แชร์

พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ตำนานยอดพระเครื่องเมืองหลังสวน (๗/๒๔)

อัพเดทล่าสุด: 28 ธ.ค. 2024
31 ผู้เข้าชม

 พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน : ตำนานยอดพระเครื่องเมืองหลังสวน (๗/๒๔)

โดย.......ชายนำ ภาววิมล.......

     นิตยสารพระเครื่องลานโพธิ์ในสองฉบับที่แล้ว เป็นการนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ที่กล่าวได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็นตำนานยอดพระเครื่องเมืองหลังสวน เป็นความมหัศจรรย์เหนือคุ้งน้ำหลังสวนที่ยากจะหาสำนักใดเสมอเหมือน มิเพียงการชุมนุมของยอดพระเกจิอาจารย์สายเขาอ้ออย่างพระอาจารย์นำ ชินวโร วัดดอนศาลา พระอาจารย์ปาล ปาลธมฺโม วัดเขาอ้อ หลวงพ่อหมุน ยสโร วัดเขาแดง หลวงพ่อคง สิริมโต วัดบ้านสวน อาจารย์ชุม ไชยคีรี อาจารย์ฆราวาสที่เป็นสหธรรมิกหรือกัลยาณมิตรของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม แต่เป็นพระเครื่องที่สร้างขึ้นจากว่าน ๒๐๐ กว่าชนิดและผงวิเศษต่าง ๆ มากมาย จะเรียกว่าเป็น"พระมหาว่านสายเขาอ้อ" ก็คงไม่ผิดกระมัง นอกจากพระรูปเหมือนหลวงพ่อแดง พุทโธ แล้ว ยังมีพระเครื่อง พิมพ์สำคัญที่สร้างขึ้นในวาระเดียวกันนี้ อีก ๒ พิมพ์ที่จักนำเสนอในนิตยสารพระเครื่องลานโพธิ์ ฉบับนี้ คือ พระกำแพงนิ้ว เนื้อว่าน และพระปิดตาพุทโธ

              ๓. พระกำแพงนิ้ว เนื้อว่าน หลังยันต์พุทโธ ปี ๒๕๑๑

           พระกำแพงนิ้ว หลังยันต์พุทโธ เป็นพระเนื้อว่านอีกพิมพ์หนึ่งที่จัดสร้างพร้อมกับพระรูปเหมือนหลวงพ่อแดง พุทโธ เป็นพระเนื้อว่านพิมพ์หนึ่งที่มีความสับสนและความคลาดเคลื่อนในการสะสมและเล่นหาพอสมควร ความสับสนและความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นเป็นผลที่สืบเนื่องมาจากกระบวนการจัดสร้าง สันนิษฐานว่าพระชุดนี้มิใช่พระพิมพ์เอกหรือพระพิมพ์หลักที่กำหนดไว้แต่แรก ข้อสังเกตที่นำไปสู่การสันนิษฐานเช่นนี้ เพราะจำนวนพระที่พบเห็นมีจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับพระรูปเหมือนหลวงพ่อแดง พุทโธ ด้านพิมพ์ทรงก็เป็นการถอดพิมพ์พระเก่า มิใช่การแกะแม่พิมพ์ใหม่แบบพระรูปเหมือนหลวงพ่อแดง พุทโธ การตัดขอบพิมพ์ก็ไม่เป็นมาตรฐาน บางองค์มีการตัดขอบพิมพ์เป็นแบบพระกำแพงลีลาเม็ดขนุนหลังเรียบและหลังอูม เนื้อหามวลสารและวรรณะสีผิวก็มีความแตกต่างกัน มีทั้งเนื้อว่านสีเปลือกมังคุด เนื้อว่านผสมผงสีผิวออกไปทางโทนน้ำตาลอ่อน และเนื้อผงพุทธคุณ หากพิจารณาและศึกษากันอย่างถ่องแท้ พระกำแพงนิ้วซึ่งหมายรวมถึงพระที่ตัดขอบพิมพ์แบบพระกำแพงลีลาเม็ดขนุน สามารถจำแนกรายละเอียดเป็น ๔ กลุ่ม ดังนี้

          ๑) พระกำแพงนิ้วหลังยันต์พุทโธ พระกำแพงนิ้วหลังยันต์พุทโธเป็นพระวัดถ้ำเขาเงินโดยไม่มีข้อกังขา และไม่จำเป็นต้องหยิบยกเหตุผลใดมาสนับสนุน เพราะยันต์หลังเป็นเกณฑ์การพิจารณาที่ชัดเจน เนื้อหาก็ละเอียดและแห้งกว่าพระกำแพงนิ้วในกลุ่มที่สองที่จะนำเสนอในลำดับต่อไป เท่าที่พบเห็นและมีไว้ในครอบครอง พระกำแพงนิ้วในกลุ่มนี้มี ๒ พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ องค์พระยกพระหัตถ์ซ้ายและลีลาเยื้องไปทางด้านซ้าย ขนาดกว้างประมาณ ๑.๘ เซนติเมตร และสูงประมาณ ๔.๗ เซนติเมตร พิมพ์เล็ก องค์พระยกพระหัตถ์ขวาและลีลาเยื้องไปทางด้านขวา ขนาดกว้างประมาณ ๑.๗ เซนติเมตร และสูงประมาณ ๔.๒ เซนติเมตร บางองค์มีการทาทองด้านหน้า

            ๒) พระกำแพวนิ้วหลังเรียบตัดขอบชิด พระกำแพงนิ้วชุดนี้มีการตัดขอบพิมพ์ต่างจากพระกำแพงนิ้วหลังยันต์พุทโธอย่างเห็นได้ชัด ลักษณะการตัดขอบเป็นการตัดขอบชิดซุ้มเรือนแก้ว บางองค์ก็ตัดขอบคล้ายพระกำแพงลีลาเม็ดขนุน องค์พระยกพระหัตถ์ขวาและลีลาเยื้องไปทางด้านขวา เนื้อสดกว่าพระกำแพงนิ้วหลังยันต์พุทโธ โทนเนื้อ/สีผิวออกไปในกลุ่มเดียวกับพระปิดตานอโมและพระรูปเหมือนสมภารนอโม ที่สำคัญคือ ได้พระชุดนี้มาจากพระอาจารย์พรหม ขนฺติโก พร้อมกับพระปิดตานอโม (เช่าบูชาทางไปรษณีย์ ตอนนั้นบูชาพระปิดตานอโมเนื้อว่านไม่ต่ำกว่า ๓๐ องค์) ข้อสรุปคงเป็นอื่นไปไม่ได้ พระกำแพงนิ้วในชุดนี้ ออกที่วัดบ้านสวนและเป็นพระในพิธีใหญ่ที่วัดบ้านสวน เดือนเมษายน พฤษภาคม ๒๕๑๑

           ๓) พระกำแพงนิ้วหลังอูมเนื้อว่านผสมผงพุทธคุณ พระกำแพงนิ้วชุดนี้ ต่างจากพระกำแพงนิ้วหลังเรียบตัดขอบชิด ๒ ประการ คือ ก) ตัดขอบพิมพ์แบบพระกำลังลีลาเม็ดขนุน ข) เนื้อหามวลสารและวรรณะสีผิว ออกไปทางน้ำตาลอ่อน ลักษณะคล้ายเนื้อว่านผสมผงพุทธคุณ ความจริงที่ต้องยอมรับคือ จำไม่ได้ว่าได้มาจากที่ใด หากจะให้ฟันธง ก็คงต้องชี้ไปทางวัดบ้านสวน เหตุผลคือ ลักษณะการผสมเนื้อว่านกับผงพุทธคุณ พระกำแพงนิ้วกลุ่มนี้มีวรรณะสีผิวเข้มกว่าเนื้อว่านผสมผงที่ปรากฏบนพระผงรูปเหมือนหลวงพ่อแดง พุทโธ พิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็กที่กดในพรรษาปี ๒๕๑๑

             ๔) พระกำแพงนิ้วหลังเรียบเนื้อผงพุทธคุณ พระกำแพงนิ้วหลังเรียบเนื้อผงพุทธคุณชุดนี้ มีขนาดเล็กกว่าพระกำแพงนิ้วทั้ง ๓ กลุ่มข้างต้น คือ ขนาดประมาณ ๑.๕ เซนติเมตร สูงประมาณ ๒.๙ ๓.๐ เซนติเมตร พระเนื้อผงพุทธคุณนี้ ไม่ปรากฏพบเห็นในพิธีเสด็จกลับวัดถ้ำเขาเงิน เดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม ส่วนพิธีใหญ่ที่วัดบ้านสวน คงต้องตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมเพราะพระปิดตานอโมของวัดบ้านสวนมีพระปิดตานอโมพิมพ์สองหน้าเนื้อผงพุทธคุณและเนื้อโลหะจำนวนหนึ่ง พระเนื้อผงพุทธคุณและเนื้อโลหะที่หลวงพ่อคง สิริมโต วัดบ้านสวน พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม และอาจารย์ชุม ไชยคีรี ร่วมกันจัดสร้างในปี ๒๕๑๑ ส่วนใหญ่ปรากฏอยู่ในพิธีไตรมาส ข้อสรุปเบื้องต้นคงต้องให้น้ำหนักว่าเป็นพระกำแพงนิ้วที่สร้างในพรรษาปี ๒๕๑๑ ที่วัดถ้ำเขาเงิน

           พระกำแพงนิ้วทั้ง ๔ กลุ่มดังกล่าวข้างต้น จัดว่าเป็นพระดีที่หายากอีกชุดหนึ่ง การนำไปออกที่วัดถ้ำเขาเงินหรือวัดบ้านสวน คงไม่ใช่สาระสำคัญอะไรมากน้อยเพราะเป็นพิธีกรรมที่ยอดพระเกจิอาจารย์สายเขาอ้อยุคหลังกึ่งพุทธกาลร่วมกันอธิษฐานจิตปลุกเสกทั้งสิ้น เนื้อหามวลสารก็มาจากแหล่งเดียวกัน ขอให้แท้ก็แล้วกัน

                ๔. พระปิดตาหลังยันต์พุทโธ เนื้อว่าน ปี ๒๕๑๑

             พระปิดตาหลวงพ่อแดง พุทโธ เป็นพระปิดตาชุดหนึ่งที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนและความสับสนในการเล่นหาสะสมมานานพอสมควร ที่ผ่านมา มีนักนิยมพระเครื่องบางกลุ่มนำพระปิดตานอโมของหลวงพ่อคง สิริมโต วัดบ้านสวน มาเล่นหาและซื้อขายเป็นพระปิดตาหลวงพ่อแดง พุทโธ นักนิยมพระเครื่องหลายคนยืนยันหนักแน่นว่าได้รับจากมือพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม โดยตรง หากนำพระปิดตาหลังยันต์นอโมไปถามหลวงพ่อพรหม ขนฺติโก วัดบ้านสวน ก็จะได้รับการยืนยันอย่างหนักแน่นเช่นกันว่าเป็นพระปิดตาของวัดบ้านสวน เป็นพระปิดตาที่สร้างขึ้นที่วัดบ้านสวน ในช่วงเดือนเมษายน - พฤษภาคม ปี ๒๕๑๑ ตอนนั้น หลวงพ่อพรหม ขนฺติโก ยังเป็นพระลูกวัดอยู่ ทั้งมีหน้าที่ตำผงและกดพิมพ์พระปิดตาชุดนี้ ข้อเท็จจริงที่นักนิยมพระเครื่องในสายนี้ จำเป็นต้องทราบนี้ คือ ปี ๒๕๑๑ หลวงพ่อคง สิริมโต วัดบ้านสวน, พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน และอาจารย์ชุม ไชยคีรี ร่วมกันจัดสร้างพระเครื่อง ๓ วาระ คือ วาระแรก กุมภาพันธ์  - มีนาคม ๒๕๑๑ ที่วัดถ้ำเขาเงิน วาระสอง เมษายน พฤษภาคม ๒๕๑๑ ที่วัดบ้านสวน วาระสาม ไตรมาส (ในพรรษา) ที่วัดถ้ำเขาเงิน นอกจากนั้น ยังมีพระเนื้อว่านอีกชุดหนึ่งที่ออกในนาม หลวงพ่อแดง วิมโล วัดเขาถล่ม เนื้อหาและวรรณะสีผิวเหมือนกับพระหลวงพ่อแดง พุทโธ มาก จะเหมารวมเป็นเนื้อหามวลสารก็ไม่ผิด ทั้งยังมีเหรียญกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หลังพระบรมรูปรัชกาลที่ ๕ วัดโพธิการาม อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ที่บางกระแสระบุว่าอาจารย์ชุม ไชยคีรี ไปช่วยสร้าง บางกระแสก็ว่า หลวงพ่อสงฆ์ จนฺทสโร เป็นผู้อธิษฐานจิตปลุกเสก ประเด็นของวัดโพธิการาม เป็นความชัดเจนที่ไม่จำเป็นต้องหยิบยกมาพิจารณาเพราะเป็นวัตถุมงคลในลักษณะที่แตกต่างกันและไม่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันโดยตรง ประเด็นหลักที่ต้องทำความเข้าใจและแยกแยะกันให้ชัดเจน คือ พระเครื่องพิมพ์ต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นจากเนื้อว่านซึ่งมีวรรณะสีผิวออกแดงเปลือกมังคุดของทั้งสามสำนัก พระเครื่องเหล่านี้ มีคนหลังสวนและลูกศิษย์ลูกหาหลายคนที่ได้รับจากพ่อท่านคล้อย ฐานธฺมโม กับมือ จึงเป็นความเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่านี่ คือ พระหลวงพ่อแดง พุทโธ ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธมิได้เช่นกันคือ พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม เป็นสหธรรมิกกับอาจารย์ชุม ไชยคีรี และทั้งสองเป็นบุคคลสำคัญในการจัดสร้างพระเครื่องสายเขาอ้อที่ออกในนามวัดถ้ำเขาเงิน, วัดบ้านสวน, และวัดเขาถล่ม ในปี ๒๕๑๑ จึงมิใช่เรื่องแปลกที่พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม หรือวัดถ้ำเขาเงิน จะมีพระเนื้อว่านของวัดบ้านสวนแลวัดเขาถล่มที่จัดสร้างขึ้นในวาระใกล้เคียงกัน

             เหตุสำคัญซึ่งเป็นที่มาของความคลาดเคลื่อนนี้ มาจากบรรณาธิการนิตยสารพระเครื่องฉบับหนึ่งที่นำภาพพระปิดตานอโม วัดบ้านสวน และพระปิดตาหลวงพ่อแดง พุทโธ มาอรรถาธิบายในชีวประวัติและภาพพระเครื่องหลวงพ่อแดง พุทโธ เมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้วว่า พระปิดตาหลวงพ่อแดง พุทโธ มีสองพิมพ์คือ พิมพ์ใหญ่กับพิมพ์เล็ก ขณะนั้น ยังไม่สามารถแยกแยะหรือหาข้อเท็จจริงมาพิจารณาหาความแตกต่างจากภาพในนิตยสารฉบับนั้น เนื่องจากยันต์หลังของภาพพระปิดตาทั้งสองภาพไม่ชัดเจน ทั้งยังไม่มีพระปิดตาทั้งสองพิมพ์อยู่ในมือ ต่อมาได้รับพระปิดตาสององค์จาก คุณวรเทพ นุชประยูร นักนิยมพระเครื่องอาวุโสเมืองชุมพร คุณวรเทพ นุชประยูร บอกว่าเป็นพระปิดตาวัดถ้ำเขาเงิน รุ่นแรก ปี ๒๕๑๑ มีทั้งพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็ก พอเปิดกล่องหยิบพระปิดตาทั้งสององค์ขึ้นมาส่อง ก็ถึงบางอ้อ พระปิดตาพิมพ์ใหญ่ที่แท้เป็น"พระปิดตานอโมของวัดบ้านสวน" พยานหลักฐานที่ชี้ชัดแบบไม่มีข้อกังขาคือ ยันต์หลังของพระปิดตาพิมพ์นี้เป็นยันต์นอโม ยันต์ที่ประทับหลังพระผงว่านรูปเหมือนพระอาจารย์ทองเฒ่าที่ทางวัดบ้านสวนจัดสร้างในช่วงเดือนเมษายน - พฤษภาคม ๒๕๑๑ ส่วนพระปิดตาหลวงพ่อแดง พุทโธ หรือพระปิดตาพิมพ์เล็กในการรับรู้ของคนพื้นที่ ก่อนหน้านั้น ผู้เรียบเรียงไม่เคยมีโอกาสได้สัมผัสจับต้องมาก่อน จำได้ลาง ๆ ว่าเคยเห็นในพานของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ในปี ๒๕๓๓ เป็นการเห็นแบบฉาบฉวยเพียงองค์เดียว จะขอก็ไม่มีโอกาสเพราะลูกศิษย์ลูกหาที่มากราบนมัสการท่านในขณะนั้นมีมากหน้าหลายตา ไม่รู้ใครเป็นใคร ประกอบกับคณะของผู้เรียบเรียงต้องรีบกลับกรุงเทพฯ กลับมาอีกครั้งก็ไม่เคยพระปิดตารุ่นนี้

           เมื่อพิจารณารายละเอียดต่างๆ ของพระปิดตาทั้งสองพิมพ์แล้ว พบว่าเนื้อหามวลสารมีความใกล้เคียงกันมาก ความแตกต่างที่เห็นได้ชัด มีเพียง ๒ ประการคือ พิมพ์ทรงและขนาดขององค์พระ ส่วนยันต์หลังเลือนลางเห็นไม่ชัด ดูผิวเผินก็อาจจะสรุปว่าเป็นพระปิดตารุ่นเดียวกันเพราะเค้าโครงร่างยันต์หลังเป็นยันต์องค์พระเหมือนกัน จุดสำคัญที่ทำให้เกิดความกระจ่างชัดคือพิจารณาได้จากอักขระในช่วงล่างขององค์พระ 

            นอโมหรือนะโม เป็นสมญานามของสมภารองค์แรกของวัดบ้านสวนที่รู้จักกันในนามสมภารนอโม ส่วน พุทโธ เป็นสมญานามของหลวงพ่อแดง พุทโธ วัดถ้ำเขาเงิน วัตถุประสงค์ในการสร้างพระเครื่องของวัดถ้ำเขาเงินและวัดบ้านสวนของศิษย์สายเขาอ้อภายใต้การนำของหลวงพ่อคง สิริมโต, พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม, อาจารย์ชุม ไชยคีรี นอกจากจุดมุ่งหมายในการสร้างวัตถุมงคลเพื่อมอบให้ทหาร ตำรวจ ผู้ที่ปฏิบัติงานเพื่อประเทศชาติแล้ว ยังมีจุดมุ่งมั่นหรือเจตนารมณ์ที่จะสร้างพระเครื่องเพื่อแสดงกตเวทิตาคุณและน้อมรำลึกถึงบูรพาจารย์ของแต่ละวัดซึ่งล้วนเป็นศิษย์สายเขาอ้อด้วยกันทั้งนั้น ยันต์หลังของพระปิดตาทั้งสองพิมพ์ จึงเป็นจุดสำคัญในการแยกแยะว่าพระพิมพ์ใดเป็นของวัดถ้ำเขาเงิน พิมพ์ใดเป็นของวัดบ้านสวน

           อาจารย์นับ ธรรมภักดี ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญท่านหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์ และเป็นผู้ให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการสร้างพระรูปเหมือนหลวงพ่อแดง พุทโธ และพระเครื่องพิมพ์อื่น ๆ ของวัดถ้ำเขาเงิน ที่จัดสร้างในปี ๒๕๑๑ เคยพูดกับผู้เรียบเรียงว่า พระปิดตาหลวงพ่อแดง พุทโธ มีจำนวนน้อยมาก ตอนนั้น อาจารย์นับ ธรรมภักดี พูดเฉพาะพระปิดตาพุทโธ โดยไม่ได้กล่าวถึงพระปิดตานอโมเลย ทั้ง ๆ ที่พระปิดตานอโมมีจำนวนการสร้างหลายหมื่นองค์ จึงเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้รับจากหลวงพ่อพรหม ขนฺติโก เจ้าอาวาสวัดบ้านสวนองค์ปัจจุบัน อีกทั้งวัดบ้านสวนเอง ก็นำพระปิดตานอโมออกให้เช่าบูชาอย่างเป็นทางการในช่วงปลายทศวรรษที่ ๒๕๓๑ - ๒๕๔๐ ข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง ข้อมูลเกี่ยวกับการมอบพระให้กับทหาร ตำรวจ  ผู้ปฏิบัติงานเพื่อประเทศชาติของอาจารย์ชุม ไชยคีรี มีการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการมอบพระปิดตานอโมเป็นครั้งแรกหลังจากพิธีกรรมซึ่งจัดขึ้นที่วัดบ้านสวนเสร็จสิ้นไปแล้ว

              ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่บ่งชี้ว่าพระปิดตาพุทโธมีเพียงพิมพ์เดียวคือพิมพ์ที่ประทับยันต์หลังด้วยยันต์ พุทโธ ความสับสนในการเล่นหาทุกวันนี้ น่าจะคลี่คลายไปได้ในระดับหนึ่งเนื่องจากจำนวนคนที่รับรู้ข้อเท็จจริงมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือนักนิยมพระเครื่องสายนี้ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่เริ่มเล่นหาและสะสมพระวัดถ้ำเขาเงินอย่างจริงจัง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักนิยมพระเครื่องที่ไม่ทันยุคทันสมัยพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม อาศัยข้อมูลที่ได้รับจากการบอกเล่าจากคนพื้นที่ที่ได้รับพระปิดตาพุทโธจากพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ด้วยมือตนเอง พยายามแยกแยะว่าพระปิดตาพุทโธมีหลายพิมพ์และหลายเนื้อ ประเด็นนี้ พออธิบายได้ว่า พระปิดตาพุทโธ มิใช่พระเครื่องชุดเอกในพิธีเสด็จกลับ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับพระผงรูปเหมือนหลวงพ่อแดง พุทโธ ข้อสังเกตคือ พระรูปเหมือนหลวงพ่อแดง พุทโธ มีความคมชัดและเรียบร้อยกว่าพระปิดตาพุทโธมาก สันนิษฐานว่าช่างที่แกะแม่พิมพ์พระน่าจะเป็นช่างแกะอาชีพ ส่วนพระปิดตาพุทโธน่าจะเป็นแม่พิมพ์ที่แกะกันเองภายในวัด จึงขาดความคมชัด ขนาดและพิมพ์ทรงของพระปิดตาแต่ละองค์ก็แตกต่างกันไปตามแรงกดและการแต่งขอบ

             ในทัศนะของผู้เรียบเรียง พระปิดตาพุทโธมิใช่พระเครื่องพิมพ์เอกในพิธีเสด็จกลับ ปี ๒๕๑๑ แต่เป็นพระพิมพ์รองเช่นเดียวกับพระกำแพงนิ้วที่สร้างขึ้นเป็นใช้กันเองในกลุ่มลูกศิษย์ จึงมีจำนวนไม่มากนักเมื่อเปรียบกับพระรูปเหมือนหลวงพ่อแดง พุทโธ สภาพและลักษณะของพระปิดตาพุทโธที่พบเห็นจึงเป็นพระปิดตาแบบโบราณที่มีความแตกต่างด้านความคมชัดและการตัดขอบพิมพ์ที่เป็นเหตุให้พระปิดตาแต่ละองค์มีขนาดไม่เท่ากัน

                ลักษณะ เป็นพระปิดตาพิมพ์เล็บมือขนาดเล็กแบบสมาธินั่งราบ พระนาภี (สะดือ) นูนขึ้นมาเล็กน้อย หน้าท้องยุบเป็นแอ่ง ด้านหลังประทับด้วยยันต์องค์พระดังภาพข้างต้น
                ขนาด กว้างประมาณ ๑.๖ เซนติเมตร สูงประมาณ ๑.๘ เซนติเมตร
                วรรณะสีผิว ออกสีแดงเปลือกมังคุด
                เนื้อหามวลสาร ผงว่านชุดเดียวกับพระผงรูปเหมือนหลวงพ่อแดง พุทโธ
                จำนวนการสร้าง ไม่ทราบจำนวนการสร้างที่แน่ชัด
                พิธีกรรม เป็นพระร่วมพิธีพระรูปเหมือนหลวงพ่อแดง พุทโธ

        นอกจากทั้งสองพิมพ์นี้แล้ว ยังมีพระรูปเหมือนหลวงพ่อแดง พุทโธ ขนาดบูชาจำนวนหนึ่ง ช่วงที่ผู้เรียบเรียงเข้าไปสัมผัสและคลุกคลีกับทางวัดถ้ำเขาเงิน ไม่มีโอกาสพบเห็นพระรูปเหมือนหลวงพ่อแดง พุทโธ ขนาดบูชาเลย ทราบว่ายังพอหาดูได้จากคนเก่าแก่ในพื้นที่ และ/หรือ นักนิยมพระเครื่องรุ่นใหม่ที่เดินหาของตามบ้าน ฉบับหน้าจะนำเสนอพระเครื่องพิมพ์ต่างๆ ที่จัดสร้างในพรรษาหรือไตรมาส ปี ๒๕๑๑

 

ติดตามเนื้อหาลำดับต่อไปในตอนที่ ๘

อุทยานพระเครื่อง โดย...ชายนำ ภาววิมล... (utthayanphra.com)

๑๔ - ๑๑ - ๒๕๖๗


บทความที่เกี่ยวข้อง
หน้าปกบทความตอน ๒๐
ชีวประวัติ พระเครื่องและวัตถุมงคลพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน หลังสวน ชุมพร ตีพิมพ์ระหว่างปี ๒๕๕๘ - ๒๕๕๙ รวม ๒๔ ตอน
20 ม.ค. 2025
หน้าปกพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ตอนที่ ๑๙
ชีวประวัติ พระเครื่องและวัตถุมงคลพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน หลังสวน ชุมพร ตีพิมพ์ระหว่างปี ๒๕๕๘ - ๒๕๕๙ รวม ๒๔ ตอน
16 ม.ค. 2025
หน้าปกบทความพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ตอนที่ ๑๘
ชีวประวัติ พระเครื่องและวัตถุมงคลพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน หลังสวน ชุมพร ตีพิมพ์ระหว่างปี ๒๕๕๘ - ๒๕๕๙ รวม ๒๔ ตอน
14 ม.ค. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy