเสนอทั้งสองข้อความ ข้อความที่สุธน ศรีหิรัญ ประมวลและนำเสนอในนิตยสารพระเครื่องลานโพธิ์เปรียบเสมือนเอกสารอ้างอิงที่นักเขียนหลายท่านนำไปขยายความและนำเสนอในนิตยสารพระเครื่องต่างๆ ในข้อความที่อาจารย์นับ ธรรมภักดี เขียนไว้ในหนังสือที่ระลึกงานทำบุญครบ ๑๐๐ วัน เป็นการบันทึกเรื่องราวของบุคคลที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ครั้งนั้น แม้ไม่ได้กล่าวถึงพระเครื่องพิมพ์ต่างๆ ที่จัดสร้างในวาระนี้อย่างชัดเจน เหตุผลหลักคงไม่พ้นเรื่องความสนใจในพระเครื่องและวัตถุมงคล ข้อความต่าง ๆ ที่อาจารย์นับ ธรรมภักดี เขียนบันทึกไว้ ฟันธงได้เลยว่าท่านไม่ใช่นักนิยมพระเครื่องอย่างเราๆ ท่านๆ แต่เขียนจากความรู้สึกของคนพื้นที่ที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ หากจำไม่ผิด ตอนที่พบกับอาจารย์นับ ธรรมภักดี ในงานทำบุญ ๗ วันแห่งการมรณภาพ พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม อาจารย์นับ ธรรมภักดี น่าจะมีอายุไม่น้อยกว่า ๗๐ ปีเข้าไปแล้ว ประเด็นย่อย ๆ หลายประการที่ปรากฏในข้อความดังกล่าวข้างต้น เป็นข้อมูลสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นตำนานของพระเครื่องอีกพิมพ์หนึ่ง ตำนานที่เกิดขึ้นในชุมชนท้องถิ่นที่มีความเป็นมาและความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะและวัฒนธรรม และความเชื่อที่เป็นเสมือนทุนทางสังคม ทุนที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างไม่จบสิ้น

        ฉบับต่อไป ผู้เรียบเรียงจักนำเสนอพระเครื่องพิมพ์หลักๆ ที่จัดสร้างขึ้นในปี ๒๕๑๑ ตลอดทั้งแนวทางการแยกแยะพระเครื่องพิมพ์ต่าง ๆ ว่าพิมพ์ใดเป็นของวัดถ้ำเขาเงิน พิมพ์ใดเป็นของวัดบ้านสวน พิมพ์ใดเป็นพระเนื้อว่านที่อาจารย์ชุม ไชยคีรี และพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม สร้างถวายวัดอื่น

ติดตามเนื้อหาต่อไปในตอนที่ ๗

อุทยานพระเครื่อง โดย... ชายนำ ภาววิมล ... (utthayanphra.com)

๖ - ๑๑ - ๒๕๖๗

 


บทความที่เกี่ยวข้อง
หน้าปกบทความตอน ๒๐
ชีวประวัติ พระเครื่องและวัตถุมงคลพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน หลังสวน ชุมพร ตีพิมพ์ระหว่างปี ๒๕๕๘ - ๒๕๕๙ รวม ๒๔ ตอน
20 ม.ค. 2025
หน้าปกพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ตอนที่ ๑๙
ชีวประวัติ พระเครื่องและวัตถุมงคลพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน หลังสวน ชุมพร ตีพิมพ์ระหว่างปี ๒๕๕๘ - ๒๕๕๙ รวม ๒๔ ตอน
16 ม.ค. 2025
หน้าปกบทความพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ตอนที่ ๑๘
ชีวประวัติ พระเครื่องและวัตถุมงคลพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน หลังสวน ชุมพร ตีพิมพ์ระหว่างปี ๒๕๕๘ - ๒๕๕๙ รวม ๒๔ ตอน
14 ม.ค. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy