แชร์

พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ตำนานยอดพระเครื่องเมืองหลังสวน (๑๔/๒๔)

อัพเดทล่าสุด: 27 ธ.ค. 2024
14 ผู้เข้าชม

พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน

ตำนานยอดพระเครื่องเมืองหลังสวน (๑๔/๒๔)

 โดย....... ชายนำ ภาววิมล .......

            ร่ายยาวกันมานานถึงตอนที่ ๑๔ คงต้องวกเข้ามาสู่เรื่องราวของพระเครื่องและวัตถุมงคลที่จัดสร้างในรูปและนามของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม เสียที จริงอยู่ที่พระเครื่องชุดหลวงพ่อแดง พุทโธ พิมพ์ต่าง ๆ ที่จัดสร้างขึ้นในปี ๒๕๑๑ เป็นพระเครื่องที่ดำเนินงานโดยความริเริ่มของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม แต่ภาพที่ปรากฏในสายตาและการรับรู้ของคนทั่วไป กลับให้น้ำหนักและความสำคัญไปที่อาจารย์ชุม ไชยคีรี กับพระเกจิอาจารย์สายเขาอ้อที่มาร่วมอธิษฐานจิตปลุกเสกทั้งมองว่าเป็นพระเครื่องที่จัดสร้างขึ้นเพื่อมอบให้ทหารตำรวจ ข้าราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ในการต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในยุคสมัยนั้น ข้อมูลนี้เป็นจริงเพียงบางส่วน ข้อมูลอีกด้านหนึ่งคือ พระเครื่องชุดหลวงพ่อแดง พุทโธ เกิดจากความริเริ่มของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม และกรรมการวัดถ้ำเขาเงิน ที่สร้างขึ้นเพื่อหาปัจจัยสร้างอาศรมถวายหลวงพ่อแดง พุทโธ ดังที่เคยนำเสนอมาแล้ว

            การจัดลำดับรุ่นของพระเครื่องและวัตถุมงคลที่จัดสร้างในนามของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม พึงนับพระเครื่องและวัตถุมงคลชุดหลวงพ่อแดง พุทโธ ที่สร้างขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม ปี ๒๕๑๑ เป็นรุ่นแรก และพิธีไตรมาส ปี ๒๕๑๑ เป็นรุ่นสองที่พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม จัดสร้างขึ้น ส่วนพระเครื่องและวัตถุมงคลต่าง ๆ ที่จัดสร้างขึ้นในภายหลัง (ปี ๒๕๒๒ เป็นต้นมา) ควรจัดให้เป็นรุ่นที่สาม เว้นแต่กรณีที่ต้องการเน้นหรือให้ความสำคัญกับพระเครื่อง/วัตถุมงคลที่จัดสร้างในรูปและนามของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม โดยมิได้อาศัยพึ่งพิงบารมีของพระอาจารย์อาวุโสแห่งสำนักเขาอ้อ เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรกของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ที่สร้างขึ้นในปี ๒๕๒๒ ก็ไม่เสียหายกระไร หากจะยกระดับให้เป็นพระเครื่องรุ่นแรกของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม

            การเล่นหาและสะสมพระเครื่องและวัตถุมงคลสำนักวัดถ้ำเขาเงิน ต.ท่ามะพลา อ.หลังสวน จ.ชุมพร ที่สร้างขึ้นในยุคสมัยของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม สามารถแบ่งเป็น ๓ ยุค คือ

               ๑) ยุคแรก ปี ๒๕๑๑ เป็นพระเครื่องที่จัด สร้างในรูปและนามของหลวงพ่อแดง พุทโธ ขณะที่ดำเนินงานจัดสร้างพระเครื่องรุ่นนี้ พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม มีสิริอายุได้เพียง ๔๘ ปี พรรษา ๗ เพิ่งรับตำแหน่งเจ้าอาวาสได้เพียงปีกว่า (ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดถ้ำเขาเงินเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๙)  

              ๒) ยุคที่สอง ปี ๒๕๒๒ ยุคนี้มีการสร้างเหรียญรูปเหมือนพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม รุ่นแรก เพื่อเป็นที่ระลึกในวาระที่ท่านมีอายุครบ ๖๐ ปี เพียงรุ่นเดียว

              ๓) ยุคที่ ๓ ตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ - ๒๕๓๙ เป็นห้วงเวลาที่มีการสร้างพระเครื่องและวัตถุมงคลในรูปและนามของท่านมากที่สุด

            พระเครื่อง/วัตถุมงคลที่สร้างในรูปและนามของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม มีดังต่อไปนี้

            ๑. เหรียญกลมพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม รุ่นแรก ปี ๒๕๒๒

           เหรียญกลมพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม เป็นการสร้างพระเครื่องและวัตถุมงคลอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ว่างเว้นจากการสร้างพระเครื่องและวัตถุมงคลต่าง ๆ เป็นเวลานานถึง ๑๑ ปี เป็นการจัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในวาระที่ท่านมีอายุครบ ๕ รอบ หรือ ๖๐ ปี จากคำบอกเล่าของช่างตุ้ม โสภณ ศรีรุ่งเรือง เหรียญพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม รุ่นนี้ ช่างตุ้ม เป็นช่างที่ได้รับมอบหมายจากอาจารย์หนั่นให้เป็นผู้แกะแม่พิมพ์เหรียญรุ่นนี้ และปั๊มที่โรงงานโชคชัย

            ลักษณะ เป็นเหรียญกลมขนาดมาตรฐาน ด้านหน้าเป็นรูปพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม แบบนั่งเต็มองค์ ด้านล่างแกะชื่อและสมณะศักดิ์ของท่าน พระครูใบฎีกาคล้อย ฐานธมฺโม ด้านหลังประทับด้วยยันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ทั้งจารึกชื่อวัดและวาระในการสร้างดังนี้ วัดถ้ำเขาเงิน ต.ท่ามะพลา อ.หลังสวน จ.ชุมพร อายุ ๖๐ ปี
            ขนาด
เส้นผ่าศูนย์กลาง ๓ เซนติเมตร
            เนื้อหา เ
ท่าที่เห็นมีเพียงเนื้อเดียวคือ ทองแดง
            จำนวนการสร้าง
ประมาณ ๒๐,๐๐๐ เหรียญ
           พิธีกรรม ยังไม่พบข้อมูลหรือพยานเอกสารใดที่ระบุถึงพิธีกรรมที่พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ทำการอธิษฐานจิตแผ่เมตตาเหรียญรุ่นนี้ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นการอธิษฐานจิตฯ เดี่ยว

           ๒. พระปิดตามหาลาภองค์น้อย ปี ๒๕๓๓

           พระปิดตามหาลาภองค์น้อย จัดว่าเป็นพระเครื่องยอดนิยมอันดับหนึ่งของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม เป็นพระเครื่องประเภทจิ๋วแต่แจ๋วที่มีประสบการณ์มากมายเหลือคณานับ เป็นพระเครื่องที่ศิษย์สายนี้ พร้อมใจนำขึ้นคอในพิธีเททองหล่อพระพุทธฐานธรรมหิรัญบรรพต พระประธานในพระอุโบสถหลังใหม่ของวัดถ้ำเขาเงิน ซึ่งจัดพิธีเททองฯ ครั้งใหญ่ยิ่ง ในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๓ ประวัติความเป็นมาในการจัดสร้างพระปิดตามหาลาภองค์น้อย มีอยู่ว่า

          ในวงสนทนาเรื่องพระเครื่องของข้าราชการสังกัดกรมแรงงานผู้นิยมชมชอบพระเครื่องเป็นชีวิตจิตใจที่มาชุมนุมกันทุกเช้าวันจันทร์ที่โต๊ะทำงานของคุณจุฑาธวัช อินทรสุขศรี
หัวหน้าฝ่ายตรวจแรงงานที่ ๒ กองคุ้มครองแรงงาน กรมแรงงาน (ตำแหน่งในขณะนั้น เกษียณราชการในตำแหน่งปลัดกระทรวงแรงงาน) หากจำไม่ผิดน่าจะเป็นปลายเดือนตุลาคม ๒๕๓๒ ตอนนั้น ผู้เรียบเรียงเพิ่งโอนไปรับราชการที่กรมแรงงานใหม่ ๆ พูดกับคุณสุธน ศรีหิรัญ ในวงสนทนาว่า "ตอนนี้ ไม่รู้เป็นอะไร รู้สึกคั่นเนื้อคั่นตัว ไม่ได้สร้างพระมานาน อยากสร้างพระปิดตาสักรุ่น แต่ไม่อยากสร้างพระถวายหลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก วัดดอนยายหอม เพราะทำมาหลายรุ่นแล้ว อยากลองทำที่อื่นบ้าง" คุณสุธน ศรีหิรัญ นักเขียนบทความพระเครื่องปลายปากกาชั้นครู พูดกับสมาชิกในกลุ่มว่า "ที่หลังสวน ชุมพร มีพระเกจิอาจารย์สายเขาอ้อรูปหนึ่งเก่งมาก ไม่รู้ว่าท่านยังอยู่หรือเปล่า ท่านเงียบหายไปนาน ไม่มีข่าวคราวเลย พระเกจิอาจารย์รูปนั้นคือ พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน" พอเอ่ยนามของท่าน ประสบชัย สินธุเสนเจ้าหน้าที่ตรวจแรงงาน เขตตรวจแรงงานสัมพันธวงศ์ ตอบคำถามคุณสุธน ศรีหิรัญ ทันที พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม เป็นเกลอ (เพื่อน) กับพ่อของตน และขันอาสาที่จะลงไปขออนุญาตจัดสร้างพระปิดตาถวายท่านสักหนึ่ง สมาชิกในวงสนทนาวันนั้น จึงมอบหมายให้คุณประสบชัย สินธุเสน ลงไปขออนุญาตจัดสร้างและขอมวลสารของท่านมาเป็นส่วนผสมในการจัดสร้างพระปิดตารุ่นนี้ ในส่วนของการออกแบบและจัดสร้างพระปิดตา คุณสุธน ศรีหิรัญ รับเป็นภาระในการออกแบบและติดต่อช่างแกะแม่พิมพ์

          ระหว่างที่รอคุณประสบชัย สินธุเสน เดินทางไปกราบนมัสการพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม เพื่อขออนุญาตสร้างพระปิดตาฯ และขอมวลสารมาเป็นส่วนผสมในการสร้างพระปิดตาครั้งนี้ คุณสุธน ศรีหิรัญ กำหนดรูปแบบพระปิดตาที่จะจัดสร้างโดยการนำศิลปะพระปิดตากรมหลวงชุมพรเขตต์อุดมศักดิ์ของหลวงปู่ศุข เกสาโร วัดปากคลองมะขามเฒ่า มาเป็นต้นแบบและปรับประยุกต์ให้มีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง ทั้งนำยันต์พุทโธตามแบบอย่างที่ประทับหลังพระผงรูปเหมือนหลวงพ่อแดง พุทโธ มาปรับแต่งให้เข้ากับขนาดของพระปิดตาที่มีขนาดเล็กมาก

          มูลเหตุสำคัญที่นำศิลปะของพระปิดตากรมหลวงชุมพรฯ มาเป็นต้นแบบนั้น คุณสุธน ศรีหิรัญ เคยอธิบายให้ฟังว่า จังหวัดชุมพรเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับกรมหลวงชุมพรฯ ก่อนที่พระองค์ท่านจะเสด็จสวรรคตที่หาดทรายรี และเคยมีเรื่องเล่าลือกันว่า หลวงพ่อแดง พุทโธ อดีตเจ้าอาวาสวัดถ้ำเขาเงิน เป็นพระอาจารย์รูปหนึ่งของกรมหลวงชุมพรฯ จึงสันนิษฐานว่าพระองค์ท่าน น่าจะเคยเสด็จไปที่วัดถ้ำเขาเงินด้วย แต่ก็ยังไม่สามารถหาพยานเอกสารใดมาสนับสนุน นอกจากเรื่องของการแสดงวิชาบางอย่างที่คล้ายคลึงกับวิชาของ หลวงพ่อศุข เกสาโร วัดมะขามเฒ่า เช่น การเสกกระต่ายขูดมะพร้าว เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกรมหลวงชุมพรเขตต์อุดมศักดิ์กับหลวงพ่อแดง พุทโธ มีความเป็นไปได้เพียงใด คงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องสืบค้นต่อไป แต่ในเชิงการออกแบบพุทธศิลป์ ชื่อจังหวัดและความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับกรมหลวงชุมพรเขตต์อุดมศักดิ์เป็นกรอบแนวคิดหลักที่คุณสุธน ศรีหิรัญ ใช้ในการกำหนดแบบพระปิดตามหาลาภองค์น้อย

           หลังจากได้รับอนุญาตจากพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม เรียบร้อยแล้ว คุณสุธน ศรีหิรัญ เป็นผู้ติดต่อและมอบหมายให้ ๑) ช่างตุ้ม โสภณ ศรีรุ่งเรือง เป็นผู้ดำเนินการแกะแม่พิมพ์ ๒) ช่างหมึกเป็นผู้ดำเนินชอบในการผสมเนื้อและกดพิมพ์พระ ส่วนผู้เรียบเรียงทำหน้าที่ในการระดมทุนจากสมัครพรรคพวกในกองคุ้มครองแรงงาน กรมแรงงาน และอำนวยการทั่วไปเพื่อให้การจัดสร้างพระปิดตาที่จักถวายพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม สำเร็จตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ เหตุที่พระปิดตารุ่นนี้ ได้ชื่อว่า "พระปิดตามหาลาภองค์น้อย" ก็เพราะผู้เรียบเรียงต้องการใช้ชื่อของพระปิดตาพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม มีสมัญญานามคล้องจองกับพระปรกใบมะขามองค์จ้อยของหลวงปู่ทิม อิสริโก นั่นเอง

           ลักษณะ เป็นพระปิดตาขนาดเล็กที่สร้างขึ้นโดยการล้อศิลปะพระปิดตากรมหลวงชุมพรฯ ของหลวงปู่ศุข เกสาโร วัดปากคลองมะขามเฒ่า ปรับแต่งมุมให้มีลักษณะโค้งมน ด้านหน้า เป็นพระปิดตาแบบสมาธิเพชร พระหัตถ์ (มือ) ทั้งสองข้างปิดตาเต็มพระพักตร์ (หน้า) พระส่วนใหญ่จะปรากฏรอยนิ้วมือชัดเจน พระกรรณ (หู) ยาวจรดพระอังสะ (บ่า) พระอุทร (ท้อง) ลักษณะคล้ายสามเหลี่ยม พระนาภี (สะดือ) เป็นเม็ดกลมๆ บุ๋มลงไปในพระอุทร ขอบพระปิดตาเป็นเส้นคล้ายหวายผ่าซีก พระส่วนใหญ่จะมีเนื้อล้นขึ้นมาเป็นแนวเส้นๆ หากไม่พิจารณากันอย่างละเอียดถี่ถ้วน ถ้าดูเหมือนมีสองขอบ ด้านหลัง ประทับด้วย ยันต์พุทโธ ซึ่งเป็นยันต์ประจำตัวของหลวงพ่อแดง พุทโธ ตัวอักขระประทับจมลึกลงไปในเนื้อพระ รอบๆเนื้อจะปลิ้นขึ้นมาคล้ายกับขอบพระ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยเหมือนกันที่ปาดขอบให้เสมอกับพื้นด้านหลังขององค์พระปิดตา
           วรรณะ พระส่วนใหญ่จะมีสีขาวอมเหลือง ปรากฏมวลสารสีดำ สีเขียวขี้ม้า สีเขียวสด และสีแดงกระจายอยู่ทั่วองค์พระ บางองค์ก็มีผงตะไบปรากฏให้เห็นประปราย
           ขนาด
กว้างประมาณ 1 ซม. สูงประมาณ 1.1 ซม. หนาประมาณ 0.1 ซม.
           เนื้อหามวลสาร ประกอบด้วยมวลสารต่าง ๆ ดังนี้
               ๑. ผงใต้ดาน พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน
               ๒. ผงพุทธคุณทั้งห้า หลวงปู่บุญ ขนฺธโชติ วัดกลางบางแก้ว
               ๓. ผงพุทธคุณหลวงพ่อเงิน จนฺทสุวณฺโณ วัดดอนยายหอม
               ๔. ผงพุทธคุณหลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก วัดดอนยายหอม
               ๕. ผงพุทธคุณพระอาจารย์พรหม ติสฺสเทโว วัดขนอนเหนือ
               ๖. ผงตะไบพระกริ่งยอดขุนพลและพระกริ่งอรหัง หลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก วัดดอนยายหอม
               ๗. ทับทิมเสก หลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก วัดดอนยายหอม
               ๘. ผงงาช้าเสก พระอาจารย์พรหม ติสฺสเทโว วัดขนอนเหนือ
               ๙. ผงพระนางพญา สก. จากวัดมกุฎกษัตริยาราม
            ๑๐. พระผงหลวงพ่อเกษม เขมโก รุ่น 6 รอบ
            ๑๑. ผงกระเบื้ององค์พระปฐมเจดีย์
            ๑๒. ผงกระเบื้องพระธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช
            ๑๓. ผงตะไคร่องค์พระธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช
            ๑๔. ผงพระขุนแผนเคลือบ ของ ฯพณฯ ท่าน พิศาล มูลศาสตร์สาทร
            ๑๕. ผงว่านยาหลวงพ่อดำ นฺนทิโย วัดมุจลินทร์
            ๑๖. ผงธูป เกสรดอกไม้บูชาพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ อาทิ หลวงพ่อวัดไร่ขิง หลวงพ่อโสธร หลวงพ่อเหลือ  วัดสร้อยทอง
            ๑๗. ผงใบบัวเสกของหลวงพ่อแดง วิมโล วัดเขาถล่ม
            ๑๘. ผงว่านยาหลวงพ่อวงษ์ วํสปาโล วัดปริวาส
            ๑๙. ผงข้าวตอกดอกไม้ หลวงปู่โต๊ะ อินทสุวณฺโณ วัดประดู่ฉิมพลี
            ๒๐. ผงพระชำรุดของคณะทันตแพทย์ จุฬาฯ
        จำนวนการสร้าง ประมาณ ๒๒,๐๐๐ องค์
        ปีที่สร้าง พ.ศ. ๒๕๓๓
        ผู้สร้างถวาย คณะศิษย์สายกองคุ้มครองแรงงาน กรมแรงงาน
        พิธีกรรม พิธีอธิฐานจิตปลุกเสกเดี่ยวโดยพระเกจิอาจารย์ ๕ รูป

        พระปิดตามหาลาภองค์น้อย พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม เป็นพระปิดตายอดนิยมพิมพ์หนึ่งในตำนานยอดพระเครื่องเมืองหลังสวนที่มีประสบการณ์มากที่สุดในบรรดาพระเครื่องและวัตถุมงคลของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม เป็นประสบการณ์แบบครบเครื่องที่สามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าดีทุกด้าน ในตอนต่อไป จะเป็นการนำเสนอข้อมูล เรื่องราว และประสบการณ์ที่เกี่ยวกับพระปิดตามหาลาภองค์น้อยแบบพิสดาร ข้อมูลต่าง ๆ ที่ว่านี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ผู้เรียบเรียงอยู่ในเหตุการณ์ รวมทั้งได้รับฟังจากปากของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม โดยตรง

(บทความนี้ เป็นบทความเก่าที่ตีพิมพ์มนนิตยสารพระเครื่องลานโพธิ์ ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๑๑๘๕ ปักษ์หลังมีนาคม ๒๕๕๙ หน้า ๓๕ - ๓๗)


บทความที่เกี่ยวข้อง
หน้าปกบทความตอน ๒๐
ชีวประวัติ พระเครื่องและวัตถุมงคลพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน หลังสวน ชุมพร ตีพิมพ์ระหว่างปี ๒๕๕๘ - ๒๕๕๙ รวม ๒๔ ตอน
20 ม.ค. 2025
หน้าปกพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ตอนที่ ๑๙
ชีวประวัติ พระเครื่องและวัตถุมงคลพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน หลังสวน ชุมพร ตีพิมพ์ระหว่างปี ๒๕๕๘ - ๒๕๕๙ รวม ๒๔ ตอน
16 ม.ค. 2025
หน้าปกบทความพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ตอนที่ ๑๘
ชีวประวัติ พระเครื่องและวัตถุมงคลพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน หลังสวน ชุมพร ตีพิมพ์ระหว่างปี ๒๕๕๘ - ๒๕๕๙ รวม ๒๔ ตอน
14 ม.ค. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy