พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ตำนานยอดพระเครื่องเมืองหลังสวน (๒๑/๒๔)
พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน : ตำนานยอดพระเครื่องเมืองหลังสวน (๒๑/๒๔)
โดย....... ชายนำ ภาววิมล .......
การนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับพระเครื่องของพ่อทานคล้อย ฐานธมฺโม ตอนที่แล้ว ดำเนินมาถึงพระเครื่องและเหรียญที่จัดสร้างขึ้นในปี ๒๕๓๖ ซึ่งเป็นการจัดสร้างเหรียญรูปเหมือนพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ที่มีความงดงามและประณีตกว่าเหรียญพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ที่ผ่านมาทุกรุ่น โดยเฉพาะเหรียญเสมาพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ที่อาจกล่าวได้ว่าหากเหรียญพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม รุ่นแรก สวยได้อย่างนี้ คงจะดังระเบิดเถิดเทิงไปนานแล้ว ส่วนเหรียญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เป็นเหรียญที่มีการวางกรอบแนวคิดในการจัดสร้างที่ชัดเจน มิใช่อยู่ดีๆ จะสร้างก็สั่งงานให้ช่างทำตามที่ต้องการ รายละเอียดและความเป็นมาในการจัดสร้างเหรียญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีดังนี้
๑๔. เหรียญพระบรมรูปรัชกาลที่ ๕ รุ่นเสาร์ห้า
เหรียญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รุ่นนี้ เป็นเหรียญพระบรมรูปล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ที่ทางวัดถ้ำเขาเงินจัดสร้างขึ้นเป็นครั้งแรก เนื่องในโอกาสที่มีวันเสาร์แท้ในปี ๒๕๓๖ มูลเหตุที่สร้างเหรียญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สืบเนื่องจากการที่วัดถ้ำเขาเงินเป็นวัดสำคัญทางประวัตศาสตร์ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าหลวงทรงเสด็จประพาสหัวเมืองแถบชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอ่าวไทย ในปี ๒๔๓๒ หรือ รศ. ๑๐๘ ความสำคัญมิได้มีเพียงแค่เป็นวัดที่พระพุทธเจ้าหลวงทรงเสด็จ แต่เป็นวัดที่พระพุทธเจ้าหลวงทรงโปรดให้สลักพระนามาภิไธยย่อ จปร. ๑๐๘ ที่ผนังถ้ำเขาเอน, เปลี่ยนนามถ้ำเขาเอน (สมัยนั้น อยู่ในการปกครองดูแลของวัดถ้ำเขาเอน) เป็น "ถ้ำเขาเงิน" ทั้งทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้เจ้าเมืองหลังสวนดำเนินการบูรณะและก่อสร้างเจดีย์หน้าถ้ำที่คั่งค้างอยู่ให้แล้วเสร็จด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ดั่งรายละเอียดที่นำเสนอมาแล้วในช่วงต้นของตำนานยอดพระเครื่องเมืองหลังสวน การสร้างเหรียญพระบรมรูปพระบรมสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รุ่นแรก ของวัดถ้ำเขาเงิน ดำเนินไปตามกรอบแนวคิด "เหรียญพระบรมรูปรัชกาลที่ ๕ สร้างโดยวัดที่รัชกาลที่ ๕ พระราชทานนาม อธิษฐานจิตแผ่เมตตาเดี่ยวเสาร์ ๕"
ลักษณะ เป็นเหรียญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่สร้างขึ้นโดยการล้อศิลปะเหรียญเปลือยหรือเหรียญรัชฎาภิเษกมาลาซึ่งเป็นเหรียญที่ระลึกในงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๒๕ ปี ด้านหลังจารึกอักษร ๔ แถว ประกอบด้วย แถวแรก "เสาร์" ถัดไปคือ "๕", "วัดถ้ำเขาเงิน" และ "๒๗ มี.ค. ๓๖" ตามลำดับ
ขนาด เส้นผ่าศูนย์กลาง ๒.๕ เซนติเมตร ความหนา ๐.๒ เซนติเมตร
จำนวนการสร้าง เหรียญพระบรมรูปฯ รุ่นนี้ มี ๓ เนื้อ ประกอบด้วย
๑. เหรียญเงิน จำนวน ๕๕ เหรียญ
๒. เหรียญนวโลหะ จำนวน ๒๕๕ เหรียญ
๓. เหรียญทองแดง จำนวน ๕,๐๐๐ เหรียญ
พิธีกรรม พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ทำพิธีอธิษฐานจิตแผ่เมตตาเดี่ยวพร้อมกับพระสมเด็จขาโต๊ะและเหรียญเสมาฯ ในคืนวันเสาร์ที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๓๖
พระเครื่องพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม รุ่นเสาร์ห้า ปี ๒๕๓๖ เป็นพระเครื่องอีกรุ่นหนึ่งที่มีประสบการณ์ไม่น้อยเช่นกัน ส่วนใหญ่ที่ได้ยินมา มักเน้นหนักไปทางแคล้วคลาดนิรันตราย และคงกระพันชาตรี ทั้งเป็นที่นิยมเล่นหากันอย่างกว้างขวางในหมู่ลูกศิษย์ลูกหายุคเก่าในราว ๒๐ ปีที่แล้ว นอกจากพระเครื่องรุ่นเสาร์ห้าดังกล่าวแล้ว ในปี ๒๕๓๖ ยังมีการจัดสร้างพระรูปเหมือนพิมพ์เจ้าสัวเนื้อดินเผาขนาดบูชาจำนวนหนึ่ง และเหรียญรูปเหมือนอีกรุ่นหนึ่งที่จัดสร้างขึ้นเพื่อแจกเป็นที่ระลึกในงานฉลองอุโบสถหลังใหม่
๑๕. เหรียญรูปเหมือนพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม รุ่นที่ระลึกงานฉลองอุโบสถ
เหรียญรูปเหมือนพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม รุ่นที่ระลึกงานฉลองอุโบสถ เป็นเหรียญที่คุณคงศักดิ์ เทพทวีพิทักษ์ ศิษย์ใกล้ชิดอีกคนหนึ่งของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม เป็นผู้สร้างถวายในปี ๒๕๓๖ เพื่อเตรียมไว้แจกในงานฉลองพระอุโบสถหลังใหม่ เหรียญรุ่นนี้ จัดว่าเป็นเหรียญรูปเหมือนพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ที่มีจำนวนการสร้างมากที่สุด ตอนแรก คุณคงศักดิ์ เทพทวีพิทักษ์ ติดต่อโรงงานปั๊มเหรียญระดับแนวหน้าหลายแห่งเพื่อว่าจ้างให้ทำเหรียญรุ่นนี้ แต่เมื่อทราบค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว ก็ตัดสินใจให้ช่างแกะทั่วไปเป็นคนแกะแม่พิมพ์ให้และปั๊มเหรียญในโรงปั๊มโลหะแบบอื่นที่ไม่ได้รับงานทางด้านการปั๊มเหรียญพุทธศิลป์มาก่อน เหรียญรูปเหมือนฯ รุ่นนี้ มี ๒ แบบ คือ มีขอบ และ ไม่มีขอบ เหรียญมีขอบเป็นเหรียญเนื้อทองคำและเงิน ส่วนไม่มีขอบเป็นเหรียญเนื้อโลหะผสม
ลักษณะ เป็นเหรียญรูปเหมือนพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม แบบครึ่งองค์ในกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านหลังประทับด้วยยันต์ นะสำเร็จ รายรอบของข้อความ ที่ระลึกงานฉลองพระอุโบสถ วัดถ้ำเขาเงิน อ.หลังสวน จ.ชุมพร ด้านใต้ของข้อความบ่งบอกวาระของงาน จารึกนาม พ่อหลวงคล้อย ฐานธมฺโม ล่างสุดเป็นรูปพระอุโบสถหลังใหม่ (เรือสุพรรณหงส์)
ขนาด กว้าง ๒.๕ เซนติเมตร ยาว ๓.๔ เซนติเมตร หนา ๐.๒๔ เซนติเมตรโดยประมาณ
จำนวนการสร้าง
๑. ทองคำ ๑๐๐ เหรียญ
๒. เงิน ๑,๐๐๐ เหรียญ
๓. โลหะผสมกาไหล่ทอง ๓๐,๐๐๐ เหรียญ
๔. โลหะผสม ๗๐,๐๐๐ เหรียญ
ปี ๒๕๓๗ เป็นปีที่มีการจัดสร้างพระเครื่อง ๓ วาระ วาระแรก เป็นการจัดสร้างในงานสังเวยครูหรือบูชาครู เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ ประกอบด้วยพระเครื่องทั้งหมด ๖ พิมพ์ ทำพิธีอธิษฐานจิตแผ่เมตตาในคืนวันเสาร์ที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๗, วาระที่ ๒ เหรียญรูปเหมือนอีกหนึ่งรุ่นที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในงานวางศิลาฤกษ์ตึกฐานธมฺโม โรงพยาบาลหลังสวน และวาระที่ ๓ พระเครื่องในชุดพระกริ่งปวเรศเขาเงิน ซึ่งเป็นงานใหญ่ที่สโมสรไลออนส์เมืองเอก ภายใต้การนำของคุณชาตรี เลิศสิริมงคลชัย นายกสโมสรเมืองเอกในขณะนั้น เป็นผู้สร้างดำเนินการสร้างถวาย การสร้างพระเครื่องในวาระแรกของปี ๒๕๓๗ เริ่มต้นหลังจากที่สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จพระราชดำเนินยกช่อฟ้าพระอุโบสถหลังใหม่วัดถ้ำเขาเงิน เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ปี ๒๕๓๗ (ข้อมูลเกี่ยวกับวันเสด็จพระราชดำเนินยกช่อฟ้าฯ มีสาระสำคัญที่ไม่ตรงกันคือ ในหนังสือ"พ่อหลวงคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน อ.หลังสวน จ.ชุมพร วันเสาร์ที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๐ ครบรอบ ๑๐๐ วัน" ระบุว่า "สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จยกช่อฟ้าฯ ในวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๗" ความไม่สอดคล้องต้องกันของข้อมูลนี้ คงต้องมีการสอบทานข้อมูลให้สอดคล้องต้องกันในภายหลัง) ด้วยเหตุที่พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม มีความมุ่งมั่นในการสร้างตึกสงฆ์อาพาธที่โรงพยาบาลหลังสวน ซึ่งเป็นงานใหญ่ที่ต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก
ในงานที่สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาสยามบรมราชกุมารีทรงเป็นองค์ประธานในพิธียกช่อฟ้าอุโบสถที่ตั้งตระหง่านบนเรือสุพรรณหงส์ ผู้เรียบเรียงมิได้เดินทางไปร่วมงานด้วย เมื่องานเสร็จสิ้นแล้ว พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม เดินทางมากรุงเทพมหานครและให้คนโทรศัพท์ตามตัวให้ไปพบที่บ้านของลูกศิษย์อีกคนหนึ่ง เมื่อไปถึงแล้ว พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม มอบหมายให้ดำเนินงานจัดสร้างพระพิมพ์สมเด็จ/พระปิดตาขึ้นมาอีกรุ่นหนึ่ง และให้นำพระนามาภิไธยย่อ "สธ" มาประทับไว้บนหลังของพระเนื้อผงทั้งสองพิมพ์ ตอนนั้น ผู้เรียบเรียงเรียนถามท่านว่าทำเรื่องกราบบังคมทูลขออนุญาตพระองค์ท่านหรือยัง พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ตอบว่าได้รับพระราชานุญาตโดยวาจาแล้ว เมื่อท่านยืนยันหนักแน่นเช่นนี้ ย่อมเป็นภาระของผู้เรียบเรียงที่ต้องเร่งรัดงานทุกอย่างให้เสร็จสิ้นและนำพระสมเด็จและพระปิดตาหลัง สธ.ขึ้นไปให้ท่านทำพิธีอธิษฐานจิตแผ่เมตตาที่วัดถ้ำเขาเงินในงานสังเวยครูหรืองานบูชาครูที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี กำหนดการจัดงานสังเวยครูปี ๒๕๓๗ คือวันอาทิตย์ที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๓๗
พระเครื่องที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ที่สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จยกช่อฟ้าพระอุโบสถหลังใหม่ของวัดถ้ำเขาเงิน นอกจากเป็นที่ระลึกว่าครั้งหนึ่ง สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เคยเสด็จมายังวัดถ้ำเขาเงินแห่งนี้ ทั้งเป็นการเตรียมการที่จะสร้างตึกสงฆ์อาพาธดังที่เกริ่นนำในตอนต้น เหตุที่ต้องสร้างพระเครื่องขึ้นมาใหม่ เพราะพระเครื่องและวัตถุมงคลต่าง ๆ ที่มีอยู่ร่อยหรอไปมาก แม้ว่าการสร้างพระเครื่องและวัตถุมงคลจะมิใช่ที่มาของปัจจัยหลักในการก่อสร้างตึกสงฆ์อาพาธ แต่ก็เป็นของสมนาคุณที่ขาดมิได้ ทั้งเป็นส่วนหนึ่งของการประชาสัมพันธ์ที่มีส่วนช่วยให้สาธุชนทราบและรับรู้ข้อมูลข่าวสารว่าท่านกำลังดำเนินงานสร้างสรรค์สาธารณประโยชน์ใดให้กับสังคมรอบด้าน พระเครื่องที่จัดสร้างในวาระนี้ ประกอบด้วย
๑๖. พระยอดธงหลังสิรินธร
พระยอดธงหลังสิรินธร เป็นพระยอดธงรุ่นแรกและรุ่นเดียวของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ที่จัดสร้างขึ้นในวาระเดียวกับพระสมเด็จและพระปิดตาหลัง สธ. เป็นพระยอดธงฝีมิช่างท้องถิ่นซึ่งมีจำนวนการสร้างไม่มากนัก
ลักษณะ เป็นพระยอดธงปางมารวิชัยที่มีศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง ลักษณะเป็นแบบศิลปะชาวบ้าน (Folk Art) พระเศียรคล้ายดอกบัวตูม พระพักตร์ยาวรีเป็นรูปไข่ องค์พระชะลูด บริเวณฐานจารึกชื่อ วัดถ้ำเขาเงิน ด้านหลังประทับด้วยยันต์นะสำเร็จ ที่ฐานจารึกพระนาม สิรินธร
ขนาด หน้าตักกว้าง ๑.๖ เซนติเมตร สูง ๒.๗ เซนติเมตร (ไม่รวมก้าน)
เนื้อหาและจำนวนการสร้าง เท่าที่พบเห็นมี ๒ เนื้อ คือ เงิน และทองแดง ไม่ทราบจำนวนการสร้างที่แน่นอน (ไม่ได้สอบถามพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม)
๑๗. พระสมเด็จหลัง สธ.
พระสมเด็จหลัง สธ. เป็นพระพิมพ์สมเด็จที่พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม มอบหมายให้ผู้เรียบเรียงเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานจัดสร้าง เป็นหนึ่งในสี่รายการที่มีการนำพระนามาภิไธย และพระนามของสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาสยามบรมราชกุมารีมาประทับที่ด้านหลังองค์พระ พระสมเด็จหลัง สธ. จัดเป็นพระเนื้อผงในกรอบพิมพ์แบบสี่เหลี่ยมชิ้นฟักในลำดับที่ ๕ ของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ลำดับแรก คือ พระพิมพ์สมเด็จเนื้อผงดำ รุ่นไตรมาส ปี ๒๕๑๑, พระสมเด็จสีชมพู ปี ๒๕๓๓, พระพิมพ์สมเด็จปรกโพธิ์ ปี ๒๕๓๕, พระพิมพ์สมเด็จขาโต๊ะรุ่นเสาร์ห้า ปี ๒๕๓๖, พระพิมพ์สมเด็จหลัง สธ. ปี ๒๕๓๗ และลำดับที่ ๖ คือ พระพิมพ์สมเด็จขาโต๊ะ รุ่นสังเวยครู ปี ๒๕๓๗
ลักษณะ ด้านหน้าเป็นพระพิมพ์สมเด็จทรงเจดีย์ตามแบบอย่างของพระพิมพ์สมเด็จในสายพระสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหฺมรฺงสี) ด้านหลัง เป็นการจัดวางรูปพระนามาภิไธยย่อและอักขระในลักษณะเดียวกับที่เรียกกันโดยทั่วไปว่ายันต์จม จารึกพระนามาภิไธยย่อ "สธ" ด้านบนขนาบข้างด้วยพระคาถา "พุทโธ" ใต้พระนามาภิไธยย่อ เป็นเลข "๓๗" หมายถึงปีที่สร้าง ถัดลงมาเป็นพระคาถานวหรคุณ อักษรล่างสุด เป็นจารึกชื่อวัดดังนี้ "วัดถ้ำเขาเงิน ช.พ."
ขนาด กว้างประมาณ ๒.๒ เซนติเมตร สูง ๓.๒ เซนติเมตร
วรรณะสีผิว ขาวอมชมพู
เนื้อหามวลสาร มวลสารที่ใช้เป็นหลักในการสร้างพระพิมพ์สมเด็จหลัง "สธ." ประกอบด้วย มวลสารต่าง ๆ ที่เหลือจากการสร้างพระปิดตามหาลาภองค์น้อย, พระพุทธฐานธรรมหิรัญบรรพต รุ่นแรก, พระพิมพ์สมเด็จปรกโพธิ์ ปี ๒๕๓๕, พระพิมพ์สมเด็จสีชมพู, มวลสาร ผงวิเศษต่าง ๆ ของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม เป็นจำนวนมาก
จำนวนการสร้าง ๑๐,๐๐๐ องค์
๑๘. พระพิมพ์สมเด็จขาโต๊ะ รุ่นสังเวยครู ปี ๒๕๓๗
พระพิมพ์สมเด็จขาโต๊ะ รุ่นสังเวยครู ปี ๒๕๓๗ เป็นพระเนื้อผงเพียงรายการเดียวที่ไม่มีการอัญเชิญพระนามาภิไธยย่อของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีมาประทับบนหลังองค์พระ เพราะเป็นพระพิมพ์สมเด็จที่นำแม่พิมพ์เก่ามากดใหม่ ความแตกต่างระหว่างพระพิมพ์สมเด็จขาโต๊ะ รุ่นเสาร์ห้า ปี ๒๕๓๖ กับพระพิมพ์สมเด็จขาโต๊ะ รุ่นสังเวยครู ปี ๒๕๓๗ มีจุดต่าง ๒ ประการ คือ
๑) ความหนา พระพิมพ์สมเด็จขาโต๊ะรุ่นเสาร์ห้า ปี ๒๕๓๖ หนาประมาณ ๐.๔๕ เซนติเมตร โดยประมาณ ส่วนพระพิมพ์สมเด็จขาโต๊ะ รุ่นสังเวยครู ปี ๒๕๓๗ หนาประมาณ ๐.๗ เซนติเมตร
๒) วรรณะสีผิว พระพิมพ์สมเด็จขาโต๊ะ รุ่นเสาร์ห้า ปี ๒๕๓๖ วรรณะสีผิวออกไปทางอมเหลืองคล้ายสีขมิ้น ส่วนพระพิมพ์สมเด็จขาโต๊ะ รุ่นสังเวยครู ปี ๒๕๓๗ วรรณะสีผิว ออกไปทางน้ำตาลอ่อน
๑๙. พระปิดตาไม้แกะ ก้นอุดผงใต้ดาน
เป็นพระปิดตาเนื้อไม้แกะขนาดเขื่องที่มีจำนวนการสร้างเพียง ๘๐ องค์ พระปิดตาชุดนี้ พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ให้พระลูกวัดเป็นคนแกะ เจาะก้นและอุดด้วยผงใต้ดาน จัดว่าเป็นพระปิดตาที่มีจำนวนน้อยมาก รู้จักและเล่นหากันเฉพาะคนวงในเพียงไม่กี่คน
พระเครื่องที่จัดสร้างในพิธีสังเวยครู ปี ๒๕๓๗ นำเสนอในตอนนี้ไปแล้ว ๕ พิมพ์ คงเหลือพระปิดตาหลัง สธ. อีกหนึ่งพิมพ์ที่จะนำเสนอในตอนที่ ๒๒ พร้อมกับพระกริ่งปวเรศเขาเงิน ซึ่งเป็นพระพิธีใหญ่อีกพิธีหนึ่งของวัดถ้ำเขาเงิน นามพระกริ่งปวเรศเขาเงินนี้ ตั้งโดยคุณสุธน ศรีหิรัญ และเป็นพิธีที่พระครูวามเทพมุนีเดินทางลงไปเป็นเจ้าพิธี