แชร์

พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ตำนานยอดพระเครื่องเมืองหลังสวน (๒๔/๒๔)

อัพเดทล่าสุด: 11 ก.พ. 2025
46 ผู้เข้าชม

 พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน : ตำนานยอดพระเครื่องเมืองหลังสวน (๒๔/๒๔)

โดย....... ชายนำ ภาววิมล .......

           หลังจากงานวางศิลาฤกษ์ตึกสงฆ์อาพาธอาคารฐานธฺมฺโม โรงพยาบาลหลังสวน และพิธีพุทธาภิเษก พระเครื่องในชุดพระกริ่งปวเรศเขาเงิน พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ทุ่มเทกำลังกายกำลังใจให้กับการสร้างตึกสงฆ์อาพาธหลังนี้มาก สังขารของท่านเริ่มอ่อนล้าเสื่อมถอยลงไปเรื่อย ๆ มาปรากฏชัดในปี ๒๕๓๙ ที่พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่กรุงเทพมหานครหลายครั้ง โดยเฉพาะช่วงหลังงานสังเวยครูปี ๒๕๓๙ อาการของท่านทรุดลงอย่างรวดเร็ว โรคร้ายที่รับรู้กันในช่วงสุดท้ายของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม คือ ท่านป่วยเป็นโรคมะเร็ง นี่คือ เหตุดับที่นำไปสู่การละสังขารของพระสุปฏิปันโนผู้สร้างตำนานยอดพระเครื่องเมืองหลังสวน

           พูดถึงการละสังขารของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม คราวใด ผู้เรียบเรียงมักมีความรู้สึกผิดขึ้นมาทันที ผิดด้วยความไม่ประสีประสาและรู้เท่าทันเหตุแห่งการละสังขารของพระสุปฏิปันโน เหตุเกิดที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในย่านถนนศรีอยุธยา (หากความจำไม่เลอะเลือน น่าจะเป็นโรงพยาบาลเดชา) วันนั้น ผู้เรียบเรียงไปเยี่ยมท่านและสนทนากับท่านหลายเรื่อง เรื่องหนึ่งคือ ท่านเร่งรัดงานแกะพระผงรูปเหมือนแบบนั่งสะดุ้งกลับให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ตอนนั้น ยังไม่เฉลียวใจว่าเหตุใดท่านจึงเร่งรัดงานขนาดนี้ จึงรับปากและขอให้ท่านจัดมวลสารต่างๆ โดยเฉพาะผงใต้ดานมาให้ พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ตอบว่าเมื่อกลับถึงวัดแล้วจะให้ลูกศิษย์คนใดคนหนึ่งมาให้ จากนั้นได้พูดคุยกันไปเรื่อย ๆ ลูกศิษย์อีกคนหนึ่งที่ไปเยี่ยมท่านด้วยกัน พูดถึงการสร้างวัตถุมงคลในวาระครบ ๗ รอบกับท่านซึ่งเป็นเรื่องของอนาคต กว่าจะถึงเวลานั้น ก็อีกหลายปี พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม หันมามองหน้าผู้เรียบเรียงและพูดว่า "คงอยู่ไม่ถึงหรอก"

            ด้วยความไร้เดียงสาของผู้เรียบเรียงหรือด้วยกาลเวลาที่ท่านต้องละสังขารโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เป็นเหตุให้นึกถึงคำพูดของคุณหมอสมสุข คงอุไร อาจารย์ใหญ่สำนักรัศมีพรหมโพธิโก (ที่เพิ่งเข้าไปกราบนมัสการพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ได้ประมาณปีเศษ ๆ และฝากศิษย์บรรพชิตรูปหนึ่งมาศึกษาพุทธาคมกับท่าน) พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม เป็นพระสุปฏิปันโนที่มีลักษณะบางประการตรงตามความเชื่อของคุณหมอสมสุข คงอุไร ลักษณะเช่นนี้ เป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้คุณหมอสมสุข คงอุไร เชื่อว่าพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม น่าจะมีสิริอายุยืนยาวกว่า ๑๐๐ ปี นึกได้ก็เล่าให้ท่านฟัง แถมยังพูดต่อไปนี้ว่า สิริอายุของท่านจะยืนยาวสักกี่ปี ขึ้นอยู่กับตัวท่านเอง หากรู้สักนิดและขอให้ท่านอยู่ต่อ ท่านอาจมีอายุยืนยาวกว่านี้อีกหลายปี ประสบการณ์ครั้งนี้ เป็นบทเรียนที่ไม่อาจลืมเลือนได้ หลังจากนั้นหลายปี ผู้เรียบเรียงทราบข่าวจากคุณมนตรี แก้วพิจิตร ว่าหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส อาจารย์อีกรูปหนึ่งของผู้เรียบเรียง ปรารภว่าจะละสังขารในอีกไม่นานนัก จึงรีบขึ้นไปกราบนมัสการหลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส พูดคุยกับท่านไปตามประสา ค่อย ๆ ตะล่อมมาถึงเรื่องการละสังขารและออกปากขอให้ท่านมีชีวิตอยู่ถึงร้อยปีหรืออย่างน้อยที่สุดก็ ๙๖ ปี หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส หลับตาชั่วอึดใจและหันมาตอบด้วยอาการอันสงบว่าคงอยู่ได้ไม่ถึง ๙๖ ปีจากวันนั้น หลวงพ่อเพชร จนฺทวํโส อยู่ต่อได้อีกหลายปี และละสังขารเมื่อสิริอายุรวม ๙๔ ปีกว่า

            ย้อนกลับเข้ามาถึงเรื่องการสร้างพระผงรูปเหมือนพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม แบบนั่งสะดุ้งกลับ พระผงรุ่นนี้ เป็นพระเครื่องที่ตั้งใจที่จะสร้างขึ้นเพื่อแจกในงานทอดกฐินสามัคคี ปี ๒๕๓๙ ซึ่งกำหนดจะจัดในวันที่ ๒ พฤศจิกายน การจัดสร้างพระผงรูปเหมือนชุดนี้ ดูเหมือนมีปัญหามากพอสมควร หลังจากออกจากโรงพยาบาล พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม จะฝากผงใต้ดานมากับคุณคงศักดิ์ เทพทวีพิทักษ์ แต่มีผู้ไปขันอาสากับท่านว่าจะนำผงใต้ดานนี้มาให้ โดยอ้างกับพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ว่ามีความสนิทสนมกับผู้เรียบเรียงมาก แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้รับผงใต้ดานชุดนี้เลย กว่าจะได้รับต้องตามแล้วตามอีก จากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง ผู้หวังดีแต่ไม่ค่อยรู้ร้อนรู้หนาวสองสามคนนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การสร้างพระผงรูปเหมือนพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม รุ่นนี้ ไม่ทันกาล พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ด่วนละสังขารก่อนกำหนดการอธิษฐานจิตแผ่เมตตาไม่กี่วัน

            ๒๘. พระผงรูปเหมือนพ่อทานคล้อย ฐานธมโม พิมพ์สะดุ้งกลับ

            พระผงรูปเหมือนพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม พิมพ์สะดุ้งกลับนี้ เป็นพระผงรูปเหมือนที่ตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อแจกเป็นที่ระลึกในงานทอดกฐินสามัคคีปี ๒๕๓๙ จัดว่าเป็นพิมพ์สำคัญพิมพ์หนึ่งที่มีความพิถีพิถันในการออก แบบมากที่สุด เหตุที่กำหนดแบบเป็นพิมพ์สะดุ้งกลับเพราะมีภาพถ่ายภาพหนึ่งเป็นภาพพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม นั่งวางแขนแบบพระพุทธรูปปางมารวิชัยสะดุ้งกลับ ประกอบกับพระผงที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในงานพิธีสังเวยครู ปี ๒๕๓๙ เป็นพระผงพิมพ์พระพุทธปางสะดุ้งกลับ จึงเป็นจุดเริ่ม ต้นของความคิดในการนำภาพนั้น มาวางในฉากหลังของพระหลวงปู่ทวด วัดพะโค๊ะ พิมพ์กรรมการใหญ่และปรับแต่งให้มีเอกลักษณ์ของตนเอง

            ลักษณะ ด้านหน้าเป็นรูปพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม นั่งบนฐานเขียงในกรอบพิมพ์แบบรูปไข่ปลายแหลม ใต้ฐานเขียงเป็นลายกนก แกะศีรษะและใบหน้าของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ให้เป็นแบบหัวโตและนูนเด่นกว่าลำตัวของท่าน ลายเส้นของผ้าจีวรในส่วนต่างๆ เป็นลายเส้นแบบแผ่วๆ อ่อนพลิ้ว ด้านบนบ่าทั้งสองข้างจารึกพระคาถา พุทโธ ด้านหลังประทับด้วยยันต์นะสำเร็จ ใต้ยันต์เป็นอักษร ๓ แถว แถวบน "พ่อท่านคล้อย" แถวกลาง "วัดถ้ำเขาเงิน ชุมพล" แถวล่าง "กฐิน ๓๙" ข้อสังเกตคือ แกะชื่อจังหวัดผิด
            ขนาด กว้าง ๒.๔ เซนติเมตร สูง ๓.๔ เซนติเมตร หนาประมาณ ๐.๕ เซนติเมตร
            วรรณะสีผิว สีเปลือกมังคุดอ่อน
            มวลสาร ประกอบด้วย ผงวิเศษต่าง ๆ ของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ทุกอย่างเท่าที่มี อาทิ ผงใต้ดาน อันลือชื่อ ผงนอโมเข้าห้อง ผงขมิ้นเสก ผงขมิ้นกับปูน ผงพุทธคุณทั้ง ๕ ผงข้าวเหนียวดำ นอกจากนี้ ยังมีผงแร่บางไผ่ วัดนครอินทร์, ผงหลวงพ่อแช่ม ฐานุสฺสโก วัดดอนยายหอม ผงว่าน/ผงวิเศษของพระสุปฏิปันโนผู้ทรงฌานอภิญญากว่า ๑๐ รูป ผงพระชำรุดต่าง ๆ มากมาย
            จำนวนการสร้าง ๔,๖๐๐ องค์
            พิธีกรรม นำไปขอความเมตตาจากหลวงพ่อเริ่ม วิมโล วัดบางน้ำจืด อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี และพระภิกษุอาวุโส ผู้มีสิริอายุกว่า ๙๐ ปี ในวัดไตรธรรมาราม อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี อธิษฐานจิตแผ่เมตตาเดี่ยว ก่อนนำเข้าพิธีพุทธาภิเษกที่วัดถ้ำเขาเงิน ในคืนวันเสาร์ที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ พร้อมกับผ้ายันต์, วัตถุมงคลอื่น ๆ ของศิษย์สายรัศมีพรหมโพธิโก พระเกจิอาจารย์สายเขาอ้อ ๔ รูปที่มาร่วมในพิธีอธิษฐานจิตแผ่เมตตา ประกอบด้วย พระครูกาชาด (บุญทอง เขมทตฺโต) วัดดอนศาลา, หลวงพ่อกลั่น อคฺคธมฺโม วัดเขาอ้อ, หลวงพ่อคล้อย อโนโม วัดภูเขาทอง และหลวงพ่อช่วง ฐิตธมฺโม วัดควนปันตาราม

หลวงปู่ วัดไตรธรรมาราม อ.เมือง จ.สุราษฎณ์ธานี

หลวงพ่อเริ่ม วิมโล วัดบางน้ำจืด อ.ท่าฉาง จ.สุราษฏร์ธานี

           หากพระผงรูปเหมือนฯ รุ่นนี้ ทันพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม อธิษฐานจิตปลุกเสก เชื่อมั่นเต็มร้อยเลยว่าน่าจะเป็นพระยอดนิยมอีกชุดหนึ่งของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม เมื่อไม่ทันก็คือไม่ทันและต้องพูดกันตามความเป็นจริงว่าไม่ทันเพราะท่านละสังขารไปก่อนกำหนดการฯ เพียงไม่กี่วัน ในส่วนของพระเครื่อง/วัตถุมงคลแบบต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม คงต้องยุติลงเพียงเท่านี้ ประเด็นสุดท้ายที่ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้อง คือ มีผู้นำพระปิดตาเนื้อตะกั่วที่นำพระปิดตามหาลาภองค์น้อยไปถอดพิมพ์และเรียกนามพระปิดตาชุดนั้นว่าเป็นพระปิดตามหาลาภองค์น้อย แท้จริงแล้ว พระปิดตาชุดนั้นเป็นพระปิดตาที่อดีตพระอาจารย์ชนะ วัดดอนชัย เป็นผู้จัดสร้าง มิใช่พระปิดตาที่คณะศิษย์สายกองคุ้มครองแรงงาน กรมแรงงาน เป็นผู้สร้างถวายในปี ๒๕๓๓ แต่เป็นพระปิดตาเนื้อตะกั่วที่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในราวปี ๒๕๓๘ - ๒๕๓๙

          โดยปกติแล้ว พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม เป็นพระสุปฏิปันโนที่มีพลังจิตเข้มแข็งและมีความอดทนสูงมาก ไม่เคยเอ่ยคำใดที่แสดงให้เห็นถึงอาการเจ็บปวดอันเนื่องมาจากโรคภัยไข้เจ็บและความเหนื่อยล้าจากการปฏิบัติศาสนกิจใด ๆ ก่อนละสังขารไม่นาน ผู้เรียบเรียงไปกราบนมัสการท่านที่โรงพยาบาลธนบุรี ๑ ภาพที่รับรู้ในเพลานั้นคือสังขารที่อิดโรยและเสื่อมโทรมถึงที่สุด ตอนนั้น เอ่ยปากถามไถ่อาการของท่านว่าเป็นอย่างไรบ้าง สิ่งที่ไม่เคยได้ยินมาตอนเวลา ๖ ปีที่มีโอกาสได้สัมผัสกับยอดพระเกจิอาจารย์เมืองหลังสวนรูปนี้อย่างใกล้ชิด "เจ็บ" เป็นคำที่สะท้อนอาการเจ็บป่วยที่หนักหนาสาหัสกว่าทุกคราวที่ผ่านมา แต่ตอนนั้น ยังไม่ฉุกคิดว่าพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม จักละสังขารในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เลยถามท่านว่า "มีรถเข็นไหม หากยังไม่มีใครถวาย" เมื่อท่านกลับวัดถ้ำเขาเงินแล้ว จะนำไปถวายในวันทอดกฐินสามัคคี คำตอบที่ได้รับ คือ "ไม่ต้อง กลับไปก็ไม่ได้ใช้" นี่แหล่ะสัญญาณที่คนไม่มีประสบการณ์ด้านนี้ จักรับรู้ได้เลยว่าท่านคงกำหนดรู้เวลาที่สังขารต้องแตกดับ กว่าจะเรียนรู้เหตุการณ์ต่าง ๆ ก็ผ่านพ้นไปแล้ว

          เมื่อเหตุดับแห่งสังขารมาถึง พ่อท่านคล้อย ฐานธมโม สั่งให้นำท่านกลับวัดถ้ำเขาเงินในกลางดึกวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๓๙ เพียงไม่กี่นาทีที่รถพยาบาลนำสังขารที่รอเวลาแตกดับเข้าถึงวัดถ้ำเขาเงิน พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ผู้สร้างตำนานยอดพระเครื่องเมืองหลังสวนและฟื้นฟูวัดถ้ำเขาเงินให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง ได้ละสังขารไปด้วยอาการอันสงบ คงไว้เพียงรูปหรือร่างกายที่ไม่เน่าไม่เปื่อยอันเป็นต้นทุนสังคมที่ยังประโยชน์ให้ กับวัดถ้ำเขาเงินในภายหน้า แม้นสังขารแห่งพระสุปฏิปันโนแห่งเมืองหลังสวนจักดับสิ้น แต่ดวงจิตของท่านยังคงอยู่กับวัดถ้ำเขาเงินตลอดไป

          ปาฏิหาริย์อีกครั้งหนึ่งที่ผู้เรียบเรียงประสบพบเหตุจากการเดินทางไปร่วมงานทำบุญสวดพระอภิธรรมสรีระของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม เช้าวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ ผู้เรียบเรียงและคณะฯ ออกจากที่พักแรมในจังหวัดสุราษฎร์ธานีมุ่งหน้าไปยังวัดถ้ำเขาเงิน เหตุที่เดินทางไปสุราษฎร์ธานีก่อนเพราะต้องการนำพระผงรูปเหมือนพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ไปขอความเมตตาจากหลวงพ่อเริ่ม วิมโล วัดบางน้ำจืด พระเกจิอาจารย์เมืองใต้ที่พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม เคารพนับถือเสมือนหนึ่งเป็นครูบาอาจารย์ของท่าน ให้ช่วยอธิษฐานจิตปลุกเสกพระผงรูปเหมือนฯ รุ่นนี้เป็นกรณีพิเศษ เสร็จกิจจากวัดบางน้ำจืด ก็มุ่งหน้าสู่ตัวเมืองสุราษฎร์ธานี นำพระผงรูปเหมือน ฯ ชุดนี้ ไปขอความเมตตาจากพระภิกษุรูปหนึ่งในวัดไตรธรรมาราม (ขออภัยที่จำชื่อพระภิกษุรูปนี้ไม่ได้) พระภิกษุรูปนี้เป็นพระลูกวัดธรรมดา ๆ รูปหนึ่งที่มีสิริอายุกว่า ๙๐ ปี แต่เป็นพระสุปฏิปันโนที่มีศีลาจาริยาวัตรงดงามมาก

            เมื่อถึงวัดถ้ำเขาเงิน ก็ตรงเข้าไปกราบสรีระของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ซึ่งตั้งอยู่หน้าศาลาที่พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ปฏิบัติศาสนกิจเป็นประจำ ทันทีที่ศีรษะจรดพื้นขณะก้มลงกราบครั้งแรก ลมหมุนพัดเข้ามาทางด้านหลังของผู้เรียบเรียงแรงมาก เมื่อกราบครบสามครั้งและลุกขึ้นยืน ลมหมุนนั้นก็หายไปทันที เหตุนี้จักเป็นอื่นไปมิได้ นี่คือนิมิตหมายที่บ่งบอกว่าพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ต้องการสื่อกับลูกศิษย์ที่ท่านเมตตาที่สุดคนหนึ่งว่าท่านเห็นและรับรู้แล้ว นิมิตหมายที่แสดงให้ถึงความเมตตาความห่วงใยที่ท่านมีต่อลูกศิษย์ทุกคน ยามที่ท่านมีชีวิตอยู่ หากทราบว่าลูกศิษย์คนใดกลุ่มใดจะไปหา มืดค่ำเพียงไร ท่านก็นั่งรอด้วยความห่วงใย จำได้ว่าครั้งหนึ่ง เดินทางไปกราบนมัสการท่าน ออกจากกรุงเทพมหานคร ๙ โมงเช้า แวะโน่นพักนี่ไปตามเรื่องตามราว เสียเวลากับการซ่อมรถไปชั่วโมงกว่า พักดูมวยชิงแชมป์โลกระหว่างทางอีก ๑๕ ยก กว่าถึงวัดถ้ำเขาเงิน ปาเข้าไปเที่ยงคืนแล้ว พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ก็ยังไม่จำวัด นั่งรอจนกว่าลูกศิษย์มาถึง เหตุการณ์ครั้งนี้ ผู้ร่วมคณะฯ คนหนึ่งเล่าให้ฟังในภายหลังว่าช่วงหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ในรถหลับหมด มีรถขับสวนมาเกือบจะประสานงาแต่ไม่ทราบว่าแคล้วคลาดไปได้อย่างไร เรื่องนี้ไม่อาจยืนยันได้เพราะตอนนั้นหลับเหมือนกัน

            กรณีที่ยืนยันได้ คงเป็นครั้งที่เดินทางไปกับคุณชาตรี เลิศสิริมงคลชัย อดีตนายกสโมสรไลออนส์เมืองเอก คุณวิฑูรย์ เชาว์วิริยะเทพ ถึงวัดประมาณ ๓ ทุ่ม กราบนมัสการท่านเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงขออนุญาตไปหาที่พักในเมืองหลังสวน ท่านบอกว่าไม่ต้องไปไหน ให้นอนที่วัด และจัดที่ให้พวกเรานอนบริเวณมุมในสุดของศาลาที่ท่านจำวัด เดินไปไหนก็ต้องผ่านที่จำวัดของท่าน เหตุการณ์ครั้งนี้ ดูเหมือนว่าพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม หยั่งรู้ว่าท้ายรถของคุณชาตรี เลิศสิริมงคลชัย มีบรั่นดีหลายขวดตามภาษานักธุรกิจใหญ่ที่จำเป็นต้องติดต่อกับคนจำนวนมาก หากไปนอนในตัวเมือง คงไม่พ้นต้องเปิดบรั่นดีฉลองศรัทธาเจ้าของรถเป็นแน่แท้

            เหตุการณ์เล็กน้อยที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งแต่ละครา หากไม่ใส่ใจก็คงไม่มีอะไรมาก หากจะมโน ก็คิดไปได้ร้อยแปดพันประการ ปาฏิหาริย์และความมหัศจรรย์ที่ประสบพบเห็นในห้วงเวลา ๗ ปีที่มีโอกาสสัมผัสและรับใช้ยอดพระเกจิอาจารย์เมืองหลังสวน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเป่าทองเข้าตัว นิมิตหมายในเหตุและพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นเพียงเสี้ยวมุมหนึ่งของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่ผู้เรียบเรียงมิได้มีส่วนร่วมหรืออยู่ในเหตุการณ์นั้น แต่อย่างน้อยที่สุด บทความ ๒๔ ตอนในนิตยสารพระเครื่องลานโพธิ์ คงมากพอที่จะขยายภาพวิถีชีวิต พระเครื่องและวัตถุมงคลของพ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม ยอดพระเกจิอาจารย์เมืองหลังสวนผู้สืบสายพุทธาคมของสำนักวัดประสาทนิกรแห่งเมืองหลังสวน และสำนักเขาอ้ออันเกียงไกร ทั้งเป็นสหธรรมิกกับอาจารย์ชุม ไชยคีรี อาจารย์ฆราวาสผู้เชี่ยวชาญในพระเวทวิทยาคมตามตำรับพระอาจารย์คง วัดตาล ที่เชื่อกันว่าเป็นอาจารย์ของขุนแผนแสนสะท้าน เอวังด้วยประการ ฉะนี้

(บทความเก่าจากนิตยสารพระเครื่องลานโพธิ์ ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๑๑๙๕ ปักษ์หลัง สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ หน้า ๓๕ - ๓๗)


บทความที่เกี่ยวข้อง
หน้าปกบทความพ่อท่าคล้อย
ชีวประวัติ พระเครื่องและวัตถุมงคล พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน อ.หลังสวน จ.ชุมพร ที่เคยตีพิมพ์ในนิตยาสารพระเครื่องลานโพธิ์
2 ม.ค. 2025
ภาพฟน้าปกบทความพ่อท่านคล้อย ตอนที่ ๒
ชีวประวัติ พระเครื่องและวัตถุมงคล พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน อ.หลังสวน จ.ชุมพร ที่เคยตีพิมพ์วนนิตยสารพระเครื่องลานโพธิ์
24 ต.ค. 2024
ปกพ่อท่านคล้อย ตอนที่ ๓
ชีวประวัติ พระเครื่องและวัตถุมงคล พ่อท่านคล้อย ฐานธมฺโม วัดถ้ำเขาเงิน อ.หลังสวน จ.ชุมพร ที่เคยตีพิมพ์ในนิตยสารพระเครื่องลานโพธิ์
27 ต.ค. 2024
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy