แชร์

พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ตำนานยอดพระเครื่องเมืองหลังสวน (๑๗/๒๔)

อัพเดทล่าสุด: 5 ม.ค. 2025
14 ผู้เข้าชม

พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน : ตำนานยอดพระเครื่องเมืองหลังสวน (๑๗/๒๔)

โดย....... ชายนำ ภาววิมล .......

            พระปิดตามหาลาภองค์น้อยเป็นพระปิดตาเนื้อผงขนาดจิ๋วที่ศิษย์หลายคนให้ความเห็นว่าเป็นพระพิมพ์เอกที่สร้างชื่อให้กับพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม อย่างแท้จริง เป็นสุดยอดแห่งพระปิดตาลุ่มน้ำหลังสวนที่สร้างชื่อเสียงให้ท่านมากกว่าพระเครื่องชุดหลวงพ่อแดง พุทโธ ที่พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม เป็นเจ้าภาพในการจัดสร้างเมื่อปี ๒๕๑๑ เสียอีก เป็นชื่อเสียงเกียรติคุณที่เกิดจากบารมีของตัวท่านเป็นหลัก มิใช่เป็นไปเพราะความยิ่งใหญ่ของพิธีกรรมที่นักนิยมพระเครื่องทั่วไปมองว่าเป็นการชุมนุมพระเกจิอาจารย์สายเขาอ้อและมีอาจารย์ชุม ไชยคีรี เป็นเจ้าพิธีฯ แม้ว่าพระปิดตาองค์น้อยชุดนี้ ผ่านการอธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยวจากพระเกจิอาจารย์ที่ได้ชื่อว่าเป็นพระสุปฏิปันโนที่มีพลังจิตแก่กล้าและมีความเชี่ยวชาญในพระเวทวิทยาคมอย่างหาตัวจับยาก แต่ข้อเท็จจริงเหล่านี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เป็นแรงส่งให้พระปิดตามหาลาภองค์น้อยชุดนี้ ซึ่งเป็นที่ยอมรับและศรัทธาของศิษย์พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ในยุคสมัยนั้น มีความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น

            พระปิดตามหาลาภองค์น้อยรุ่นนี้ ย่อมมิใช่ธรรมดาแน่นอน เป็นพระปิดตาประเภทจิ๋วแต่แจ๋วหรือเล็กดีรสโตที่มีประวัติความเป็นมาในการจัดสร้างที่ชัดเจน คณะศิษย์ที่สร้างถวายก็มิใช่ขี้ไก่ มีทั้งอดีตปลัดกระทรวง อดีตรองอธิบดี นักวิชาการอิสระที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ด้านการบริหารเชิงกลยุทธ์ระดับแนวหน้าของวงการ และบรรณาธิการบริหารของนิตยสารพระเครื่องลานโพธิ์ นิตยสารพระเครื่องเก่าแก่ที่ได้รับการยอมรับและยกย่องว่าเป็นหนังสือคุณภาพของวงการพระเครื่อง ..นี่คือ อีกหนึ่งในตำนานยอดพระเครื่องเมืองหลังสวน พระปิดตาที่มีพลานุภาพครบเครื่องตามแบบอย่างพระปิดตาที่มีมาแต่ครั้งโบราณกาล

           ๓. พระสมเด็จสีชมพู ปี ๒๕๓๓

           พระปิดตามหาลาภองค์น้อยเป็นจุดเริ่มต้นที่นำพาผู้เรียบเรียงไปสัมผัสและมีโอกาสรับใช้พระเกจิอาจารย์ที่มีพลังจิตแก่กล้าและมีความเชี่ยวชาญในพระเวทวิทยาคมอย่างแท้จริง ความต่อเนื่องที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเมตตาจิตของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ซึ่งเล็งเห็นกุศลเจตนาอันบริสุทธิ์ของคณะศิษย์สายกองคุ้มครองแรงงาน กรมแรงงาน (ช่วงระหว่างปี ๒๕๓๓ ) เมื่อคณะศิษย์ฯ ถวายพระปิดตามหาลาภองค์น้อยจำนวน ๒๒,๐๐๐ องค์ ในวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๓๓ พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ขึ้นไปชั้นบนของกุฏิหลังเก่าของท่าน และนำมวลสารให้ถุงใหญ่มามอบให้ พร้อมทั้งบอกให้นำไปสร้างพระ ลักษณะของมวลสารถุงนี้เป็นผงสีออกแดงเข้ม กลิ่นหอมมาก ทราบในภายหลังว่าเป็นผงที่เหลือจากการสร้างพระหลวงพ่อแดง พุทโธ ในปี ๒๕๑๑ เมื่อได้รับมวลสารดังกล่าวแล้ว คุณสุธน ศรีหิรัญถามท่านว่าจะให้ไปสร้างพระอะไร พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ตอบด้วยน้ำเสียงที่เปี่ยมด้วยความเมตตาอันหาที่สุดมิได้ว่า จะสร้างพระอะไรก็ได้ แล้วแต่ความชอบ เมื่อเป็นเช่นนั้น คุณสุธน ศรีหิรัญ ขอให้เขียนยันต์ที่จะนำมาใช้ประทับหลังองค์พระซึ่งจะสร้างในระดับต่อไป

            เมื่อกลับจากวัดถ้ำเขาเงินแล้ว คณะศิษย์ฯ มอบหมายให้คุณสุธน ศรีหิรัญ เป็นผู้รับผิดชอบในการนำมวลสารดังกล่าวไปสร้างพระผงขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง และคุณจุฑาธวัช อินทรสุขศรี มอบหมายให้ผู้เรียบเรียงเป็นคนรับผิดชอบในการเดินทางไปร่วมในพิธีพุทธาภิเษกที่วัดถ้ำเขาเงินในวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๓ และนำพระปิดตามหาลาภองค์น้อยส่วนหนึ่งกลับมามอบให้กับคณะศิษย์ฯ เมื่อได้รับมอบหมายจากคณะฯ คุณสุธน ศรีหิรัญ เสนอให้จัดสร้างพระผงพิมพ์พระสมเด็จขนาดไล่เลี่ยหรือใกล้เคียงกับพระวัดปากน้ำรุ่นสี่ แต่ดัดแปลงให้มีหน้าตาและความคมชัดตามแบบสมัยนิยม ทั้งมีการซ่อนตำหนิในพิมพ์เพื่อป้องกันการปลอมและเป็นแนวทางในการพิจารณาแยกแยะต่อไปในวันข้างหน้า และให้นำผงขมิ้นเสกของหลวงปู่บุญ ขนฺธโชติ และหลวงปู่เพิ่ม ปุญญวสโน วัดกลางบางแก้ว มาเป็นมวลสารหลักร่วมกับผงที่พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม มอบให้นำมาใช้สร้างพระผงพิมพ์นี้ และกำหนดกรอบแนวคิดในการสร้างพระผงรุ่นนี้ว่าเป็นพระเนื้อผงขมิ้นกับปูน

            ลักษณะ เป็นพระพิมพ์พระสมเด็จที่นำศิลปะพระสมเด็จทรงเจดีย์มาปรับประยุกต์และแต่งองค์พระให้มีความคมชัดตามแบบอย่างสมัยนิยม องค์พระแกะให้เห็นลายละเอียดของใบหน้าและส่วนต่างๆ ขององค์พระอย่างชัดเจน ฐานล่างสุดจารึกพระคาถา ๔ ตัวแรกของพระคาถาพระเจ้าห้าพระองค์ คือนะมะนะอะ ประทับยันต์หลังตามแบบที่พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ใต้ยันต์จารึกชื่อวัดถ้ำเขาเงิน
            ขนาด กว้าง ๑.๘ เซนติเมตร สูง ๒.๗ เซนติเมตร
            วรรณะ ออกสีชมพู
            เนื้อหามวลสาร ประกอบด้วยผงที่เหลือจากการสร้างพระหลวงพ่อแดง พุทโธ รุ่นเสด็จกลับ ปี ๒๕๑๑ กับผงขมิ้นเสกหลวงปู่บุญ ขนฺธโชติ และหลวงปู่เพิ่ม ปุญญวสโน วัดกลางบางแก้ว
            จำนวนการสร้าง ๓,๐๐๐ องค์
            พิธีกรรม อธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยวโดยพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม
            พลานุภาพ เรื่องเมตตามหานิยมเด่นมาก
            ค่านิยม จัดว่าเป็นพระเครื่องชุดเอกที่ได้รับความนิยมและเล่าหากันมาที่สุด สนนราคาเช่าหาอยู่ที่หลักพันกลาง ๆ ขึ้นไป (ปี ๒๕๕๙)

            พระสมเด็จสีชมพูเป็นพระเครื่องที่สร้างชื่อให้กับพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม มากที่สุดอีกรุ่นหนึ่ง จัดว่าเป็นพระเครื่องที่ได้รับนิยมไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพระปิดตามหาลาภองค์น้อย แต่ด้วยเหตุที่มีจำนวนสร้างเพียงแค่ ๓,๐๐๐ องค์ จึงเป็นแรงส่งที่ทำให้สนนราคาเช่าหาสูงกว่าพระปิดตามหาลาภองค์น้อย เรื่องประสบการณ์นั้น ส่วนใหญ่เป็น ไปในด้านเมตตามหานิยม สาวเห็นสาวหลง เรื่องนี้คงขอข้าม ไม่นำมาสาธยายเล่าสู่กันฟัง เพราะตัวละครที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีความสนิทสนมและรู้จักกันเป็นอย่างดี การนำเรื่องบางเรื่องมาเล่าสู่การฟังผ่านสื่อสาธารณะ อาจเป็นผลเสียและกระทบต่อความมั่นคงทางครอบครัวของผู้ที่นำพระสมเด็จสีชมพูไปห้อยคอติดตัวเป็นประจำก็ได้ เท่าที่ได้ยินได้ฟังมาจากการบอกเล่าของคุณสุธน ศรีหิรัญ เมื่อยี่สิบปีที่แล้ว หลายคนที่เคยประสบพบเหตุและเล่าสู่กันฟังในวงสนทนา เรื่องเมตตามหาเสน่ห์นั้น สุดยอด... สาว ๆ ติดแจ บางคนต้องสับรางจนเหนื่อย บางคนที่ใบหน้าสอบไม่ผ่าน ไม่เคยคิดว่าจะมีกิ๊กกับเขาในชีวิต ก็แอบซ่อน มีกับเขาเหมือนกัน เล่นเอาเพื่อน ๆ เดือดร้อนไปตาม ๆ กัน ต้องช่วยเคลียร์ช่วยแก้ปัญหาให้

            เวลาผ่านมาถึงทุกวันนี้ พระสมเด็จสีชมพูเป็นพระเนื้อผงของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ที่หายากยิ่งกว่าพระเครื่องพิมพ์อื่น ๆ เป็นพระที่น้อยคนจักมีโอกาสเสาะแสวงหามาสักการบูชา เพราะมีจำนวนการสร้างไม่มากนักเมื่อเทียบกับพระเครื่องพิมพ์อื่นๆ ของพ่อท่านคล้อย ฐานธมโม แต่ก็มีบางคนที่ชอบของแปลก ชอบขอที่คนหนึ่งเขาไม่มีกัน โดยเฉพาะพระสมเด็จสีชมพู เนื้อพิเศษแก่ว่าน ซึ่งมีจำนวนการสร้างเพียง ๑๒ องค์ ข้อมูลประเด็นนี้ ต้องบอกความจริงเพิ่มเติมว่า เป็นเนื้อพิเศษที่ช่างผสมเนื้อและกดพิมพ์พระซึ่งเป็นคนละคนกับช่างแกะ ขออนุญาตสร้างเป็นกรณีพิเศษ เป็นการสร้างเพื่อบูชากันเอง จึงนำว่านและมวลสาระสำคัญซึ่งไม่สมควรนำมาเปิดเผยมาเป็นส่วนผสมในการสร้างพระสมเด็จสีชมพูเนื้อพิเศษ ๑๒ องค์ โดยช่างผสมเนื้อฯ ขอเก็บไว้ใช้กันเองในครอบครัว ๙ องค์ อีก ๓ องค์อยู่มอบให้ช่างที่แกะแม่พิมพ์ คุณสุธน ศรีหิรัญ และผู้เรียบเรียง ล่าสุดได้ข้อมูลเพิ่มเติมมาคือ แต่ละท่านที่ได้รับพระสมเด็จสีชมพูเนื้อพิเศษไป (ยกเว้นผู้เรียบเรียง) ต่างก็ลืมไปแล้วว่าเก็บพระสมเด็จสีชมพูเนื้อพิเศษนี้ไว้ที่ไหน เลยต้องสรุปว่า พระสมเด็จสีชมพูเนื้อพิเศษชุดนี้ ไม่รู้ว่ายังคงสภาพอยู่หรือไม่ กลายเป็นตำนานไปแล้ว ไม่ต้องเสาะแสวงหา เพราะไม่มีของให้ใครเก็บสะสม มากที่สุดคงไม่พ้นการเห็นแค่ภาพถ่ายเท่านั้น

            ๔) พระพุทธฐานธรรมหิรัญบรรพต รุ่นแรก ที่ระลึกงานหล่อพระประธานในพระอุโบสถหลังใหม่ ปี ๒๕๓๓

            หลังจากงานจัดสร้างพระปิดตามหาลาภองค์น้อยและพระสมเด็จสีชมพู ถวายพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม เสร็จสิ้นไปแล้ว ทั้งคุณสุธน ศรีหิรัญ และผู้เรียบเรียงยังคงติดต่อและมีเหตุเดินทางต้องไปกราบนมัสการกับพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม หลายต่อหลายครั้ง และทุกครั้งที่ท่านเดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร คุณคงศักดิ์ เทพทวีพิทักษ์ ศิษย์ใกล้ชิดของท่านคนหนึ่งจะแจ้งข่าวให้ทราบ เลยเป็นโอกาสอันดียิ่งที่ คุณสุธน ศรีหิรัญ กับผู้เรียบเรียง ได้ใกล้ชิดและรู้จักมักคุ้นกับท่านมากขึ้นเรื่อย ๆ ระยะแรกพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม มักมาพักที่วัดปทุมคงคา แถวถนนทรงวาด เย็นวันหนึ่ง พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ปรารภกับคุณสุธน ศรีหิรัญ และผู้เรียบเรียงว่า ท่านต้องการสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ ตอนนั้น ยังไม่ทราบกำหนดการว่าท่านมีแผนงานอย่างไรและจะเริ่มต้นเมื่อใด ระหว่างการสนทนา คุณสุธน ศรีหิรัญ เสนอแนะว่าการสร้างพระอุโบสถเป็นงานใหญ่ จำเป็นต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก และใช้เวลาอันยาวนาน วิธีหนึ่งที่นิยมใช้กันคือ การหล่อพระประธานก่อน การหล่อพระประธานเป็นเสมือนก็ประกาศให้ทราบว่าวัดนี้กำลังจะสร้างอุโบสถในไม่ช้านี้ พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ และสรุปจบลงว่า คุณสุธน ศรีหิรัญ รับเป็นเจ้าภาพในการหล่อพระประธาน ตอนนั้น ผู้เรียบเรียง ยังงง... และตั้งหลักไม่ทันเพราะไม่เคยคุ้นเคยกับงานบุญใหญ่เช่นนี้

            เวลาผ่านไปไม่นาน พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม มากรุงเทพมหานครอีกครั้ง และให้คุณคงศักดิ์ เทพทวรพิทักษ์ ตามคุณธน ศรีหิรัญ และผู้เรียบเรียงไปพบที่วัดปทุมคงคาเพื่อหารือเรื่องการสร้างพระประธานในพระอุโบสถหลังใหม่ การหารือในวันนี้ ผู้เรียบเรียงถามความเห็นเกี่ยวกับพระประธานในอุโบสถหลังใหม่เป็นปางใด พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม บอกว่าต้องการจำลองรูปแบบของพระพุทธชินราชมาเป็นพระประธานในอุโบสถ ผู้เรียบเรียงกราบนมัสการเรียนท่านว่า "ไม่เห็นด้วยกับการจำลองแบบพระพุทธชินราชมาเป็นพระประธานในอุโบสถหลังใหม่ เหตุผลคือ พระพุทธชินราชเป็นพุทธศิลป์ทางเหนือ ไม่เหมาะพุทธศิลป์ทางภาคใต้ การสร้างพระประธานครั้งนี้ควรมุ่งเน้นพุทธศิลป์ทางภาคใต้และมีเอกลักษณ์เฉพาะเป็นของตนเอง ไม่ควรเลียนแบบใคร" ตอนแรก พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ยังไม่ได้แสดงท่าทีตอบรับแต่ก็ไม่มีแนวโน้มว่าจักไม่เห็นด้วยหรือปฏิเสธ ผู้เรียบเรียงจึงเสนอความเห็นต่อไปว่า "พระประธานในอุโบสถหลังใหม่ควรเป็นพระพุทธรูปปางประทานพร ศิลปะศรีวิชัย พระพุทธรูปในพระอุโบสถทั่วไป มักเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิหรือปางมารวิชัย ซึ่งให้ความรู้สึกแบบหนึ่ง แต่อยากเห็นบรรยากาศที่คนเข้ามากราบนมัสการพระประธานในอุโบสถหลังใหม่ มีความรู้สึกว่าพระพุทธเจ้าประทานพรให้กับสาธุชนที่มากราบนมัสการพระพุทธองค์"

            คุณสุธน ศรีหิรัญ เสนอความเห็นอันนำไปสู่ข้อสรุปในการหารือกันวันนั้นว่า "พระพุทธรูปที่นำมาเป็นต้นแบบในการจัดสร้างพระประธานในอุโบสถหลังใหม่ครั้งนี้ คือ พระพุทธรูปศรีวิชัยของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล หรือองค์ชายใหญ่ พระพุทธรูปองค์เดียวกับที่เคยนำมาเป็นต้นแบบในการพระกริ่งทักษิณชินวโร ของพระอาจารย์นำ แก้วจันทร์ วัดดอนศาลา และดัดแปลงให้เป็นพระพุทธรูปปางประทานพร" เมื่อความเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ในการปรึกษาหารือเป็นไปในทิศทางเดียวกันและมีความชัดเจนมากพอที่จะดำเนินงานต่อไป พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม จึงให้ความเห็นชอบในหลักการและพิจารณารายละเอียดการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ทั้งมีความเห็นพ้องต้องกันว่าให้คุณคงศักดิ์ เทพทวีพิทักษ์, คุณสุธน ศรีหิรัญ และผู้เรียบเรียงไปเชิญพลตำรวจเอกมนัส ครุฑไชยันต์ มาเป็นประธานในพิธีเททองหล่อพระประธานในพระอุโบสถหลังใหม่ของวัดถ้ำเขาเงิน สำหรับนามของพระประธานฯ คุณสุธน ศรีหิรัญ เป็นผู้ถวายพระนามของพระประธานองค์นี้ว่า "พระพุทธฐานธรรมหิรัญบรรพต ความหมายคือ พระธรรมของพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ เขาเงิน แห่งนี้"

           การดำเนินงานหล่อพระพุทธฐานธรรมหิรัญบรรพต พระประธานในอุโบสถหลังใหม่ของวัดถ้ำเขาเงิน ได้มอบหมายให้ช่างถวิล ศรีอินทร์คำ เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานปั้นหุ่นและเททองหล่อพระประธาน พร้อมทั้งจัดสร้างพระเครื่องพระบูชาเพื่อเป็นที่ระลึกในงานหล่อพระประธานและหาปัจจัยสมทบทุนสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ พระบูชาที่สร้างในวาระนี้ ประกอบด้วย พระพุทธฐานธรรมหิรัญบรรพต ขนาดบูชา ๙ นิ้ว เท่าที่จำได้ น่าจะมีทั้งปิดทองและรมดำ ในส่วนของพระเครื่องนั้น มอบหมายให้ช่างตุ้ม (โสภณ ศรีรุ่งเรือง) เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการแกะแม่พิมพ์ ปั๊มเหรียญและพระผงพระพุทธฐานธรรมหิรัญบรรพต รุ่นแรก ปูมหลังต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการเททองหล่อพระพุทธฐานธรรมหิรัญบรรพต การจัดสร้างพระพุทธรูปบูชา เหรียญ และพระพุทธฐานธรรมหิรัญบรรพตเนื้อผง รุ่นแรก จะนำเสนอในนิตยสารพระเครื่องลานโพธิ์ฉบับต่อไป

            พิธีหล่อพระพุทธฐานธรรมหิรัญบรรพตในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๓ เป็นอีกหนึ่งในตำนานยอดพระเครื่องเมืองหลังสวนที่มีการชุมนุมยอดพระเกจิอาจารย์สายเขาอ้อในยุคนั้น ประกอบด้วย พระครูกาชาด (บุญทอง เขมทตฺโต) วัดดอนศาลา, พระอาจารย์ศรีเงิน อาภาธโร วัดดอนศาลา, หลวงพ่อคล้อย อโนโม วัดภูเขาทอง และพระอาจารย์พรหม ขนฺติโก วัดบ้านสวน มาร่วมในพิธี ทั้งเป็นครั้งแรกที่พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ทำพิธีหุงข้าวเหนียวดำเป็นครั้งแรก


บทความที่เกี่ยวข้อง
หน้าปกบทความตอน ๒๐
ชีวประวัติ พระเครื่องและวัตถุมงคลพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน หลังสวน ชุมพร ตีพิมพ์ระหว่างปี ๒๕๕๘ - ๒๕๕๙ รวม ๒๔ ตอน
20 ม.ค. 2025
หน้าปกพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ตอนที่ ๑๙
ชีวประวัติ พระเครื่องและวัตถุมงคลพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน หลังสวน ชุมพร ตีพิมพ์ระหว่างปี ๒๕๕๘ - ๒๕๕๙ รวม ๒๔ ตอน
16 ม.ค. 2025
หน้าปกบทความพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ตอนที่ ๑๘
ชีวประวัติ พระเครื่องและวัตถุมงคลพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน หลังสวน ชุมพร ตีพิมพ์ระหว่างปี ๒๕๕๘ - ๒๕๕๙ รวม ๒๔ ตอน
14 ม.ค. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy