พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ตำนานยอดพระเครื่องเมืองหลังสวน (๒๓/๒๔)
พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน: ตำนานยอดพระเครื่องเมืองหลังสวน (๒๓/๒๔)
โดย....... ชายนำ ภาววิมล .......
การนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับชีวประวัติและพระเครื่องของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน ต.ท่ามะพลา อ.หลังสวน จ.ชุมพร ได้ดำเนินมาถึงตอนที่ ๒๓ ในทัศนะส่วนตัวของผู้เรียบเรียงถือว่าเป็นเรื่องยาวที่สุดเท่าที่เคยนำเสนอมา บทความ ๒๒ ตอนที่ผ่านมาเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของยอดพระเกจิอาจารย์เมืองหลังสวนที่ผู้เรียบเรียงมีโอกาสได้สัมผัสและรับใช้ยอดพระเกจิอาจารย์เมืองหลังสวนรูปนี้ แง่มุมต่างๆ อันเป็นวิถีปฏิบัติที่พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ย่อมเป็นไปตามมุมมองและความสนใจของลูกศิษย์ลูกหาแต่ละคน บางคนก็สนใจในพระเวทวิทยาคมหรือการสืบสายวิชาของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม บางคนก็สนใจเฉพาะพระเครื่องและวัตถุมงคลที่จัดสร้างในรูปและนามของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม บางท่านก็เคารพนับถือท่านด้วยศรัทธาอันแรงกล้า แต่น้อยคนนักที่ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและภูมิธรรมของยอดพระเกจิอาจารย์เมืองหลังสวนรูปนี้ การนำเสนอของผู้เรียบเรียงเป็นความพยายามในการนำเสนอมุมหนึ่งของประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นเชิงวิเคราะห์ ปูมหลังในการสร้างพระเครื่องของสำนักถ้ำเขาเงินในยุคสมัยของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม จากพยานหลักฐานที่มีอยู่ รวมตลอดทั้งความทรงจำในเหตุการณ์ต่างๆ เท่าที่พอจำได้ ข้อมูลที่นำเสนอมาตั้งแต่ตอนที่ ๑ ถึงตอนนี้ คงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ท่านผู้อ่านิตยสารพระเครื่องลานโพธิ์ได้รับรู้ชีวประวัติและปูมหลังการสร้างพระเครื่องของสำนักวัดถ้ำเขาเงินได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และคิดว่าตอนที่ ๒๔ น่าจะเป็นตอนจบของการนำเสนอที่พอเหมาะพอควรแก่กาล
พระเครื่องในชุดพระกริ่งปวเรศเขาเงินและเหรียญพระบรมรูปจำลองรัชกาลที่ ๕ ทรงสูท เป็นพิธีการจัดสร้างพระเครื่องครั้งสำคัญครั้งสุดท้ายของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ทั้งนามพระกริ่งปวเรศเขาเงินก็เป็นนามที่คุณสุธน ศรีหิรัญ บรรณาธิการบริหารนิตยสารพระเครื่องลานโพธิ์เป็นผู้ถวายสมญานามให้กับพระกริ่งรุ่นนี้ นอกจากพระเครื่องและเหรียญพระบรมรูปรัชกาลที่ ๕ ดังกล่าวแล้ว มีการสร้างพระเครื่องประเภทจิ๋วแต่แจ๋วอีก ๒ พิมพ์ ประกอบด้วย
๒๔. พระปรกใบมะขามหลังยันต์พุทโธ ปี ๒๕๓๗
พระปรกใบมะขามพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม เท่าที่พบเห็นมีเพียง ๒ พิมพ์คือ พระปรกใบมะขามหลังยันต์พุทโธ ปี ๒๕๓๗ ที่นำเข้าพิธีพุทธาภิเษกพร้อมกับพระเครื่องในชุดพระกริ่งปวเรศเขาเงิน และพระปรกใบมะขามรัตนมงคล ซึ่งมีผู้นำพระชุดนี้มาเผยแพร่หลังจากที่พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม มรณภาพไปแล้วหลายปี ผู้ที่นำพระปรกใบมะขามชุดนี้มาเผยแพร่ให้ข้อมูลว่าเป็นพระปรกใบมะขามรุ่นแรกพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม สร้างขึ้นในปี ๒๕๓๖ ช่วงที่พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม มีชีวิตอยู่ผู้เรียบเรียงไม่เคยพบเห็นพระปรกใบมะขามรัตนมงคล และไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับพระปรกใบมะขามรัตนมงคลเลย จึงไม่ขอแสดงความคิดเห็นว่าเป็นพระปรกใบมะขามรุ่นแรกของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ใช่หรือไม่ ต้องปล่อยให้เป็นภาระหน้าที่ของผู้สร้างที่ควรนำพยานหลักฐานมาเผยแพร่เพื่อประโยชน์ในการศึกษาพระเครื่องของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ได้อย่างถูกต้อง การนำเสนอเรื่อง ราวของพระปรกใบมะขามพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม จึงมุ่งเน้นเฉพาะพระปรกมะขามหลังยันต์พุทโธ ปี ๒๕๓๗
ลักษณะ เป็นพระปรกใบมะขามพิมพ์เจ็ดเศียร กรอบพิมพ์ด้านบนเป็นยอดแหลม ขนาดค่อนข้างเขื่องเมื่อเทียบกับพระปรกใบมะขามทั่วไป ด้านหน้าเป็นพระพุทธรูปปรกใบมะขามปางสมาธิบนขดพญานาคสามชั้น ด้านหลังประทับด้วยยันต์พุทโธ ด้านล่างของยันต์พุทโธเป็นอักษร ๒ แถว แถวบนจารึกพ่อหลวงคล้อย แถวล่าง ช.พ. ๓๗
ขนาด กว้างประมาณ ๐.๕ เซนติเมตร สูงประมาณ ๑.๖ เซนติเมตร หนาประมาณ ๐.๑๕ เซนติเมตร
เนื้อหา มี ๔ เนื้อ ประกอบด้วย ทองคำ เงิน นวโลหะ และทองแดง
จำนวนการสร้าง รวมทั้ง ๔ เนื้อ ประมาณ ๖,๐๐๐ องค์
พิธีกรรม อธิษฐานจิตแผ่เมตตาเดี่ยวโดยหลวงพ่อยิด จนฺทสุวณฺโณ ในวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๓๗ (พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม สั่งให้นำไปให้หลวงพ่อยิด จนฺทสุวณฺโณ สหธรรมิกของท่านอธิษฐานจิตปลุกเสกเป็นปฐมฤกษ์) และนำเข้าพิธีพุทธาภิเษกที่อุโบสถหลังใหม่ในวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๓๗
๒๕. พระสังกัจจายน์ปั๊ม รุ่นแรก ปี ๒๕๓๗
พระสังกัจจายน์ปั๊ม รุ่นแรก เป็นพระพิมพ์สังกัจจายน์ประเภทจิ๋วแต่แจ๋วอีกพิมพ์หนึ่งที่สร้างขึ้นพร้อมกับพระปรกใบมะขามหลังยันต์พุทโธ
ลักษณะ เป็นพระสังกัจจายน์แบบนั่งราบขนาดเล็กกะทัดรัดที่มีลักษณะอ้วนท้วมสมบูรณ์ ใบหน้าคมชัดเต็มเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มแห่งความเมตตา ใบหูทั้งสองข้างยาวเลยบ่าลงมาในระดับใกล้เคียงกับคาง มือทั้งสองวางคล้ายอุ้มหรือพยุงหน้าท้อง ด้านหลัง วางยันต์ในลักษณะเดียวกับพระปรกใบมะขามหลังยันต์พุทโธ
ขนาด กว้างประมาณ ๐.๘ เซนติเมตร สูง ๐.๙ เซนติเมตร หนาประมาณ ๐.๑๕ เซนติเมตร
เนื้อหา มี ๔ เนื้อ ประกอบด้วย ทองคำ เงิน นวโลหะ และทองแดง
จำนวนการสร้าง รวมทั้ง ๔ เนื้อ ประมาณ ๖,๐๐๐ องค์
พิธีกรรม อธิษฐานจิตปลุกเสกเดี่ยวโดยหลวงพ่อยิด จนฺทสุวณฺโณ ในวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๓๗ (พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม สั่งให้นำไปให้หลวงพ่อยิด จนฺทสุวณฺโณ สหธรรมิกของท่านอธิษฐานจิตปลุกเสกเป็นปฐมฤกษ์) และนำเข้าพิธีพุทธาภิเษกที่พระอุโบสถหลังใหม่ในวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๓๗
หลังจากการสร้างพระเครื่องในชุดพระกริ่งปวเรศเขาเงิน ซึ่งสโมสรไลออนส์เมืองเอก(ในวาระที่คุณชาตรี เลิศสิริมงคลชัย เป็นนายกสโมสร)เป็นผู้สร้างถวาย และพระเครื่องประเภทจิ๋วแต่แจ๋วที่พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม มอบหมายให้ผู้เรียบเรียงดำเนินการจัดสร้างในปี ๒๕๓๗ การสร้างพระเครื่องและวัตถุมงคลชุดสำคัญว่างเว้นไปหนึ่งปี และสร้างอีกครั้งหนึ่งในพิธีสังเวยครู ปี ๒๕๓๙ ซึ่งเป็นพระเครื่องรุ่นสุดท้ายของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ที่สร้างขึ้นอย่างเป็นทางการ พระเครื่องที่สร้างขึ้นในวาระหรือพิธีสังเวยครู ปี ๒๕๓๙ มี ๒ พิมพ์ ประกอบด้วย พระผงปางสะดุ้งกลับ และพระปิดตามหาอุตม์เนื้อผง แต่ลูกศิษย์ลูกหาส่วนใหญ่จะรับรู้เฉพาะพระผงปางสะดุ้งกลับ ส่วนพระปิดตามหาอุตม์เนื้อผงนั้น พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม มีดำริให้สร้างขึ้นเพื่อมอบให้อดีตพระอาจารย์ชนะ เจ้าอาวาสวัดดอนชัย หลังสวน ชุมพร ในขณะนั้น นำไปออกที่วัดดอนชัยเพื่อใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการและพัฒนาวัดดอน ต่อมาอดีตพระอาจารย์ชนะต้องสึกไปด้วยเหตุอันใด ผู้เรียบเรียงไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าเป็นเช่นใด ทราบแต่ว่าในบั้นปลายชีวิตของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม อดีตพระอาจารย์ชนะ เป็นหนึ่งในสามหรือสี่รูป/คน ที่ได้รับการถ่ายทอดสรรพวิชาต่างๆ จากพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม มากที่สุด
๒๖. พระผงปางสะดุ้งกลับ ปี ๒๕๓๙
พระผงปางสะดุ้งกลับเป็นพระเครื่องรุ่นสุดท้ายที่สร้างขึ้นอย่างเป็นทางการในวาระหรืองานพิธีสังเวยครู ประจำปี ๒๕๓๙ จัดเป็นพระเนื้อผงชุดเล็กที่น่าสนใจและไม่ควรมองข้ามอีกรุ่นหนึ่ง
ลักษณะ เป็นพระเนื้อผงที่สร้างขึ้นโดยการล้อศิลปะพระซุ้มรัตนตรัยของหลวงปู่บุญ ขนฺธโชติ และปรับแต่งให้เป็นพระผงปางสะดุ้งกลับที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง ด้านหลังประทับด้วยยันต์แก้วสี่ดวง นะ มะ อะ อุ ที่พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม กำหนดขึ้นด้วยความพิถีพิถัน ใต้ยันต์จารึกชื่อวัด วัดถ้ำเขาเงิน
ขนาด กว้างประมาณ ๑.๓ เซนติเมตร สูงประมาณ ๒.๐ เซนติเมตร หนาประมาณ ๐.๕ เซนติเมตร
เนื้อหามวลสาร ประกอบด้วยมวลสารต่างๆ ที่เหลือจากการสร้างพระผงของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ที่ผ่านมาทุกรุ่น ทั้งมีส่วนผสมของผงที่เหลือจากการสร้างพระเนื้อผงของพระสุปฏิปันโนรูปหนึ่งในสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่รับรู้กันว่าอนุญาตให้คณะศิษย์สร้างพระยากมาก (ขออภัยที่ไม่สามารถระบุชื่อได้เพราะมีผู้นำมาให้และจำชื่อของพระสุปฏิปันโนรูปนี้ได้แบบเลือน ๆ ไม่แน่ใจว่าเป็นความจำนี้ถูกต้องหรือไม่ จึงขอไม่เอ่ยนามของพระสุปฏิปันโนรูปนี้)
วรรณะ สีแดงแบบเปลือกมังคุด
จำนวนการสร้าง ประมาณ ๕,๐๐๐ องค์
พิธีกรรม อธิษฐานจิตแผ่เมตตาในคืนก่อนพิธีสังเวยครู พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ให้ลูกศิษย์ที่มาเรียนวิชากับท่านในปีนั้น มาร่วมอธิษฐานจิตแผ่เมตตา
๒๗. พระปิดตามหาอุตม์ เนื้อผง พิธีสังเวยครู ปี ๒๕๓๙
ดังที่เกริ่นนำมาในข้างต้นว่าพระปิดตามหาอุตม์เนื้อผงรุ่นนี้ เป็นพระปิดตาที่นักนิยมพระเครื่องสายนี้ ไม่ ได้รับรู้ว่าเป็นพระปิดตาที่สร้างขึ้นพร้อมกับพระผงปางสะดุ้งและนำเข้าพิธีอธิษฐานจิตปลุกเสกพร้อมกัน ความเป็นมาของการสร้างพระปิดตาพิมพ์นี้คือ ในปี ๒๕๓๘ พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ปรารภกับผู้เรียบเรียงเรื่องการสร้างเหรียญพระอาจารย์ชนะ วัดดอนชัย รุ่นแรก ตอนนั้น ผู้เรียบเรียงมีความเห็นว่าพระอาจารย์ชนะ วัดดอนชัย อายุยังน้อย ไม่ถึงเวลาที่จะสร้างเหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก หากจำเป็นต้องสร้างวัตถุมงคลเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาวัดดอนชัย ควรสร้างวัตถุมงคลในรูปแบบอื่นโดยอาศัยบารมีของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม เป็นหลักใหญ่ในการดำเนินงาน เมื่อพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม มอบหมายให้ดำเนินการสร้างพระผงปางสะดุ้งกลับ จึงนำเรียนท่านว่าควรสร้างพระปิดตามหาอุตม์เนื้อผงขึ้นมาชุดหนึ่ง และมอบให้พระอาจารย์ชนะ นำไปใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการและพัฒนาวัดดอนชัย ด้วยเหตุนี้ อดีตพระอาจารย์ชนะ วัดดอนชัย จึงมองว่าพระปิดตารุ่นนี้ มิใช่พระปิดตาของท่าน แต่เป็นพระปิดตาของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ในขณะที่ผู้เรียบเรียงมองว่าเป็นพระปิดตารุ่นแรกของอดีตพระอาจารย์ชนะ เพราะเจตนาที่จะมอบให้อดีตพระอาจารย์ชนะเพื่อทดแทนการสร้างเหรียญรูปเหมือนอดีตพระอาจารย์ชนะ รุ่นแรก
ลักษณะ ด้านหน้าเป็นพระปิดตามหาอุตม์นั่งบนฐานบัว ๗ กลีบ มือทั้งหกข้างยกขึ้นปิดตา ปิดหู และปิดทวารหนัก บริเวณหน้าท้องประทับด้วยยันต์เฑาะ ด้านหลังอูมเล็กน้อย ประทับด้วยยันต์นะล้อม ใต้ยันต์เป็นอักษร ๒ แถว แถวแรกจารึกชื่อวัด วัดดอนชัย แถวสอง ชุมพร
ขนาด กว้างประมาณ ๑.๖ เซนติเมตร สูงประมาณ ๒.๐ เซนติเมตร หนาประมาณ ๐.๖ เซนติเมตร
เนื้อหามวลสาร เนื้อเดียวกับพระผงปางสะดุ้งกลับ
วรรณะ สีแดงแบบเปลือกมังคุด
จำนวนการสร้าง ประมาณ ๕,๐๐๐ องค์
พิธีกรรม อธิษฐานจิตแผ่เมตตาในคืนก่อนพิธีสังเวยครู พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ให้ลูกศิษย์ที่มาเรียนวิชากับท่านในปีนั้น มาร่วมอธิษฐานจิตเมตตา
นอกจากพระผงปางสะดุ้งกลับและพระปิดตามหาอุตม์เนื้อผงที่เป็นพระเครื่องชุดหลักในพิธีสังเวยครูแล้ว ยังมีล็อกเก็ตอีกชุดหนึ่งที่คุณสิทธิไชย ไชยพิพัฒน์ สร้างขึ้นจำนวนหนึ่ง จำนวนการสร้างไม่น่าจะเกิน ๑๐๐ อัน และนำเข้าพิธีอธิษฐานจิตปลุกเสกพร้อมกับพระเนื้อผงทั้งสองพิมพ์ พระเครื่องและวัตถุมงคลที่พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม อธิษฐานจิตปลุกเสกในครานี้ จึงเป็นพระเครื่องรุ่นสุดท้ายที่จัดสร้างขึ้นตามวาระสำคัญของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม อย่างเป็นทางการ
หลังจากการวางศิลาฤกษ์ตึกสงฆ์อาพาธที่โรงพยาบาลหลังสวนและพิธีพุทธาภิเษกพระเครื่องชุดพระกริ่งปวเรศเขาเงินแล้ว สุขภาพของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม เริ่มถดถอยลงไปเรื่อยๆ เนื่องจากท่านต้องตรากตรำงานหนักมาหลายปี ทั้งเมตตาโปรดญาติโยมโดยเฉพาะการเป่าทองเข้าตัวให้กับลูกศิษย์เป็นจำนวนมาก ผู้ที่ได้รับการเป่าทองเข้าตัวต่างปลื้มปีติกับเมตตาธรรมของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม แต่มีสักกี่คนที่ได้เห็นอาการเหนื่อยล้าจากการเป่าทองครั้งละหลายๆ คน พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ต้องเข้ามารักษาตัวในโรงพยาบาลที่กรุงเทพมหานคร หลายครั้ง แต่ละครั้งใช้เวลานานมากกว่าสิบวัน และทรุดลงอย่างรวดเร็วหลังงานสังเวยครูปี ๒๕๓๙ อันเป็นปีที่พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ครอบครูให้กับศิษย์ฆราวาสประมาณ ๑๐ คน การครอบครูในวันนั้น มีเหตุการณ์แปลก ๆ หลายอย่าง อาการป่วยของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๓๙ พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ไม่สามารถประคองรูปกายที่เสื่อมโทรมถึงที่สุดด้วยโรคมะเร็งที่รุมเร้ามานาน จึงให้รถพยาบาลนำท่านจากโรงพยาบาลธนบุรี ย่านพรานนก กลับวัดถ้ำเขาเงินและละสังขารเมื่อรถพยาบาลนำสังขารท่านเข้าถึงวัดถ้ำเขาเงินไม่นานนัก
การสร้างพระเครื่องและวัตถุมงคลในรูปและนามของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม มิได้สิ้นสุดลงไปที่พระผงปางสะดุ้งกลับและพระปิดตามหาอุตม์เนื้อผง ก่อนเข้ามารักษาตัวครั้งสุดท้ายที่โรงพยาบาลธนบุรีหนึ่ง ท่านได้อธิษฐานจิตปลุกเสกเหรียญเต่าพิมพ์หนึ่งให้กับนิตยสารพระเครื่องฉบับหนึ่ง หลังจากที่พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ละสังขารไปแล้ว ผู้สร้างเหรียญเต่ารุ่นนี้ นำเหรียญเต่ามาเป็นเหรียญสมนาคุณให้กับผู้ซื้อหนังสือชีวประวัติและภาพพระเครื่องพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม (ปกสีเทา) สำหรับวัตถุมงคลอื่น ๆ มีทั้งวัตถุมงคลที่พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม จัดสร้างด้วยตนเอง อาทิ ตะกรุด เข็มกลัดยันต์นะสำเร็จ ส่วนผ้ายันต์แบบต่าง ๆ เป็นผ้ายันต์ที่คณะศิษย์สายหมอสมสุข คงอุไร สร้างถวายในช่วงกลางปี ๒๕๓๘ เป็นต้นมา
ในตอนหน้า จะนำเสนอพระผงรูปเหมือนพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม พิมพ์สะดุ้งกลับ ที่ท่านตั้งใจสร้างเป็นพิเศษเพื่อแจกในงานทอดกฐินสามัคคี ปี ๒๕๓๙ แต่ท่านด่วนละสังขารไปก่อน ไม่ทันอธิษฐานจิตแผ่เมตตา และสรุปจบเรื่อง พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน: ตำนานยอดพระเครื่องเมืองหลังสวน
(บทความเก่าจากนิตยสารพระเครื่องลานโพธิ์ ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๑๑๙๔ ปักษ์แรก สิงหาคม ๒๕๕๙ หน้า ๓๑ - ๓๓)